สัญญาณเตือนปวดหลังเรื้อรัง

สัญญาณเตือนปวดหลังเรื้อรัง

ในบางสถานการณ์แพทย์อาจต้องทำการตรวจทางกายภาพเพื่อยืนยันถึงสาเหตุอาการปวดหลังที่ไม่ปกติ ท่านควรให้ความร่วมมือแก่แพทย์โดยการบอกเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงของอาการของโรคอยู่เสมอ อาจมีการนัดหมายเพื่อติดตามอาการภายใน 1 – 3 สัปดาห์หลังจากการตรวจครั้งแรกในรายที่แพทย์มีความเห็นว่าจำเป็นอาจมีการตรวจเพิ่มเติมทางรังสี และหากท่านมีอาการดังนี้ต่อไปนี้โปรดรายงานให้แพทย์ทราบทันที

  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ

  • มีอาการปวดเฉพาะช่วงกลางคืนอย่างต่อเนื่อง

  • ปัสสาวะลำบาก

  • ขาอ่อนแรง

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่คลินิกปวดหลัง โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี 039-319888

สนใจนัดหมายปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับอาการปวดหลังร้าวลงขา คลิก https://doctor.bangkokhospitalchanthaburi.com/alldoctor.php

บทความที่เกี่ยวข้อง

การรักษาปวดหลังเรื้อรัง

การรักษาปวดหลังเรื้อรัง

การรักษาปวดหลังเรื้อรัง วิธีปฏิบัติง่ายๆดังต่อไปนี้อาจจะช่วยควบคุมอาการปวดได้ โปรดปรึกษาแพทย์หากท่านรู้สึกว่ายังได้รับการบรรเทาอาการปวดหลังเรื้อรัง ไม่เพียงพอ การนอนพักให้หายจากปวดหลังเรื้อรัง การนอนราบบนเตียงให้เพียงพอเป็นการลดปวดขั้นพื้นฐานที่ควรจะปฏิบัติในทุกราย อย่างไรก็ตาม การนอนพักบนเตียงนานๆ ไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องปวดหลัง ในความเป็นจริงแล้วการนอนพักบนเตียงเป็นระยะเวลานานมากกว่า 2 สัปดาห์ อาจจะยิ่งเพิ่มอาการปวดหลัง และอาการปวดร้าวลงขา ดังนั้น หากปวดมาก การนอนพักในช่วงแรกจึงไม่ควรเกิน 2-3 วัน และหลังจากนั้นให้ปฏิบัติกิจกรรมเบาๆ ตามสมควรจะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง การประคบเย็น ประคบร้อน น้ำแข็งหรือแผ่นประคบเย็นสามารถช่วยลดอาการปวดและอาการบวมจากกล้ามเนื้อตึงเคล็ดได้ดี ควรใช้น้ำแข็ง หรือแผ่นประคบเย็นประคบทิ้งไว้ครั้งละประมาณ 20 นาที จำนวน 3 – 4 ครั้งต่อวันในช่วง 2-3 วันแรกเพื่อบรรเทาอาการปวด ท่านสามารถเลือกใช้วิธีประคบด้วยน้ำอุ่นก็ได้หากวิธีนี้สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดได้มากกว่า โดยเฉพาะในรายที่มีอาการปวดร้าวลงขามักได้ผลดี การรับประทานยาปวดหลังเรื้อรัง ยาลดการอักเสบพื้นฐาน เช่น ไอบูโปรเฟน หรือแอสไพริน สามารถช่วยระงับอาการปวดและบวมบริเวณหลังได้ หากยาดังกล่าวออกฤทธิ์ระคายเคืองต่อกระเพราะอาหาร ควรเปลี่ยนเป็น อะเซตามิโนเฟน (พาราเซตามอล) หรือยาอื่นที่มีฤทธิ์ระคายเคืองน้อยกว่าทดแทน แพทย์อาจจะจ่ายยาคลายกล้ามเนื้อในช่วงระหว่าง 2 – 3 วันแรก เพื่อบรรเทาอาการตึงของกล้ามเนื้อ แต่ยาคลายกล้ามเนื้ออาจมีผลข้างเคียงทำให้ง่วงนอน บางกรณีแพทย์อาจสั่งสเตียรอยด์เพื่อบรรเทาอาการปวดร้าวลงขา อาจเป็นสเตียรอยด์ในรูปแบบของยารับประทานหรืออาจเป็นสเตียรอยด์ในรูปแบบฉีดได้เช่นกัน อิริยาบถ การนอน และน้ำหนักตัว การปรับเปลี่ยนอิริยบทต่างๆ ในชีวิตประจำวันจะช่วยป้องกัน