กระดูกส้นเท้าแตก

👨‍⚕️เมืองจันท์เป็นเมืองผลไม้ เมื่อใกล้ถึงเวลาตัดกิ่งหรือเก็บผลไม้ หมอได้พบเจอคนไข้หลายรายที่ประสบอุบัติเหตุ ตกต้นไม้ กระดูกส้นเท้าแตก เรียกว่าเจอทุกๆสัปดาห์ที่หมออยู่เวรก็ว่าได้ วันนี้เราจะไปเรียนรู้ เกี่ยวกับ ภาวะกระดูกส้นเท้าแตกกันครับ

⚫1. อาการที่พบ

ผู้ป่วยจะมี อาการ ปวดบวมส้นเท้า ลงน้ำหนักไม่ได้ บางรายอาจมีอาการเจ็บหลัง เนื่องจากมีการหักของกระดูกสันหลังร่วมด้วย

⚫2. ภาพรังสิวินิจฉัย

เมื่อทำการถ่ายภาพรังสีวินิจฉัย x ray ร่วมกับ CT scan บริเวณส้นเท้า จะช่วยบอกความรุนแรงของกระดูกส้นเท้าที่หักได้ โดยความรุนแรงขึ้นกับ

✔จำนวนชิ้นกระดูกที่แตก

✔การเคลื่อนที่ของกระดูกและผิวข้อที่ได้รับบาดเจ็บ โดยเฉพาะส่วน ข้อใต้ข้อเท้าทางด้านหลัง (Posterior facet of subtalar joint)

นอกจากนี้ยัง พบ ลักษณะการผิดรูปของกระดูกส้นเท้าที่สั้นลง กว้างขึ้น เอียงผิดรูป

⚫3. การรักษาเบื้องต้น

แนะนำมาพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจภาพรังสีวินิจฉัย และประเมินแผนการรักษา ในช่วงแรกแนะนำใส่เฝือกอ่อนลดการขยับ ร่วมกับการ ยกขาสูงประคบเย็น กินยาต้านการอักเสบ เพื่อให้เนื่อเยื่อและผิวหนังโดยรอบยุบบวม

⚫4. ใส่เฝือกหรือผ่าตัดดีกว่ากัน

เนื่องจากโดยส่วนใหญ่(ร้อยละ 75) ของการเกิดกระดูกส้นเท้าแตกมักเป็นการแตกเข้าผิวข้อใต้ข้อเท้า จึงมักจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีผ่าตัดจัดกระดูกให้เข้าที่ เพื่อป้องกันผลแทรกซ้อน ได้แก่

✔ข้อใต้ข้อเท้าเสื่อม ทำให้ปวดเสียวใต้ข้อเท้าเรื้อรัง

✔กระดูกส้นเท้าติดผิดรูป ส่งผลต่อการเดิน การใส่รองเท้า

✔เส้นเอ็น เส้นประสาท ถูกกดทับจากกระดูกส้นเท้าที่ติดผิดรูป

⚫5. การรักษาโดยการใส่เฝือก

เหมาะสำหรับ กรณีที่กระดูกที่หักไม่เคลื่อนจากภาพ x-ray และ CT scan หรือในคนไข้ที่มีโรคประจำตัวเยอะ มีความเสี่ยงในการผ่าตัด โดยจำเป็นต้องใส่เฝือกเป็นระยะเวลา 6-8 สัปดาห์ โดยไม่อนุญาติให้ลงน้ำหนัก

⚫6. การรักษาโดยการผ่าตัด

ข้อดีคือสามารถเรียงกระดูกและผิวข้อให้ได้ใกล้เคียงเดิมมากที่สุด สามารถขยับข้อเท้าได้เร็ว ป้องกันการติดของข้อเท้า ระยะเวลาที่เหมาะสมในการผ่าตัดอยู่ที่ 7-10 วันหลังอุบัติเหตุ

👨‍🔬อย่างไรก้ตามผลแทรกซ้อนที่ต้องระวังคือการติดเชื้อของแผลผ่าตัด ซึ่งพบได้ถึงร้อยละ 25 ในการผ่าตัดแบบแผลเปิดมาตรฐาน

