PM2.5 มีผลต่อเลือดอย่างไรบ้าง

ฝุ่นจิ๋ว PM2.5มีผลต่อระบบโลหิตวิทยาอย่างไรบ้าง จะมีอาการอย่างไร

          การศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของฝุ่นจิ๋ว PM2.5กับระบบโลหิตวิทยานั้นยังมีไม่มากนัก แต่ก็มีหลักฐานว่าฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 นี้มีผลต่อทั้งเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือดและระบบการแข็งตัวของเลือดโดย

  • เม็ดเลือดแดง พบว่าทำให้ปริมาณเม็ดเลือดแดงลดลง เนื่องจากมีการอักเสบในร่างกายเพิ่มขึ้นแล้วไปกดการสร้างเม็ดเลือดแดง แต่ผลไม่มากนัก ส่วนใหญ่ไม่มีอาการของภาวะซีด
  • เม็ดเลือดขาว พบว่าเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โดยเฉพาะมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการเนื่องจากไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดปกติได้ลดลงได้แก่ ซีด มีไข้ มีจุดเลือดออกตามตัว
  • เกล็ดเลือดและระบบการแข็งตัวของเลือด พบว่าฝุ่นจิ๋ว PM2.5ทำให้มีการกระตุ้นเกล็ดเลือดและระบบการแข็งตัวของเลือดเพิ่มขึ้น เพิ่มความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดอุดตันทั้งหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำ อาการจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่หลอดเลือดอุดตัน เช่น หลอดเลือดแดงหัวใจอุดตัน มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก หลอดเลือดแดงสมองอุดตัน มีอาการชาหรืออ่อนแรงเฉียบพลัน หลอดเลือดแดงที่ปอดอุดตัน มีอาการหอบเหนื่อย หลอดเลือดดำที่ขาอุดตัน มีอาการขาบวมข้างเดียว เป็นต้น

การป้องกันฝุ่นจิ๋ว PM2.5

          เนื่องจากฝุ่นจิ๋ว PM2.5 นั้นส่งผลกระทบต่อร่างกายหลายระบบรวมทั้งระบบโลหิตวิทยาด้วย ดังนั้นการป้องกันไม่ให้ฝุ่นจิ๋ว PM2.5เข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยประชาชนที่อยู่ในบริเวณที่มีปัญหา PM2.5 ควรปฏิบัติดังนี้

  1. ติดตามและตรวจสอบระดับคุณภาพอากาศก่อนการทำงานหรือท่องเที่ยวภายนอกอาคาร ผ่าน website หรือ application ต่าง ๆ
  2. หากค่าฝุ่นอยู่ในระดับ สีส้ม หรือ สีแดงขึ้นไป ให้สวมหน้ากากชนิด N95 หรือหน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่นอย่างถูกต้อง เมื่อออกไปนอกอาคาร จำกัดเวลาทำกิจกรรมที่ใช้แรงมาก งดการออกกำลังกายกลางแจ้ง เช่น วิ่ง ปั่นจักรยาน
  3. เมื่ออยู่ในบ้านหรืออาคาร ให้ปิดประตู หน้าต่างให้สนิทเพื่อป้องกันไม่ให้ฝุ่นพัดเข้ามา เปิดเครื่องฟอกอากาศ ทำความสะอาดบ้าน หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
  4. ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคหืด ภูมิแพ้ ควรเตรียมยาประจำตัวและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม หากมีอาการผิดปกติเช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก แน่นหน้าอก ให้รีบไปพบแพทย์

 

โดยสรุปฝุ่นจิ๋ว PM2.5 มีผลต่อระบบโลหิตวิทยา โดยเฉพาะเพิ่มความเสี่ยงของภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด ซึ่งการป้องกันตนเองอย่างเหมาะสมจะช่วยป้องกันความเสี่ยงดังกล่าวได้

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : เว็บไซต์ สมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย ข้อมูลโดย รศ.นพ.เอกรัฐ รัฐฤทธิ์ธำรง หน่วยโลหิตวิทยา ภาควิชนอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่