และลดอาการปวดหลังได้ อิริยาบทที่ถูกสุขลักษณะนั้นจะทำให้จุดศูนย์ถ่วงของน้ำหนักตัวอยู่ในแนวตั้งตรง และช่วยลดแรงกดทับไปสู่กล้ามเนื้อส่วนหลังได้ วิธีลดการกดทับไปยังกล้ามเนื้อส่วนหลังขณะนั่งนั้น ทำได้โดยการเลือกใช้เก้าอี้ที่มีพนักพิงซึ่งเหมาะสมกับแผ่นหลัง หรือจัดหาหมอนมาหนุนบริเวณหลังไว้ หรือเปลี่ยนอิริยาบทท่านั่งบ่อยๆก็สามารถช่วยได้ เวลานอน หากนอนท่าหงายควรใช้หมอนหนุนใต้หัวเข่า หากนอนท่าตะแคงการใช้หมอนรองระหว่างขาสองข้างก็เป็นอีกวิธีที่มีประโยชน์มาก ท่านอนดังกล่าวถือเป็นท่านอนที่สบายที่สุด การนอน ที่นอนควรจะแน่นพอสมควร ไม่ควรใช้ฟูกฟองน้ำหรือเตียงสปริง เพราะหลังจะจมอยู่ในแอ่ง ทำให้กระดูกสันหลังแอ่น ปวดหลังเพิ่มขึ้นได้ โรคอ้วน ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เพิ่มแรงกดทับให้แก่หลัง การลดน้ำหนักเพียงเล็กน้อยสามารถลดอาการและป้องกันการปวดหลังได้ การบริหารความเครียด แรงกดดันจากครอบครัว การงาน การเงินสามารถส่งผลให้เกิดอาการปวดหลังได้ การบริหารความเครียดอย่างถูกวิธีในแต่ละวันนั้นสามารถช่วยฟื้นฟูอาการปวดหลังได้เป็นอย่างดี ท่านสามารถขอคำแนะนำจากแพทย์ในทุกๆเรื่องที่สงสัยการกลับคืนสู่กิจวัตรปกติ การกลับไปทำงานหรือกิจวัตรประจำวันบ้างซัก 2 – 3 วันหรือสั้นกว่านั้น มีส่วนสำคัญในการช่วยฟื้นฟูร่างกาย การปรับเปลี่ยนภารกิจที่ต้องรับผิดชอบ หรือจำกัดชั่วโมงในการทำงานอาจเป็นเรื่องจำเป็น ท่านอาจจะรู้สึกว่าการเคลื่อนไหวไม่สะดวกบ้าง แต่การดำเนินกิจวัตรประจำวันนี้จะช่วยป้องกันหลังจากอาการอ่อนแรง และการปวดร้าวลงขา ควรหลีกเลี่ยงการยกของหนัก หรือการก้ม และบิดเอี้ยวตัวซ้ำๆ กายภาพบำบัดกับการลดอาการปวดหลัง หากท่านประสบอาการปวดหลังอย่างรุนแรง ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ หรือหากท่านไม่สามารถกลับไปทำงาน ปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ หรือมีอาการปวดหลังร้าวลงขาคล้ายการกดทับเส้นประสาท แพทย์อาจแนะนำให้ทำกายภาพบำบัดกระดูกสันหลังกายภาพบำบัดกระดูกสันหลังเหล่านี้ช่วยฟื้นคืนสภาพความแข็งแรง และความสามารถในการเคลื่อนไหวและการประกอบกิจกรรม ประกอบไปด้วยการบริหารท่าพิเศษ อุปกรณ์บรรเทาอาการปวดหลัง (อัลตราซาวนด์ ความร้อน ความเย็น) การสอนสุขศึกษาเกี่ยวกับการใช้งานกระดูกและกล้ามเนื้อหลัง การฝังเข็มแบบจีน เป็นต้น โดยเฉพาะในรายที่มีอาการปวดหลังเรื้อรัง หรือมีแนวโน้มอาจมีการกดทับเส้นประสาท มีความจำเป็นต้องผ่านขั้นตอนการทำกายภาพบำบัดอย่างยิ่ง การรักษาแบบ Intervention การรักษาแบบ Intervention เป็นการรักษาด้วยเทคนิคที่ใช้เข็ม หรือ Invasive Modality ต่างๆ ที่ไม่ใช่การผ่าตัด การรักษาแบบ intervention ที่นิยม อาทิเช่น การฉีดยาระงับการอักเสบที่ช่องเส้นประสาทเพื่อลดอาการปวดร้าวลงขา จากกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท เป็นต้น โดยเฉลี่ยแล้วประสิทธิภาพของการรักษาแบบ Intervention มักได้ผลเฉลี่ย 70-75% และบางครั้งเป็นการช่วยในการวินิจฉัยที่ดีก่อนการผ่าตัด ทำให้การผ่าตัดประสบความสำเร็จสูงขึ้น การรักษาด้วยการผ่าตัด การรักษาด้วยการผ่าตัด