โรคจอประสาทตาเสื่อม

โรคจอประสาทตาเสื่อมเป็นโรคตาที่พบบ่อยในผู้ที่อายุ 50 ปีขึ้นไป เกิดจากจุดรับภาพตรงกลางของจอประสาทตาเสื่อม ซึ่งโรคจอประสาทตาเสื่อมเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการและประเภท

 

สาเหตุของจอประสาทตาเสื่อม

  1. อายุ มักพบในผู้ที่อายุ 50 ปีขึ้นไป

  2. เพศ มักพบในเพศหญิงมากกว่าชาย

  3. เชื้อชาติ มักพบในคนผิวขาวมากกว่าผิวสี

  4. พันธุกรรม หากท่านมีญาติสายตรงเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม ท่าควรตรวจเช็คจอประสาทตาทุก 2 ปี

  5. วัยหมดประจำเดือน จะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมมากขึ้นจากระดับของฮอร์โมนเอสโตรเจน

  6. โรคเบาหวาน หากผู้ป่วยเบาหวานควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนถึงขั้นทำให้เกิดจอประสาทตาเสื่อมได้

  7. บุหรี่ ผู้ที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงการเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมมากขึ้น

  8. ต้องเผชิญแสงแดดหรือแสงอัลตราไวโอเลตเป็นประจำเป็นเวลานาน

อาการจอประสาทตาเสื่อม

  1. อาการจอประสาทเสื่อมชนิดแห้ง อาการในช่วงแรก ผู้ป่วยอาจมองเห็นภาพเบลอและจุดดำหรือจุดบอดตรงกลางภาพ เมื่อเวลาผ่านไป จุดดำในภาพจะเริ่มขยายใหญ่ซึ่งส่งผลต่อการมองเห็น ทำให้อ่านหนังสือลำบากหรือมองเห็นรายละเอียดไม่ชัด

  2. อาการจอประสาทเสื่อมชนิดเปียก ทำให้ผู้ป่วยมองเห็นภาพบิดเบี้ยว พร่ามัว เห็นจุดดำขนาดใหญ่ในภาพซึ่งเป็นผลมาจากการที่เลือดไหลไปอยู่ในจุดรับภาพ

 

วิธีการตรวจวินิจฉัยโรคจอประสาทตาเสื่อม

  1. การตรวจดวงตาเบื้องต้นโดยจักษุแพทย์

  2. ใช้เครื่องมือพิเศษ ได้แก่ กล้องส่องสภาพจอประสาทตา และกล้องจุลทัศน์สำหรับตา โดยแยกเป็น 2 กลุ่มหลักๆ ดังนี้

  • ตรวจพิเศษด้วยเครื่องถ่ายภาพ ( Fluorescein angiography ) การฉีดสาร Fluorescein เข้าเส้นเลือดดำเพื่อตรวจดูจอประสาทตา

  • ตรวจวิเคราะห์ภาพตัดขวางจอประสาทตาด้วยเลเซอร์ ( Optical coherence tomography ) เพื่อวิเคราะห์ลักษณะและขอบเขตความผิดปกติที่เกิดขึ้นเพื่อกำหนดแนวทางรักษา และพยากรณ์การดำเนินโรค ซึ่งเป็นเทคโนโลยีล่าสุดในการตรวจจอประสาทตา

 

การรักษาจอประสาทเสื่อม

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคนี้ให้หายขาด แต่สามารถให้การดูแลรักษา เพื่อหยุดหรือชะลอการดำเนินโรคให้จอประสาทตาเกิดการภาวะเสื่อมช้าที่สุด

 

การป้องกันโรคจอประสาทตาเสื่อม

  • ตรวจเช็คสุขภาพตาเป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี หรือมีประวัติญาติสายตรงเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม

  • หลีกเลี่ยงการได้รับแสง หรือรังสีอัลตราไวโอเลต เป็นระยะเวลานาน

  • เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อร่างกายโดยเฉพาะอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ได้แก่ ผักใบเขียว ผลไม้ และกินวิตามินเสริม

  • งดสูบบุหรี่

  • หากเป็นโรคเบาหวานจะต้องปฏิบัติตามแผนการรักษาของแพทย์อย่างเคร่งครัดเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม

 

 

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่คลินิกโรคตา หู คอ จมูก โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี 039-319896