ปวดท้องน้อยในสตรี
ปวดท้องน้อย เกิดได้ทั้งชายและหญิง ซึ่งเกิดได้หลายสาเหตและปัจจัยเนื่องจากในช่องท้องนั้นประกอบด้วยอวัยวะภายในหลายอย่างด้วยกัน เช่น ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ไส้ติ่ง ระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น ไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ ขณะที่ผู้หญิงอาจมีความเสี่ยงในมดลูก รังไข่และปีกมดลูก ด้วย ซึ่งบ่อยครั้งที่ไม่สามารถแยกไส้ติ่งอักเสบออกจากถุงน้ำรังไข่ที่แตกได้ หรือไม่สามารถแยกโรคมดลูกอักเสบเฉียบพลันออกจากภาวะไส้ติ่งแตกได้ การวินิจฉัยหาสาเหตุเรื่องของปวดท้องน้อย บางครั้งจึงจำเป็นต้องมีแพทย์หลายๆแผนก มาร่วมกันในการดูแลรักษา
การวินิจฉัยสาเหตุปวดท้องน้อยนั้น จำเป็นต้องซักประวัติให้ละเอียด เช่น ปวดท้องน้อยมากี่วัน เป็นมานานแล้วหรือยัง เคยปวดท้องน้อยลักษณะเดียวกันมาก่อนหรือไม่ การรักษาที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง ดีขึ้นหรือไม่ นอกจากนั้น ประวัติในครอบครัว และประวัติการเกิดโรคในอดีตที่เกี่ยวกับระบบภายในด้วย รวมถึงอาการปวดที่อาจจะแตกต่างกันออกไป เช่น ปวดตื้นๆ หรือปวดลึกๆ มีจุดกดเจ็บหรือไม่ ลักษณะการปวดเป็นแบบบีบๆ ปวดดิ้น ปวดแบบมวนๆ ในช่องท้อง หรือเจ็บเหมือนมีเข็มตำ ปวดจนเป็นลมหรือเปล่า
ปวดท้องน้อยสตรี สามารถแยกออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
ปวดท้องน้อยเฉียบพลัน ( Acute pelvic pain ) มักเกิดจากการขาดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะในช่องท้องที่เป็นสาเหตุหรืออาจเกิดจากอวัยวะที่เป็นสาเหตุได้รับความเสียหาย มักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย หรือมาอาการเป็นลมในบางราย สาเหตุของอาการปวดท้องน้อยลักษณะนี้
- มดลูกอักเสบเฉียบพลัน
- ถุงน้ำรังไข่แตก รั่วหรือบิดขั้ว
- ภาวะไข่ตกในช่วงกลางรอบเดือน
- นิ่วในท่อไต
- กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
- การตั้งครรภ์นอกมดลูก
ปวดท้องน้อยเป็นซ้ำ ( recurrent pelvic pain )
วินิจฉัยว่าปวดท้องน้อยเนื่องจากไข่ตก ( Mittelschmerz ) กลุ่มนี้เกิดจากมีการหลั่งสารโพสตร้าแกลนดินออกมาจากถุงไข่ที่รั่วออกมา ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะปวดสั้นๆ 1-2 วัน ในช่วงกลางรอบเดือน รับประทานยาแก้ปวดก็ดีขึ้น แต่ในกรณีที่รับประทานยาแก้ปวด อาการก็ไม่ทุเลาหรือมีภาวะอื่นร่วมด้วย เช่น เป็นลม เหนื่อยง่าย จำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อให้การวินิจฉัยที่ถูกต้องต่อไปปวดประจำเดือนแบบปฐมภูมิ ( primary dysmenorrhea ) อาการปวดประจำเดือนมักเกิดในช่วงก่อนมีประจำเดือนและอาจปวดต่อเนื่องได้ถึง 72 ชม อาการปวดมักจะทุเลาได้โดยการใช้ยากลุ่มยับยั้งการสร้างโพสตร้าแกลนดินหรือการใช้ยาคุมกำเนิด ผู้ป่วยกลุ่มนี้ อาการปวดมักจะดีขึ้นหลังหลังจากมีบุตร
ปวดท้องน้อยเรื้อรัง ( Chronic pelvic pain ) เป็นภาวะที่พบบ่อย และเป็นปัญหามากในการวินิจฉัยและให้การรักษาที่ถูกต้อง ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีประวัติการรักษาจากแพทย์หลายคน เนื่องจากการวินิจฉัยหาสาเหตุค่อนข้างยาก
ภาวะปวดท้องน้อยเรื้อรัง ลักษณะของการปวดท้องน้อย ที่มักปวดตลอดหรืออาจจะปวดเป็นช่วงๆ ไม่สม่ำเสมอ ( non cycle pain ) ไม่สามารถบอกล่วงหน้าได้ และอาการปวดท้องน้อยมักเป็นต่อเนื่องกันมากกว่า 3- 6 เดือน พบว่า ภาวะปวดท้องน้อยเรื้อรังนั้นเป็นสาเหตุในผู้ป่วยที่ตัดมดลูกทั้งหมด ถึง 18%
สาเหตุปวดท้องน้อยเรื้อรัง
- เยื่อบุประจำเดือนอยู่ผิดที่
- ช๊อคโกเล็ตซีสต์
- พังผืดในช่องท้อง โดยเฉพาะพังผืดที่ยึดระหว่างลำไส้ใหญ่ส่วนปลา ( sigmoid colon ) กับผนังช่องท้อง เป็นสาเหตุถึง 38 % ในผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ด้วยเรื่องปวดท้องน้อยเรื้อรัง
- มดลูกและปีกมดลูกอักเสบเรื้อรัง
- เส้นเลือดโป่งพองในอุ้งเชิงกราน ( pelvic congestion )
- เนื้องอกมดลูก
- เนื้องอกและถุงน้ำรังไข่
- เนื้องอกและมะเร็งลำไส้ใหญ่
- ลำไส้แปรปวน
จะเห็นได้ว่าปัญหาระบบภายในของผู้หญิงซับซ้อนเป็นอย่างมาก การตรวจภายในจึงสำคัญ เช่นการตรวจวินิจฉัยด้วยอัลตร้าซาวด์ หรือเอกเรย์คองพิวเตอร์ เช่น CT หรือ MRI จำเป็นสำหรับการช่วยวินิจฉัยโรคและแยกโรคในกรณีที่คิดว่าเป็นโรคเกี่ยวกับลำไส้เล็กหรือลำไส้ใหญ่ การตรวจสวนลำไส้ใหญ่ หรือการส่องกล้องลำไส้เล็กก็จำเป็นในกรณีที่ผุ้ป่วยได้รับการตรวจวินิจฉัยหลายอย่างแล้ว ก็ยังไม่พบสาเหตุที่ชัดเจน การส่องกล้องวินิจฉัยในช่องท้อง ( Diagnostic laparoscope ) ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่แพทย์จะใช้ในการตรวจวินิจฉัย แต่เนื่องจากการตรวจด้วยการส่องกล้องวินิจฉัยในช่องท้องนั้น จำเป็นต้องนำผู้ป่วยเข้าห้องผ่าตัดและดมยาสลบ การเลือกใช้วิธีนี้จึงควรมีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจน อย่างไรก็ตามการรักษาโรค ขึ้นกับการตรวจพบสาเหตุของโรค ให้การรักษาตามสาเหตุโดยคำนึงถึงอายุ ประวัติการมีบุตรร่วมด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก : ฺBDMS สถานีสุขภาพ