ปิ้งย่าง เสี่ยงมะเร็งลำไส้-มะเร็งกระเพาะอาหาร

ปิ้งย่าง เสี่ยงมะเร็งลำไส้-มะเร็งกระเพาะอาหาร

ปิ้งย่าง อาหารสุดแสนอร่อยมื้อพิเศษที่หลายคนกิน 6 วันต่อสัปดาห์ เพราะความลงตัวของเนื้อ ผักและเครื่องเคียง แต่รู้หรือไม่ ขณะที่กินปิ้งย่าง คุณเองก็กำลังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเช่นกัน โดยเฉพาะ“มะเร็งทางเดินอาหาร” อย่าง มะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือมะเร็งกระเพาะอาหารได้ แล้วปัจจัยนี้มีผลต่อความเสี่ยงโรคมะเร็งได้อย่างไร?

อาหารสัมผัสความร้อนยิ่งสูงยิ่งเสี่ยงมะเร็ง

มีการศึกษาพบว่าอาหารที่ถูกปรุงสุกโดยให้ความร้อนสัมผัสโดยตรงกับอาหาร ทำให้เกิดสารก่อมะเร็งที่มีชื่อว่า PAH ซึ่งเป็นสารที่เกิดขึ้นเมื่อไขมันในเนื้อสัตว์หยดลงไปโดนถ่านมันในเนื้อสัตว์หยดลงไปโดนถ่าน แล้วเกิดควันที่เป็นสารก่อมะเร็งลอยกลับมาเกาะอยู่บนเนื้อสัตว์ หากทานเข้าไปมากๆ หรือทานบ่อยๆ ก็จะสะสมอยู่ในร่างกาย ซึ่งสารชนิดนี้คือสารชนิดเดียวกันกับที่พบในควันท่อไอเสียรถยนต์ หรือควันบุหรี่ นั่นเอง

เนื้อวัว เนื้อหมู ไขมันยิ่งสูง ก็ยิ่งเสี่ยง

เชื่อว่าหลายคนมีเป้าหมายหลักในการไปกินปิ้งย่างนั้น ก็คือ เนื้อหมู เนื้อวัวสไลด์ แบบไขมันฉ่ำละลายในปาก หรือแม้แต่มันหมูที่ถูกประกบด้วยหนังหมูย่างกรุบกรอบ ความอร่อยจนยากจะห้ามใจเหล่านี้นี่แหละที่เป็นสาเหตุของความเสี่ยงโรคมะเร็ง เนื่องจากไขมันในสัตว์เนื้อแดงจะเป็นไขมันอิ่มตัว ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับการก่อตัวของมะเร็ง เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่

รสชาติเข้มข้น ที่มาของ“โซเดียมสูง”

เนื้อสัตว์ที่ผ่านการหมักด้วยเครื่องปรุงมาอย่างเข้มข้นถึงรสชาติ นอกจากความอร่อยแล้ว...ก็คงหนีไม่พ้นปริมาณโซเดียมที่ค่อนข้างสูง โดยอาจมาจากซอสปรุงรส หรือผงชูรส รวมไปถึง “น้ำจิ้ม” ที่เรียกได้ว่ามีโซเดียมสูงไม่แพ้กัน ซึ่งปริมาณโซเดียมที่สะสมอยู่ในร่างกายไม่เพียงแค่ส่งผลเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคไตอย่างที่หลายคนรู้กันดี แต่ยังเสี่ยงโรคร้ายแรงอื่นๆ เช่น มะเร็งกระเพาะอาหาร ได้เหมือนกัน

กินปลา(ย่าง)...ก็เจอสารก่อมะเร็งได้

ถึงการกินเนื้อแดงที่มีไขมันสูงจะทำให้เสี่ยงมะเร็ง ก็ไม่ได้หมายความว่าการกินปลาทะเลย่างจะไม่เสี่ยงต่อโรคมะเร็ง เพราะในปลาทะเลย่าง หรือปลาหมึกย่าง จะมีสารก่อมะเร็งที่เรียกว่า “สารไนโตรซามีน” แฝงตัวอยู่ รวมไปถึง “เบคอน” เมนูสุดโปรดของใครหลายคน หรือแฮม ไส้กรอก อาหารเหล่านี้ล้วนมีสารก่อมะเร็ง ที่มีชื่อว่า สารไนเตรต เจือปนอยู่ด้วย

“การกิน” จะเป็นความสุขอย่างหนึ่ง แต่หากกินแบบให้โทษต่อร่างกายก็อาจนำมาซึ่งความทุกข์ทรมานในอนาคต ทางที่ดี! ควรกินในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่กินอาหารปิ้งย่างบ่อยครั้งเกินไป และปรับวิธีการกินเพื่อลดความเสี่ยง เช่น เลือกใช้เตาแบบไร้ควันแทน ทานผักควบคู่กับเนื้อสัตว์ ตัดส่วนที่เป็นไขมันสัตว์ออกไป รวมไปถึงการเลือกร้านที่สะอาดถูกสุขอนามัย กินผักให้มากกว่าเนื้อสัตว์ก็ช่วยลดความเสี่ยงได้เช่นกันค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก : BDMS สถานีสุขภาพ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ส่องกล้อง "มะเร็งลำไส้ใหญ่"

ส่องกล้อง "มะเร็งลำไส้ใหญ่"

ส่องกล้อง "มะเร็งลำไส้ใหญ่" จากข้อมูลสถิติของการเกิดโรคมะเร็งพบว่า “มะเร็งลำไส้ใหญ่” มีอัตราการเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ อาจเพราะในปัจจุบันพฤติกรรมการใช้ชีวิต และการบริโภค เปลี่ยนแปลงไป คนไทยเรารับประทานอาหารแบบตะวันตกมากขึ้น ผนวกกับสภาวะแวดล้อมในปัจจุบัน การทำงาน ความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถูกเรียกว่า Epigenetic เกิดจากสิ่งแวดล้อมด้านอาหาร พฤติกรรม ปัจจัยอีกหนึ่งส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งนั่นก็คือ Genetics เป็นเรื่องของพันธุกรรมที่มีการถ่ายทอดโดยยีนซึ่งจะส่งผลกับทุกคน นั่นหมายความว่าคนเราทุกคนมียีนของมะเร็งอยู่ในตัวประมาณ 30% เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ และหากมีพ่อ แม่ หรือญาติสายตรงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ สัดส่วนที่มีการถ่ายทอดมาสู่ลูกก็จะมากขึ้นตามไปด้วยรวมเป็นประมาณ 50% แต่อีก 50% ที่เหลือเป็นเรื่องของ Epigenetic ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ทำให้มะเร็งที่อยู่ในตัวของเรานั้นแสดงผลออกมาว่าเป็นมะเร็งหรือไม่เป็นเพราะฉะนั้น ถึงแม้พ่อแม่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ลูกก็อาจเป็นหรือไม่เป็นได้ สถานการณ์ปัจจุบันคนส่วนใหญ่เป็นมะเร็งกันมาก เพราะเรื่องของสิ่งแวดล้อมและการใช้ชีวิต เช่น พักผ่อนน้อย เครียด ไม่ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่กากใยน้อย ล้วนกระตุ้นให้ยีนของเซลล์มะเร็งแสดงผลออกมา จึงทำให้พบผู้ที่เป็นมะเร็งมากขึ้นกว่าในอดีต ทำไมเราควรส่องกล่องตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) เพราะการคัดกรองดังกล่าว เป็นมาตรฐานสากล การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยเทคนิคที่ทันสมัยผ่านทางกล้อง NBI (Narrow Band Image), EMR (Endoscopic Mucosal Resection) และ ESD (Endoscopic Submucosal Dissection) เป็นรูปแบบการผ่าตัดแบบแผลเล็ก (Minimal Invasive Surgery- MIS) ช่วยให้แพทย์สามารถตัดก้อนเนื้อขนาดใหญ่ออกจากลำไส้ใหญ่และกระเพาะอาหารได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเปิดแผลหน้าท้อง เป็นการผ่าตัดที่ปลอดภัย สามารถลดความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด โดยเกณฑ์ของสมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหาร ประเทศสหรัฐอเมริกาได้กำหนดไว้คือเพศชาย และหญิงอายุ 50 ปี ทุกคนต้องตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยการส่องกล้อง แต่ในกรณีที่พ่อแม่ ญาติสายตรงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ให้ใช้หลักโดยการนำอายุขณะที่ญาติที่เป็นลบด้วย 10 เช่น แม่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่เมื่ออายุ 50-10 = 40 ปี ดังนั้น ลูกต้องเข้ารับการส่องกล้องตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่เมื่ออายุ 40 ปี เพื่อตรวจหาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น มะเร็งลำไส้ใหญ่เกิดจากติ่งเนื้อ เนื้องอกและพัฒนาไปเป็นมะเร็ง ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอายุมาก มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ มีประวัติ Epigenetic ด้านลบ ดังนั้น หากคนไข้ที่ตรวจส่องกล้องและไม่พบติ่งเนื้อ และไม่มีความเสี่ยงใดๆ แพทย์จะให้นัดตรวจติดตามในอีก 5-10 ปี ใครบ้างที่ควรส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่และไส้ตรง มีอาการผิดปกติในระบบทางเดินอาหารหรือมีอาการดังที่กล่าวไว้ข้างต้น อายุ 15-20 ปีขึ้นไป โดยมีประวัติญาติเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือไส้ตรง 3 คนขึ้นไป อายุ 40 ปีขึ้นไป โดยมีประวัติญาติสายตรงเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือไส้ตรง 1 คนขึ้นไป อายุ 50 ปีขึ้นไป โดยไม่มีปัจจัยเสี่ยงและไม่มีอาการผิดปกติ การส่องกล้องมะเร็งลำไส้ใหญ่ เจ็บตัวหรือไม่? การส่องกล้องตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่สามารถทำได้ทั้งเป็นเครื่องมือในการตรวจวินิจฉัย และการรักษาในเวลาเดียวกัน โดยใช้เวลาตรวจรักษาประมาณ 30 นาที โดยไม่ต้องวางยาสลบ เรียกได้ว่าตั้งแต่การเตรียมตัว จนกระทั่งแพทย์ตรวจรักษาโดยการตัดติ่งเนื้อ และให้คนไข้พักหลังทำหัตถการใช้เวลารวมประมาณครึ่งวัน ในบางรายอาจกังวลว่าหลังจากที่ตัดติ่งเนื้อไปแล้วจะเจ็บหรือไม่ บอกได้เลยว่า “ไม่เจ็บ” เพราะบริเวณนั้นเป็นเยื่อบุ ไม่มีเส้นประสาทไปหล่อเลี้ยง จึงหมดกังวลเรื่องความเจ็บปวดไปได้ ข้อดีของการส่องกล้องคัดกรองมะเร็งลำใส้ใหญ่ เป็นการตรวจมาตรฐานสากลที่มีประโยชน์เป็นอย่างมาก และเป็นอีกช่องทางที่เสมือนช่วยหลีกเลี่ยงให้ห่างไกลจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ทางหนึ่ง เพราะการป้องกันคือสิ่งที่สำคัญที่สุด บางคนอาจมองว่าการตรวจสุขภาพแต่ละครั้งต้องเสียค่าใช้จ่ายในระดับหนึ่ง แต่อยากให้ลองมองในมุมกลับกันว่าในแต่ละปีคุณเสียค่าใช้จ่ายไปกับสิ่งต่างๆ เป็นจำนวนมาก โดยไม่มีประโยชน์ให้กับร่างกายเลย แต่หากเราตัดสินมาตรวจสุขภาพเพื่อตรวจหาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นในร่างกาย โดยที่เราไม่สามารถทราบได้ด้วยตนเอง นับว่าเป็นสิ่งที่คุ้มค่ากับชีวิตของทุกคน ขอบคุณข้อมูลจาก : BDMS สถานีสุขภาพ

อาหารไม่ย่อย จุกแน่นท้อง (Dyspepsia)

อาหารไม่ย่อย จุกแน่นท้อง (Dyspepsia)

อาหารไม่ย่อย เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของอาการปวดท้องในทุกเพศทุกวัย พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย สาเหตุ มักเกิดในผู้ที่มีความเครียด กังวล ในเด็กอาจเกิดจากรับประทานอาหารมากเกินไป หรือรับประทานอาหารที่ย่อยยาก อาการ จุกแน่น (คล้ายมีลมตีขึ้น) บริเวณยอดอกหรือใต้ลิ้นปี่หลังรับประทานอาหารอิ่ม จะรู้สึกสบายขึ้นเมื่อเรอเอาลมออกมา อาจมีอาการเบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ท้องผูก ใจสั่น กังวลใจ ปวดศีรษะ บางครั้งอาจมีเริมขึ้นที่ปากหรือปากเปื่อย การรักษา รักษาด้วยยาขับลม บางรายหากมีอาการกังวล นอนไม่หลับ แพทย์อาจพิจารณาให้ยากล่อมประสาท ข้อพึงสังเกต ในรายที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือด ถุงน้ำดีอักเสบเรื้อรัง หรือโรคกระเพาะ อาจแสดงอาการท้องอืดคล้ายอาหารไม่ย่อย หากรับประทานยาแล้วไม่ดีขึ้นหรือเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง ควรแนะนำไปตรวจที่โรงพยาบาล สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี โทร 039-319888

