“มะเร็งลำไส้” ชายวัย 50+ ควรคัดกรอง-ปัจจัยอะไรทำให้ยิ่งเสี่ยงมากขึ้น เพราะผู้ชายตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป จะมีโอกาสเสี่ยงมากกว่าคนที่อายุน้อย จึงไม่ควรมองข้ามการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้

 

มะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colorectal cancer) ภัยร้ายที่มาจากพฤติกรรม มะเร็งลำไส้ คือ ก้อนเนื้องอกที่เกิดขึ้นบริเวณลำไส้ใหญ่ มักเกิดขึ้นจากติ่งเนื้อที่อยู่ที่ลำไส้ใหญ่มาก่อนสักระยะหนึ่ง ซึ่งหากติ่งเนื้อนั้นมีการเปลี่ยนแปลงของเซลล์จนโตขึ้นก็อาจจะกลายเป็นมะเร็งได้ในที่สุด เพราะสาเหตุสำคัญของโรคนี้ มักสืบเนื่องมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่ผิด ๆ อาทิ การเลือกกินอาหารที่ปิ้งย่างที่มักมีสารก่อมะเร็ง การกินอาหารแปรรูปบางอย่างมากเกินไป การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ การขาดการออกกำลังกาย มีความเครียดสูง และเมื่อมีปัญหาระบบขับถ่ายแต่ไม่ยอมไปพบแพทย์เพื่อรักษา นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ อาทิ

  • ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ขึ้นไป โดยเฉพาะเพศชายเนื่องจาก เป็นช่วงวัยที่ระบบทางเดินอาหารและระบบย่อยอาหารเริ่มเสื่อมประสิทธิภาพลง กว่าที่อาหารที่เข้าไปจะผ่านระบบย่อย และเดินทางมาถึงทวารหนักก็ต้องใช้เวลามากกว่าคนในวัยอื่นๆ
  • พันธุกรรม
  • การเลือกทานอาหารประเภทไขมันสูง ไม่มีใยอาหาร หรือทานผักผลไม้น้อย
  • การสูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น สุรา เป็นประจำ
  • การไม่ออกกำลังกาย และมีภาวะโรคอ้วน

 

พฤติกรรมการขับถ่ายและอาการผิดปกติที่ไม่ควรปล่อยผ่าน

  • ขับถ่ายบ่อยครั้งขึ้น หรือท้องผูกมากขึ้น
  • ขับถ่ายไม่สุด หรือปวดเบ่ง
  • ท้องเสียสลับกับท้องผูก
  • มีเลือดสดๆ หรือเลือดแดงคลํ้าปนออกมากับอุจจาระ
  •  อุจจาระมีลักษณะก้อนเปลี่ยนเป็นเส้นลีบแบน
  •  มีท้องอืด ปวดท้อง แน่นท้อง จุกเสียด มีลมในลำไส้มาก
  • นํ้าหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • เหนื่อย อ่อนเพลียง่าย จนกระทบต่อการใช้ชีวิต 

ปัจจุบันการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ มีหลายวิธี โดยวิธีที่ง่าย รวดเร็ว และประหยัดที่สุด คือ “การตรวจเลือดที่มองไม่เห็นในอุจจาระ” หรือที่เรียกว่า “Fecal Occult Blood Test” ซึ่งสามารถทำได้โดย การเก็บตัวอย่างของอุจจาระไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ หากเป็นผลบวก แสดงว่าอาจมีเลือดปนอยู่ในอุจจาระ ซึ่งควรเข้ารับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่อไป การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่สามารถทำได้ร่วมกับเทคนิคการถ่ายภาพทางรังสีวิทยา เช่น การสวนแป้ง และการถ่ายภาพลำไส้ใหญ่ด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Visual Colonoscopy) อย่างไรก็ตามวิธีการตรวจคัดกรองที่เป็นที่ยอมรับที่สุดในปัจจุบัน คือ การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) เนื่องจากการตรวจด้วยวิธีนี้นอกจากจะให้ข้อมูลที่มีความแม่นยำที่สุดแล้ว ยังสามารถทำการรักษาในกรณีที่ตรวจพบความผิดปกติในลำไส้ใหญ่ได้อีกด้วย

 

กระบวนการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่

มะเร็งลำไส้ใหญ่รักษาได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับขนาด จำนวนก้อนมะเร็ง และระยะของโรค รวมถึงสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย เช่น 

ซึ่งการผ่าตัดร่วมกับเคมีบำบัด เป็นวิธีการรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่สำคัญที่สุด ส่วนการฉายแสงหรือการฉายรังสี มักจะรักษากับคนไข้ที่เป็นก้อนมะเร็งที่อยู่ในลำไส้ใหญ่ส่วนล่าง ๆ ซึ่งไม่สามารถที่จะผ่าตัดได้

 

ลดความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่

  • ออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยให้ได้สัปดาห์ละ 150 นาทีขึ้นไป
  • เลือกทานอาหารที่มีกากใยสูงเพื่อช่วยในขับถ่าย ดื่มน้ำให้มาก และอย่าให้ท้องผูกเรื้อรัง
  • เลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง หรือทานอาหารมากเกินไป
  • งดการสูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ทั้งนี้ไม่ใช่แค่วัย 50+ ขึ้นที่ต้องใส่ใจเรื่องดังกล่าว หากอายุน้อยแต่มีพฤติกรรมเสี่ยงและมีอาการต้องสงสัยควรเข้ารับการคัดกรองด้วย เพราะหากปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานาน เซลล์มะเร็งอาจลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ ของร่างกาย โอกาสในการรักษาหายก็จะลดน้อยลง

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : BDMS สถานีสุขภาพ