มักเป็นการรักษาที่ศัลยแพทย์กระดูกสันหลังเลือกใช้ในกรณีที่มีข้อบ่งชี้ชัดเจน อาทิเช่น มีอาการปวดอย่างรุนแรง หรือมีการกดทับเส้นประสาทจนเกิดการทำงานของเส้นประสาทผิดปกติ อ่อนแรง เดินไกลไม่ได้ เป็นต้น การผ่าตัดที่นิยม อาทิเช่น การผ่าตัดขยายช่องทางออกของเส้นประสาทที่กระดูกสันหลัง หรือการทำ Decompressive Laminectomy การผ่าตัดเพื่อนำหมอนรองกระดูกที่แตกเคลื่อนทับเส้นประสาทออกด้วยวิธีผ่าตัดผ่านกล้องจุลทรรศน์ หรือการทำ Microscopic Discectomy เป็นต้น โดยทั่วไปการผ่าตัดหากการเลือกผู้ป่วยทำได้ถูกต้องโอกาสประสบความสำเร็จมีสูงมากกว่าร้อยละ 90 การออกกำลังกาย เพื่อช่วยให้การฟื้นฟูร่างกาย และฟื้นฟูอาการปวดหลัง และ ฟื้นฟูอาการปวดร้าวลงขาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และป้องกันโรคอันเกี่ยวข้องกับปวดหลัง และปวดร้าวลงขา ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต จึงควรหมั่นดูแลร่างกาย หลัง กล้ามเนื้อหน้าท้อง และขา ให้อยู่ในสภาพดีแข็งแรงอยู่เสมอ พยายามลุกเดินทุกวันเมื่อท่านสามารถเดินได้ และค่อยๆ เพิ่มกิจกรรมที่สามารถช่วยพัฒนาหลังให้แข็งแรง เช่น ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน เริ่มออกกายบริหารหลังตามคำแนะนำที่บ้าน หรือภายใต้การดูแลของนักกายภาพ กายบริหารนี้ควรเริ่มปฏิบัติทันทีเมื่อท่านสามารถทำได้โดยไม่รู้สึกเจ็บปวด หลีกเลี่ยงท่ากายบริหารที่ส่งผลให้อาการปวดของท่านแย่ลง กายบริหารประมาณครั้งละ 10 – 30 นาที วันละ 1 – 3 ครั้ง ในช่วงระหว่างการฟื้นตัว โดยควรปฏิบัติภายใต้คำแนะนำของนักกายภาพ หรือแพทย์ Step ① ท่าเริ่มต้นคือนอนหงาย ชันเข่าทั้ง 2 ข้างขึ้นและวางแขนทั้งสองข้าง ข้างลำตัว จังหวะที่ 1 เกร็งกล้ามเนื้อที่ท้องเพื่อกดหลังให้แนบกับพื้นนับ 1-5 ช้าๆ จังหวะที่ 2 คลายกล้ามเนื้อปล่อยพักตามสบายทำ 5-6 ครั้งในวันแรกแล้วเพิ่มขึ้นในวันถัดไป Step ② นอนหงาย ชันเข่าทั้ง 2 ข้างขึ้น จากนั้นใช้มือทั้ง 2 ข้างจับเข่าของขาข้างที่ต้องการยืดกล้ามเนื้อ ค่อยๆดึงเข่าเข้าหาลำตัวช้าๆ จนรู้สึกตึงบริเวณสะโพกเล็กน้อย ดึงค้างไว้นับ 1-5 คลายออก ทำซ้ำติดต่อกัน 5 ครั้งของเข่าแต่ละข้าง ข้อควรระวัง หากรู้สึกตึงที่หัวไหล่มาก ควรจะย่อคอ ยกหัวไหล่และหลังขึ้นจากพื้นเล็กน้อย และไม่จำเป็นที่จะต้องดึงหัวเข่ามาให้ชิดหน้าอกของท่าน แต่สิ่งสำคัญคือจะต้องให้กล้ามเนื้อยืดและรู้สึกตึงบริเวณสะโพก Step ③ นอนหงาย ชันเข่าทั้ง 2 ข้างขึ้น จากนั้นใช้มือทั้ง 2 ข้างจับเข่าของขาทั้งสองข้าง ค่อยๆดึงเข่าเข้าหาลำตัวช้าๆ จนรู้สึกตึงบริเวณสะโพกเล็กน้อย โดยให้เอวและสะโพกไม่ลอยขึ้นจากพื้น ดึงค้างไว้นับ 1-10 คลายออก ทำซ้ำติดต่อกัน 5 ครั้ง Step ④ นอนหงายเหยียดขาทั้งสองข้างตรง ขยับข้อเท้าทั้งสองข้างขึ้นลง กดส้นเท้ากับพื้นและเหยียดปลายเท้าขึ้นหลังจนรู้สึกตึงบริเวณสะโพกเล็กน้อย จากนั้นค่อยคลายออก ทำซ้ำติดต่อกัน 10 ครั้ง ที่มา: https://www.bangkokinternationalhospital.com/th/health-articles/disease-treatment/low-back-pain สอบถามเพิ่มเติมได้ที่คลินิกปวดหลัง โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี 039-319888

