ผ่าตัดผ่านกล้องเย็บหมอนรองกระดูกเข่า

ผ่าตัดผ่านกล้องเย็บหมอนรองกระดูกเข่า

ผ่าตัดผ่านกล้องเย็บหมอนรองกระดูกเข่า

หากคุณมีอาการปวดข้อเข่า เข่าบวม เหยียดงอได้ไม่ดี หรือมีเสียงดังในข้อเข่า อาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเตือนภาวะหมอนรองกระดูกเข่าฉีกขาด ซึ่งไม่ใช่เพียงสาเหตุจากอุบัติเหตุเท่านั้นที่ทำให้เกิดการฉีกขาดของหมอนรองกระดูกเข่า การออกกำลังกาย การเล่นกีฬา จังหวะบิดหมุนตัวผิดท่า หรือลื่นหกล้มสามารถก่อให้เกิดปัญหาที่หมอนรองกระดูกเข่าได้ในทุกเพศทุกวัย หากปล่อยปะละเลยอาจนำไปสู่การสึกกร่อนของกระดูกอ่อนและภาวะข้อเข่าเสื่อมได้ในที่สุด

รู้จักหมอนรองกระดูกเข่า

หมอนรองกระดูกเข่าทำหน้าที่สำคัญในร่างกาย โดยรองรับแรงกระแทกที่เกิดต่อเข่า ทั้งการยืน เดิน วิ่ง กระโดด หรือกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน โดยจะมีลักษณะเป็นเนื้อเยื่อที่มีความยืดหยุ่น อยู่ระหว่างกระดูกหน้าแข้งและกระดูกต้นขา ทั้งด้านในและด้านนอกเข่า อีกทั้งยังทำหน้าที่ในการเพิ่มความมั่นคงให้กับข้อเข่าด้วย

หมอนรองกระดูกเข่าเป็นอวัยวะที่มีเลือดมาเลี้ยงค่อนข้างน้อย หากเกิดการฉีกขาดจะทำให้ความสามารถในการซ่อมแซมตัวเองมีไม่มาก และทำให้เสียความสามารถในการรองรับแรงกระแทก ข้อเข่าไม่มั่นคง เกิดเป็นภาวะข้อเข่าเสื่อมได้ในท้ายที่สุด

อาการหมอนรองกระดูกเข่าฉีกขาด

  • ปวดเข่า มักปวดมากขึ้นตามการใช้งาน หรือท่าทางที่งอเข่ามาก เช่น นั่งยอง ๆ
  • ข้อเข่าบวม อาจบวมทันทีหลังได้รับบาดเจ็บ หรือบวมเป็น ๆ หาย ๆ ตามการใช้งาน
  • ขัดข้อเข่า เหยียดหรืองอได้ไม่สุด
  • ข้อเข่าล็อค ติดค้างอยู่ในท่าใดท่าหนึ่ง

ตรวจรักษาหมอนรองกระดูกเข่าฉีกขาด

การตรวจและวินิจฉัยภาวะหมอนรองกระดูกเข่าฉีกขาด แพทย์เวชศาสตร์การกีฬาจะส่งตรวจเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI แล้วจึงแนะนำการรักษาโดยเบื้องต้น ได้แก่

  • พักการใช้งานข้อเข่า
  • ลดความเสี่ยงการเกิดการบาดเจ็บเพิ่มเติม
  • ประคบเย็น ยกขาสูง และใช้ยาลดการอักเสบ
  • หากมีการฉีกขาดรุนแรง แพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัดข้อเข่าผ่านกล้อง ซึ่งเป็นมาตรฐานการรักษา ช่วยให้แผลเล็ก ลดการบาดเจ็บต่อกล้ามเนื้อและอวัยวะข้างเคียง ฟื้นตัวไว

ผ่าตัดผ่านกล้องเย็บหมอนรองกระดูกเข่า

ผ่าตัดผ่านกล้องเย็บซ่อมหมอนรองกระดูกเข่า

หมอนรองกระดูกเข่าเป็นอวัยวะสำคัญในการรองรับแรงกระแทก การผ่าตัดผ่านกล้องเพื่อเย็บซ่อมหมอนรองกระดูกเข่าในกรณีที่มีการฉีกขาดจึงมีความจำเป็นเพื่อลดอาการเจ็บปวด ทำให้สามารถกลับมาใช้งานข้อเข่า ออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬาได้เต็มประสิทธิภาพ และช่วยลดโอกาสการเกิดข้อเข่าเสื่อมในอนาคต แต่หากปล่อยทิ้งไว้เป็นระยะเวลานาน หรือการฉีกขาดในตำแหน่งที่มีเลือดมาเลี้ยงน้อย อาจจะทำให้ไม่สามารถเย็บซ่อมหมอนรองกระดูกเข่าได้ แพทย์จะแนะนำการผ่าตัดผ่านกล้องเพื่อตัดแต่งหมอนรองกระดูกเข่า

ปวดน้อย ฟื้นตัวไว

การผ่าตัดข้อเข่าโดยเทคนิคการผ่าตัดผ่านกล้อง ทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อรอบ ๆ น้อย ใช้เวลาผ่าตัดลดน้อยลงโดยแพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์การกีฬา สามารถเย็บซ่อมหมอนรองกระดูกเข่าบริเวณต่าง ๆ ได้ดีขึ้นจากอุปกรณ์ขนาดเล็กผ่านกล้องที่ทันสมัย ลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ข้อเข่าติด หลังผ่าตัดสามารถฟื้นตัวได้ไว ปวดน้อย โดยแพทย์วิสัญญีให้การควบคุมความปวดที่เหมาะสมและมีทีมกายภาพบำบัดร่วมดูแลต่อเนื่องอย่างใกล้ชิดทันที เพื่อบริหารเสริมสร้างกล้ามเนื้อ ฝึกการลงน้ำหนักและพิสัยการเคลื่อนไหวของข้อเข่าที่เหมาะสม ในบางรายหากเย็บซ่อมหมอนรองกระดูกเข่าที่ฉีกขาดรุนแรง แพทย์จะแนะนำให้งดการลงน้ำหนักขาข้างนั้นร่วมกับงดการงอเข่ามากเป็นเวลา 4 – 6 สัปดาห์

ภาวะหมอนรองกระดูกเข่าฉีกขาดอาจไม่ร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต แต่หากปล่อยปะละเลยอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและเกิดภาวะข้อเข่าเสื่อมที่ไม่สามารถย้อนคืนกลับมาได้ ดังนั้นหากได้รับการบาดเจ็บ หรือมีอาการผิดปกติที่สงสัยว่าหมอนรองกระดูกเข่าอาจฉีกขาด แนะนำให้รีบพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม

ขอบคุณข้อมูลจาก สถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกาย โรงพยาบาลกรุงเทพ https://www.bangkokhospital.com/content/laparoscopic-surgery-fixed-meniscus

บทความที่เกี่ยวข้อง

กระดูกงอกทับเอ็นข้อไหล่

กระดูกงอกทับเอ็นข้อไหล่

กระดูกงอกทับเอ็นข้อไหล่ โรคใกล้ตัวคนวัย 50+ เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น มักเกิดปัญหาเกี่ยวกับข้อตามมา ร่างกายเกิดความเสื่อม หรือมีความเสียหายเกิดขึ้นกับข้อ เช่น ข้อแตก ข้อหัก ร่างกายจะดึงแคลเซียมออกมาเพื่อไปซ่อมแซมกระดูกส่วนที่เสื่อมนั้น อาทิ บริเวณข้อต่าง ๆ รวมถึงข้อไหล่ จนเกิดเป็นหินปูนหรือแคลเซียมเกาะกระดูก ส่งผลให้กลายเป็นกระดูกงอกทับเส้นเอ็นข้อไหล่ ทำให้เกิดความเจ็บปวดทรมาน ซึ่งหากมีความผิดปกตินี้เกิดขึ้นที่บริเวณข้อไหล่ อย่าวางใจปล่อยทิ้งไว้ เพราะจะทำให้การดำเนินชีวิตประจำวันลำบากมากขึ้น ควรพบแพทย์เพื่อเร่งรักษา ปวดไหล่ ยกแขนขึ้นไม่สุด อาการปวดไหล่ เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยและเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยสาเหตุของอาการปวดอาจเกิดจากปัญหาโครงสร้างของข้อไหล่เองหรือจากภาวะข้อไหล่ไม่มั่นคง (Instability pain) หรืออาการปวดต่างที่ (Referred pain) เช่น จากกระดูกต้นคอ ทรวงอก หรือในช่องท้อง ซึ่งอาการปวดในแต่ละโรคอาจเหมือนกันหรือแตกต่างกันก็ได้ แต่สาเหตุที่พบบ่อยของอาการปวดไหล่ ได้แก่ ข้อไหล่ติด (Frozen shoulder) ข้อไหล่หลุด (Shoulder instability) ข้ออักเสบ (Arthritis) ภาวะเส้นเอ็นหัวไหล่ฉีก (Rotator cuff tear) และกระดูกงอกทับเส้นเอ็นข้อไหล่ (Impingement syndrome) เป็นต้น ทั้งนี้ โรคกระดูกงอกสามารถเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ เมื่อกระดูกเกิดความเสื่อม แตก หัก ซึ่งร่างกายจะนำแคลเซียมไปซ่อมแซมและทำให้กระดูกนั้น ๆ เกิดเป็นแคลเซียมที่ผิดธรรมชาติที่เรียกว่ากระดูกงอก ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับกระดูกทุกส่วนในร่างกาย กระดูกงอกทับเอ็นข้อไหล่ กระดูกงอกทับเอ็นข้อไหล่ (Impingement syndrome) และภาวะหินปูนเกาะเส้นเอ็น (Calcific Tendonitis) สาเหตุเกิดได้จาก 1) ความเสื่อมของร่างกายและข้อไหล่ เนื่องจากเมื่อสูงอายุร่างกายจะเกิดความเสื่อมรวมถึงกระดูกที่มีโอกาสเกิดการสึกหรอ ร่างกายสร้างหินปูนขึ้นมาจับและพอกขึ้นจนเป็นกระดูกงอก โดยหินปูนจะงอกออกมาจากกระดูกปกติ แล้วมากดเบียดเส้นเอ็นที่อยู่ด้านล่างของกระดูก ซึ่งพบมากในกลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไป 2) สาเหตุจากการใช้งาน การทำงานที่ส่งผลกระทบต่อข้อไหล่มาก ๆ จนทำให้เอ็นที่เกาะกล้ามเนื้อฉีกขาดและไม่ได้รับการรักษา ร่างกายจึงพยายามสร้างหินปูนมาเชื่อมบริเวณที่บาดเจ็บ ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง การเล่นกีฬาที่ต้องใช้ข้อไหล่มาก ๆ เช่น การเล่นเวท เทนนิส แบดมินตัน เป็นต้น 3) ภาวะเส้นเอ็นหัวไหล่ฉีก ภาวะเส้นเอ็นหัวไหล่ฉีก (Rotator cuff