“ดูแลสมองก่อนสาย” เพราะความจำถดถอยเป็นสัญญาณเริ่มต้นความเสื่อมของสมอง
คนเรามักมองข้ามความสำคัญของการดูแลความเสื่อม เพราะวิวัฒนาการในด้านต่าง ๆ ทั้งการแพทย์ สาธารณสุข อุตสาหกรรมด้านต่าง ๆ เช่น อาหาร การคมนาคม การศึกษา ทำให้เรามีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น
จนทำให้มนุษย์สามารถใช้ชีวิตอย่างเต็มที่จนบางครั้งอาจจะไม่ทันได้นึกถึง “ความสมบูรณ์ของสุขภาพตลอดอายุขัย” (Health span) หรือที่เรียกว่า ความเสื่อม ความแก่ โดยปัญหาใหญ่ที่สำคัญมาก ๆ คือ “เรื่องสมองและความจำที่เสื่อมถอยลง” ที่เกิดตั้งแต่ระดับเล็กน้อยไปจนถึงการเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer) โรคพาร์กินสัน (Parkinson) แต่เราสามารถป้องกันภาวะเหล่านี้ได้ หรือลดความรุนแรงของโรคทางสมองได้ ด้วยการเริ่มสังเกตความผิดปกติและความเสื่อมของสมอง
เริ่มต้นสังเกตความผิดปกติและความเสื่อมของสมอง
ปัญหาเรื่องสมองที่เรามักจะสังเกตเจอเป็นเรื่องแรก ๆ คือ “ความจำ” บางคนอาจจะเริ่มรู้สึกว่า ตัวเองเริ่มนึกเรื่องอะไรบางอย่างไม่ออก หรือ ลืมเรื่องที่เพิ่งคุยไม่นาน รวมทั้งมีอาการลืมที่วางของ โดยปกติสมองของแต่ละคนมีขนาดและลักษณะที่แตกต่างกันอยู่แล้ว และข้อมูลทางสถิติพบว่า ในคนทั่วไปเมื่ออายุเพิ่มขึ้นตั้งแต่อายุ 25-30 ปี สมองจะหดตัวลงประมาณปีละ 0.5 - 1% (ในส่วนของ Cortical Thickness) ทำให้อาจเกิดโอกาสที่จะเกิดภาวะความจำถดถอยได้ระดับหนึ่ง ซึ่งอาจเริ่มตั้งแต่อาการขี้ลืม, สมาธิสั้นลง, ความสามารถในการประมวลผลและแก้ไขปัญหาลดลง
หากมองข้ามเรื่องเหล่านี้ไปและปล่อยไว้ ก็อาจทำให้มีอาการรุนแรงมากขึ้นจนเกิดเป็นโรคหรือความเสื่อมที่ถาวรได้เช่นกัน ซึ่งก็อาจส่งผลต่อปัญหาการทรงตัว การมองเห็น การได้ยิน การรับรู้ต่าง ๆ อีกด้วย โดยเราสามารถตรวจเพื่อหาแนวทางป้องกันก่อนเพื่อลดโอกาสการเกิดโรค และทำให้สมองเรามีสุขภาพและการทำงานที่สมบูรณ์ที่สุดตลอดอายุขัยของเรา
ตรวจเช็กสุขภาพสมองก่อนสาย
เพราะเรื่องของสมองเป็นสิ่งที่ทุกคนควรต้องใส่ใจ ซึ่งสาเหตุที่ทำร้ายสมองและสาเหตุต่าง ๆ เหล่านี้สามารถตรวจวัดได้ เพื่อให้รู้ความเสี่ยงของตัวเองและป้องกันก่อน
การตรวจสารอนุมูลอิสระจากการตรวจเลือด
สาเหตุถัดมาคือ เราพบว่า อนุมูลอิสระที่มากเกินไปทำให้เซลล์สมองโดนทำลายได้ มีการศึกษาพบว่า ในสมองของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ (Alzheimer) จะมีระดับอนุมูลอิสระสูง และมีกลูตาไธโอน (Glutathione) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระลดลง สาเหตุของอนุมูลอิสระนั้นมีได้มากมาย ตั้งแต่การกินไม่ดี เช่น กินมากเกินไป กินน้ำตาล อาหารขยะหรืออาหารจานด่วน (junk food) กินเนื้อสัตว์มาก ๆ หรืออาหารที่ไม่เหมาะกับร่างกาย ภาวะอ้วน อดนอน เครียด มลภาวะต่างๆ เหล้า บุหรี่ และอีกมากมาย การมีอนุมูลอิสระมาก ๆ ก็ยังนำมาซึ่งการอักเสบเรื้อรัง เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สมองเสื่อม เราสามารถวัดค่าการอักเสบได้จากการตรวจเลือดค่า hs-CRP และ Homocysteine ซึ่งหากพบค่าสูงเกินไปบ่งบอกถึงการอักเสบ นอกจากนี้เรายังพบว่า การติดเชื้อบางชนิด เช่น เอชไอวี (HIV) หรือ ซิฟิลิส (Syphilis) ก็ส่งผลให้เกิดการอักเสบ อนุมูลอิสระและความเสื่อมของสมองด้วยเช่นกัน
การตรวจสารอาหาร วิตามิน ระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด
การขาดสารอาหารบางชนิดโดยเฉพาะวิตามิน B6, B9 (Folate, Folic acid) และ B12 หรือการได้รับน้ำตาลและไขมันเลวมากเกินไปก็จะส่งผลต่อเซลล์ในร่างกาย เพิ่มความเสี่ยงต่อหลอดเลือด ซึ่งแน่นอนว่ารวมถึงหลอดเลือดสมองด้วย เพราะสมองต้องการการไหลเวียนของเลือดและออกซิเจนอย่างเพียงพอสม่ำเสมอ หากเกิดความบกพร่องหรือเกิดการอุดตันก็จะนำมาซึ่งความเสื่อมได้เร็วขึ้น
การตรวจระดับฮอร์โมน
อีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้สมองเกิดความเสื่อมได้เร็วขึ้น คือ การลดลงของระดับฮอร์โมนต่าง ๆ เช่น ฮอร์โมนไทรอยด์ทำให้การเผาผลาญและการสร้างพลังงานลดลงและยังกระทบต่อการฟื้นตัวของเซลล์สมอง กลุ่มฮอร์โมนเพศและ DHEA (Steroid Hormone) พบว่า มีความสัมพันธ์กับระบบสมองอย่างมาก มีหลายงานวิจัยที่พบว่า การทำงานของสมองทดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อระดับฮอร์โมนเพศลดลง ฮอร์โมนเมลาโทนิน (Melatonin) เป็นอีกหนึ่งฮอร์โมนที่มีความสำคัญต่อสมอง เนื่องจากช่วยต้านอนุมูลอิสระในสมอง ช่วยให้สมองสามารถหลับลึกได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการหลับลึกส่งผลต่อประสิทธิภาพของสมองและชะลอความเสื่อมของสมอง
ตรวจรหัสพันธุกรรม (DNA)
คุณหมออยากให้มองภาพว่า การที่ร่างกายเราจะเสื่อมลง มักจะเกิดขึ้นเพราะปัจจัยหลาย ๆ อย่างที่เข้ามารบกวน ในส่วนของสมองก็เช่นกัน เมื่อพูดถึงโอกาสการเกิดภาวะสมองเสื่อมที่เราสามารถรู้ได้ตั้งแต่แรกเกิดคือ DNA แพทย์สามารถตรวจ Gene ชื่อ APOE4 ซึ่งเป็นพันธุกรรมที่สัมพันธ์กับการเกิดโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer) และโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งในผู้ที่ตรวจพบความผิดปกติมีโอกาสเกิดภาวะสมองถดถอยได้ตั้งแต่อายุน้อย แม้ว่าเราจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมได้ เมื่อเราทราบก็สามารถเลือกป้องกันสาเหตุด้านอื่น ๆ และดูแลสมองให้แข็งแรงได้ กลับกันถ้าเราไม่ทราบเลยก็อาจจะละเลยจนเกิดโรค
การทำ M.R.I. Brain และ M.R.A.
การตรวจความเสื่อมของสมองมักจะดูจากอาการแสดง การตรวจร่างกาย และการประเมินด้วยแบบประเมินมาตรฐานทางการแพทย์ แต่การตรวจวินิจฉัยที่บอกความเสี่ยง ตำแหน่งที่ความเสื่อมในสมองได้ชัดเจนกว่า คือ การทำ M.R.I. Brain และ M.R.A. เช่น การตรวจบริเวณ Hippocampus ซึ่งเป็นบริเวณที่ควบคุมเรื่องความจำ จะทำให้เราเห็นสัญญาณว่าสมองเริ่มเกิดความผิดปกติหรือไม่ และสามารถใช้ประเมินความเสี่ยง ความรุนแรง หรือ ติดตามเปรียบเทียบการดำเนินของความเสี่ยงนั้น ๆ ได้
เราสามารถที่จะวางแผนดูแลเมื่อเห็นความเสี่ยงและป้องกันความเสื่อม หรือชะลอความรุนแรงของความเสื่อมนั้น เพราะปัจจัยที่ทำให้สมองเสื่อมเร็วขึ้น สามารถปรับเปลี่ยนและแก้ได้ ตั้งแต่การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ (Lifestyle) กินอาหารที่ดี ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมสม่ำเสมอ นอนหลับให้เพียงอย่างมีคุณภาพ การเข้าสังคม การฝึกกิจกรรมที่ให้สมองได้ทำงานอย่างสม่ำเสมอ หรือการเสริมสารอาหารเมื่อจำเป็น
คุณหมอเชื่อว่า ทุกคนอยากเก็บความทรงจำที่มีค่าไว้นานเท่านาน จริง ๆ แล้วถ้าเราเกิดภาวะสมองเสื่อมไม่ใช่แค่เราที่เป็นทุกข์ คนที่เสียใจมากไม่แพ้กันคือ คนที่เรารัก เพราะมันคงเป็นเรื่องทรมานจิตใจไม่น้อยที่เราจำเค้าไม่ได้ คุณหมออยากให้ทุกคนเริ่มใส่ใจดูแลสมองไว้ตั้งแต่ตอนนี้ ตอนที่เรายังไม่ได้มีอาการอะไร หรือใครที่รู้สึกว่าเริ่มมีอาการสงสัยว่าอาจจะเกี่ยวกับสมองแม้จะเล็กน้อยก็ไม่ควรที่จะละเลย หากเรารอให้เกิดอาการที่รุนแรงขึ้นจนเกิดโรคแล้วอาจจะไม่ทันการ สามารถปรึกษาแพทย์ ตรวจสุขภาพในส่วนของสมอง เพื่อวางแผนดูแลและป้องกันโดยไม่ต้องรอให้ป่วยย่อมดีที่สุด และไม่ใช่แค่เรื่องของสมองเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นระบบไหนในร่างกายก็ตาม การตรวจสุขภาพเชิงป้องกันเพื่อจัดการความเสี่ยงก่อนจะเกิดโรคนั้นย่อมดีกว่ารอให้ป่วยแล้วมารักษาอย่างแน่นอน
ด้วยความปรารถนาดีจาก
นายแพทย์พลวัฒน์ ปรีชาบริสุทธิ์กุล
ผู้ช่วยผู้อำนวยการคลินิกสุขภาพเชิงป้องกันและฟื้นฟู
บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก
ขอบคุณข้อมูลจาก : BDMS สถานีสุขภาพ