โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

จํานวนผู้ป่วยโรคหัวใจในประเทศมีแนวโน้มเพิ่่มสูงขึ้นทุกปี ซึ่งทําให้บั่นทอนคุณภาพชีวิตของคนไทยเป็นอย่างมาก โรคหัวใจ ชนิดหนึ่งที่คนไทยเป็นกันมากขึ้น คือ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

สาเหตุและอาการของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

เกิดจากการตีบแคบ หรืออุดตันในหลอดเลือดโคโรนารีที่นําเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ทําให้หัวใจขาดเลือด จึงเกิดอาการต่าง ๆ เช่น จุกแน่น เสียดแสบบริเวณทรวงอก อาจแพร่กระจายไปที่แขน ลําคอ ขากรรไกร กราม หากเป็นมากจะอ่อนเพลีย เหงื่อออก เป็นลม จนถึงเสียชีวิตแบบเฉียบพลัน ถ้าท่านเจ็บหน้าอก และมีอาการร่วมอื่น ดังกล่าวข้างต้น และหรือเจ็บนานเกิน 15-20 นาที ควรรีบไปโรงพยาบาลโดยเร่งด่วน เพื่อรับการรักษาได้ทันท่วงที

ปัจจัยเสี่ยงโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

  1. โรคความดันโลหิตสูง
  2. โรคไขมันในเลือดสูง
  3. การสูบบุหรี่
  4. โรคเบาหวาน
  5. ความอ้วน
  6. ความเครียด
  7. การไม่ออกกําลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  8. ผู้ชายอายุ 40 ปีขึ้นไป หรือหญิงอายุ 50 ปีขึ้นไป หรือวัยหลังหมดประจําเดือน
  9. ผู้มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ

การปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

  1. หากมีโรคประจำตัว ควรรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และมาตรวจตามนัดทุกครั้ง
  2. รับประทานผัก ผลไม้และดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 2-3 ลิตร
  3. ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอตามกำลังของตนเอง หากออกกำลังกายแล้วมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก เวียนศีรษะ มึนงง คลื่นไส้ เหนื่อยมากจนพูดไม่ออก หายใจสั้นและถี่มาก เมื่อยหรือปวดกล้ามเนื้อ เหงื่อออกมาก ควรหยุดออกกำลังกายและพบแพทย์ทันที
  4. จัดการกับความเครียดอย่างเหมาะสม ทำกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด
  5. พักผ่อนอย่างเพียงพอ

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์โรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี 039-319888

บทความที่เกี่ยวข้อง

คนบ้างาน-เครียด เสี่ยงหัวใจขาดเลือด

คนบ้างาน-เครียด เสี่ยงหัวใจขาดเลือด

ความเครียด นับเป็นจุดเริ่มต้นของหลากหลายโรค หนึ่งในนั้นคือปัจจัยที่ทำให้กลุ่มวัยทำงานและวัยรุ่นมีอัตราการเกิดโรคหัวใจสูงขึ้น หนึ่งในนั้นคือโรคหัวใจขาดเลือด ซึ่งหัวใจขาดเลือด คือ ภาวะที่มีเลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอ ซึ่งพอหัวใจขาดเลือดมากๆ เป็นระยะเวลาหนึ่ง ก็จะส่งผลให้ ‘กล้ามเนื้อหัวใจตาย’ เป็นเหตุให้การทำงานของหัวใจล้มเหลว หรือที่เรียกว่า หัวใจวาย มี น้ำท่วมปอด จนกระทั่งเสียชีวิตในที่สุด โดยสาเหตุสำคัญคืดภาวะ ‘หลอดเลือดหัวใจตีบ-ตัน’ที่ทำให้เลือดไม่สามารถไหลผ่านไปยังหัวใจได้เพียงพอนั้นเอง ใครบ้างที่เสี่ยงหัวใจขาดเลือด? ผู้ที่ทำงานหนัก พักผ่อนน้อย ผู้ที่มีความเครียดสะสมเรื้อรัง ผู้ชายที่อายุ 45 ปีขึ้นไป ผู้หญิงที่อายุ 55 ปีขึ้นไป หรือหลังวัยหมดประจำเดือน ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ไขมันสูง ความดันโลหิตสูง ผู้ที่เป็นโรคอ้วน ผู้ที่ไม่ค่อยออกกำลังกาย ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจขาดเลือด สัญญาณเตือนหัวใจขาดเลือด ที่ต้องรีบพบแพทย์ เจ็บแน่นหน้าอก เหนื่อย ใจสั่น หน้ามืด เป็นลม รู้สึกอึดอัด หายใจไม่เต็มอิ่ม หายใจไม่สะดวก ความเครียดสะสม ทำร้ายหลอดเลือดหัวใจ ภาวะเครียดสะสม ทำให้ร่างกายหลังฮอร์โมนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างน้ำตาลและนำไขมันออกมาเผาผลาญเป็นพลังงานมากขึ้น ขณะเดียวกันยังหลั่งสารอะดรีนาลีน และคอร์ติซอลออกมา ส่งผลให้หัวใจเต้นเร็ว และความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลเสียต่อหลอดเลือดหัวใจทั้งแบบเฉียบพลัน และแบบเรื้อรังเมื่อระบบต่างๆ ของร่างกายถูกกระตุ้นให้ทำงานอย่างต่อเนื่องอย่างไม่หยุดพัก สุดท้ายก็เกิดสารพัดโรคตามมา และไม่ใช่แค่โรคหลอดเลือดหัวใจ แต่ยังรวมไปถึงโรคหลอดเลือดสมอง และโรคอื่นๆ ได้ด้วย หากเริ่มมีอาการที่เป็นสัญญาณเตือน เจ็บแน่นหน้าอก เหนื่อย ใจสั่น หน้ามืด เป็นลม อย่ารีรอ! ให้รีบพบแพทย์ หรือเรียกรถพยาบาลในทันทีเพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะต่างๆ ที่อาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ ขอบคุณข้อมูลจาก : BDMS สถานีสุขภาพ

โรคไขมันในเลือดสูง

โรคไขมันในเลือดสูง

โรคไขมันในเลือดสูง โรคไขมันในเลือดสูง คือโรคที่ผู้ป่วยมีระดับไขมันในเลือดอยู่ในระดับที่สูงกว่าปกติ โดยไขมันนั้นแบ่งออกเป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ ดังนี้ คอเลสเตอรอล (Cholesteral) ได้แก่ ไขมันดี (HDL) พบในผู้ที่รับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์และออกกำลังอย่างม่ำเสมอ ไขมันชนิดนี้ยิ่งมีมากยิ่งส่งผลดี เพราะช่วยขจัดไขมันไม่ดีจากร่างกาย ไขมันไม่ดี (LDL) เป็นไขมันที่สะสมตามผนังหลอดเลือด ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองตีบได้ ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) มักมีระดับที่สูงขึ้นจากการดื่มสุรา รับประทานอาหารมีน้ำตาลและไขมันมากเกินไปในแต่ละวัน รับประทานยาสเตียรอยด์หรือฮอร์โมนเป็นประจำ หรืออาจสูงขึ้นจากโรคประจำตัว เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน ซึ่งระดับไตรกลีเซอไรด์ที่สูงขึ้นเพิ่มความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดแข็ง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน ไขมันเกาะตับ และมีโอากาสเป็นโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน โดยเฉพาะเมื่อระดับไตรกลีเซอไรด์มากกว่า 500 มก./ดล. การป้องกันตนเองจากโรคไขมันในเลือดสูง รับประทานอาหารแต่พอเหมาะ ตามที่ร่างกายต้องการ เพิ่มการรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูงทดแทนแป้งและน้ำตาล ลดอาหารมัน โดยเฉพาะไขมันจากสัตว์ ออกกำลังกายอย่างน้อยครั้งละ 30 นาที 4-5 ครั้งต่อสัปดาห์ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์โรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี 039-319888

ทำไมคนรุ่นใหม่เป็นโรคหัวใจมากขึ้น

ทำไมคนรุ่นใหม่เป็นโรคหัวใจมากขึ้น

ทำไมคนรุ่นใหม่เป็นโรคหัวใจมากขึ้น โรคหัวใจ (Heart Disease) หลายคนคงนึกว่าเหมารวมเพียงแต่โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือ ภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน เนื่องจากเป็นโรคที่พบบ่อยที่สุดในบรรดากลุ่มโรคหัวใจ จากการรายงานสถิติขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในปี 2563 พบว่า กลุ่ม "โรคหัวใจ" และหลอดเลือดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนทั่วโลก หรือประมาณ 17.9 ล้านคน และจากสถิติในประเทศไทย พบผู้เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดมากถึง 6 หมื่นรายต่อปี เฉลี่ยชั่วโมงละ 2 คน นอกจากนี้ยังมีโรคที่เกิดขึ้นกับหัวใจได้อีกมากมาย อาทิ โรคกล้ามเนื้อหัวใจ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคลิ้นหัวใจ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด และโรคติดเชื้อบริเวณหัวใจ เป็นต้น รู้หรือไม่ ? ทำไมคนรุ่นใหม่ถึงเป็นโรคหัวใจมากขึ้น ในอดีตโรคหลอดเลือดหัวใจมักเกิดในผู้สูงอายุ แต่ปัจจุบันเราพบว่าหนุ่มสาววัยทำงานนั้นมีความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป ทำให้มีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง ขาดการออกกำลังกาย อยู่ในภาวะเครียด พักผ่อนน้อย ยิ่งหากใครที่สายปาร์ตี้ด้วยแล้วยิ่งเพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจมากขึ้นไปอีก ส่วนปัจจัยที่นอกเหนือจากพฤติกรรมก็มีอยู่บ้าง เช่น โรคประจำตัว อาทิ โรคเบาหวาน หรือมีภาวะไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง พันธุกรรม สัญญาณเตือน “โรคหัวใจ” เหนื่อยง่ายเวลาออกแรง เดินเร็วๆ หรือออกกําลังกาย หายใจเข้าลำบาก อาจจะเป็นตลอดเวลา เป็นขณะออกกำลังกาย ตอนใช้แรงมากๆ หรือเป็นเฉพาะในเวลากลางคืนขณะพักผ่อน เจ็บหน้าอกหรือแน่นบริเวณกลางอก เจ็บหน้าอกด้านซ้ายบริเวณหัวใจหรือทั้ง 2 ข้างจนไม่สามารถนอนราบได้ตามปกติ เพราะจะรู้สึกเหนื่อยเวลาหายใจและอึดอัดตรงหน้าอก หายใจหอบ จนบางครั้งต้องตื่นขึ้นมาหอบกลางดึก เป็นลมหมดสติโดยไม่ทราบสาเหตุ ขาหรือเท้าบวมโดยไม่ทราบสาเหตุ ปลายมือ ปลายเท้า และริมฝีปากมีสีเขียวคล้ำ หากมีอาการดังกล่าวแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคหัวใจหรือไม่ ? อาศัยการซักประวัติ สอบถามอาการและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่น่าสงสัย ตรวจร่างกายในทุกระบบที่เกี่ยวข้อง ฟังการเต้นของหัวใจ ตรวจระดับไขมันและหินปูนในหลอดเลือด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) โดยใช้สื่อนำคลื่นไฟฟ้าขนาดเล็กมาติดตามที่หน้าอก แขนและขา โดยคลื่นไฟฟ้าหัวใจจะแสดงออกมาเป็นกราฟ ซึ่งแพทย์จะอ่านผลและวินิจฉัยความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้ ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test: EST) คือการให้ผู้เข้ารับการตรวจเดินหรือวิ่งบนสายพานเพื่อกระตุ้นให้หัวใจเต้นแรงขึ้น ผลจะแสดงออกมาเป็นกราฟคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiography) สำหรับผู้ที่ไม่พร้อมทดสอบด้วยการวิ่งบนสายพาน เช่น ผู้สูงอายุ ผู้มีปัญหาด้านการเดิน เป็นการตรวจเพื่อดูกายวิภาคของหัวใจ ความหนาของผนังหัวใจ การเคลื่อนที่และการบีบตัว ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคหัวใจได้เกือบทุกประเภท ตรวจหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง (CT Coronary Artery) เพื่อวิเคราะห์หาเส้นเลือดที่ตีบ-ตัน หรือความผิดปกติอื่นๆ ของหลอดเลือดหัวใจ หากตรวจแล้วพบข้อสงสัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ การตรวจที่จะบอกได้แน่ชัดที่สุดว่ามีการตีบหรือใกล้ตันในจุดใด คือ การฉีดสีเพื่อดูเส้นเลือดหัวใจ ที่เรียกว่าการสวนหลอดเลือดหัวใจ นั่นเอง ดูแลตัวเองให้ห่างไกลโรคหัวใจ เพราะพฤติกรรมการใช้ชีวิตส่งผลต่อสุขภาพหัวใจโดยตรง ดังนั้นเราควรปรับพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งสามารถทำได้ ดังนี้ เลือกกินอย่างเหมาะสม ไม่หวาน ไม่มัน ไม่เค็มจนเกินไป กินผัก ผลไม้ที่มีกากใยให้มากขึ้น โดยเลือกชนิดที่น้ำตาลไม่สูง ออกกำลังกายแบบคาร์ดิโออย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับหัวใจ ช่วยลดไขมันเลว (LDL) และเพิ่มไขมันดี (HDL) ในหลอดเลือด ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพราะการมีน้ำหนักตัวมากเกินไปเป็นปัจจัยสำคัญในเกิดโรคต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพหัวใจ เช่น ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงชา กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสารเสพติดต่างๆ ที่จะทำให้เกิดความเสี่ยง ทำจิตใจให้แจ่มใส หากรู้ตัวว่ามีความเครียดควรรีบหาวิธีกำจัดอย่างเหมาะสม พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ เลือกตรวจสุขภาพประจำปีให้เหมาะสมตามช่วงวัยและความเสี่ยง ขอบคุณข้อมูลจาก : BDMS สถานีสุขภาพ

โรคหัวใจจากฝุ่น PM 2.5

โรคหัวใจจากฝุ่น PM 2.5

โรคหัวใจจากฝุ่น PM2.5 นพ.ชาติทนง ยอดวุฒิ อายุรแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ เปิดเผยว่า PM2.5 นับเป็นสารอนุมูลอิสระ (Free Radical) เช่นเดียวกับบุหรี่ และ บุหรี่ไฟฟ้า ที่ก่อให้เกิดโรคเรื้อรัง อาทิ โรคหลอดเลือดหัวใจ ตีบ ตัน หรือ โรคทางปอด สัมพันธ์กับปริมาณที่ได้รับอย่ามีนัยยะสำคัญ ซึ่งฝุ่น PM2.5 จะเข้าไปกระตุ้นการเกิดอักเสบของหลอดเลือดและการเกิดลิ่มเลือดในร่างกาย ถ้าปริมาณสูงมากพอและเกิดการสูดดมสะสมจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือดชัดเจน ผลกระทบจาก PM2.5 แบ่งเป็น 2 อาการ หลอดเลือดเสื่อมสภาพ หนาตัวขึ้น กล้ามเนื้อหดตัว แข็งขึ้นยืดหยุ่นน้อยลง ส่งผลต่อเกร็ดเลือดทำให้เกิดการสลายลิ่มเลือดยากขึ้น และเกร็ดเลือดเกาะกลุ่มได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตามเมื่อปัจจัย 2 มาเจอกันก็จะทำให้เกิดโรคหลอดเลือดตีบตันนั้นเอง โรคหัวใจจาก ฝุ่น PM2.5 ไม่ได้เกี่ยวกับอายุ ? นพ.ชาติทนง กล่าวว่า การก่อโรคจากฝุ่น PM 2.5 ไม่ได้เกี่ยวกับอายุ แต่เกี่ยวกับปริมาณที่ได้รับจนเกิดการสะสมในร่างกาย โดยกลุ่มที่เป็นโรคประจำตัว อย่างหอบหืด เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ก็ย่อมเสี่ยงมากกว่าคนกลุ่มอื่นเนื่องจากมีความเซนซิทีฟสูง อย่างไรก็ตาม คนที่สุขภาพดีก็ไม่ใช่ว่าจะปลอดภัยเพราะหากได้รับในปริมาณสูงมากพอก็จะมีการพัฒนาของหลอดเลือด เพราะล่าสุดเวชศาสตร์การกีฬา ได้ออกมาเตือนว่า ถึงแม้จะเป็นนักกีฬาที่แข็งแรงมากแค่ไหน ถ้าฝุ่น PM2.5 เกิน 50 ไมโครกรัม ควรจะใส่หน้ากากอนามัยออกกำลังกายหรือหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง นพ.ชาติทนง ยังเปิดเผยว่าขณะนี้แพทย์ทั่วโลกกำลังจะยกระดับ PM2.5 เป็นปัจจัยเสี่ยงระดับต้นๆ เทียบเท่ากับบุหรี่ ในการจะทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ มีผลอย่างนัยยะสำคัญหรือกระตุ้นโรคประจำตัว สัญญาณเตือนแบบพิษฉับพลันPM2.5 วิงเวียน หน้ามืด คลื่นไส้ เลือดกำเดาไหล ขณะที่การก่อโรคเรื้อรังอย่างเลือดเลือดหัวใจจะเป็นในลักษณะการสะสมโรคจึงมักจะไม่แสดงในระยะแรกๆ การตรวจสุขภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญโดยเฉพาะสุขภาพของหัวใจ ปัจจุบันมีหลากหลายเทคโนโลยีที่แม่นยำ อาทิ การตรวจสมรรถภาพการทำงานของหัวใจโดยการวิ่งบนสายพาน (Exercise Stress Test) ,การตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยคลื่นความถี่สูง (Echocardiogram) หรือการตรวจวัดระดับแคลเซียมบริเวณผนังหลอดเลือดหัวใจ (CT Coronary Calcium Score) เพื่อการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสม การทำงานของไต ระดับไขมันคอเลสเตอรอล ระดับไขมันความหนาแน่นสูง-ต่ำ และระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือด ให้เราสามารถรู้ทันความเสี่ยง หาพบแนวโน้มที่จะเป็นโรคหัวใจในอนาคตไม่ว่าจะจากปัจจัยไหนก็ตาม ขอบคุณข้อมูลจาก : BDMS สถานีสุขภาพ

ปัญหาช่องปาก เรื่องใหญ่ของผู้ป่วยโรคหัวใจ

ปัญหาช่องปาก เรื่องใหญ่ของผู้ป่วยโรคหัวใจ

กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคทรวงอก แนะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยง ลดปัญหาสุขภาพช่องปาก เตือนผู้ป่วยโรคหัวใจควรใส่ใจสุขภาพช่องปากมากกว่าคนทั่วไป หากละเลยเสี่ยงติดเชื้อในกระแสเลือดอันตรายต่อชีวิต สุขภาพช่องปาก เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญโดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหัวใจ เนื่องจากปัญหาโรคเหงือกและฟันมีความเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจ หากพบว่าในช่องปากมีโรคเหงือก ฟันผุ หรือหนองจากฟันผุทะลุโพรงประสาทฟัน จะทำให้เกิดอาการปวดฟัน รากฟันอักเสบเป็นหนอง และอาจเกิดการติดเชื้อจากแบคทีเรียแทรกซึมเข้าสู่กระแสเลือดไปตามอวัยวะต่างๆ รวมถึงหัวใจ ทำให้เกิดพยาธิสภาพที่หัวใจได้ ปัจจัยเสี่ยงปัญหาสุขภาพช่องปาก การสูบบุหรี่ ทำให้เกิดปัญหากลิ่นปาก โรคปริทันต์อักเสบ การรับประทานของหวาน ของว่างระหว่างมื้อบ่อยๆ อาจทำให้เกิดฟันผุ ฟันผุทะลุโพรงประสาทฟัน การเคี้ยวของแข็ง ส่งผลทำให้ฟันบิ่น หรือฟันแตก การรับประทานยาหลายชนิด อาจทำให้เกิดภาวะปากแห้ง การแปรงฟันแรง แปรงฟันไม่ถูกวิธี อาจทำให้ฟันสึก หรือฟันผุ ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเหล่านี้ เพื่อลดความเสี่ยงปัญหาสุขภาพช่องปากในอนาคต สำหรับข้อควรระวัง และการเตรียมตัวในการทำฟันของผู้ป่วยโรคหัวใจ ควรปรึกษาแพทย์ประจำตัว ขอใบรับรองแพทย์เพื่อยืนยันว่าสามารถทำฟันได้หรือไม่ รวมถึงข้อควรระวัง ชนิดของโรคหัวใจที่เป็น และยาที่รับประทานอยู่ ต้องแจ้งทันตแพทย์ทุกครั้งเกี่ยวกับชนิดของโรคหัวใจ ยาที่รับประทาน รวมถึงปัญหาที่ผู้ป่วยเคยมีในการทำฟัน เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาซ้ำ ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ประจำตัวและทันตแพทย์อย่างเคร่งครัดในการปรับ หรืองดยาละลายลิ่มเลือด การเจาะเลือดก่อนการทำฟัน การรับประทานยาปฏิชีวนะก่อนทำฟัน และการปฏิบัติตนภายหลังการทำฟัน ผู้ป่วยไม่ควรหยุดยาใดๆมาเอง หากไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือทันตแพทย์ วิธีการดูแล และป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพช่องปากที่ควรปฏิบัติ แปรงฟันอย่างถูกวิธีด้วยแปรงสีฟันขนนุ่มและยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ วันละ 2 ครั้ง เช้าและก่อนนอน ใช้ไหมขัดฟัน หรือแปรงซอกฟันเพื่อทำความสะอาดบริเวณด้านประชิดของฟัน ที่สำคัญทั้งผู้ป่วยโรคหัวใจและคนที่สุขภาพร่างกายแข็งแรงควรพบทันตแพทย์ตามนัดหมายเป็นประจำทุก 6 เดือน หากปรับพฤติกรรมที่ไม่ดีร่วมกับการดูแลฟันอย่างถูกวิธีตามคำแนะนำของแพทย์ ก็สามารถช่วยลดปัญหาสุขภาพช่องปากในระยะยาวลงได้ ขอบคุณข้อมูลจาก : สถาบันโรคทรวงอก และ BDMS สถานีสุขภาพ

หัวใจล้มเหลว เกิดได้ทุกเพศทุกวัย

หัวใจล้มเหลว เกิดได้ทุกเพศทุกวัย

หัวใจล้มเหลว(HEART FAILURE) หรือหัวใจวายสามารถเกิดขึ้นได้แบบไม่คาดคิดทั้งกับตัวเองและคนใกล้ตัว และสามารถเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย ทั้งแต่อยู่ในครรภ์จนกระทั่งวัยชรา เช็กอาการสุ่มเสี่ยงป้องกันได้ตั้งแต่อยู่ในท้อง! ภาวะหัวใจล้มเหลว (HEART FAILURE) คือ ภาวะที่หัวใจทำงานผิดปกติส่งผลให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายและรับเลือดกลับเข้าหัวใจได้ตามปกติ ทำให้เกิดอาการเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย และอาจบวมจากการคั่งของน้ำในร่างกาย ซึ่งอาจมีอันตรายรุนแรงถึงชีวิตได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสุขภาพของแต่ละคน เด็กกับภาวะหัวใจล้มเหลว ในเด็กนั้นสามารถพบภาวะหัวใจล้มเหลวได้ตั้งแต่ยังเป็นทารกในครรภ์ โดยมาจากหัวใจและระบบไหลเวียนเลือดทำงานได้ไม่ดี อาจร้ายแรงถึงขั้นพิการหรือเสียชีวิตได้ หากไม่รีบตรวจวินิจฉัยและทำการรักษาอย่างถูกวิธีเด็กที่หัวใจล้มเหลวมักโตช้า ขาดสารอาหาร เหงื่อออกมาก ผิวหนังเย็น หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว หัวใจโต ตับโต มักมาจากปัญหากล้ามเนื้อหัวใจและโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด จึงควรตรวจวินิจฉัยกับแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจโดยเร็วที่สุด ซึ่งแพทย์มักตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เอกซเรย์ปอด คลื่นเสียงหัวใจ และพิจารณาตามอาการและความรุนแรงของโรค วัยรุ่นกับภาวะหัวใจล้มเหลว สาเหตุมาจากโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ลิ้นหัวใจติดเชื้อโรค หรือความผิดปกติของหัวใจที่อาจไม่เคยรู้ตัวมาก่อน หากรู้ว่าตนเองเป็นโรคหัวใจมาก่อนอาจมีการดูแลสุขภาพหัวใจ แต่เนื่องจากวัยรุ่นไม่ได้ตรวจเช็กสุขภาพหัวใจจึงต้องหมั่นสังเกตตนเองและรีบพบแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจโดยเร็ว อาการที่พบส่วนใหญ่คือ เหนื่อยง่าย ขึ้นบันไดแล้วเหนื่อยผิดปกติ เจ็บแน่นหน้าอกด้านซ้าย หายใจลำบาก ริมฝีปากมีสีเขียว ใจสั่น หน้ามืดเป็นลม หมดสติ ควรต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที เพราะหากร้ายแรงอาจเสียชีวิตแบบฉับพลันได้ ผู้ใหญ่กับภาวะหัวใจล้มเหลว ในผู้ใหญ่นอกจากความเสี่ยงภาวะหัวใจล้มเหลวแบบเฉียบพลันที่อาจถึงแก่ชีวิต ยังมีความเสี่ยงภาวะหัวใจล้มเหลวที่เกิดจากโรคต่าง ๆ อาทิ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง อ้วน เส้นเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ลิ้นหัวใจตีบ หรือลิ้นหัวใจรั่ว การเต้นหัวใจผิดปกติ ซึ่งการตรวจเช็กสุขภาพหัวใจมีความสำคัญ เพราะช่วยให้รู้ความผิดปกติและดูแลตัวเองได้อย่างถูกวิธี อาการหัวใจล้มเหลวที่พบคือ เหนื่อยง่าย นอนราบแล้วหายใจไม่ออก ตื่นกลางดึกเพราะหายใจไม่ออก เท้าหรือขาบวม ท้องอืดไม่ย่อย ตลอดจนน้ำขังตามบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย อ่อนเพลียไม่มีแรง ใจสั่น หน้ามืดเป็นลม หมดสติ นอกจากนี้หากเคยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดอาจเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลวได้มากกว่าคนทั่วไป ผู้สูงวัยกับภาวะหัวใจล้มเหลว ผู้สูงวัยมีโอกาสเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวมากกว่าคนในวัยอื่น ๆ ยิ่งในผู้สูงวัยที่ป่วยด้วยโรคหัวใจ ยิ่งมีความเสี่ยงมาก รวมถึงผู้สูงวัยที่มีปัจจัยเสี่ยงภาวะหัวใจล้มเหลว ได้แก่ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน สูบบุหรี่ กล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ ลิ้นหัวใจผิดปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หลอดเลือดหัวใจอุดตัน กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เป็นต้น อาการที่พบคือ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก นอนราบไม่ได้ หายใจลำบาก บวมที่ขาหรือเท้า กดแล้วมีรอยบุ๋ม ท้องอืด อาหารไม่ย่อย ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว รวมถึงอาจมีอาการทางประสาทอย่างมึนงง สับสน เป็นลม หมดสติ จากการที่หัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงไม่พอ ดังนั้นหากมีอาการผิดปกติแม้เพียงนิดเดียวควรต้องรีบมาพบแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจทันที นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่สุดคือการตรวจเช็กสุขภาพหัวใจอย่างละเอียดเป็นประจำทุกปี รักษาภาวะหัวใจล้มเหลว การรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรคเป็นสำคัญ อันดับแรกคือต้องพบแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจโดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการเจ็บแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก เหนื่อยง่าย หากมีอาการหายใจไม่ออกแพทย์อาจจะใส่เครื่องช่วยหายใจ หากมีน้ำในปอดแพทย์จะทำการให้ยาขับปัสสาวะ รวมถึงการให้ยาต่าง ๆ เพื่อลดความรุนแรงของโรค ทั้งนี้อาจต้องทำการฉีดสีสวนหัวใจบอลลูนถ่างขยายเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจโดยเร่งด่วน มีการใช้เครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติที่ช่วยเรื่องการบีบตัวของหัวใจ การผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ การผ่าตัดลิ้นหัวใจรั่ว ซึ่งเป็นไปตามการประเมินการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจ ที่สำคัญผู้ป่วยต้องมาพบแพทย์ตามนัดหมายทุกครั้ง ดูแลไม่ให้หัวใจล้มเหลว-รักษาทัน สังเกตความผิดปกติอยู่เสมอ ศึกษาหาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะหัวใจล้มเหลว ตรวจเช็กสุขภาพหัวใจของตัวเองและคนใกล้ชิดตามคำแนะนำของแพทย์ หากมีโรคประจำตัวต้องรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง พกยาติดตัวเสมอ ดูแลอย่างใกล้ชิด เลือกกินอาหารที่ดี ออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอ งดสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ ดูแลสุขภาพใจให้ห่างไกลซึมเศร้า ผู้ป่วยโรคหัวใจไม่ควรเดินทางไกลคนเดียวควรมีคนสนิทติดตามไปด้วยทุกครั้ง โรคหัวใจมักไม่แสดงอาการที่ชัดเจน แต่มีโอกาสเสียชีวิตกะทันหันเพราะโรคหัวใจเกิดขึ้นได้ทุกเวลาดังนั้นการตรวจสุขภาพหัวใจเชิงลึกเป็นประจำทุกปีจึงสำคัญมากไม่ใช่แค่สุขภาพหัวใจของตัวเองแต่สุขภาพหัวใจของคนในครอบครัวและคนใกล้ชิดก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลยโดยเฉพาะในผู้ที่มีความเสี่ยงโรคหัวใจและผู้สูงวัยควรต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจเพราะหากรู้ทันโรคก่อนย่อมช่วยให้รับมือได้เร็วประเมินความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตดูแลรักษาหัวใจได้ถูกวิธีมีสุขภาพหัวใจที่แข็งแรงไปอีกนาน ขอบคุณข้อมูลจาก : BDMS สถานีสุขภาพ