“มะเร็งลำไส้” ทำไมชายวัย 50+ ควรคัดกรอง

“มะเร็งลำไส้” ทำไมชายวัย 50+ ควรคัดกรอง

“มะเร็งลำไส้” ชายวัย 50+ ควรคัดกรอง-ปัจจัยอะไรทำให้ยิ่งเสี่ยงมากขึ้น เพราะผู้ชายตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป จะมีโอกาสเสี่ยงมากกว่าคนที่อายุน้อย จึงไม่ควรมองข้ามการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ มะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colorectal cancer) ภัยร้ายที่มาจากพฤติกรรม มะเร็งลำไส้ คือ ก้อนเนื้องอกที่เกิดขึ้นบริเวณลำไส้ใหญ่ มักเกิดขึ้นจากติ่งเนื้อที่อยู่ที่ลำไส้ใหญ่มาก่อนสักระยะหนึ่ง ซึ่งหากติ่งเนื้อนั้นมีการเปลี่ยนแปลงของเซลล์จนโตขึ้นก็อาจจะกลายเป็นมะเร็งได้ในที่สุด เพราะสาเหตุสำคัญของโรคนี้ มักสืบเนื่องมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่ผิด ๆ อาทิ การเลือกกินอาหารที่ปิ้งย่างที่มักมีสารก่อมะเร็ง การกินอาหารแปรรูปบางอย่างมากเกินไป การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ การขาดการออกกำลังกาย มีความเครียดสูง และเมื่อมีปัญหาระบบขับถ่ายแต่ไม่ยอมไปพบแพทย์เพื่อรักษา นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ อาทิ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ขึ้นไป โดยเฉพาะเพศชายเนื่องจาก เป็นช่วงวัยที่ระบบทางเดินอาหารและระบบย่อยอาหารเริ่มเสื่อมประสิทธิภาพลง กว่าที่อาหารที่เข้าไปจะผ่านระบบย่อย และเดินทางมาถึงทวารหนักก็ต้องใช้เวลามากกว่าคนในวัยอื่นๆ พันธุกรรม การเลือกทานอาหารประเภทไขมันสูง ไม่มีใยอาหาร หรือทานผักผลไม้น้อย การสูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น สุรา เป็นประจำ การไม่ออกกำลังกาย และมีภาวะโรคอ้วน พฤติกรรมการขับถ่ายและอาการผิดปกติที่ไม่ควรปล่อยผ่าน ขับถ่ายบ่อยครั้งขึ้น หรือท้องผูกมากขึ้น ขับถ่ายไม่สุด หรือปวดเบ่ง ท้องเสียสลับกับท้องผูก มีเลือดสดๆ หรือเลือดแดงคลํ้าปนออกมากับอุจจาระ อุจจาระมีลักษณะก้อนเปลี่ยนเป็นเส้นลีบแบน มีท้องอืด ปวดท้อง แน่นท้อง จุกเสียด มีลมในลำไส้มาก นํ้าหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ เหนื่อย อ่อนเพลียง่าย จนกระทบต่อการใช้ชีวิต ปัจจุบันการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ มีหลายวิธี โดยวิธีที่ง่าย รวดเร็ว และประหยัดที่สุด คือ “การตรวจเลือดที่มองไม่เห็นในอุจจาระ” หรือที่เรียกว่า “Fecal Occult Blood Test” ซึ่งสามารถทำได้โดย การเก็บตัวอย่างของอุจจาระไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ หากเป็นผลบวก แสดงว่าอาจมีเลือดปนอยู่ในอุจจาระ ซึ่งควรเข้ารับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่อไป การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่สามารถทำได้ร่วมกับเทคนิคการถ่ายภาพทางรังสีวิทยา เช่น การสวนแป้ง และการถ่ายภาพลำไส้ใหญ่ด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Visual Colonoscopy) อย่างไรก็ตามวิธีการตรวจคัดกรองที่เป็นที่ยอมรับที่สุดในปัจจุบัน คือ การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) เนื่องจากการตรวจด้วยวิธีนี้นอกจากจะให้ข้อมูลที่มีความแม่นยำที่สุดแล้ว ยังสามารถทำการรักษาในกรณีที่ตรวจพบความผิดปกติในลำไส้ใหญ่ได้อีกด้วย กระบวนการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งลำไส้ใหญ่รักษาได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับขนาด จำนวนก้อนมะเร็ง และระยะของโรค รวมถึงสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย เช่น การผ่าตัด การให้เคมีบำบัด (Chemotherapy) การฉายรังสี (radiotherapy) ซึ่งการผ่าตัดร่วมกับเคมีบำบัด เป็นวิธีการรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่สำคัญที่สุด ส่วนการฉายแสงหรือการฉายรังสี มักจะรักษากับคนไข้ที่เป็นก้อนมะเร็งที่อยู่ในลำไส้ใหญ่ส่วนล่าง ๆ ซึ่งไม่สามารถที่จะผ่าตัดได้ ลดความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่ ออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยให้ได้สัปดาห์ละ 150 นาทีขึ้นไป เลือกทานอาหารที่มีกากใยสูงเพื่อช่วยในขับถ่าย ดื่มน้ำให้มาก และอย่าให้ท้องผูกเรื้อรัง เลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง หรือทานอาหารมากเกินไป งดการสูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งนี้ไม่ใช่แค่วัย 50+ ขึ้นที่ต้องใส่ใจเรื่องดังกล่าว หากอายุน้อยแต่มีพฤติกรรมเสี่ยงและมีอาการต้องสงสัยควรเข้ารับการคัดกรองด้วย เพราะหากปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานาน เซลล์มะเร็งอาจลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ ของร่างกาย โอกาสในการรักษาหายก็จะลดน้อยลง ขอบคุณข้อมูลจาก : BDMS สถานีสุขภาพ

โรคกระเพาะ (Peptic ulcer)

โรคกระเพาะ (Peptic ulcer)

โรคกระเพาะ (Peptic ulcer) โรคกระเพาะอาหาร ตามความหมายของแพทย์ หมายถึง แผลที่เกิดในกระเพาะอาหาร (Stomach) หรือลำไส้เล็กส่วนต้น (duodenum) โรคนี้พบได้ประมาณ 10 % ของประชากรทั่วไป และพบได้ทุกเพศทุกวัย ส่วนใหญ่จะมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง แผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้น (Duodenal ulcer/DU) พบบ่อยในวัยหนุ่มสาว (อายุเฉลี่ยของผู้ที่เริ่มเป็นโรคนี้ประมาณ 30 ปีเศษ) พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 4 เท่า ผู้ที่เป็นโรคนี้มักจะมีการหลั่งกรดออกมาในกระเพาะอาหารมากเกิน ซึ่งจะไประคายเคืองต่อเยื่อบุผิวของลำไส้เล็กส่วนต้น ทำให้เกิดเป็นแผลขึ้นมา แต่สาเหตุที่ทำให้กระเพาะอาหารหลั่งกรดมากกว่าปกติ ยังไม่ทราบแน่ชัด เชื่อว่าอาจมีความสัมพันธ์กับกรรมพันธุ์และฮอร์โมนในร่างกาย โรคนี้พบมากในคนที่เคร่งเครียดกับการงาน รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา วิตกกังวลหรือคิดมาก อาจพบร่วมกับโรคอื่น ๆ เช่น ถุงลมพอง ตับแข็ง ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง เนื้องอกของตับอ่อน ต่อมพาราธัยรอยด์ทำงานมากเกิน (Hyperparathyroidism) ผู้หญิงที่เป็นโรค ระหว่างตั้งครรภ์อาการจะดีขึ้นหรือหายไปได้เอง แต่พอถึงวัยหมดประจำเดือน อาจมีอาการกำเริบรุนแรงได้ เชื่อว่าฮอร์โมนเพศอาจมีความสัมพันธ์กับโรคนี้ได้ แผลที่กระเพาะอาหาร (Gastric ulcer/GU) พบได้น้อยกว่าแผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้น ประมาณ 4 เท่า มักพบในวัยกลางคนขึ้นไป (อายุเฉลี่ยของผู้ที่เริ่มเป็นโรคนี้ประมาณ 50 ปีเศษ) พบในผู้หญิงกับผู้ชายจำนวนเท่า ๆ กัน ผู้ที่เป็นโรคนี้จะไม่มีการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารมากกว่าปกติ แต่ความต้านทานต่อกรดของเยื่อบุกระเพาะอาหารเสื่อมลง อาจมีสาเหตุมาจาดื่มสุราจัด การรับประทานยาบางชนิด โรคนี้มักพบในคนที่มีฐานะยากจน ขาดอาหารสุขภาพไม่สมบูรณ์ อาจพบร่วมกับโรคอื่น ๆ เช่น โรคปอด โรคไต หรือโรคมะเร็ง อาการ ผู้ป่วยมักมีอาการปวดท้องเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง มักตรวจบริเวณใต้ลิ้นปี่ (บางคนอาจค่อนมาทางใต้ชายโครงขวาหรือซ้ายก็ได้) เวลาที่ปวดมักสัมพันธ์กับมื้ออาหาร เช่น ก่อนอาหาร หรือหลังอาหาร ลักษณะการปวดอาจปวดแสบ ปวดตื้อ ปวดเสียด จุกแน่น หรือมีความรู้สึกแบบหิวข้าว อาการปวดมักจะดีขึ้นถ้ารับประทานอาหาร ดื่มนม รับประทานยาลดกรดหรืออาเจียน นอกจากอาการปวดท้องแล้ว ยังอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนหรือเรอเปรี้ยว ในผู้ป่วยที่มีแผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้น มักมีอาการปวดหลังอาหารประมาณ 1-2 ชั่วโมง หรือขณะที่ท้องว่าง โดยมากจะเริ่มปวดตอนสายๆ หลังรับประทานอาหารเช้าแล้ว (ก่อนอาหารเช้ามักไม่มีอาการปวด) จะปวดมากขึ้นในช่วงบ่าย ๆ และเย็น ๆ และอาจปวดมากตอนเที่ยงคืนถึงตี 2 จนนอนไม่หลับ ในรายที่เป็นมาก อาจปวดร้าวไปที่หลังร่วมด้วย อาการปวดท้องมักเป็นอยู่นานหลายสัปดาห์ แล้วอาจหายได้เองโดยไม่ต้องรักษา แต่มักจะกำเริบใหม่ภายในเวลา 2 ปี ในผู้ป่วยที่มีแผลที่กระเพาะอาหาร มักมีอาการปวดท้องหลังอาหารประมาณ 30-60 นาที หรือหลังรับประทานอาหารอิ่ม มักทำให้ผู้ป่วยไม่กล้ารับประทานอาหารและทำให้น้ำหนักลด อาการแสดง ส่วนมากมักไม่พบอาการ บางคนอาจรู้สึกกดเจ็บเล็กน้อยตรงบริเวณใต้ลิ้นปี่ หากเป็นเรื้อรัง และมีเลือดออก (เลือดที่ออกในกระเพาะลำไส้ เมื่อถูกกับกรดจะเป็นสีดำ ทำให้มีอาการถ่ายอุจจาระดำ) ผู้ป่วยอาจมีอาการซีด อาการแทรกซ้อน ส่วนมากมักจะไม่มีอาการแทรกซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้น มักจะหายได้เป็นส่วนใหญ่ อาการแทรกซ้อนที่อาจพบได้ เช่น กระเพาะทะลุ กระเพาะหรือลำไส้ตีบตัน เลือดออกในกระเพาะ อาจทำให้อาเจียนเป็นเลือดสด หรือถ่ายอุจจาระดำ (ถ้าเลือดออกมาก อาจถึงช็อกได้ ถ้าออกทีละน้อย ทำให้มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก) ในผู้ป่วยที่เป็นแผลที่กระเพาะอาหาร บางรายถ้าเป็นเรื้อรัง อาจกลายเป็นมะเร็งของกระเพาะอาหารได้ การรักษาและป้องกันการเป็นซ้ำ การรักษาที่สำคัญคือการรับประทานยาตามแพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัดร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่กระตุ้นการเกิดโรคกระเพาะอาหาร ได้แก่ รับประทานอาหารตรงเวลาโดยไม่ปล่อยให้หิว เลี่ยงการรับประทานอาหารรสเผ็ดจัด งดสูบบุหรี่ หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ

มะเร็งลำไส้ใหญ่

มะเร็งลำไส้ใหญ่

รู้เท่าทันมะเร็งลำไส้ใหญ่ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก่อนสายเกินแก้ มะเร็งลำไส้ใหญ่พบมากเป็นอันดับ 3 ของโลก และในประเทศไทยพบมากขึ้นทั้งในผู้ชายและผู้หญิง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนส่วนใหญ่ละเลยการตรวจเช็กโรคนี้ ลำไส้ใหญ่แบ่งเป็น 2 ส่วนหลักคือ ลำไส้ใหญ่ที่อยู่ในช่องท้องหรือ โคล่อน (Colon) กับลำไส้ใหญ่ส่วนที่อยู่ในอุ้งเชิงกรานหรือเร็คตั่ม (Rectum) มะเร็งสามารถเกิดขึ้นได้กับลำไส้ใหญ่ทุกๆ ส่วน มะเร็งลำไส้ใหญ่ของทั้ง 2 ส่วนจะมีลักษณะโรคและวิธีการรักษาจะแตกต่างกันบ้างแต่สาเหตุการตรวจวินิจฉัยและระยะโรคคล้ายคลึงกัน ขณะที่สาเหตุการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาวิจัยที่ได้ข้อสรุปชัดว่าอะไรเป็นสาเหตุของมะเร็งลำไส้ใหญ่ แต่พบว่ามีหลายปัจจัยที่อาจมีความสัมพันธ์หรือเป็นปัจจัยเสี่ยงได้แก่ 1. พันธุกรรม ทั้งชนิดพันธุกรรมที่ถ่ายทอดและพันธุกรรมที่ไม่ถ่ายทอด ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบของลำไส้ใหญ่หรือเกิดเป็นก้อนเนื้อโพลิบ (Polyp) ของลำไส้ใหญ่ 2. อาหาร บางการศึกษาวิจัยพบว่าการรับประทานอาหารไขมันสูงหรืออาหารที่ขาดใยอาหารทำให้มีปัจจัยเสี่ยงต่อมะเร็งลำไส้ใหญ่มากกว่า 3. บางการศึกษาพบว่าการขาดสารอาหารบางชนิดอาจเป็นปัจจัยให้เกิดมะเร็งในลำไส้ใหญ่ได้สูงกว่าผู้ป่วยได้รับสารอาหารครบถ้วน 4. การรับประทานผัก ผลไม้ ช่วยลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็ง ลำไส้ใหญ่ เมื่อเทียบกับการรับประทานกลุ่มอื่น 5. การควบคุมน้ำหนักและการออกกำลังกายที่พอเหมาะ อาจลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ระดับหนึ่ง 6. การดื่มสุราหรือเบียร์ อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ 7. การสูบบุหรี่ ก็อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามไม่มีอาการเฉพาะของมะเร็งลำไส้ใหญ่ แต่จะเป็นอาการเช่นเดียวกับอาการของโรคลำไส้ทั่วๆ ไป เช่น 1. ท้องผูก สลับท้องเสียอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน 2. อุจจาระเป็นมูกเลือด เป็นเลือดสด หรือสีดำคล้ายสีถ่าน 3. ปวดเบ่งเวลาถ่ายอุจจาระ 4. ปวดท้องอย่างรุนแรง 5. อาจมีคลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย หรือซีดโดยไม่รู้สาเหตุ 6. อาจคลำก้อนได้ในท้อง ในการตรวจหาระยะของโรคแพทย์อาจมีการตรวจเพิ่มเติม ทั้งนี้ตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ไม่จำเป็นต้องตรวจเหมือนๆกันในผู้ป่วยทุกราย เช่น 1. การตรวจช่องท้องด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ซีทีสแกน (CT-Scan) 2. การตรวจภาพเอกซเรย์ปอด 3. การตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการเพื่อดูการทำงานของตับ ไต หรือ โรคเบาหวานเป็นต้น 4. การตรวจภาพสแกนของกระดูก ถ้าผู้ป่วยมีอาการปวดหลังมาก เพื่อตรวจว่าได้มีโรคแพร่กระจายไปกระดูกหรือไม่ 5. การตรวจอัลตราซาวด์ตับถ้าสงสัยว่ามีโรคแพร่ไปตับ ผ่าตัดผ่านกล้องรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ (Laparoscopic Surgery) ในอดีตการผ่าตัดรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นการผ่าตัดแบบแผลเปิด ซึ่งความยาวของแผลอยู่ที่ประมาณ 6 – 12 นิ้ว หรือ 15 – 30 เซนติเมตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของก้อนมะเร็ง แต่ในปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง นำมาซึ่งการผ่าตัดผ่านกล้องเพื่อรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ (Laparoscopic Surgery) โดยศัลยแพทย์จะทำการเจาะรูขนาดเล็กประมาณ 4 – 5 รู ขนาด 6 – 8 มิลลิเมตร และมีแผลใหญ่สุด 1 รู ขนาดไม่เกิน 4 เซนติเมตร หลังจากนั้นจะมีการใส่เครื่องมือผ่าตัดรวมถึงกล้องขนาดเล็กที่สามารถมองเห็นอวัยวะภายในบนจอมอนิเตอร์ได้อย่างชัดเจน จำนวนและขนาดของแผลจะขึ้นอยู่กับขนาดของก้อนมะเร็ง โดยข้อดีของการผ่าตัดผ่านกล้องคือ แผลเล็ก เสียเลือดลดลง เจ็บน้อย ฟื้นตัวไว ลดการเกิดผลแทรกซ้อนจากการผ่าตัด เช่น การติดเชื้อที่แผล และทำให้กลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้เร็วขึ้น ทั้งนี้ผลการผ่าตัดผ่านกล้องรักษาได้ดีเทียบเท่าการผ่าตัดแบบแผลเปิด แต่ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ควรจะเข้ารับการผ่าตัดแบบใดนั้นขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์เป็นสำคัญ เพื่อผลลัพธ์การรักษาที่ดีที่สุด อย่างไรก็ตาม สถิติล่าสุดพบว่า ทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีผู้ป่วยด้วยโรคนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในประเทศไทยพบมากขึ้นทั้งในผู้ชายและผู้หญิง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนส่วนใหญ่ละเลยการตรวจเช็กโรคนี้ ทำให้มักพบเมื่อป่วยเข้าสู่ระยะท้าย ๆ แล้ว ดังนั้นการรู้เท่าทันมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยการดูแลใส่ใจ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และหมั่นตรวจเช็กตั้งแต่เนิ่น ๆ คือหนทางการป้องกันโรคได้ในระยะยาวได้ ขอขอบคุณข้อมูลสุขภาพจาก : BDMS สถานีสุขภาพ

ท้องผูกเป็นปกติ 1ใน 5 สัญญาณเสี่ยง“มะเร็งลำไส้”

ท้องผูกเป็นปกติ 1ใน 5 สัญญาณเสี่ยง“มะเร็งลำไส้”

ท้องผูกเป็นปกติ 1ใน 5 สัญญาณเสี่ยง“มะเร็งลำไส้”ที่ไม่ควรมองข้าม มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตอันดับ 3 ภัยเงียบที่แฝงอยู่ในชีวิตประจำวันซึ่งสัญญาณของโรคมักเป็นอาการเล็กๆน้อยๆ จนผู้ป่วยส่วยใหญ่ไม่ทันได้สังเกตรู้ตัวอีกทีก็ป่วยโรคร้ายซะแล้ว แต่หากลองลองสังเกตดีๆ จะมีสัญญาณเตือนส่งมาเป็นระยะ อะไรคือสัญญาณเตือนที่พึงระวังมะเร็งลำไส้ มะเร็งลำไส้ใหญ่ แน่นอนว่าเหมือนมะเร็งทุกชนิดที่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง แต่เกิดจากเป็นความผิดปกติของเซลล์ ที่ก่อตัวเป็นมะเร็งบริเวณลำไส้ใหญ่ มีความยาวเฉลี่ย 150 - 180 เซนติเมตร เกิดได้ตั้งแต่ส่วนต้นที่ติดกับลำไส้เล็ก ส่วนกลางลำไส้ ไปจนถึงส่วนปลายของลำไส้ใหญ่ที่อยู่ติดกับทวารหนัก ส่วนใหญ่แล้วจะเริ่มเกิดขึ้นจากจุดเล็กๆ เช่น มีติ่งเนื้อเล็กๆ เกิดขึ้นภายในลำไส้ นั้นหมายความว่าหากตรวจพบติ่งเนื้อเร็วก็สามารถรักษาหายได้ทันท่วงที 5 สัญญาณผิดปกติ ควรคำนึงถึง“มะเร็งลำไส้ใหญ่” คนในครอบครัวมีประวัติมะเร็งลำไส้ หากเป็นเช่นนั้นเราก็อาจมีโอกาสเกิดมะเร็งลำไส้มากกว่าคนปกติ 2 ใน 3 แต่ก็ไม่เสมอไปทั้งหมด เราสามารถเลี่ยงได้ด้วยการดูแลควบคุมตัวเองอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พยายามทานอาหารที่ช่วยระบบย่อยและขับถ่าย ไม่ปล่อยให้ท้องผูกเป็นระยะเวลานานๆ เลี่ยงอาหารปิ้ง ย่าง ทอด หรือมีไขมันสูง และควรหมั่นตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี พร้อมตรวจหาความเสี่ยงโรคมะเร็ง อย่างน้อยปีละ 1ครั้ง คนที่ท้องผูกเป็นปกติ อีกหนึ่งจุดเริ่มต้นของคนที่เสี่ยงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ หลายๆ คนคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย เพราะแค่ท้องผูกเอง หากนานๆ เป็นทีก็คงไม่เป็นอะไร แต่คนที่มีอาการท้องผูกติดต่อกันอย่างสม่ำเสมอ ก็แปลว่าระบบขับถ่ายไม่ดี แสดงว่าอาจมีความผิดปกติบางอย่างขึ้นที่บริเวณลำไส้ เช่น ลำไส้อักเสบ ลำไส้แปรปรวน ถ้าลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินและดื่มน้ำให้มากขึ้นแล้ว แต่ยังท้องผูกต่อเนื่อง หรืออาการไม่ดีขึ้นเลย ก็ควรจะรีบปรึกษาแพทย์ ถ่ายอุจจาระมีมูกเลือดปะปน เป็นหนึ่งเหตุผลที่ควรใส่ใจเวลาขับถ่ายก็ต้องหมั่นคอยสังเกต เพราะจะช่วยให้เราทราบความผิดปกติตั้งแต่เนิ่น ๆ หากใครที่ขับถ่ายแล้วมีมูกเลือดปนออกมาด้วยบ่อย ๆ แสดงว่าเริ่มมีความผิดปกติเกิดขึ้นแล้ว และลองสังเกตต่อไปหากอุจจาระมีขนาดเล็กผิดปกติ ก็ควรปรึกษาและบอกอาการที่เกิดขึ้นกับแพทย์ เพื่อช่วยค้นหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป น้ำหนักลดลงทั้งที่กินอาหารเท่าเดิม หนึ่งอาการที่แสดงออกมาทางร่างกาย แต่หลายคนอาจจะคิดว่าโชคดีเหลือเกินที่กินเท่าเดิมแต่น้ำหนักกลับลดลง ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยด้วยซ้ำถ้าร่างกายปกติดี หากช่วงนั้นเรารับประทานอาหารเท่าเดิม ไม่ได้ออกกำลังกายอะไรเป็นพิเศษ แต่น้ำหนักกลับลดฮวบฮาบ หรือลดลงผิดปกติ ก็เป็นอาการอย่างหนึ่งที่บอกถึงความผิดปกติของร่างกาย ที่เราควรรีบพบแพทย์เป็นการด่วน ระบบขับถ่ายผิดปกติ เดี๋ยวท้องผูก เดี๋ยวท้องเสีย อีกหนึ่งอาการที่สังเกตได้ของคนที่เป็นมะเร็งลำไส้ในระยะเริ่มต้น ซึ่งมักจะมีอาการท้องเสียสลับกับท้องผูกแบบที่เป็นเรื้อรังไม่หายขาดสักที หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน เลือกกินแต่อาหารปรุงสุกใหม่แล้วยังท้องเสีย แสดงว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นกับระบบขับถ่ายอย่างแน่นอน จะเห็นได้ว่าสัญญาณเหล่านี้ไม่ควรมองข้ามและควรรู้เอาไว้ เพราะหากรู้ทันไม่ใช่แค่มะเร็งลำไส้ แต่ยังหลายรวมถึงโรคภัยอื่นๆด้วยที่สำคัญการป้องกันที่ดีที่สุดคือการกินอาหารอย่างถูกหลักอนามัย ลดอาหารลดจัด แปรรูป ปิ้งย่าง เพิ่มไฟเบอร์ผักใบเขียวเพื่อกระตุ้นการขับถ่าย แน่นอนว่าสุขภาพกายคุณจะดีวันดีคืน ห่างไกลโรคภัยแน่นอนค่ะ ขอบคุณข้อมูลจาก : BDMS สถานีสุขภาพ