tear) เกิดจากการเสียดสีกันระหว่างเส้นเอ็นหุ้มข้อไหล่กับปลายกระดูกสะบัก ขณะที่ยกแขนขึ้นเหนือศีรษะบ่อย ๆ ทำให้เกิดอาการปวดแบบเป็น ๆ หาย ๆ ยิ่งขณะยกแขนขึ้นสูงหรือกางแขนออก ผลที่ตามมาคือ จะมีการเสื่อมสภาพของเส้นเอ็น จนท้ายสุดอาจทำให้เส้นเอ็นหุ้มข้อไหล่ฉีกขาดได้ โดยช่วงแรกผู้ป่วยจะมีอาการปวดบริเวณไหล่ด้านหน้าและด้านข้าง ส่วนมากจะมีประวัติปวดไหล่เวลากลางคืน และปวดมากเวลานอนตะแคงทับแขนด้านที่มีอาการ ในระยะที่รุนแรงจะพบเส้นเอ็นฉีกขาดร่วมด้วย ทำให้แขนอ่อนแรง ยกแขนขึ้นได้ลำบาก 4) โรคข้อไหล่ติด โรคข้อไหล่ติด (Frozen shoulder) พบมากในช่วงอายุ 50 – 60 ปี พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย สาเหตุเกิดจากการอักเสบของเยื่อหุ้มข้อไหล่ แล้วเกิดผังผืดในข้อไหล่ ทำให้ข้อไหล่ขยับได้น้อยลง พบบ่อยในกรณีที่กระดูกหักบริเวณแขน ทำให้ผู้ป่วยขยับแขนได้ลดลง ซึ่งทั้งสองภาวะนี้ผู้ป่วยจะมาด้วยอาการปวดข้อไหล่ที่คล้ายคลึงกัน จนไม่สามารถไขว้มือไปด้านหลังได้สุด ติดตะขอด้านหลังไม่ได้ ทำกิจวัตรประจำวันได้อย่างยากลำบาก จึงควรพบแพทย์เฉพาะทางด้านข้อไหล่เพื่อตรวจวินิจฉัยแยกโรคว่าเกิดจากความผิดปกติใด รักษากระดูกงอกทับเอ็นข้อไหล่ การรักษาเริ่มแรก แพทย์จะทำการวินิจฉัยโรคจากอาการ การซักประวัติ และตรวจร่างกาย ร่วมกับการตรวจแบบอื่นเพื่อยืนยันการวินิจฉัย เช่น ตรวจเอกซเรย์เพื่อดูความผิดปกติของกระดูก หรือตรวจ MRI เพื่อวินิจฉัยภาวะเสื่อมหรือการขาดของเส้นเอ็นบริเวณไหล่ และยังสามารถให้รายละเอียดของกระดูกอ่อนและเนื้อเยื่อรอบข้อไหล่ได้ดี โดยแบ่งการรักษาออกเป็น 2 รูปแบบใหญ่ ๆ คือ 1) ไม่ต้องผ่าตัด สำหรับกรณีที่ผู้ป่วยมีกระดูกงอกทับเอ็นข้อไหล่ในระยะเริ่มต้น และไม่มีอาการของข้อไหล่ฉีกขาดร่วมด้วย โดยจะใช้วิธีทานยา ฉีดยา หรือทำกายภาพบำบัด ร่วมกับลดกิจกรรมที่กระทำต่อข้อไหล่ ออกกำลังกายเพื่อป้องกันภาวะกล้ามเนื้อฝ่อตัวจากการไม่ได้ใช้งาน บางรายใช้เวลาในการรักษาไม่นาน บางรายรักษาไม่หายทนทรมานต่อความเจ็บปวด หากทำทุกวิธีแล้วยังไม่ดีขึ้นอาจต้องเข้ารับการผ่าตัด 2) การผ่าตัดผ่านกล้อง ปัจจุบันวิวัฒนาการทางด้านการแพทย์มีการพัฒนามากขึ้น ทำให้การผ่าตัดไม่น่ากลัวเหมือนในอดีต เทคโนโลยีการรักษาด้วยการผ่าตัดผ่านกล้องจึงเข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมาก การผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก (Minimally Invasive Surgery : MIS) ปัจจุบันถือป็นมาตรฐานการรักษาโรคข้อไหล่ที่ยอมรับทั่วโลก เหมาะสำหรับผู้ที่มีกระดูกงอกทับเอ็นข้อไหล่ ร่วมกับมีปัญหาเอ็นข้อไหล่ฉีกขาดร่วมด้วย ช่วยให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก ลดการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อข้างเคียง เสียเลือดน้อย โอกาสติดเชื้อหลังผ่าตัดต่ำ และลดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดเปิดแบบในอดีต เทคโนโลยี MIS ผ่าตัดผ่านกล้องยังสามารถกรอกระดูกที่งอกกดทับเอ็นข้อไหล่ ผ่าตัดแต่งเนื้อเอ็นที่ขาดให้เรียบ และเย็บซ่อมเอ็นหุ้มข้อไหล่ที่ฉีกขาด ถือเป็นการรักษาที่ต้นเหตุ โดยคนไข้สามารถทำกายภาพขยับไหล่ได้ตั้งแต่วันแรกหรือวันที่สองหลังผ่าตัด ลดการบาดเจ็บจากการผ่าตัดแบบดั้งเดิมที่ต้องเปิดแผลกว้างเพื่อเข้าไปเย็บเส้นเอ็นเล็ก ๆ เส้นเดียวที่หัวไหล่ ซึ่งกว่าแผลจะหายและคนไข้เริ่มขยับได้ต้องใช้เวลานานนับสัปดาห์ ขณะที่การผ่าตัดผ่านกล้องจะเป็นเพียงการเจาะรูเล็ก ๆ เพื่อส่องกล้องเข้าไปกรอกระดูกที่งอกบริเวณที่เกิดปัญหาได้อย่างตรงตำแหน่ง คนไข้รักษาตัวในโรงพยาบาลไม่นาน ฟื้นตัวไว ข้อไหล่กลับมาเคลื่อนไหวได้อีกครั้ง บำบัดความเจ็บปวดด้วยคลื่นกระแทกความถี่สูง นอกจากนี้ยังมีการรักษาด้วยคลื่นกระแทกความถี่สูง (Radial shockwave) เป็นเครื่องบำบัดรักษาอาการเจ็บปวดจากการอักเสบและมีการสะสมของหินปูนที่เอ็นกล้ามเนื้อไหล่ เพิ่มประสิทธิภาพในการสลายแคลเซียม และเพิ่มกระบวนการไหลเวียนเลือด คลื่นกระแทกสามารถส่งผ่านจากภายนอกร่างกายเข้าไปยังตำแหน่งเป้าหมาย ซึ่งนอกจากจะช่วยทำให้กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อบริเวณไหล่แข็งแรงแล้ว ยังช่วยลดการอักเสบ และเพิ่มพิสัยการเคลื่อนไหวข้อไหล่ให้กลับมาใกล้เคียงปกติได้เร็วขึ้น ป้องกันกระดูกงอกทับเอ็นข้อไหล่ การป้องกันเพื่อลดการเกิดภาวะกระดูกงอกทับเส้นเอ็นข้อไหล่ สามารถทำได้โดย ไม่ปล่อยให้น้ำหนักตัวมากเกินไป ซึ่งจะส่งผลไปถึงข้อต่าง ๆ รับประทานอาหารให้ถูกสัดส่วน โดยเฉพาะโปรตีน พืชผัก ผลไม้ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แต่ไม่ควรออกกำลังกายแบบเต้นหรือแกว่งแขนไปมา เนื่องจากอาจทำให้เอ็นข้อไหล่ทำงานมากขึ้น เกิดการอักเสบหรืออาจฉีกขาดได้ สำหรับการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับผู้ที่มีน้ำหนักมากหรือผู้สูงอายุคือ การเดินไปมาพอให้มีเหงื่อออกประมาณ 15 นาที การบริหารยืดข้อไหล่อย่างช้า ๆ และยืดให้สุดจะช่วยเพิ่มพิสัยในการเคลื่อนไหวข้อไหล่ได้ดีขึ้น เช่น การใช้มือไต่ผนัง การรำกระบอง รำมวยจีน เป็นต้น หรือในกรณีที่เป็นนักกีฬาก็จะมีเทคนิคในการวอร์มอัพร่างกายของกีฬาแต่ละชนิด ซึ่งควรปฏิบัติให้ถูกต้องในระยะเวลาพอสมควรอย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตาม หากรู้สึกปวดข้อไหล่ ควรพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษา ป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บเรื้อรังที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ขอบคุณข้อมูลจาก สถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกาย โรงพยาบาลกรุงเทพ https://www.bangkokhospital.com/content/laparoscopic-surgery-fixed-meniscus