ปวดหลัง

ปวดหลัง

ปวดหลังเรื้อรัง รีบรักษาที่ต้นตอ อาการปวดหลังสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน และเกิดได้จากหลายสาเหตุ เมื่อปวดไม่ควรทิ้งไว้จนเรื้อรัง การรักษาแบบค้นหาจุดเจ็บปวด (Intervention) เป็นทางเลือกนึงที่ช่วย รักษา บรรเทา และช่วยในการวางแผนการรักษาได้ตรงจุด อาการปวดหลัง เป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในกลุ่มคนวัยทำงาน ซึ่งสาเหตุของอาการปวดหลังนั้นอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย ทั้งจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต อาการเจ็บป่วยจากโรคกระดูกสันหลัง และอาการปวดที่มาจากความเจ็บป่วยของอวัยวะใกล้เคียงซึ่งหากมีอาการปวดเรื้อรัง โดยอาการปวดนั้นไม่ทุเลาลง ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อวินิจฉัยหาที่มาของอาการปวด และวางแผนการรักษาที่ถูกต้อง การรักษาแบบ “Pain Intervention” ก็เป็นแนวทางการรักษาวิธีหนึ่ง ที่ใช้วิธีการค้นหาต้นตอจุดที่ทำให้เกิดอาการปวด ทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแบบเฉพาะทาง ในการรักษาอาการปวด(Pain Intervention Specialist) ทำให้สามารถบรรเทา หรือช่วยผู้ป่วยให้หายจากอาการปวดได้ อาการปวดหลัง อาการปวดคู่คนวัยทำงาน อาการปวดหลังเป็นอาการที่เกิดได้บ่อย สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัยโดยเฉพาะในกลุ่มคนวัยทำงาน และในผู้สูงวัยตั้งแต่อายุ 55 ปีขึ้นไป ซึ่งร้อยละ 80 ของประชากร จะเคยสัมผัสกับอาการปวดหลังมาแล้วทั้งนั้น เมื่อปวดหลังหลายคนอาจมองข้าม ไม่ได้ให้ความสำคัญ ปล่อยปะละเลยอาการปวด เพราะคิดว่าเป็นอาการที่เกิดจากการทำงาน ทนกับอาการปวดเรื้อรังจนอาการของโรคหนักขึ้น ทำไมปวดหลัง สาเหตุของอาการปวดหลัง อาการปวดหลังเป็นอาการที่เกิดขึ้นจากการส่งสัญญาณความเจ็บปวดของร่างกายไปยังสมอง เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุโดยสามารถจำแนกตามต้นเหตุของอาการปวดได้ 3 สาเหตุใหญ่คือ อาการปวดหลังที่มาจากการอักเสบของกล้ามเนื้อ อาการปวดหลังที่เป็นผลมาจากโรคที่เกี่ยวข้องกับกระดูกสันหลัง อาการปวดที่มาจากความผิดปกติของอวัยวะอื่นๆ ที่อยู่บริเวณใกล้เคียง ปวดหลังเพราะกล้ามเนื้ออักเสบ เป็นอาการปวดหลังที่พบได้บ่อย มีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต การทำงานอยู่ในท่าทางเดิมนานๆ ใส่รองเท้าส้นสูงเกินไป ยกของหนัก เคลื่อนไหวผิดท่า เล่นกีฬา หรือ ออกกำลังกายหักโหม และอุบัติเหตุเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้น ในชีวิตประจำวัน อาการปวดจากสาเหตุเหล่านี้มักจะดีขึ้น และหายได้เองภายใน 2-4 สัปดาห์ แต่ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้น นานเกิน 1 เดือนขึ้นไปถือได้ว่าเป็นอาการปวดหลังเรื้อรังที่ อาจมีสาเหตุรุนแรงเกี่ยวกับกระดูกสันหลังและอาจต้องได้รับการรักษาเร่งด่วน ปวดหลังเพราะอาการของโรคที่เกี่ยวข้องกับกระดูกสันหลัง มักมีอาการปวดควบคู่กับความผิดปกติในการใช้งานอวัยวะอื่นๆ เช่น ปวดร้าวจากหลังลงขาทั้งสองข้าง มีอาการปลายเท้าชา ขาอ่อนแรง ไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายได้ มีอาการเจ็บแปร้บเหมือนโดนไฟฟ้าช็อต หรือแม้กระทั้งมีอาการปวดหลัง และมีไข้อ่อนๆ เรื้อรังต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานึง ซึ่งหากมีอาการปวดเหล่านี้นานเกิน 2 สัปดาห์อย่าปล่อยทิ้งไว้ ควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อวินิจฉัยสาเหตุ และวางแผนการรักษาที่ถูกต้องต่อไป แนวทางการรักษาโรคทางกระดูกสันหลังแบบค้นหาจุดเจ็บปวด “Intervention” เนื่องจากอาการปวดหลังนั้น สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุโดยมีตำแหน่งการปวดที่แตกต่างกัน หลายคนอาจบอกได้ไม่แน่ชัดว่าตัวเองปวดหลังตรงจุดไหน ซึ่งในปัจจุบันมีการรักษาที่เรียกว่า “Pain Intervention” หรือ Interventional Spine Pain Management เป็นการรักษาโรคทางกระดูกสันหลัง ที่มุ่งเน้นการวินิจฉัยหาต้นตอ สาเหตุของอาการปวดที่แท้จริงก่อนการรักษาโดย ค้นหาจุดเจ็บปวดที่แท้จริง หากต้องรับการผ่าตัด ก็จะสามารถกำหนดตำแหน่งได้ถูกต้อง รักษาด้วยการฉีดยา หรือ จี้ด้วยกระแสไฟฟ้าเพื่อไปลดความเจ็บปวดที่ต้นตอ ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องผ่าตัดได้ ข้อดีของการรักษาแบบ “Intervention” การรักษาแบบ Intervention สามารถแก้อาการปวดได้ถูกตำแหน่ง เข้าใจสาเหตุ และต้นกำเนิดของจุดเจ็บปวดที่แท้จริง ผ่านการรักษา และการตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแบบเฉพาะทางในการรักษาอาการปวด(Pain Intervention Specialist) ทำให้สามารถ บรรเทา หรือช่วยผู้ป่วยให้หายจากอาการปวดได้ ขั้นตอนการรักษาแบบ “Intervention” ขั้นตอนการทำ Pain Intervention คร่าวๆ มีดังนี้ แพทย์จะเริ่มทำการรักษาโดยการฉีดยาชาบริเวณจุดที่ปวดหรือจุดที่มีปัญหา หรืออีกวิธีหนึ่งคือ การปล่อยกระแสไฟฟ้าเข้าไปหยุดการทำงานของเส้นประสาทฝอยบริเวณข้อต่อกระดูกสันหลัง เพื่อลดอาการปวด ซึ่งทั้งสองวิธี จะต้องทำโดยแพทย์เฉพาะทาง Pain Intervention Specialist แนวทางการรักษาโรคกระดูกสันหลังแบบ Intervention ที่โรงพยาบาลกรุงเทพ ทำโดยทีมแพทย์ Intervention เป็นทีมแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญการรักษา ซึ่งยึดมั่นหลักการดูแลรักษาผู้ป่วยที่ใช้การทำงานร่วมกันเป็นทีมโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในแต่ละสาขาทั้ง Pain Intervention Specialist, ประสาทศัลยแพทย์, แพทย์ศัลยกรรมกระดูก, แพทย์ประสาทวิทยา, วิสัญญีแพทย์ และแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู ฯลฯ ร่วมกันวินิจฉัยสาเหตุ และอาการเจ็บปวดที่แท้จริง และนำเสนอทางเลือกในการรักษาต่างๆ ให้กับผู้ป่วย ที่มา : สถาบันโรคกระดูกสันหลังกรุงเทพ

โรคปวดหลังและอาการปวดร้าวลงขา

โรคปวดหลังและอาการปวดร้าวลงขา

โรคปวดหลังและอาการปวดร้าวลงขา อาการปวดหลังเรื้อรัง เป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้โดยทั่วไป ทั้งอาการปวดหลังเฉียบพัน อาการปวดร้าวลงขาแบบเฉียบพลัน แต่นับว่ายังโชคดีที่กว่าร้อยละ 70 ของอาการปวดหลังในบุคคลทั่วไปสามารถทุเลาได้เองภายใน 2 สัปดาห์ และมากกว่าร้อยละ 90 ที่สามารถทุเลาได้เองภายใน 4 – 6 สัปดาห์ การอักเสบตึงเครียดบริเวณข้อต่อ กล้ามเนื้อ หรือหมอนรองกระดูกบริเวณส่วนหลังของร่างกาย มักจะเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการปวดหลัง กิจกรรมการเคลื่อนไหวบางอย่างโดยเฉพาะการยกของหนักบ่อยๆ การก้ม และการบิดเอี้ยวตัว ก็สามารถทำให้อาการปวดหลังแย่ลงได้ อากัปกิริยาที่ไม่ถูกต้องตามหลักสุขลักษณะบางอย่าง หรือปัญหาทางสุขภาพ เช่น การติดเชื้อที่บริเวณอื่น โรคภูมิแพ้บางชนิด โรคข้ออักเสบเรื้อรัง ความเครียดของจิตใจก็สามารถทำให้อาการปวดหลังแย่ลงได้เช่นกัน ประเภทของโรคปวดหลัง อาการปวดหลังแบบเฉียบพลัน อาการปวดหลังที่แสดงอาการปวดหลังติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน 6 สัปดาห์หรือน้อยกว่า แต่ไม่ได้ปวดร้าวลงไปตามแนวขา เรียกว่า อาการปวดหลังแบบเฉียบพลัน ซึ่งมักเกิดจากกล้ามเนื้อเอวตึงเคล็ด หรือข้อต่อ เอ็นบริเวณรอบกระดูกสันหลังอักเสบส่งผลให้เกิดอาการปวด ทรมาน ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะอาการค่อยๆ ดีขึ้นภายใน 2 – 3 วัน หลังจากได้รับการรักษา อาการปวดร้าวลงขาแบบเฉียบพลัน อาการปวดร้าวลงขาแบบเฉียบพลัน เป็นอาการประเภทหนึ่งของโรคปวดหลัง ซึ่งจะแสดงอาการปวดติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน 6 สัปดาห์หรือน้อยกว่า และยังปวดร้าวลงไปยังบริเวณสะโพกและขาอีกด้วย อาการประเภทนี้อาจจะเกิดจากโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนกดทับเส้นประสาท ระยะเวลาที่อาการจะทุเลาจะกินเวลานานกว่าอาการปวดหลังแบบเฉียบพลัน และการกระทบกระเทือนของเส้นประสาทบริเวณหลังมักเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดที่รุนแรงกว่า อาการปวดหลังและปวดร้าวลงขา แบบเรื้อรัง (ปวดหลังเรื้อรัง อันตรายที่ไม่ควรมองข้าม) อาการปวดหลังและปวดร้าวลงขาที่กินระยะเวลานานกว่า 6 สัปดาห์ จัดเป็นอาการในกลุ่มโรคเรื้อรัง อาทิเช่น กระดูกสันหลังตีบแคบเบียดเส้นประสาท การรักษาเฉพาะทางถือเป็นสิ่งจำเป็น แพทย์ประจำตัวท่านอาจจะแนะนำท่านไปยังแพทย์ผู้ที่ชำนาญเฉพาะทางด้านโรคที่เป็นต้นเหตุของปัญหาปวดหลังเรื้อรัง อาทิเช่น แพทย์ด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู ศัลยแพทย์กระดูกสันหลัง ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือศัลยแพทย์ระบบประสาท สอบถามเพิ่มเติมได้ที่คลินิกปวดหลัง โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี 039-319888 สนใจนัดหมายปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับอาการปวดหลังร้าวลงขา คลิก https://doctor.bangkokhospitalchanthaburi.com/alldoctor.php

8 พฤติกรรมเสี่ยง! ทำให้เกิดอาการ “ปวดหลังเรื้อรัง”

8 พฤติกรรมเสี่ยง! ทำให้เกิดอาการ “ปวดหลังเรื้อรัง”

8 พฤติกรรมเสี่ยง! ทำให้เกิดอาการ “ปวดหลังเรื้อรัง” อาการปวดหลังเรื้อรังอาจเกิดได้จากชีวิตประจำวัน ตั้งแต่การยืน นั่ง นอน หรือการบาดเจ้บจากการเล่นกีฬา การทำงาน รวมไปถึงการเสื่อมของกระดูกสันหลังเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาการเหล่านี้ส่งผลต่อชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก ดังนั้นการรู้ความเสี่ยงและการดูแลตนเองให้แข็งแรงเสมอนั้นดีที่สุด 1. ไอจาม แรง เจ็บแปล๊บที่หลัง เวลาที่ไอ หรือจาม จะทำให้ความดันในช่องปอดและช่องท้องเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ทำให้กระดูกสันหลังของเราที่ทำหน้าที่เหมือนตัวรับแรงกระแทกนั้นทำงานหนักขึ้น เมื่อแรงดันในหมอนรองกระดูกสูงขึ้นอย่างฉับพลัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวไม่แข็งแรง ผลที่เกิดก็คือ กล้ามเนื้อมีการอักเสบทำให้เกิดอาการปวดหลัง หรือหากร้ายแรงกว่านั้น ผู้ที่มีหมอนรองกระดูกเสื่อมอยู่แล้ว อาจทำให้หมอนรองกระดูกปลิ้นออกมาทับเส้นประสาท เกิดอาการร้าวลงขาร่วมกับอาการชาขึ้นได้ 2.ทำพฤติกรรมซ้ำๆ จะทำให้กล้ามเนื้อของเราทำงานอยู่เพียงกลุ่มเดียว มัดเดียว ซ้ำไปซ้ำมา ก่อให้เกิดการล้าและอักเสบตามมาได้ เช่น โรคอออฟฟิศซินโดรมที่พนักงานออฟฟิศต้องขยับมือยุกยิกจิ้มคีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์เป็นประจำทุกวัน มักจะเป็นโรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือหลังของเราก็เช่นกัน เมื่อต้องรับมือกับพฤติกรรมซ้ำๆ โดยเฉพาะกับผู้ที่ต้องรับหน้าที่แบกของหนัก ก็มีสิทธิ์เกิดอาการปวดหลังรังเรื้อรังได้ไม่ยาก ควรขยับเปลี่ยนท่าให้หลากหลาย พยายามอย่าเคลื่อนที่ในท่าเดิมๆ ซ้ำกันบ่อยๆ นานๆ 3.นั่งนิ่งท่าเดิมนานเกินไป การนั่งท่าเดิมเป็นระยะเวลานานๆ ไม่ต่างอะไรกับการทำพฤติกรรมซ้ำๆ ท่านั่งเป็นท่าที่ใช้กล้ามเนื้อและมีแรงไปลงที่กระดูกสันหลังสูงกว่าท่ายืนเสียอีก หากเราต้องนั่งนานๆ เช่น การทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่จะทำให้เกิดอาการปวดหลังขึ้น 4.แฟชั่นคุณสาวๆ การสะพายกระเป๋าใบใหญ่และหนักเป็นเรื่องปกติที่เจอได้บ่อยๆ เวลาที่เราสะพายกระเป๋าหนักๆ ข้างเดียว ร่างกายของเราจะต้องพยายามรักษาสมดุลของเราไม่ให้เดินเซ นั่นก็คือไหล่ของเราข้างที่สะพายกระเป๋าก็จะยกสูงขึ้นโดยอัตโนมัติ สิ่งที่ตามมาก็คือ กล้ามเนื้อมัดที่เกี่ยวข้องก็จะถูกใช้งานอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดอาการปวดไหล่ นานๆ เข้ากล้ามเนื้อหลังด้านตรงข้ามทำงานหนักก็ก่อให้เกิดอาการปวดขึ้นมา การใส่รองเท้าส้นสูง ยิ่งสูงมากเท่าใด กล้ามเนื้อหลังและสะโพกก็ต้องทำงานหนักขึ้น ไม่ให้ตัวเราล้มไปข้างหน้า จึงไม่แปลกเลยที่คนใส่ส้นสูงเป็นประจำจะมีอาการปวดหลังเรื้อรัง 5.การนอน โดยธรรมชาติแล้วร่างกายของเราจะมีการพลิกตัวอัตโนมัติติดตัวมาด้วยแทบจะทุกคน ในกรณีที่ function นี้ไม่ทำงาน เช่น เมาหนัก หลับลึกมาก เวลาตื่นขึ้นมาก็สามารถทำให้ปวดเนื้อปวดตัวได้ จากการที่กล้ามเนื้ออยู่ในท่าๆ เดิมเป็นระยะเวลานาน ที่นอนและหมอนหากใช้ไม่เหมาะสมกับสภาพการนอน ไม่รองรับสรีระของเรา ที่นอนนิ่มไปหรือแข็งไป หมอนที่สูง หรือเตี้ยเกินไปจะทำให้กระดูกคอของเราไม่อยู่ในระนาบเดียวกันกับพื้นผิวการนอน นำมาสู่อาการปวดคอได้ ถ้าคนที่ชอบนอนตะแคงหมอนก็อาจจะต้องสูงกว่าคนที่ชอบนอนหงาย เป็นต้น 6.สูบบุหรี่ การสูบบุหรี่เป็นประจำเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอาการปวดหลัง แต่ ณ ตอนนี้ยังไม่มีงานวิจัยใดอธิบายกลไกได้อย่างชัดเจน แต่เชื่อว่าสารนิโคตินในบุหรี่จะทำให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยง กล้ามเนื้อกระดูกสันหลัง และหมอนรองกระดูกสันหลังด้านนอกมีปัญหา ไม่สามารถนำพาออกซิเจนและสารอาหารต่างๆ ไปเลี้ยงอวัยวะดังกล่าวได้เต็มที่ เร่งให้เกิดภาวะกระดูกสันหลังและหมอนรองกระดูกเสื่อมก่อนเวลาอันควร ส่งผลให้มีความเสี่ยงในการเป็นโรคปวดหลังเรื้อรังได้ง่ายขึ้นนั่นเอง 7.หนุ่มสาวร่างอวบ น้ำหนักตัวเกิน เวลาที่น้ำหนักเราเพิ่มขึ้น น้ำหนักตัวก็จะไปลงที่หลังมากขึ้นขณะที่เราทำกิจวัตรประจำวัน ดังนั้น ไม่ว่าเราจะนั่ง จะยืน เราก็ต้องแบกน้ำหนักอันนี้ไว้ตลอด กล้ามเนื้อต้องทำงานหนักขึ้นในขณะที่กล้ามเนื้ออ่อนแอลงเพราะไม่มีการออกกำลัง ทำให้เกิดอาการปวดหลังจาก กล้ามเนื้อได้ อีกด้านหนึ่งกระดูกสันหลังของเราก็ต้องแบกรับน้ำหนักนี้ไว้มากขึ้นด้วย ทำให้เกิดการเสื่อมได้เร็วขึ้น นำมาซึ่งอาการปวดจากกระดูกสันหลังเสื่อมได้เช่นกัน 8.คอกาแฟแบบเกินพิกัด จริงๆ แล้วการดื่มกาแฟไม่ได้ส่งผลโดยตรงกับอาการปวดหลัง แต่ในหลายๆงานวิจัยบอกว่ากาแฟจะเพิ่มการขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะ ทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในการเป็นโรคกระดูกพรุน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุอ้อมๆ ที่ทำให้เกิดอาการปวดหลังได้ การดื่มกาแฟในระดับปกติไม่ส่งผลต่อโรคกระดูกพรุน จากการวิจัย คือ ทาน caffeine >330mg/วัน (ประมาณ 4 แก้วต่อวัน) ขึ้นไปในคนสูงอายุจึงจะมีปัจจัยเสี่ยง เมื่อเกิดอาการกระดูกพรุนแล้ว สิ่งที่ตามมา คือ กระดูกจะเปราะบางไม่แข็งแรง ทำให้การกระทบกระแทกในชีวิตประจำวันส่งผลให้กระดูกสันหลังเกิดการแตกในระดับเล็กๆ ที่เรียกว่า microfracture ทำให้เกิดอาการปวดเรื้อรัง หรือถ้ารุนแรงขึ้น เช่น หกล้มก้นกระแทก, นอนตกเตียง หรืออีกมากมายก็สามารถทำให้กระดูกสันหลังยุบ ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวดหลังแบบเฉียบพลันขึ้นมาได้ ขอบคุณข้อมูลจาก : BDMS สถานีสุขภาพ

Hospital Logo

ติดต่อสอบถามเจ้าหน้าที่

บริการให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง