"สารแทนความหวาน"
องค์การอนามัยโลกเตือนประชาชนทั่วไปอย่าใช้ "สารแทนความหวาน" ลดน้ำหนัก หลังพบไม่มีประโยชน์ระยะยาวต่อการลดไขมันในร่างกาย แถมเสี่ยงต่อโรคหัวใจ-เสียชีวิต
หน่วยงานของสหประชาติ เปิดเผยผลการตรวจสอบสารแทนความหวาน พบว่า ไม่ได้ให้ประโยชน์ในระยะยาวต่อการลดไขมันในร่างกายของผู้ใหญ่หรือเด็ก และอาจมีผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ ก่อให้เกิดโรคเบาหวานประเภท 2 โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด และเพิ่มการเสียชีวิตในผู้ใหญ่ได้
ฟรานเชสโค บรางคา (Francesco Branca) ผู้อำนวยการฝ่ายโภชนาการและความปลอดภัยด้านอาหารขององค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวในการแถลงข่าวด้วยว่า การเปลี่ยนน้ำตาล มาใช้สารแทนความหวาน ไม่ได้ช่วยในการควบคุมน้ำหนักในระยะยาว
แนะนำให้ใช้วิธีอื่นในการลดปริมาณน้ำตาลแทน เช่น การบริโภคอาหารที่มีน้ำตาลที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติอย่างผลไม้ หรือไม่ก็ดื่มเครื่องดื่มไร้น้ำตาล สารแทนความหวานไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่จำเป็นในการบริโภคอาหารและไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ ดังนั้นเราควรลด หลีกเลี่ยง และควบคุมปริมาณน้ำตาลหรือความหวานของตัวเองตั้งแต่อายุยังน้อย เพื่อการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง อย่างไรก็ตาม คำแนะนำนี้สามารถใช้ได้กับทุกคน ยกเว้นคนที่เป็นโรคเบาหวานอยู่แล้ว เนื่องจากการประเมินกลุ่มนี้อยู่นอกเหนือขอบเขตข้อมูลที่ใช้ในการศึกษา
"สารแทนความหวาน" ชนิดไหนที่ไม่ดีต่อร่างกาย
ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก "สารแทนความหวาน" หมายรวมถึง สารสังเคราะห์ทั้งหมด ที่อาจเกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือดัดแปลงขึ้นมาก็ได้ สามารถได้ทั้งในอาหารและเครื่องดื่มที่ผลิตขาย หรือเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อเติมลงในอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งได้แก่
- สารเอซีซัลเฟม เค (acesulfame K)
- แอสพาร์เทม (aspartame)
- แอดแวนเทม (advantame)
- โซเดียมไซคลาเมต (cyclamates)
- นีโอแตม (neotame)
- แซ็กคาริน หรือ ขัณฑสกร (saccharin)
- ซูคราโตส (sucralose)
- หญ้าหวาน (stevia)
- อิริทริทอล (Erythritol)
โดยคำแนะนำดังกล่าวนี้ มีขึ้นหลายเดือนหลังจากมีผลการวิจัยพบว่า ที่ทดสอบในคนสหรัฐอเมริกาและยุโรปกว่า 4,000 คนพบว่า ผู้ที่มีระดับสารแทนความหวานอิริทรินอล (Erythritol) ที่ใช้ใส่ในอาหารเพื่อให้ความหวานแก่ผลิตภัณฑ์อาหารแคลอรี่ต่ำและอาหารเพื่อสุขภาพคีโต มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และมีอัตราการเสียชีวิตสูง มากกว่ากลุ่มที่มีระดับสารแทนความหวานดังกล่าวต่ำ
ผลการวิจัยข้างต้นนี้ ถือเป็นผลการศึกษาที่ตรงกันข้ามผลการวิจัยเมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมาอย่างสิ้นเชิง ที่พบว่าสารแทนความหวานอิริทรินอล (Erythritol) นั้นปลอดภัย จนมีกฎหมายอนุญาตให้ใช้ได้ทั่วโลกในอาหารและเครื่องดื่ม อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้ไม่ควรนำไปใช้กับประชากรทั่วไป เนื่องจากผู้เข้าร่วมการศึกษาในครั้งนั้น เป็นกลุ่มเสี่ยงเกี่ยวกับโรคหัวใจและหลอดเลือด ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ผลิตภัณฑ์ปราศจากน้ำตาลที่มีอิริทริทอล แนะนำให้กลุ่มผู้ที่เป็นโรคอ้วน โรคเบาหวาน หรือกลุ่มอ้วนลงพุง กินได้เพื่อแนวทางในการควบคุมน้ำตาลและปริมาณแคลอรี่
ขอบคุณข้อมูลจาก : BDMS สถานีสุขภาพ