การสลายนิ่วในไตและท่อไตด้วยคลื่นกระแทก : ESWL

การสลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทก หรือ ESWL เป็นการใช้คลื่นเสียงความถี่ต่ำพลังงานสูง ส่งผ่านผิวหนังให้พุ่งตรงไปยังก้อนนิ่ว เพื่อกระแทกให้ก้อนนิ่วแตกสลายเป็นชิ้นเล็กๆ และสามารถหลุดไหลออกมาพร้อมกับปัสสาวะ โดยที่ไม่ต้องทำการผ่าตัด มีความปลอดภัย ความเจ็บปวดน้อยและฟื้นตัวเร็ว สามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วขึ้น

อาการแสดงเมื่อเป็นนิ่วในไตหรือนิ่วในท่อไต

  • ปวดท้อง ปวดเอวด้านหลัง
  • ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะแสบขัด มีเลือดปน
  • ปัสสาวะไม่ออก หรือปัสสาวะกะปริบกะปรอย
  • มีก้อนนิ่วคล้ายกรวดทรายปนออกมากับปัสสาวะ
  • อาจมีไข้ร่วมด้วย

ข้อบ่งชี้และจำกัดในการสลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทก

  • นิ่วในไตขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร หรือนิ่วในท่อไตขนาดไม่เกิน 1 เซนติเมตร
  • ต้องไม่มีการอุดตันของทางเดินปัสสาวะในส่วนที่อยู่ต่ำกว่าก้อนนิ่ว
  • ไตด้านที่มีนิ่วยังสามารถทำงานได้
  • ไม่มีภาวะตั้งครรภ์

ขั้นตอนการสลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทก

  • ก่อนเข้ารับการรักษา แพทย์จะให้ยาเพื่อให้ผู้ป่วยอยู่ในภาวะสงบ หรือใช้วิธีดมยาสลบ
  • ผู้ป่วยนอนบนเตียง จากนั้นเครื่องสลายนิ่วจะส่งคลื่นพลังงานหรือคลื่นกระแทกขึ้นมาจากทางด้านล่างของเตียง ผ่านผิวหนังพุ่งตรงเข้าไปสลายก้อนนิ่ว โดยแพทย์สามารถระบุตำแหน่งของก้อนนิ่วได้ในขณะทำการรักษาจากเครื่องเอกซเรย์
  • เครื่องสลายนิ่วจะส่งคลื่นกระแทกประมาณ 3,000 - 5,000 ช็อต จนกระทั่งก้อนนิ่วแตกสลายเป็นชิ้นเล็กๆ
  • ขั้นตอนการรักษาใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง หรืออาจนานกว่านี้ขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของก้อนนิ่ว
  • เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนการสลายนิ่วแล้ว ผู้ป่วยจะถูกย้ายไปที่ห้องพักฟื้นประมาณ 2 ชั่วโมง และย้ายขึ้นห้องพักผู้ป่วยต่อไป โดยนอนพักในรพ.ประมาณ 1-2 วัน แพทย์ก็จะพิจารณาให้กลับบ้านได้

การเตรียมตัวก่อนสลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทก

  • งดน้ำและอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง
  • แจ้งแพทย์กรณีมีโรคประจำตัว และงดรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือดอย่างน้อย 1 สัปดาห์ก่อนทำการรักษา

การดูแลตนเองหลังสลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทก

  • ดื่มน้ำประมาณ 3-4 ลิตรต่อวัน
  • สามารถประคบเย็นบริเวณที่ทำการสลายนิ่วได้ เพื่อลดการบวมช้ำของผิวหนัง
  • 1-2 วันแรก ควรหลีกเลี่ยงการทำงานหรือกิจกรรมที่หนักจนเกินไป
  • มาพบแพทย์ตามนัด
  • เมื่อมีอาการปัสสาวะไม่ออกหรือน้อยลงกว่าเดิม ควรรีบมาพบแพทย์

การดูแลตนเองเพื่อป้องกันการกลับเป็นนิ่วซ้ำ

  • ดื่มน้ำสะอาดวันละ 2 –3 ลิตร
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในสัดส่วนที่เหมาะสมและรับประทานผักให้มาก งดหรือลดการรับประทานเนื้อสัตว์หรือรับประทานเนื้อปลาทดแทน
  • หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม ของหมักดอง เพราะจะทำให้ไตทำงานหนักและไตทำงานลดลง
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อย 20-30 นาทีทุกวัน จะช่วยป้องกันการตกตะกอนที่ทำให้เกิดนิ่วได้

 

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่คลินิกศัลยกรรมระบบทางเดินปัสสาวะและสภาพเพศชาย โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี 039-319888