🛠 ในปัจจุบันมีเทคนิค #การผ่าตัดแบบแผลเล็ก #การผ่าตัดส่องกล้องช่วย เพื่อลดผลแทรกซ้อนแผลผ่าตัดติดเชื้อลง และได้ผลการรักษาไม่แตกต่างจากการผ่าตัดแบบเปิด

⚫7. เมื่อไรจะเดินลงน้ำหนักได้

ต้องรอจนกระดูกที่ยึดไว้ติดสมบูรณ์ เฉลี่ยอยู่ที่ระยะเวลา 10-12 สัปดาห์

บทความโดย นพ.ปริญญา มณีประสพโชค

💙🦶เพราะเราอยากให้ทุกคนมีสุขภาพเท้าที่ดี

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่คลินิกศัลยกรรมเท้าและข้อเท้า โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี 039-319888

บทความที่เกี่ยวข้อง

วิธีกายภาพหลังผ่าตัดเอ็นข้อเท้า

วิธีกายภาพหลังผ่าตัดเอ็นข้อเท้า

ภาวะเท้าแบนในเด็กและวัยรุ่น

ภาวะเท้าแบนในเด็กและวัยรุ่น

ภาวะเท้าแบนในเด็กวัยรุ่น เท้าแบน คือภาวะผิดปกติของอุ้งเท้าบริเวณกลางเท้ามีลักษณะแบน มีอุ้งเท้าด้านในราบไปกับพื้น ซึ่งจะเห็นชัดเมื่อมีการลงน้ำหนัก หากมองจากด้านหลังจะพบเส้นเท้ามีลักษณะบิดออกด้านนอก ภาวะดังกล่าวทำให้กลไกการทำงานของเท้าและข้อเท้าผิดปกติ ส่งผลให้เกิดความเจ็บปวดและอาจนำไปสู่ความผิดรูปของข้อเท้าและนิ้วเท้าตามมาได้ อาการภาวะเท้าแบน ภาวะเท้าแบน ในระยะเริ่มต้นมักไม่มีอาการหรือมีอาการเฉพาะหลังเดินหรือเป็นเวลานาน แต่เมื่อการดำเนินโรคมีความรุนแรงมากขึ้น อาการเจ็บมักมากขึ้นรอบ ๆ ข้อเท้าและอุ้งเท้า หรือมีภาวะเท้าแบนที่เห็นชัดมากขึ้น จึงแนะนำให้พบแพทย์เมื่อมีอาการดังต่อไปนี้ เจ็บอุ้งเท้าและส้นเท้า แม้สวมใส่รองเท้าได้ดีและนุ่มสบายแล้ว ฝ่าเท้าด้านในบวมขึ้น มีการอักเสบบวมแดงตามเส้นเอ็นรอบ ๆ ข้อเท้า ทรงตัวลำบาก ยืนเขย่งขาไม่ได้ หรือเดินขึ้นลงบันไดลำบาก ไม่สามารถสวมใส่รองเท้าที่เคยใส่ได้ หรือรู้สึกอุ้งเท้าแบนมากยิ่งขึ้น รู้สึกชาฝ่าเท้า หรือเส้นเอ็นนิ้วเท้าอ่อนแรงหรือผิดรูปมากขึ้น การรักษาภาวะแท้าแบน การรักษาภาวะเท้าแบนส่วนใหญ่สามารถรักษาด้วยการไม่ผ่าตัด เช่น ใช้แผ่นรองเท้า กายอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมถึงอุปกรณ์พยุงข้อเท้าต่าง ๆ ทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรงและสาเหตุของโรค ร่วมกับการทำกายภาพที่เน้นการยืดกล้ามเนื้อโดยเฉพาะเอ็นร้อยหวาย และการลดการอักเสบของเส้นเอ็นด้วยเครื่องเลเซอร์หรืออัลตราซาวนด์ ร่วมกับการรับประทานยาแก้อักเสบ ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองการรักษาด้วยวิธีข้างต้น การผ่าตัดอาจมีความจำเป็นเพื่อจัดแนวกระดูกหรือเพิ่มความแข็งแรงของเส้นเอ็นพยุงอุ้งเท้าเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาเดิน วิ่ง รวมถึงออกกำลังกายได้ตามปกติ แต่ในผู้ป่วยที่รักษาด้วยวิธีข้างต้นไม่ได้ผล แพทย์อาจพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัดต่อไป ตัวอย่างเคส ผู้ป่วยรายนี้เป็นเด็กมาปรึกษาด้วยภาวะเท้าแบน ตรวจร่างกายจึงพบว่าเป็นภาวะเท้าแบนแบบยืดหยุ่น หลังจากได้ลองทำการรักษาด้วยการทำกายภาพ ร่วมกับการใส่แผ่นรองเท้าแต่อาการยังไม่ดีขึ้น เนื่องจากความผิดรูปค่อนข้างเยอะ แพทย์จึงได้ทำการผ่าตัดใส่สกรู (HyProCure® Titanium Stent) เพื่อปรับแนวรูปเท้าแบน เป้าหมายการผ่าตัดรักษา ได้แก่ แก้ไขความผิดรูปของเท้า ป้องกันการผิดรูปที่มากขึ้น คงสภาพเท้าที่มีความยืดหยุ่นที่ดี ผ่าตัดแบบแผลเล็ก ฟื้นตัวไว เนื่องจากเคสนี้เป็นการผ่าตัดแบบแผลเล็ก นอน รพ. 2 คืน ก็สามารถกลับไปพักฟื้นที่บ้านได้ โดยใช้เวลาทำกายภาพและพักฟื้นต่อ 2-4 สัปดาห์ ก็สามารถกลับมาเดินได้เป็นปกติ ผ่าตัดรักษาโดย นพ.ปริญญา มณีประสพโชค

พฤติกรรมทำให้ “เอ็นร้อยหวายอักเสบ”

พฤติกรรมทำให้ “เอ็นร้อยหวายอักเสบ”

พฤติกรรมทำให้ “เอ็นร้อยหวายอักเสบ” รักษาเนิ่นๆหายได้ไม่ต้องผ่าตัด เอ็นร้อยหวายเป็นเส้นเอ็นที่ใหญ่สุดในร่างกาย เชื่อมต่อกล้ามเนื้อน่องกับส้นเท้า มีผลในการเดิน วิ่ง และการกระโดด เมื่อมีการเดิน วิ่ง หรือกระโดดที่แรงซ้ำๆ ทำให้เกิดภาวะเอ็นร้อยหวายอักเสบ (Achilles Tendinitis) ซึ่งแม้จะไม่ใช่โรคที่หนักหนาอะไรแต่ก็สร้างความหงุดหงิดใจและการหยุดชะงักของชีวิตและกิจกรรมออกกำลังสุดโปรดไปได้ ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดเอ็นร้อยหวายอักเสบ อายุที่มากขึ้น ตั้งแต่ 40 ปี ขึ้นไป ภาวะโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน , ไทรอยด์ ยาบางกลุ่ม เช่น การทานยาสเตรียรอยด์ เป็นเวลานานๆ เป็นต้น ออกกำลังกายหนักใช้ขาเป็นเวลานาน เช่น การเดิน,วิ่ง,กระโดด กลุ่มคนทำงานที่ยืนหรือเดินนานๆ กล้ามเนื้อน่องไม่แข็งแรงและตึงมากเมื่อออกกำลังกาย ทำให้เพิ่มแรงและความเครียดต่อเอ็นร้อยหวาย คนที่มีกระดูกงอกบริเวณส้นเท้าจะทำให้เกิดการเสียดสีกับเอ็นร้อยหวาย ทำให้เกิดอาการปวดหรืออักเสบได้ ใส่รองเท้าส้นสูงยืนเดินเป็นเวลานาน หรือใส่รองเท้าที่ไม่พอดีกับเท้าหรือพื้นรองเท้าเสื่อมสภาพ เล่นกีฬาที่ต้องเปลี่ยนทิศทางอย่างรวดเร็วหรือหยุดแบบกะทันหัน อาการทั่วไปของเอ็นร้อยหวายอักเสบที่พบได้บ่อย เอ็นร้อยหวายอักเสบจะมีอาการเจ็บ บวม แดงบริเวณเอ็นร้อยหวาย อาจเจ็บลามไปถึงกล้ามเนื้อน่อง เมื่อมีอาการปวดตรงส้นเท้าควรพัก หยุดจากการวิ่ง แล้วใช้การประคบเย็นช่วย ซึ่งประคบบ่อย ๆ จะช่วยให้หายเร็วขึ้น อาการปวดควรหาย 100% ก่อนกลับมาวิ่งหรือออกกำลังกายอีกครั้ง เพราะถ้าวิ่งโดยที่มีอาการปวดอยู่จะทำให้อาการรุนแรงมากขึ้นและต้องใช้เวลาในการพักฟื้นนานขึ้น โดยอาการที่พบบ่อย มีอาการปวดอย่างรุนแรง หลังการออกกำลังกาย ปวดและบวมบริเวณเหนือส้นเท้า ในขณะที่เดิน หรือเมื่อยืดข้อเท้า รู้สึกตึงตามแนวเอ็นร้อยหวาย มักมีอาการมากตอนเช้าหลังตื่นนอน วิธีการรักษาเอ็นร้อยหวายอักเสบ กรณี ไม่ผ่าตัด แพทย์จะทำการประเมินอาการ และให้รับประทานยาตามอาการ งดสวมใส่รองเท้าที่มีส้น และทำกายกายภาพบำบัด เพื่อให้เอ็นร้อยหวายกลับมายืดหยุ่นและแข็งแรงได้ตามเดิม กรณี ผ่าตัด หากมีการรักษาอาการตามข้างต้นแล้ว ไม่ดีขึ้น ยังคงมีอาการเจ็บเรื้อรัง จนไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ การรักษาด้วยการผ่าตัดด้วยนวัตกรรมการส่องกล้อง MIS ก็จะสามารถช่วยได้และได้ผลดีเช่นกัน ยืดเหยียดกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นอย่างเพียงพอทุกครั้งก่อนการออกกำลังกาย ออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อน่อง ค่อย ๆ เพิ่มความแรงของการออกกำลังกาย การฝึกวิ่งควรเพิ่มระยะทางและความเร็วอย่างค่อยเป็นค่อยไป ใส่รองเท้าที่เหมาะสมและพอดีเท้า ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ฺBDMS สถานีสุขภาพ

กระดูกงอกบริเวณเท้าและข้อเท้า

กระดูกงอกบริเวณเท้าและข้อเท้า

" กระดูกงอกบริเวณเท้าและข้อเท้า 5 ตำแหน่งยอดนิยม " #ปวดข้อเท้าเรื้อรัง การปวดเท้าหรือข้อเท้าเรื้อรังไม่หาย บางครั้งเมื่อตรวจด้วยภาพรังสีวินิจฉัย #อาจจะพบกระดูกงอกได้ โดยที่กระดูกงอกนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การบาดเจ็บและความเสื่อมของเส้นเอ็น การใช้ข้อเท้าหนักๆจากการเล่นกีฬา กระดูกข้อเสื่อม หรือเป็นตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งจากการที่ ปุ่มกระดูกมีการเชื่อมตัวผิดปกติ วันนี้หมอจะพามารู้จักกับ 5 ตำแหน่งยอดนิยมของการเกิดกระดูกงอกบริเวณเท้าและข้อเท้า 1.กระดูกงอกบริเวณส้นเท้าด้านหลัง (Haglund’s deformity) กระดูกงอกบริเวณนี้มักสัมพันธ์กับโรคจุดเกาะเอ็นร้อยหวายเสื่อมและอักเสบ เจ็บส้นเท้าด้านหลังเรื้อรัง กล้ามเนื้อน่องตึง ใส่รองเท้าได้ลำบาก 2.กระดูกงอกบริเวณส้นเท้าด้านล่าง (Calcaneal spur) พบได้ในผู้ป่วยโรครองช้ำ มีอาการเจ็บแปล๊บๆบริเวณส้นเท้าโดยเฉพาะช่วงตื่นนอนตอนเช้า 3.กระดูกงอกบริเวณอุ้งเท้าด้านใน (Accessory navicular) เกิดจากการไม่เชื่อมกันของปุ่มกระดูกตั้งแต่แรกเกิด (ซึ่งพบได้ประมาณร้อยละ 25-30 ในประชากร) ส่งผลให้เส้นเอ็นพยุงอุ้งเท้าที่มาเกาะกระดูกบริเวณนี้เกิดการอักเสบ เกิดอาการปวดข้อเท้าด้านในเรื้อรัง มักพบสัมพันธ์กับภาวะเท้าแบน 4.กระดูกงอกบริเวณข้อเท้าด้านหน้า (Anterior ankle impingement) กระดูกงอกชนิดนี้มักพบใน ผู้เล่นกีฬาเป็นประจำ เช่น ฟุตบอล มีอาการปวดข้อเท้าบวมๆยุบๆเป็นๆหาย ปวดมากขึ้นเวลากระดกข้อเท้าขึ้นสุด หรือนั่งยองๆ 5.กระดูกงอกบริเวณข้อเท้าด้านหลัง (Posterior ankle impingement) สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากไม่เชื่อมกันของปุ่มกระดูกบริเวณข้อเท้าด้านหลัง(Os trigonum) ทำให้เกิดกระดูกงอกไปกดเส้นเอ็นและเกิดการอักเสบตามมมา ผู้ป่วยจะมีมีอาการมากขึ้น ในท่าจิกข้อเท้าลงสุด หรือทำกิจกรรมที่ต้อง เขย่งเท้า การรักษาภาวะกระดูกงอกเริ่มด้วยวิธีการอนุรักษ์นิยมก่อน ได้แก่ พักการใช้งาน การประคบเย็น กินยาต้านการอักเสบระยะสั้น การปรับเปลี่ยนรองเท้า การบริหารยืดเส้นเอ็นร้อยหวาย แต่ถ้าหากอาการปวดเรื้อรัง ไม่ดีขึ้นแนะนำให้มาพบแพทย์เพื่อตรวจภาพถ่ายรังสีวินิจฉัย( X-ray) เพื่อประเมินขนาดและการกดทับเนื้อเยื่อโดยรอบ รวมถึงพิจารณาทางเลือก การผ่าตัดนำกระดูกงอกออก โดยวิธีการแบบเปิดหรือส่องกล้อง ที่ให้ผลการรักษาที่ดีเช่นกัน บทความโดย นพ.ปริญญา มณีประสพโชค เพราะเราอยากให้ทุกคนมีสุขภาพเท้าที่ดี #คลินิกศัลยกรรมเท้าและข้อเท้า #ศูนย์ศัลยกรรมกระดูกและข้อ

ปวดส้นเท้ารองช้ำเรื้อรัง

ปวดส้นเท้ารองช้ำเรื้อรัง

เรื่องเล่าจากห้องผ่าตัดกระดูก ปวดส้นเท้ารองช้ำเรื้อรัง… ระวังเสี่ยงกระดูกงอกใต้ส้นเท้า หากใครมีอาการปวดส้นเท้า ปวดคล้ายถูกมีดทิ่มส้นเท้า โดยเฉพาะช่วงก้าวแรกหลังตื่นนอนตอนเช้า หรือหลังการยืนเป็นระยะเวลานาน… คุณอาจจะกำลังเป็นโรครองช้ำเรื้อรัง ที่มีกระดูกงอกร่วมด้วย ดังเช่นคนไข้รายนี้ จากภาพ รังสีวินิจฉัย พบกระดูกงอกส้นเท้า ความยาว 8 มิลลิเมตร คนไข้ได้รับการรักษาด้วยวิธีการอนุรักษ์นิยมแล้วอาการปวดยังไม่ดีขึ้น ปวดทุกก้าวที่เดิน หมอจึงพิจารณาทำการรักษาโดยการผ่าตัดส่องกล้อง ยืดเอ็นร้อยหวาย ยืดพัดผืดฝ่าเท้า และ เอากระดูกงอกส้นเท้าออก ( Endoscopic gastrocnemius recession, Endoscopic plantar fascia release, Endoscopic heel spur removal) โดยแผลผ่าตัดผ่านกล้องมีขนาดเล็ก ฟื้นตัวได้ไว ประมาณ 4-6สัปดาห์ ก็สามารถกลับมาเดินได้เป็นปกติ โดย นพ.ปริญญา มณีประสพโชค ศัลยแพทย์ ออร์โธปิดิกส์ เฉพาะทางกระดูกเท้าและข้อเท้า สอบถามเพิ่มเติมได้ที่คลินิกศัลยกรรมเท้าและข้อเท้า โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี 039-319888

ภาวะอุ้งเท้าแบน

ภาวะอุ้งเท้าแบน

Hospital Logo

ติดต่อสอบถามเจ้าหน้าที่

บริการให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง