ภาวะน้ำคั่งในโพรงสมอง (Normal pressure Hydrocephalus: NPH)
หลงๆลืมๆ เดินช้าๆ ซอยเท้าสั้นๆ ทรงตัวไม่อยู่เวลายืนหรือเดิน เมื่อผู้สูงอายุที่บ้านมีลักษณะfดังกล่าว อาจไม่ใช่อาการปกติของผู้สูงอายุ แต่อาจเกิดจากภาวะน้ำคั่งในโพรงสมองได้ และยังเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคสมองเสื่อม ถึงภาวะนี้พบได้ไม่บ่อยนัก แต่ถ้ามีความผิดปกติดังกล่าว ก็ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและสามารถรักษาหายขาดได้
ภาวะน้ำคั่งในโพรงสมอง คืออะไร?
ภาวะน้ำคั่งในโพรงสมอง (Normal pressure Hydrocephalus: NPH) คือภาวะที่มีน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังในโพรงสมองมากเกินไป จะทำให้เกิดการขยายขึ้นของโพรงน้ำไปกดเบียดเนื้อสมองบริเวณรอบๆ จนการทำงานของสมองผิดปกติ ส่งผลต่อพัฒนาการของร่างกายและสติปัญญาบกพร่อง ภาวะนี้เกิดได้กับทุกวัย แต่จะพบมากในผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ทำให้เกิดอาการผิดปกติ ความจำเสื่อม พูดจาสับสน พูดติดขัดไม่ได้ประโยค หรือไม่ได้ใจความ ร่วมกับมีปัญหาเรื่องการเดิน เดินเซ ทรงตัวลำบาก และเรื่องการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
สาเหตุภาวะน้ำคั่งในโพรงสมอง
สาเหตุแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
1.กลุ่มที่หาสาเหตุไม่พบ คือ การดูดซึมน้ำในโพรงสมอง (Cerebrospinal fluid: CSF) กลับเข้าหลอดเลือดดำ ลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุซึ่งทำให้เกิดการคั่งของน้ำหล่อเลี้ยงในโพรงสมอง โพรงสมองจึงขยายโตขึ้นอย่างช้าๆ ส่งผลต่อเนื้อเยื่อสมอง และก่อให้เกิดอาการดังที่กล่าวมา แต่ความดันในโพรงสมองยังปกติอยู่ ภาวะนี้เรียกว่า ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำชนิดความดันปกติ
2.กลุ่มที่หาสาเหตุพบส่วนใหญ่มักมาจากการเจ็บป่วยหรือการบาดเจ็บที่กระทบต่อสมอง เช่น มีภาวะเลือดออกในชั้นใต้เยื่อหุ้มสมอง ภาวะติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมอง หรือเยื้อหุ้มสมองอักเสบ อุบัติเหตุรุนแรงที่สมอง เช่น ตกจากที่สูง ล้ม หรือถูกรถชนแล้วศีรษะถูกกระแทกอย่างแรง ทำให้เกิดการอุดตันในสมองจนน้ำสมองไม่สามารถระบายไปส่วนต่างๆ ได้ สมองผลิตน้ำหล่อเลี้ยงออกมามากเกินไป หรือหลอดเลือดสมองอาจไม่สามารถดูดซับน้ำสมองได้ตามปกติ
ลักษณะอาการอย่างไร
ผู้ป่วยจากภาวะน้ำคั่งในโพรงสมอง จะมีอาการผิดปกติที่พบได้หลักๆ 3 อาการ ได้แก่
1.ภาวะสมองเสื่อม มีปัญหาในการจำ การคิด และการใช้เหตุผล ตอบสนองช้า ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ พูดน้อย เสียงเบาแหบ สำลักน้ำและอาหารบ่อย
2.ปัญหาในการเดินและการทรงตัว ไม่สามารถใช้ขาในการก้าวเดินได้เป็นปกติ เดินลำบากเวลาขึ้นลงบันไดหรือที่ลาดชัน ยกขาไม่พ้นจากพื้น เดินซอยเท้า ทรงตัวไม่ดีหรือเดินเซ ล้มบ่อย นั่งแล้วยืนไม่ถนัดต้องหาที่เกาะยึดหรือก้าวเดินต่อไป ยืนโน้มตัวไปข้างหน้า ก้มหน้าตัวงอเอียง
3.อาการปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่อยู่/ไม่ได้ บางครั้งเล็ด จนเข้าห้องน้ำไม่ทัน
การวินิจฉัยภาวะน้ำคั่งในโพรงสมอง?
แพทย์จะทำการซักประวัติ ดูอาการผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้น การตรวจร่างกาย ร่วมกับการตรวจพิเศษอื่นๆ เพิ่มเติม ได้แก่ การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) หรือการเอ็กซเรย์แม่เหล็ก (MRI) เพื่อช่วยยืนยันให้เห็นว่าโพรงน้ำในสมองมีขนาดใหญ่กว่าปกติจริงๆ และมีการกดเบียดบังตำแหน่งของเนื้อสมองด้านหน้าและด้านใน ขั้นต่อมาแพทย์จะทำการทดสอบโดยการเจาะหลังเพื่อระบายน้ำ เป็นต้น
การรักษาภาวะน้ำคั่งในโพรงสมอง
ภาวะน้ำคั่งในโพรงสมองรักษาได้ด้วยการผ่าตัดเพื่อลดแรงกดของสมอง และระบายน้ำในสมองออก รักษาด้วยการผ่าตัดใส่สายระบายน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง แพทย์จะทำการเจาะและใส่อุปกรณ์ที่เป็นท่อที่ยาว ยืดหยุ่นได้ และมีลิ้นเปิดปิดเพื่อระบายน้ำที่คั่งในโพรงสมอง แล้วจะผ่าตัดนำปลายท่อด้านหนึ่งไว้ที่โพรงสมอง แล้วสอดท่อไว้ใต้ผิวหนังผ่านไปยังส่วนอื่นของร่างกายที่สามารถดูดซึมน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังที่มากเกินไปได้ เช่น บริเวณช่องท้อง เป็นการผ่าตัดแผลเล็กที่ง่าย มีความเสี่ยงต่ำ แต่ได้ผลค่อนข้างดี หลังจากผ่าตัดผู้ป่วยจะมีอาการค่อยๆดีขึ้น การตอบสนองแตกต่างกันไป แต่พบว่าปัญหาเรื่องการเดินที่ผิดปกติจะดีขึ้นอย่างเด่นชัด1
“ภาวะน้ำคั่งในโพรงสมอง สามารถรักษาหายได้ หากพบมีอาการให้รีบปรึกษาแพทย์และมารับการรักษาอย่างถูกต้อง”
นพ.อดิศักดิ์ แทนปั้น
นพ.ราม กิจจารักษ์
ศูนย์คลินิกสมองและระบบประสาท
ที่มา
-
Tanpun A, Normal Pressure Hydrocephalus management: review articles. Phichit medical journal Vol.35 No.1 October 2019 – March 2020 : 198-207
สอบถามเพิ่มเติมที่ศูนย์ศัลยกรรมสมองและไขสันหลัง โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี 039-319888