พฤติกรรมทำให้ “เอ็นร้อยหวายอักเสบ” รักษาเนิ่นๆหายได้ไม่ต้องผ่าตัด

เอ็นร้อยหวายเป็นเส้นเอ็นที่ใหญ่สุดในร่างกาย เชื่อมต่อกล้ามเนื้อน่องกับส้นเท้า มีผลในการเดิน วิ่ง และการกระโดด เมื่อมีการเดิน วิ่ง หรือกระโดดที่แรงซ้ำๆ ทำให้เกิดภาวะเอ็นร้อยหวายอักเสบ (Achilles Tendinitis) ซึ่งแม้จะไม่ใช่โรคที่หนักหนาอะไรแต่ก็สร้างความหงุดหงิดใจและการหยุดชะงักของชีวิตและกิจกรรมออกกำลังสุดโปรดไปได้

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดเอ็นร้อยหวายอักเสบ

  • อายุที่มากขึ้น ตั้งแต่ 40 ปี ขึ้นไป
  • ภาวะโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน , ไทรอยด์
  • ยาบางกลุ่ม เช่น การทานยาสเตรียรอยด์ เป็นเวลานานๆ  เป็นต้น
  • ออกกำลังกายหนักใช้ขาเป็นเวลานาน เช่น การเดิน,วิ่ง,กระโดด
  • กลุ่มคนทำงานที่ยืนหรือเดินนานๆ
  • กล้ามเนื้อน่องไม่แข็งแรงและตึงมากเมื่อออกกำลังกาย ทำให้เพิ่มแรงและความเครียดต่อเอ็นร้อยหวาย
  • คนที่มีกระดูกงอกบริเวณส้นเท้าจะทำให้เกิดการเสียดสีกับเอ็นร้อยหวาย ทำให้เกิดอาการปวดหรืออักเสบได้
  • ใส่รองเท้าส้นสูงยืนเดินเป็นเวลานาน หรือใส่รองเท้าที่ไม่พอดีกับเท้าหรือพื้นรองเท้าเสื่อมสภาพ
  • เล่นกีฬาที่ต้องเปลี่ยนทิศทางอย่างรวดเร็วหรือหยุดแบบกะทันหัน

 

อาการทั่วไปของเอ็นร้อยหวายอักเสบที่พบได้บ่อย

เอ็นร้อยหวายอักเสบจะมีอาการเจ็บ บวม แดงบริเวณเอ็นร้อยหวาย อาจเจ็บลามไปถึงกล้ามเนื้อน่อง เมื่อมีอาการปวดตรงส้นเท้าควรพัก หยุดจากการวิ่ง แล้วใช้การประคบเย็นช่วย ซึ่งประคบบ่อย ๆ จะช่วยให้หายเร็วขึ้น อาการปวดควรหาย 100% ก่อนกลับมาวิ่งหรือออกกำลังกายอีกครั้ง เพราะถ้าวิ่งโดยที่มีอาการปวดอยู่จะทำให้อาการรุนแรงมากขึ้นและต้องใช้เวลาในการพักฟื้นนานขึ้น โดยอาการที่พบบ่อย

  • มีอาการปวดอย่างรุนแรง หลังการออกกำลังกาย
  • ปวดและบวมบริเวณเหนือส้นเท้า ในขณะที่เดิน หรือเมื่อยืดข้อเท้า
  • รู้สึกตึงตามแนวเอ็นร้อยหวาย มักมีอาการมากตอนเช้าหลังตื่นนอน

วิธีการรักษาเอ็นร้อยหวายอักเสบ

  • กรณี ไม่ผ่าตัด แพทย์จะทำการประเมินอาการ และให้รับประทานยาตามอาการ งดสวมใส่รองเท้าที่มีส้น และทำกายกายภาพบำบัด เพื่อให้เอ็นร้อยหวายกลับมายืดหยุ่นและแข็งแรงได้ตามเดิม
  • กรณี ผ่าตัด  หากมีการรักษาอาการตามข้างต้นแล้ว ไม่ดีขึ้น ยังคงมีอาการเจ็บเรื้อรัง จนไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ การรักษาด้วยการผ่าตัดด้วยนวัตกรรมการส่องกล้อง MIS ก็จะสามารถช่วยได้และได้ผลดีเช่นกัน
  • ยืดเหยียดกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นอย่างเพียงพอทุกครั้งก่อนการออกกำลังกาย
  • ออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อน่อง
  •  ค่อย ๆ เพิ่มความแรงของการออกกำลังกาย การฝึกวิ่งควรเพิ่มระยะทางและความเร็วอย่างค่อยเป็นค่อยไป
  • ใส่รองเท้าที่เหมาะสมและพอดีเท้า

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ฺBDMS สถานีสุขภาพ