8 พฤติกรรมเสี่ยง! ทำให้เกิดอาการ “ปวดหลังเรื้อรัง”

 

อาการปวดหลังเรื้อรังอาจเกิดได้จากชีวิตประจำวัน ตั้งแต่การยืน นั่ง นอน หรือการบาดเจ้บจากการเล่นกีฬา การทำงาน รวมไปถึงการเสื่อมของกระดูกสันหลังเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาการเหล่านี้ส่งผลต่อชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก ดังนั้นการรู้ความเสี่ยงและการดูแลตนเองให้แข็งแรงเสมอนั้นดีที่สุด

 

1. ไอจาม แรง เจ็บแปล๊บที่หลัง

เวลาที่ไอ หรือจาม จะทำให้ความดันในช่องปอดและช่องท้องเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ทำให้กระดูกสันหลังของเราที่ทำหน้าที่เหมือนตัวรับแรงกระแทกนั้นทำงานหนักขึ้น เมื่อแรงดันในหมอนรองกระดูกสูงขึ้นอย่างฉับพลัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวไม่แข็งแรง ผลที่เกิดก็คือ กล้ามเนื้อมีการอักเสบทำให้เกิดอาการปวดหลัง หรือหากร้ายแรงกว่านั้น ผู้ที่มีหมอนรองกระดูกเสื่อมอยู่แล้ว อาจทำให้หมอนรองกระดูกปลิ้นออกมาทับเส้นประสาท เกิดอาการร้าวลงขาร่วมกับอาการชาขึ้นได้

 

2.ทำพฤติกรรมซ้ำๆ

จะทำให้กล้ามเนื้อของเราทำงานอยู่เพียงกลุ่มเดียว มัดเดียว ซ้ำไปซ้ำมา ก่อให้เกิดการล้าและอักเสบตามมาได้ เช่น โรคอออฟฟิศซินโดรมที่พนักงานออฟฟิศต้องขยับมือยุกยิกจิ้มคีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์เป็นประจำทุกวัน มักจะเป็นโรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือหลังของเราก็เช่นกัน เมื่อต้องรับมือกับพฤติกรรมซ้ำๆ โดยเฉพาะกับผู้ที่ต้องรับหน้าที่แบกของหนัก ก็มีสิทธิ์เกิดอาการปวดหลังรังเรื้อรังได้ไม่ยาก ควรขยับเปลี่ยนท่าให้หลากหลาย พยายามอย่าเคลื่อนที่ในท่าเดิมๆ ซ้ำกันบ่อยๆ นานๆ

 

3.นั่งนิ่งท่าเดิมนานเกินไป

การนั่งท่าเดิมเป็นระยะเวลานานๆ ไม่ต่างอะไรกับการทำพฤติกรรมซ้ำๆ ท่านั่งเป็นท่าที่ใช้กล้ามเนื้อและมีแรงไปลงที่กระดูกสันหลังสูงกว่าท่ายืนเสียอีก หากเราต้องนั่งนานๆ เช่น การทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่จะทำให้เกิดอาการปวดหลังขึ้น

 

4.แฟชั่นคุณสาวๆ

การสะพายกระเป๋าใบใหญ่และหนักเป็นเรื่องปกติที่เจอได้บ่อยๆ เวลาที่เราสะพายกระเป๋าหนักๆ ข้างเดียว ร่างกายของเราจะต้องพยายามรักษาสมดุลของเราไม่ให้เดินเซ นั่นก็คือไหล่ของเราข้างที่สะพายกระเป๋าก็จะยกสูงขึ้นโดยอัตโนมัติ สิ่งที่ตามมาก็คือ กล้ามเนื้อมัดที่เกี่ยวข้องก็จะถูกใช้งานอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดอาการปวดไหล่ นานๆ เข้ากล้ามเนื้อหลังด้านตรงข้ามทำงานหนักก็ก่อให้เกิดอาการปวดขึ้นมา การใส่รองเท้าส้นสูง ยิ่งสูงมากเท่าใด กล้ามเนื้อหลังและสะโพกก็ต้องทำงานหนักขึ้น ไม่ให้ตัวเราล้มไปข้างหน้า จึงไม่แปลกเลยที่คนใส่ส้นสูงเป็นประจำจะมีอาการปวดหลังเรื้อรัง

 

5.การนอน

โดยธรรมชาติแล้วร่างกายของเราจะมีการพลิกตัวอัตโนมัติติดตัวมาด้วยแทบจะทุกคน ในกรณีที่ function นี้ไม่ทำงาน เช่น เมาหนัก หลับลึกมาก เวลาตื่นขึ้นมาก็สามารถทำให้ปวดเนื้อปวดตัวได้ จากการที่กล้ามเนื้ออยู่ในท่าๆ เดิมเป็นระยะเวลานาน ที่นอนและหมอนหากใช้ไม่เหมาะสมกับสภาพการนอน ไม่รองรับสรีระของเรา ที่นอนนิ่มไปหรือแข็งไป หมอนที่สูง หรือเตี้ยเกินไปจะทำให้กระดูกคอของเราไม่อยู่ในระนาบเดียวกันกับพื้นผิวการนอน นำมาสู่อาการปวดคอได้ ถ้าคนที่ชอบนอนตะแคงหมอนก็อาจจะต้องสูงกว่าคนที่ชอบนอนหงาย เป็นต้น

 

6.สูบบุหรี่

การสูบบุหรี่เป็นประจำเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอาการปวดหลัง แต่ ณ ตอนนี้ยังไม่มีงานวิจัยใดอธิบายกลไกได้อย่างชัดเจน แต่เชื่อว่าสารนิโคตินในบุหรี่จะทำให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยง กล้ามเนื้อกระดูกสันหลัง และหมอนรองกระดูกสันหลังด้านนอกมีปัญหา ไม่สามารถนำพาออกซิเจนและสารอาหารต่างๆ ไปเลี้ยงอวัยวะดังกล่าวได้เต็มที่ เร่งให้เกิดภาวะกระดูกสันหลังและหมอนรองกระดูกเสื่อมก่อนเวลาอันควร ส่งผลให้มีความเสี่ยงในการเป็นโรคปวดหลังเรื้อรังได้ง่ายขึ้นนั่นเอง

 

7.หนุ่มสาวร่างอวบ น้ำหนักตัวเกิน

เวลาที่น้ำหนักเราเพิ่มขึ้น น้ำหนักตัวก็จะไปลงที่หลังมากขึ้นขณะที่เราทำกิจวัตรประจำวัน ดังนั้น ไม่ว่าเราจะนั่ง จะยืน เราก็ต้องแบกน้ำหนักอันนี้ไว้ตลอด กล้ามเนื้อต้องทำงานหนักขึ้นในขณะที่กล้ามเนื้ออ่อนแอลงเพราะไม่มีการออกกำลัง ทำให้เกิดอาการปวดหลังจาก กล้ามเนื้อได้ อีกด้านหนึ่งกระดูกสันหลังของเราก็ต้องแบกรับน้ำหนักนี้ไว้มากขึ้นด้วย ทำให้เกิดการเสื่อมได้เร็วขึ้น นำมาซึ่งอาการปวดจากกระดูกสันหลังเสื่อมได้เช่นกัน

 

8.คอกาแฟแบบเกินพิกัด

จริงๆ แล้วการดื่มกาแฟไม่ได้ส่งผลโดยตรงกับอาการปวดหลัง แต่ในหลายๆงานวิจัยบอกว่ากาแฟจะเพิ่มการขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะ ทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในการเป็นโรคกระดูกพรุน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุอ้อมๆ ที่ทำให้เกิดอาการปวดหลังได้ การดื่มกาแฟในระดับปกติไม่ส่งผลต่อโรคกระดูกพรุน จากการวิจัย คือ ทาน caffeine >330mg/วัน (ประมาณ 4 แก้วต่อวัน) ขึ้นไปในคนสูงอายุจึงจะมีปัจจัยเสี่ยง

เมื่อเกิดอาการกระดูกพรุนแล้ว สิ่งที่ตามมา คือ กระดูกจะเปราะบางไม่แข็งแรง ทำให้การกระทบกระแทกในชีวิตประจำวันส่งผลให้กระดูกสันหลังเกิดการแตกในระดับเล็กๆ ที่เรียกว่า microfracture ทำให้เกิดอาการปวดเรื้อรัง หรือถ้ารุนแรงขึ้น เช่น หกล้มก้นกระแทก, นอนตกเตียง หรืออีกมากมายก็สามารถทำให้กระดูกสันหลังยุบ ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวดหลังแบบเฉียบพลันขึ้นมาได้  

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : BDMS สถานีสุขภาพ