การผ่าตัดข้อศอกบาดเจ็บซับซ้อน

การผ่าตัดข้อศอกบาดเจ็บซับซ้อน

“พัฒนาไม่หยุด สู่ขีดสุดการดูแล“ หนึ่งในเคสที่ซับซ้อนที่ทีมแพทย์ของเราได้ให้การดูแลรักษาคือ เคสของผู้ป่วยชายไทยวัย 41 ปี ที่ประสบอุบัติเหตุอย่างรุนแรงที่ข้อศอกขวา หลังจากการตรวจเบื้องต้นด้วยการเอ็กซเรย์ (X-ray) ทีมแพทย์พบว่ามีกระดูกบริเวณข้อศอกแตกหักหลายจุด จึงทำการตรวจยืนยันเพิ่มเติมด้วยการเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT-Scan) 128 สไลด์ ซึ่งยืนยันว่ามีกระดูกหักหลายตำแหน่ง โดยเฉพาะที่หัวข้อต่อศอก มีกระดูกชิ้นเล็กๆ แตกหลายชิ้น (รูปที่ 1) และยังมีอาการเอ็นและกล้ามเนื้อฉีกขาด รวมถึงข้อต่อที่เคลื่อน #ซึ่งเป็นจุดที่มีความซับซ้อนและละเอียดอ่อนในการรักษา รูปที่ 1 **Fracture of radial head** หรือการหักของกระดูกข้อศอก มักเกิดจากการบาดเจ็บจากกีฬา หรือการล้ม โดยส่วนใหญ่มักเกิดจากการล้มขณะยืดแขนเพื่อยันพื้น และอาจพบร่วมกับข้อศอกเคลื่อนหรือเส้นประสาทที่ได้รับบาดเจ็บ เคสนี้นับเป็นเคสที่ไม่พบบ่อย และมีความซับซ้อนสูง ทีมแพทย์ของเราได้วางแผนการรักษาอย่างละเอียดรัดกุม นำทีมโดย **นพ.คงชัย หล่อรุ่งโรจน์** ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ ผู้ชำนาญการด้านอุบัติเหตุออร์โธปิดิกส์ **นพ.วีรนนท์ ชัญญาวงศ์ศักดิ์** แพทย์เฉพาะทางด้านศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านศัลยศาสตร์มือและจุลศัลยกรรม (แพทย์ร่วมผ่าตัด) การผ่าตัดใช้เวลานานเกือบ 5 ชั่วโมง ทีมแพทย์ได้ซ่อมแซมเอ็นและกล้ามเนื้อ แก้ไขกระดูกที่เคลื่อนให้เข้าที่ รวมถึงการยึดตรึงกระดูกที่แตกหัก และใส่ชิ้นส่วนของกระดูกเทียม (รูปที่ 2 ) เพื่อทดแทนส่วนที่เสียหาย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติที่สุดหลังจากการผ่าตัดและการฟื้นฟู รูปที่2 หลังจากการผ่าตัด ผู้ป่วยฟื้นตัวได้ดีขึ้นมาก สามารถกำมือและแบมือได้อย่างคล่องแคล่ว ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับคุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคต ติดต่อที่แผนกศัลยกรรมกระดูกและข้อ โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี 039-319888 #โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี #ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ #การฟื้นฟูที่มีคุณภาพ +3

เอ็นไขว้หน้าเข่าขาด

เอ็นไขว้หน้าเข่าขาด

เอ็นไขว้หน้าเข่าขาด (ACL) รีบรักษาก่อนเข่าเสื่อม หนึ่งในอาการบาดเจ็บที่นักกีฬาฟุตบอลเป็นกันมากรองจากข้อเท้าคือ เอ็นไขว้หน้าเข่าขาด ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทั่วไป หากออกกำลังหรือทำกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวแบบบิดหมุนตัวแล้วเกิดการเสียหลักล้ม อาทิ ฟุตบอล บาสเกตบอล แบตมินตัน สกี เป็นต้น ซึ่งการรักษาต้องใช้ระยะเวลานานหลายเดือน ดังนั้นหากเกิดความผิดปกติหรือสงสัยว่าเอ็นไขว้หน้าเข่าขาดควรรีบปรึกษาแพทย์และทำการรักษาโดยเร็วเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีดังเดิม ความสำคัญของเอ็นไขว้หน้าเข่า เอ็นไขว้หน้า (Anterior Cruciate Ligament – ACL) เป็นหนึ่งในเอ็นหลักของเข่า อยู่ลึกเข้าไปในบริเวณส่วนกลางของข้อเข่า ช่วยรักษาความมั่นคงของข้อเข่าในการเคลื่อนไหว มีหน้าที่ป้องกันการบิดหมุนของข้อเข่า เมื่อเอ็นไขว้หน้าขาดจะได้ยินเสียงลั่นในข้อ (Audible Pop) มีอาการเข่าบวมและเลือดออกในหัวเข่า ต้องรีบพบแพทย์ผู้ชำนาญการเพื่อทำการรักษาโดยเร็วที่สุด หากต้องรักษาด้วยการผ่าตัดจำเป็นจะต้องรักษาควบคู่การทำกายภาพบำบัดเป็นเวลาประมาณ 6 เดือน ซึ่งเอ็นไขว้หน้าเข่าขาดนั้น หากไม่รีบรักษาจะส่งผลให้เข่าเสื่อมก่อนวัย สาเหตุเอ็นไขว้หน้าเข่าขาด การบาดเจ็บที่เกิดจากการปะทะ เป็นสาเหตุส่วนใหญ่ที่พบในผู้ที่มีปัญหาเอ็นไขว้หน้าเข่าขาด ได้แก่ การบิดของเข่าเมื่อเกิดการปะทะหรือเสียบ การกระโดดหรือรีบยกเท้า การบาดเจ็บที่ไม่ได้เกิดจากการปะทะ มักมีสาเหตุจากกล้ามเนื้อที่ตึง ไม่ยืดหยุ่น หรือไม่แข็งแรง ทำให้เข่าบาดเจ็บ แต่มักเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปหรือสะสมมากกว่าเป็นการกระแทกแล้วฉีกขาดในทันที วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น หากเกิดการบาดเจ็บบริเวณเอ็นไขว้หน้าเข่า การดูแลปฐมพยาบาลเบื้องต้นสามารถทำได้ดังนี้ นอนนิ่ง ๆ อย่าพยายามขยับ รอคนมาช่วย ประคบเย็นให้เร็วที่สุด ทิ้งเวลาสักพัก แล้วลองขยับเข่า งอเข่า เหยียดเข่า โดยค่อย ๆ ลงน้ำหนัก สังเกตว่าเจ็บบริเวณใด บวมทันทีหรือไม่ มีเสียงฉีกขาดของเอ็นดังป๊อปขณะเกิดอุบัติเหตุหรือไม่ ถ้าปวดมากจนขยับไม่ได้ ต้องดามด้วยไม้หรืออุปกรณ์ที่มี แล้วพันผ้ายึดให้แข็งแรง หากข้อเข่าผิดรูป บิดเบี้ยว อย่ากด ดัน ดึง หรือปรับเข้าที่เอง ให้ดามจนกว่าจะถึงมือแพทย์ การรักษาที่ถูกต้อง สำหรับการรักษาเอ็นไขว้หน้าเข่าขาด แพทย์จะเริ่มจากการตรวจร่างกาย ซักประวัติ เอกซเรย์ หรือทำ MRI Scan โดยการรักษาจะขึ้นอยู่กับอาการบาดเจ็บของผู้ป่วยเป็นสำคัญ ในเบื้องต้นถ้าผู้ป่วยมีอาการเข่าบวมทันที บ่งบอกว่าอาจมีอะไรฉีกขาดในเข่าแล้วมีเลือดออก จากสถิติแล้วกว่า 80% มักเป็นเอ็นไขว้หน้าหรือ ACL (Anterior Cruciate Ligament) ฉีก และกว่า 60% ของเอ็นไขว้หน้าฉีกจะมีหมอนรองกระดูกเข่าฉีกร่วมด้วย ในกรณีนี้แพทย์มักทำการใส่เฝือกอ่อนและให้ยาลดการอักเสบประมาณ 1 สัปดาห์ จนเมื่ออาการบวมและการอักเสบเฉียบพลันลดลง แพทย์จะพิจารณาการผ่าตัดส่องกล้องเพื่อแก้ไขในลำดับต่อไป ผ่าตัดผ่านกล้องรักษาเอ็นไขว้หน้าเข่าขาด เนื่องจากเอ็นไขว้หน้าเข่าที่ฉีกขาดมีแรงดึงในตัวเอ็น ส่งผลให้เมื่อฉีกไปแต่ละปลายของเอ็นจะหดตัวห่างจากกันไปเรื่อย ๆ การสมานของเอ็นด้วยตัวเองจึงไม่เกิดขึ้น ดังนั้นการผ่าตัดผ่านกล้องรักษาเอ็นไขว้หน้าเข่าขาดจึงเป็นอีกทางเลือกในการรักษาที่ช่วยให้ผู้ป่วยกลับไปมีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกครั้ง เพราะ ได้ผลดี หายเร็ว งอเข่าได้ตั้งแต่ 24 ชั่วโมงแรก ฟื้นตัวไวเมื่อทำกายภาพบำบัด โดยในการเดิน การใช้ไม้ค้ำยันจะแตกต่างตามอวัยวะที่บาดเจ็บ มีตั้งแต่ไม่ใช้เลยจนถึงใช้เต็มที่ 4 สัปดาห์ ฟื้นฟูกล้ามเนื้อเข่าหลังผ่าตัดด้วย Alter-G การฟื้นฟูกล้ามเนื้อเข่าหลังผ่าตัดรักษาเอ็นไขว้หน้าเข่าขาดคือสิ่งสำคัญ ผู้ป่วยจำเป็นที่จะต้องออกกำลังเพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหวของข้อต่อและกล้ามเนื้อ ทำให้ปอดและหัวใจทำงานเต็มที่ เสริมสร้างความฟิตจากการใช้ออกซิเจนสร้างพลังงาน เพื่อช่วยให้ขยับเดินได้เร็ว ช่วยฟื้นฟูนักกีฬาหรือผู้ป่วยหลังผ่าเข่าและข้อเท้า รวมถึงผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากให้ร่างกายแข็งแรง โดย Alter-G (Anti – Gravity Treadmill) ลู่วิ่งในสภาวะไร้น้ำหนัก คือ เครื่องกายภาพบำบัดที่ออกแบบให้มีอุปกรณ์คล้ายถุงลมเพื่อช่วยแบกรับน้ำหนักของร่างกายไว้สูงสุดถึง 80% ของน้ำหนักตัว เวลาวิ่งจึงมีน้ำหนักตัวลงในบริเวณที่เป็นปัญหาเพียง 20% เท่านั้น ช่วยให้ไม่รู้สึกเจ็บขณะลงน้ำหนัก เสมือนเดินในลูกบอลลูน นักกีฬาและผู้ป่วยหลายคนอาจกังวลว่าเมื่อเอ็นไขว้หน้าเข่าขาดจะไม่สามารถกลับมาใช้งานได้เป็นปกติ โดยเฉพาะนักกีฬาที่อาจต้องหยุดเล่นกีฬาในระยะยาว ซึ่งในปัจจุบันด้วยความก้าวหน้าของการรักษา ประกอบกับความเข้าใจในกลไกเข่าที่มากขึ้น ทำให้สามารถแก้ไขให้กลับไปใช้งานใกล้เคียงเดิมได้ แต่การป้องกันย่อมดีกว่าการรักษา ดังนั้นสำหรับนักกีฬาควรต้องคำนึงถึงองค์ประกอบสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น การวอร์มอัพร่างกายที่ดีและนานเพียงพอ สภาพพื้นสนาม รองเท้า ทัศนคติของเพื่อนร่วมเล่น ตลอดจนปัจจัยภายในเข่า นั่นคือ การบาดเจ็บในอดีต กล้ามเนื้อที่ไม่ยืดหยุ่นแข็งแรงเพียงพอ ทั้งหมดนี้ล้วนมีผลกับการป้องกันการบาดเจ็บของเข่าและส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้เป็นอย่างดี ขอบคุณข้อมูลจาก สถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกาย โรงพยาบาลกรุงเทพ https://www.bangkokhospital.com/content/acl-earley-treatment-before-osteoarthritis

ไม่พบบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
Hospital Logo

ติดต่อสอบถามเจ้าหน้าที่

บริการให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง