อันตรายจากเชื้อ HPV
อันตรายจากเชื้อ HPV
ประจำเดือนไม่เคยมา ประจำเดือนไม่เคยมา (Primary amenorrhea) หมายถึง สตรีเมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์หรืออายุ 14 ปี แล้ว แต่ยังไม่เริ่มมีประจำเดือนครั้งแรก ซึ่งมีสาเหตุต่าง ๆ เช่น ความผิดปกติของรังไข่หรือฮอร์โมนในร่างกาย ความผิดปกติของโครงสร้างของมดลูกหรือช่องคลอด เป็นต้น อาการ ภาวะประจำเดือนไม่เคยมาอาจไม่มีอาการใด ๆ แต่ในรายที่มีอาการจะเกิดขึ้นตามสาเหตุ เช่น หากมีสาเหตุจากฮอร์โมน อาจพบว่าการเจริญโตทางเพศไม่สมวัย เช้น ไม่มีหน้าอก ไม่มีขนเพชรหรือขนรักแร้ขึ้น เป็นต้น หากเกิดจากเยื่อพรหมจรรย์ไม่เปิด อาจมีอาการปวดท้อง หรือมีเยื่อพรหมจรรย์โป่งพอง การรักษา สำหรับการรักษาภาวะประจำเดือนไม่เคยมาแนะนำพบแพทย์เพื่อตรวจประเมินรักษา โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาวางแผนการรักษาตามความเหมาะสมเป็นรายกรณีไป สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี 039-319888
มะเร็งปากมดลูก เชื้อ HPV เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดมะเร็งปากมดลูก ซึ่ง HPV มีมากกว่า 200 สายพันธุ์ โดยสายพันธุ์ที่เมื่อติดเเล้วมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดมะเร็งปาดมดลูก ได้แก่ HPV 16 , 18 , 31 , 33 , 35 , 39 , 45 , 52 , 56 โดยเฉพาะเชื้อสายพันธุ์ 16 และ 18 ที่นับว่ามีความเสี่ยงสูงมากกว่าตัวอื่น ๆ ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปากมดลูก ปัจจัยเสี่ยงทางเพศหญิง การมีคู่นอนหลายคน การมีเพศสัมพันธ์เมื่ออายุน้อยกว่า 17 ปี การตั้งครรภ์และการคลอดลูกมากกว่า 4 ครั้ง มีประวัติเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น เริม ซิฟิลิส และหนองใน เป็นต้น ไม่เคยได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกมาก่อน ปัจจัยทางฝ่ายชาย ผู้ชายที่เป็นมะเร็งองคชาต ผู้ชายที่เคยมีภรรยาเป็นมะเร็งปากมดลูก ผู้ชายที่เคยมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย ผู้ชายที่มีคู่นอนหลายคน ปัจจัยอื่น ๆ ที่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปากมดลูก การสูบบุหรี่ ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น โรคเอดส์ และการได้รับยากดภูมิคุ้มกัน อาการของมะเร็งปากมดลูก ตกเลือดทางช่องคลอด เลือดออกกะปริบกะปรอยระหว่างรอบเดือน เลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ มีน้ำออกปนเลือด ตกขาวปนเลือด อาการในระยะหลังเมื่อมะเร็งลุกลาม ขาบวม ปวดหลังรุนแรง ปัสสาวะเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด การป้องกันมะเร็งปากมดลูก การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำ ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก
เซ็กซ์อย่างป้องกัน ลดเสี่ยงมะเร็งปากมดลูก การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน สุ่มเสี่ยง โรคติดต่อมากมาย และเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งในผู้หญิง เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเนื่องจากติดเชื้อ การติดเชื้อ HPV หรือ Human Papillomavirus รู้ทริคป้องกันโรครับวาเลนไทน์ 2023 ให้ปลอดภัย การติดเชื้อ HPV หรือ Human Papillomavirus เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบมากที่สุด เป็นสาเหตุของโรคหลายชนิด โดย HPV แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ HPV ชนิดไม่ก่อให้เกิดมะเร็ง ไม่ได้ทําาให้เกิดมะเร็งปากมดลูก แต่เป็นสาเหตุของหูดหงอนไก่บริเวณอวัยวะเพศ เชื้อ HPV ติดต่อได้ง่ายผ่านทางเพศสัมพันธ์เป็นหลัก โดยมักพบในคนช่วงวัยเจริญพันธุ์ อายุ 20-30 ปี สูงถึง 2 ใน 3 คนเลยทีเดียว เมื่อติดเชื้อ เซลล์ปากมดลูกเกิดการเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์มะเร็งอาจใช้เวลานาน 10-15 ปี ซึ่งผู้หญิงที่ติดเชื้อมักจะไม่มีอาการผิดปกติใดๆ เป็นระยะเวลานาน แต่จะมาพบแพทย์เมื่อมีอาการแล้ว เช่น เลือดออกผิดปกติจากช่องคลอดที่ไม่ใช่ประจําเดือน มะเร็งมักเข้าสู่ระยะลุกลามแล้ว และแม้ว่าการติดเชื้อ HPV จะเพิ่มโอกาสสูงขึ้นตามจำนวนของคู่นอน แต่การมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนแค่คนเดียวก็มีโอกาสติดเชื้อ HPV ได้ หากคู่นอนของคุณมีเชื้อ HPV อยู่ก่อนแล้ว มีเซ็กซ์ปลอดภัยจากเชื้อ HPV ไม่เปลี่ยนคู่นอนหลายคน สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ เพราะช่วยป้องกันการติดเชื้อ HPV มากถึง 90% ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย หรือ ต่ำกว่า 18 ปี ไม่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก เพราะสามารถเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HPV และก่อให้เกิดมะเร็งทวารหนักในอนาคตได้ ไม่มีเพศสัมพันธ์ด้วยการทำออรัล เพราะเชื้อ HPV สามารถก่อให้เกิดมะเร็งช่องปาก หรือมะเร็งลำคอได้ ระวังการติดเชื้อจากการใช้นิ้วมือ เนื่องจากเชื้อ HPV สามารถติดต่อผ่านการสัมผัสทางผิวหนังโดยตรงได้ การป้องกันที่สำคัญกว่า คือการรับฉีดวัคซีนป้องกัน HPV วัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV (Human Papilloma Virus) จะกระตุ้นร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันป้องกันการติดเชื้อ HPV ปัจจุบันวัคซีน HPV มี 2 ชนิด ชนิดแรก เป็นวัคซีน HPV ชนิด 2 สายพันธุ์ ซึ่งมีการเสริมสารกระตุ้นภูมิรุ่นใหม่ เน้นป้องกันมะเร็งปากมดลูกจากเชื้อ HPV สายพันธุ์ก่อมะเร็ง (HPV 16, 18 และ HPV สายพันธุ์ก่อมะเร็งอื่นๆ) ชนิดที่ 2 วัคซีน HPV ชนิด 4 สายพันธุ์ ใช้ป้องกันมะเร็งปากมดลูก (จาก HPV 16, 18) และหูดอวัยวะเพศ (จาก HPV 6, 11) ช่วงวัยที่เหมาะสมกับการฉีดป้องกันป้องกันมะเร็งปากมดลูก ควรฉีดในผู้หญิงอายุตั้งแต่ 9-26 ปี หรืออาจขยายระยะเวลาได้ถึง 45 ปี ในผู้ชายก็เช่นเดียวกัน เพราะเป็นวัยที่ร่างกายสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีที่สุด นอกจากนี้การตรวจหาเชื้อ HPV ในระดับดีเอ็นเอ หรือ HPV Testing จึงเป็นวิธีการค้นหาเชื้อ HPV ที่ให้ผลแม่นยำ ช่วยให้รักษาการติดเชื้อได้ทันก่อนกลายเป็นมะเร็ง ขอขอบคุณข้อมูลจาก : BDMS สถานีสุขภาพ
ช็อกโกแลตซีสต์ (Chocolate Cyst) หรือ ทางการแพทย์เชื่อว่าเกิดจากการที่เลือดประจำเดือนไหลย้อนกลับ คือ แทนที่เลือดจะไหลออกมาทางช่องคลอดตามปกติ แต่กลับมีประจำเดือนส่วนหนึ่งไหลย้อนไปทางหลอดมดลูกเข้าไปในช่องท้องแล้วไปฝังตัวที่รังไข่จนทำให้เกิดเป็นถุงน้ำ หรือถุงที่มีเลือดคั่ง และไปเจริญเติบโตในอวัยวะต่างๆ เช่น อุ้งเชิงกราน ท่อรังไข่ ลำไส้ช่องคลอด มดลูก กระเพาะปัสสาวะ ผู้หญิงทุกคนมีโอกาสเป็น เพราะเกิดขึ้นจากฮอร์โมนเพศหญิง ตราบใดที่ยังมีประจำเดือน ซึ่ง โรคนี้จะส่งผลร้ายแรงต่อร่างกายมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ถึงแม้จะไม่ใช่โรคร้ายที่อันตรายถึงชีวิต แต่ก็สร้างความทรมานให้สาวๆ ที่เป็นโรคนี้ได้ไม่น้อย อาการที่เสี่ยงเป็นช็อกโกแลตซีสต์ ปวดท้องมากผิดปกติเวลามีประจำเดือน และปวดมากขึ้นๆ ทุกเดือน โดยอาจจะปวดทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ตั้งแต่สะดือไปถึงอุ้งเชิงกรานและตั้งแต่บั้นเอวไปถึงก้นกบ รวมถึงการปวดท้องน้อยเวลามีเพศสัมพันธ์ ประจำเดือนมามากผิดปกติ หรือนานกว่า 7 วัน และการมีเลือดออกทางช่องคลอดอย่างผิดปกติ ประจำเดือนมาถี่ หรือระยะห่างระหว่างที่เป็นประจำเดือนแต่ละรอบสั้นกว่าปกติ คือมีมากกว่าเดือนละ 2 ครั้ง ปัสสาวะบ่อยขึ้นกว่าปกติ อาจเป็นเพราะก้อนซีสต์มีขนาดใหญ่ และไปเบียดกระเพาะปัสสาวะจนทำให้เกิดการทำงานที่ผิดปกติ ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ปัสสาวะเป็นเลือดในช่วงมีประจำเดือน ถ้าเป็นคนผอมแต่มีพุง ให้ตั้งข้อสงสัยว่าอาจมีถุงน้ำขนาดใหญ่เกิดขึ้นภายในท้อง ปวดไมเกรนบ่อยๆ โดยเฉพาะช่วงก่อน และระหว่างมีประจำเดือน บางรายอาจไม่มีอาการใดๆ แสดงออกมาเลย แต่คลำพบก้อนแข็งบริเวณท้องน้อยซึ่งอาจจะอยู่ตรงกลางหรือด้านข้างเนื่องจากถุงน้ำโตขึ้นจนมีขนาดใหญ่และอยู่ในระยะที่เป็นอันตราย บางรายตรวจพบว่าโรคนี้เป็นสาเหตุของการมีบุตรยากเนื่องจากท่อนำไข่ตีบตัน ทำให้ไข่ไม่สามารถเดินทางได้สะดวก ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งผลพวงที่มีสาเหตุมาจากช็อกโกแลตซีสต์ เพราะเมื่อเยื่อบุนี้ไปเกาะอยู่บนรังไข่ ทำให้รังไข่มีพื้นในการผลิตไข่ และสร้างฮอร์โมนน้อยลง เพราะถูกแทนที่ด้วยช็อกโกแลตซีสต์ไข่ที่ผลิตได้ก็ด้อยคุณภาพ และยังทำให้ท่อรังไข่คดงอ ไข่กับอสุจิที่ผสมกันแล้วจึงผ่านมาฝังตัวได้อย่างไม่สมบูรณ์ หากพบว่าเป็นก็จะได้ทำการรักษาแต่เนิ่นๆ จะเป็นการดีที่สุด ในส่วนของการรักษา ในรายที่อาการรุนแรงไม่มาก แพทย์อาจให้สังเกตและติดตามอาการเป็นระยะ ในรายที่มีอาการพอสมควรแพทย์อาจรักษาโดยใช้ยา หรือหากใช้ยาแล้วไม่ได้ผลอาจจำเป็นต้อง ผ่าตัด ช็อกโกแลตซีส ซึ่งการผ่าตัดในปัจจุบันนี้แพทย์ก็จะเลือกใช้วิธีการผ่าตัดส่องกล้อง (Laparoscopic Surgery) เป็นวิธีมาตรฐานในการผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดผ่านกล้องนี้เป็นวิธีที่ทันสมัย เป็นรูปแบบหนึ่งของการผ่าตัดแบบ Minimally Invasive Surgery หรือ MIS อันเป็นเทคนิคในการผ่าตัดที่มีประสิทธิภาพสูง ผู้เข้ารับการผ่าตัดจะมีแผลเล็ก เจ็บน้อย และฟื้นตัวเร็ว ซึ่งไม่น่ากลัวแต่อย่างใด จากที่คุณหมอให้ความรู้เรามาทั้งหมดนี้ก็จะพบว่า โรคช็อกโกแลตซีสต์ ก็ไม่ใช่โรคที่น่ากลัวมาก หากคุณสาวๆ หมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกายตัวเองแล้วรีบไปพบสูตินรีแพทย์ เพื่อตรวจอาการตั้งแต่เนิ่นๆ ก่อนที่โรคจะลุกลามก็น่าจะเป็นการดีที่สุด ก่อนที่โรคภัยจะมาคุกคามชีวิตและลุกลามจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของเรา สอบถามเพิ่มเติมติดต่อศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี 039-319877
เทคฮอร์โมนอย่างปลอดภัย การใช้ฮอร์โมนหรือยาฮอร์โมน เพื่อปรับลักษณะ ทางกายภาพในกลุ่มคนข้ามเพศ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ฮอร์โมนสำหรับชายเป็นหญิง (Feminizing hormone therapy) สำหรับผู้ที่เพศกำเนิดเป็นเพศชายแต่ต้องการปรับสรีระร่างกายให้มีความเป็นเพศหญิง ซึ่งทำได้โดย การเสริมฮอร์โมนเพศหญิงหรือเอสโตรเจน (Estrogen) ยายับยั้งฮอร์โมนเพศชาย (Anti androgen agent) ฮอร์โมนสำหรับหญิงเป็นชาย (Masculinizing hormone therapy) สำหรับผู้ที่มีเพศกำเนิดเป็นเพศหญิงแต่ต้องการปรับสรีระร่างกายให้มีความเป็นเพศชาย สามารถทำได้โดยการเสริมฮอร์โมนเพศชายหรือแอนโดรเจน (Androgen) ซึ่งฮอร์โมนหลัก ๆ คือ ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน โดยการใช้ฮอร์โมนบำบัดเพื่อการข้ามเพศสามารถทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของร่างกายแต่ละคน ซึ่งสามารถทำได้ ทั้งการกินในรูปแบบยาเม็ด รูปแบบยาฉีด โดยยาสามารถเข้าสู่กระแสเลือดโดยตรง และ การให้ยาทางผิวหนัง ด้วยวิธีการแปะ หรือทายาฮอร์โมนชนิดเจล เพื่อให้ยาซึมผ่านผิวหนังเข้าสู่กระแสเลือดและออกฤทธิ์ได้โดยตรง วางแผนเพื่อการข้ามเพศแล้วไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร ? ด้านร่างกาย ดูแลสุขภาพให้สมบูรณ์แข็งแรง ผลเลือดอยู่ในเกณฑ์ดี ซึ่งในกรณีนี้สามารถเข้ารับการปรึกษาจากแพทย์และรับการตรวจร่างกายก่อนการให้ฮอร์โมนได้ ด้านจิตใจ จำเป็นต้องได้รับการสัมภาษณ์จากจิตแพทย์ และควรผ่านแบบทดสอบทางจิตวิทยา อย่างไรก็ตาม คลินิกสุขภาพเพศ Health Care Paolo Kaset มีบริการให้คำปรึกษาโดยแพทย์เวชศาสตร์ทางเพศที่มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะ ด้านสังคม สภาพสังคม และหน้าที่การงานของคุณเปิดโอกาสให้กับการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ สถานที่ทำงานมีกฎเกณฑ์ในด้านเครื่องแบบตามคำนำหน้า (นางสาว , นาย) หรือไม่ ทั้งนี้ควรศึกษาเพื่อเตรียมพร้อมที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงปรึกษาแพทย์เฉพาะทางคลินิก สุขภาพเพศ Health Care Paolo Kaset เข้ารับการให้ฮอร์โมนตามที่แพทย์นัดหมาย ไม่ควรให้ฮอร์โมน/เทคฮอร์โมนด้วยตัวเอง เนื่องจากจะมีปัญหาเรื่องความปลอดภัย ที่สำคัญควรตรวจเลือดและตรวจสุขภาพตามที่แพทย์นัดหมาย ที่สำคัญควรทำภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านฮอร์โมนโดยเฉพาะ เพื่อลดการเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย ไม่ควรซื้อยาฮอร์โมนมารับประทานด้วยตนเอง ขอบคุณข้อมูลจาก : BDMS สถานีสุขภาพ
ปวดประจำเดือน กับ ซีสต์รังไข่ "ซีสต์" มาจากภาษาอังกฤษว่า "cyst" มีความหมายว่า "ถุงน้ำ" ดังนั้น ไม่ว่าอะไรก็ตามที่มีเปลือกและมีน้ำหรือของเหลวภายในก็จะเรียกว่า "ซีสต์" เหมือนกันทั้งหมด โดยอวัยวะทุกอวัยวะภายในร่างกายของคนเรามีโอกาสจะเกิดซีสต์ได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นผิวหนัง ไขมัน กระดูก อวัยวะภายใน หรือ แม้กระทั่งสมองก็มีซีสต์เกิดขึ้นได้ ขณะที่ผู้หญิงก็จะมีความพิเศษมากกว่าผู้ชาย ตรงที่มีอวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิง โดยเฉพาะมีรังไข่ที่มีโอกาสเกิดซีสต์ขึ้นได้บ่อยๆ ยิ่งเมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ก็จะเกิดซีสต์หรือถุงน้ำรังไข่ โตแล้วยุบหายไปตามรอบเดือน ซึ่งเกิดจากการตกไข่ตามปกติ ถุงน้ำรังไข่หรือซีสต์รังไข่มี 3 ประเภท ฟังค์ชั่นนัล ซีสต์ (Functional Cyst) ถุงน้ำรังไข่ที่เกิดจากการทำงานตามปกติของรังไข่เพื่อสร้างไข่ที่เป็นเซลล์สืบพันธุ์ของฝ่ายหญิง จะเป็นถุงน้ำที่โตขึ้นแล้วแตกทำให้เซลล์ไข่ไหลออกมา หลังจากนั้นถุงน้ำนี้ก็จะค่อยๆ ยุบตัวไปเอง เนื้องอกถุงน้ำรังไข่ (Ovarian Tumor หรือ Ovarian Cyst) เนื้องอกรังไข่ชนิดที่มีของเหลวภายใน ซึ่งอาจเป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง (ไม่ใช่มะเร็ง) หรือ ชนิดร้ายแรง (มะเร็ง) ก็ได้ โดยมากเนื้องอกแต่ละชนิดมักจะมีลักษณะเฉพาะที่พอจะบอกได้ว่าเป็นชนิดใด เช่น Dermoid Cyst (ถุงน้ำเดอร์มอยด์) ซึ่งภายในถุงน้ำมักจะมีน้ำ, ไขมัน เส้นผม กระดูกและฟัน เมื่อเอ็กซเรย์ดูหรือตรวจอัลตราซาวด์ ก็มักจะบอกได้ว่าเป็นเนื้องอกชนิดนี้ ส่วนเนื้องอกถุงน้ำชนิดที่เป็นมะเร็งบางชนิด จะมีการสร้างสารเคมีที่ตรวจพบว่ามีปริมาณสูงมาก ๆ ในกระแสเลือดได้ เช่น CA 125 ก็สามารถบ่งบอกล่วงหน้าได้ว่าน่าจะเป็นมะเร็ง ถุงน้ำที่คล้ายเนื้องอก (Tumor like condition) คือถุงน้ำที่เกิดจากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ที่เกิดขึ้นที่รังไข่ เมื่อมีรอบเดือนเยื่อบุโพรงมดลูกนี้ก็จะมีเลือดซึมออกมาสะสมในถุงน้ำนี้เรื่อย ๆ จนเป็นเลือดเก่า ๆ ข้น ๆ สีคล้ายช็อกโกแลต จึงเรียกว่า ช็อกโกแลตซีสต์ (Chocolate Cyst) อาการซีสต์รังไข่ที่ควรสังเกต ส่วนใหญ่ไม่มีสัญญาณเตือนหรือมีอาการใด ๆ แต่โดยมากจะมาตรวจพบก็เมื่อคนไข้เข้ามาตรวจสุขภาพประจำปี หรือมาตรวจพบโดยบังเอิญเมื่อมีอาการของโรคอื่นๆ แต่หากมีอาการ จะสามารถ สังเกตได้ ดังนี้ มีอาการปวดท้องน้อย และถ้าปวดสัมพันธ์กับรอบเดือนก็อาจสงสัยว่าจะมีช็อกโกแลตซีสต์ บางรายอาจรู้สึกว่าปัสสาวะบ่อยขึ้น เนื่องจากซีสต์โตพอสมควรและไปเบียดกระเพาะปัสสาวะ บางรายแค่มีอาการหน่วงๆ ท้องน้อย บางคนไม่มีอาการเลยแต่รู้สึกหรือเข้าใจไปว่ามีหน้าท้องโตเพราะอ้วนก็ได้ บางรายมีอาการปวดท้องน้อยเฉียบพลัน จากขั้วถุงน้ำรังไข่บิด หรือถุงน้ำรังไข่แตกก็ได้ บางคนอาจมีประจำเดือนผิดปกติ คือ มามาก มากระปริบกระปรอย ปวดประจำเดือนมากขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละเดือน ในกรณีร้ายแรงที่ถุงน้ำแตกออกและมีเส้นเลือดฉีกขาดอาจทำให้ตกเลือดในช่องท้องได้ ซึ่งเสี่ยงต่ออันตรายและมีโอกาสทำให้เสียชีวิต ทำให้เห็นได้ว่าโรคนี้แม้ไม่ใช่มะเร็งร้ายแต่ก็สามารถก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ และก่อให้เกิดอันตรายได้ คุณผู้หญิงควรให้ความสนใจหากมีอาการผิดปกติ ในข้อใดข้อหนึ่งดังที่ได้กล่าว ควรพบสูติ-นรีแพทย์ เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงและทำการรักษา ป้องกันการเกิดซีสต์ ได้หรือไม่ ? สาเหตุถุงน้ำรังไข่ที่ไม่ใช่ Functional Cyst ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดบางชนิดเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ แต่ในปัจจุบันมีข้อมูลที่เชื่อถือได้ว่า ต้นเหตุของเนื้องอกถุงน้ำรังไข่ที่เป็นมะเร็ง ส่วนใหญ่เกิดมาจากเซลล์เยื่อบุของท่อนำไข่ ที่มีการกลายเป็นเซลล์ผิดปกติ หลุดมาติดที่รังไข่ และเติบโตต่อไปเป็นมะเร็งรังไข่ จากข้อมูลทางสถิติพบว่า ผู้หญิงที่ทำหมันแล้ว จะมีโอกาสเป็นมะเร็งถุงน้ำรังไข่น้อยกว่าผู้หญิงที่ยังไม่ได้ทำหมัน ดังนั้น เมื่อผู้หญิงที่ไม่ต้องการมีบุตรแล้ว หรือไม่สามารถมีบุตรได้แล้ว ถ้ามีการรักษาใดๆ ที่จำเป็นต้องผ่าตัดในช่องท้อง ก็มักจะตัดท่อนำไข่ทั้ง 2 ข้างออกด้วยเลย เพื่อป้องกันมะเร็งรังไข่ในอนาคตทั้งนี้ การรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เป็นการป้องกันโรคได้ที่ดีที่สุด ควรหมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนคลายเครียด การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ดูแลให้มีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานจะช่วยให้ร่างกายของคุณผู้หญิงสร้างฮอร์โมนได้อย่างสมดุล ขอบคุณข้อมูลจาก : BDMS สถานีสุขภาพ
บริการให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง