กระเพาะอักเสบ (Gastritis)

กระเพาะอักเสบ (Gastritis)

กระเพาะอักเสบ หมายถึงการอักเสบของเยื่อบุกระเพาะอาหาร ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นชนิดเฉียบพลันและชนิดเรื้อรัง

กระเพาะอักเสบเฉียบพลัน (Acute gastritis) มักมีอาการเกิดขึ้นรวดเร็วและหายได้รวดเร็ว สาเหตุมีได้หลายอย่าง เช่น การกินยาแก้ปวดประเภทแอสไพริน หรือยาแก้ปวดข้อ การดื่มสุรา การรับประทานอาหารรสเผ็ดจัด หรือเกิดจากพิษของเชื้อโรค๖อาหารเป็นพิษ) โรคติดเชื้อไวรัส เช่น ไข้หวัดใหญ่ หัด ตับอักเสบ) หรือแพ้ยาแพ้อาหาร เป็นต้น

โรคนี้เกิดในคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่ใช้ยาแอสไพริน หรือยาชุดแก้ปวดข้อปวดหลังเป็นประจำ

ส่วนมากจะไม่มีอาการรุนแรง ส่วนน้อยที่อาจมีเลือกออกในกระเพาะ (อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระดำ) ซึ่งอาจรุนแรงจนช็อกได้

กระเพาะอักเสบเรื้อรัง (Chronic gastritis) มักมีอาการเรื้อรัง สาเหตุมีได้หลายอย่าง เช่น เกิดจากการดื่มสุรา การรับประทานยาแก้ปวด แอสไพริน หรือยาแก้ปวดข้อ หรือเกิดจากน้ำดีขย้อนจากลำไส้เล็กเข้าไปในกระเพาะอาหาร เป็นต้น

บางรายเชื่อว่ามีความสัมพันธ์กับพันธุกรรม หรือความเครียดทางจิตใจ บางรายอาจมีความสัมพันธ์กับมะเร็งของกระเพาะอาหาร โดยเฉพาะในรายที่เป็นกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรังชนิดที่เยื่อบุกระเพาะมีลักษณะบางลง (Atrophic gastritis) ซึ่งมักพบในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยชนิดนี้อาจทำให้เกิดมะเร็งของกระเพาะอาหารตามมาภายหลังได้

อาการ

  1. กระเพาะอักเสบเฉียบพลัน

    ผู้ป่วยมักมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน เสียดแน่นตรงลิ้นปี่ บางรายอาจมีอาการปวดท้อง ท้องเดิน เป็นไข้ ปวดศีรษะคล้ายอาหารเป็นพิษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเกิดจากพิษของเชื้อโรค ในรายที่เป็นรุนแรง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสุราหรือยาแก้ปวด) อาจมีอาการอาเจียนเป็นเลือดสดหรือสีดำออกมากจนซีด หรือช็อก (เหงื่อออก ตัวเย็น ชีพจรเบาเร็ว ความดันตก) ในเวลารวดเร็ว

  2. กระเพาะอักเสบเรื้อรัง ส่วนมากจะไม่แสดงอาการผิดปกติ ในรายที่มีอาการปรากฏ อาจมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน เสียดแน่นตรงใต้ลิ้นปี่ เรอเปรี้ยว หรือมีอาการปวดแสบท้องเวลาหิวหรืออิ่มจัด คล้ายอาการของโรคกระเพาะ บางรายอาจมีอาการอาเจียนเป็นเลือดหรือถ่ายดำและอาจมีอาการซีดร่วมด้วย

การรักษา

  1. กระเพาะอาหารอักเสบเฉียบพลัน

    1. ถ้าอาการไม่รุนแรง ให้งดน้ำงดอาหารจนอาการดีขึ้น ระหว่างนี้อาจให้น้ำเกลือ เมื่ออาการดีขึ้นให้รับประทานอหารพวกน้ำ ๆ ก่อนแล้วค่อยให้อาหารเหลวที่ย่อยง่าย แพทย์อาจพิจารณาให้ยาลดกรด ยากล่อมประสาท และยาตามอาการ เช่น ยาแก้อาเจียน ถ้ามีอาการคลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น ควรงดสุรา และยาแก้ปวด ส่วนมากมักจะหายได้ภายใน 1-7 วัน

    2. ถ้ามีอาการอาเจียนเป็นเลือดหรือช็อก ควรส่งโรงพยาบาลด่วน ควรให้น้ำเกลือไประหว่างทางด้วย อาจต้องให้เลือดและทำการล้างกระเพาะด้วยน้ำเย็น โดยใส่ท่อผ่านทางจมูกเข้าไปในกระเพาะ ในรายที่เป็นรุนแรง เลือดออกไม่หยุด อาจต้องผ่าตัด

  2. กระเพาะอักเสบเรื้อรัง

    1. ให้ยาลดกรด ยากล่อมประสาท แนะนำงดสุรา ยาแก้ปวด แอสไพริน ยาแก้ปวดข้อ บุหรี่ กาแฟ อาหารรสจัด

    2. หากมีอาการอาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายดำควรส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว แพทย์อาจจำเป็นต้องพิจารณาให้เลือด

    3. หากพบในอายุน้อยกว่า 50 ปี หรือมีอาการน้ำหนักลด ควรแนะนำไปตรวจที่โรงพยาบาลอาจต้องเอ็กซเรย์ ใช้กล้องส่องตรวจกระเพาะลำไส้ (Endoscope) ตัดชิ้นเนื้อพิสูจน์ (Biopsy) เพื่อวินิจฉัยสาเหตุให้แน่ชัด ถ้ากระเพาะอักเสบเรื้อรัง ก็ให้การรักษาตามอาการ

ข้อแนะนำ

  1. โรคนี้สามารถป้องกันได้โดยหลีกเลี่ยงการดืมสุรา หลีกเลี่ยงรับประทานยาแอสไพริน หรือยาแก้ปวดข้อเป็นประจำ (หากต้องใช้ยาเหล่านี้ จำเป็นต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์)

  2. กระเพาะอักเสบเรื้อรังอาจมีอาการคล้ายโรคกระเพาะจนแยกจากลักษณะอาการไม่ได้ อาจต้องวินิจฉัยจากเอ็กซเรย์ (กลืนแป้งแบเรียม) หรือไม่ส่องกล้องตรวจกระเพาะลำไส้ โรคกระเพาะจะต้องตรวจพบแผล ถ้าไม่พบมักจะเป็นกระเพาะอักเสบเรื้อรัง

  3. ในรายที่กระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง การกินยาอาจเพียงช่วยบรรเทาอาการได้ชั่วคราวไม่หายขาด ควรแนะนำให้ออกกำลังกาย (เช่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน) เป็นประจำ และหาทางผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีต่าง ๆ อาจช่วยให้ดีขึ้นได้

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี 039-319888

บทความที่เกี่ยวข้อง

อหิวาต์ (Cholera)

อหิวาต์ (Cholera)

อหิวาต์ (Cholera) อหิวาต์ หรืออหิวาตกโรค เป็นโรคท้องเสียที่มีอาการรุนแรง และระบาดได้รวดเร็ว ในอดีตเคยมีการระบาดของโรคนี้จนมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก จึงถูกเรียกว่า “โรคห่า” ในปัจจุบันความรุนแรงของโรคลดลง ระบาดน้อยลง โรคนี้มักพบในช่วงฤดูร้อน และพบในชุมชนที่การสุขาภิบาลยังไม่ดี สาเหตุ เกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งเชื้อมีอยู่ 2 ชนิด ดังนี้ เชื้อชนิดร้ายแรง ได้แก่ วิบริโอ คอเลอรา (Vibrio cholerae) เชื้อชนิดอ่อน ได้แก่ เอลทอร์ (EL Tor) โดยเชื้ออหิวาต์เหล่านี้จะปล่อยสารพิษ (Toxin) ทำให้เกิดอาการท้องร่วง ซึ่งเชื้อมีระยะฟักตัว 1-5 วัน (เฉลี่ยประมาณ 1-2 วัน) อาการ เกิดขึ้นทันทีทันใดด้วยอาการท้องเสียถ่ายเหลวอย่างรุนแรง อุจจาระมักจะไหลพุ่งโดยไม่มีอาการปวดท้อง และมีอาเจียนโดยที่ไม่มีอาการคลื่นไส้นำมาก่อน อุจจาระเหมือนน้ำซาวข้าว ในรายที่เป็นรุนแรง จะมีอาการขาดน้ำรุนแรง และช็อกอย่างรวดเร็ว อาจจะมีเสียงแหบแห้ง เป็นตะคริว ตัวเย็น เหงื่อออก ปัสสาวะออกน้อย ชีพจรเต้นเร็ว ความดันต่ำ ไม่มีไข้ หากรักษาไม่ทันผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตได้ในเวลาสั้น ๆ ในรายที่เกิดจากเชื้ออหิวาต์อย่างอ่อน หรือเชื้อเอลทอร์ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลวบ่อยครั้งคล้ายโรคท้องเสีย มักจะหายใน 1-5 วัน การรักษา หากอาการท้องเสียรุนแรง ซึ่งชวนสงสัยว่าเป็นอหิวาต์ แพทย์จะพิจารณาเก็บอุจจาระส่งเพาะเชื้อ ให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ(ให้น้ำเกลือ) รับประทานยาฆ่าเชื้อตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เมื่อรักษาได้ทันการณ์ มักจะหายขาดภายในไม่กี่วัน โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนแต่อย่างใด อันตรายมักจะเกิดกับผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาช้าเกินการณ์คือ ปล่อยให้มีภาวะขาดน้ำรุนแรง การป้องกัน รับประทานอาหารปรุงสุก สะอาด ไม่มีแมลงวันตอม ดื่มน้ำสะอาด สำหรับผู้ป่วยโรคนี้ ควรนำอาเจียนและอุจจาระของผู้ป่วยไปเทใส่ส้วมหรือฝังดินให้มิดชิด ห้ามเทตามพื้นหรือลงแม่น้ำลำคลอง ส่วนเสื้อผ้าของผู้ป่วยที่แปดเปื้อนเชื้อควรนำไปฝังหรือเผาเสีย ห้ามนำไปซักในแม่น้ำลำคลอง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่นในชุมชน อาจมีการเก็บอุจจาระของคนที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยส่งตรวจหาเชื้อ หากมีการติดเชื้อจะได้ทำการรักษาทันท่วงที ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี 039-319888

5 เทคนิคลดความเสี่ยง "มะเร็งลำไส้" ตามงานวิจัย

5 เทคนิคลดความเสี่ยง "มะเร็งลำไส้" ตามงานวิจัย

5 เทคนิคลดความเสี่ยง "มะเร็งลำไส้" ตามงานวิจัย เพิ่มความสมดุลร่างกาย มะเร็งลำไส้ ถูกคาดการณ์ว่าเกิดจากพฤติกรรมการกินแบบผิด ๆ วันนี้เราพามารู้จักเทคนิคกินแบบไหนให้ห่างไกลมะเร็ง! มะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคมะเร็งร้ายที่พบได้เป็นอันดับต้นๆ ในไทย เชื่อกันว่ามีปัจจัยหลักๆ ของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่มักมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตแบบผิดๆ โดยเฉพาะเรื่องของอาหารการกิน อาทิ ชอบกินอาหารปิ้งๆย่างๆไหม้เกรียม อาหารไขมันสูงแปรรูป โซเดียมสูง การไม่ชอบทานผักผลไม้ รวมถึงการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่จัด ซึ่งมีอาหารและวิธีการกินบางอย่างที่ทำให้เราสามารถลดความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ได้ 5 เทคนิคการกินช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ เน้นไฟเบอร์สูง แน่นอนว่า ไฟเบอร์หรือใยอาหาร ขึ้นชื่อเรื่องมีส่วนช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบขับถ่าย ซึ่งมีการศึกษาพบว่า..การทานใยอาหารเพิ่มขึ้น 10 กรัมต่อวัน ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ โดยอาหารไฟเบอร์สูงที่ควรทาน ได้แก่ ธัญพืช ผักตระกูลกะหล่ำ หรือผักโขม เป็นต้น เพิ่มแคลเซียมในแต่ละวัน มีการศึกษาเปรียบเทียบการทานแคลเซียมจากนมในแต่ละวัน โดยพบว่ากลุ่มที่ทานแคลเซียมจากนมสูงที่สุด สามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ถึง 20 %เลยทีเดียว เลือกทานปลาแทนเนื้อแดง ไขมันสูงจากเนื้อแดงจะเพิ่มโอกาสเสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่สำหรับมะเร็งลำไส้ยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้ชัดเจน อาจเกิดจากปัจจัยอื่นร่วม เช่น วิธีการปรุงที่มักใช้อุณหภูมิสูง แต่เพื่อลดความเสี่ยงควรหันมาทานไขมัน omega-3 จากเนื้อปลาแทนจะดีกว่า อีกทั้งปลายังไขมันต่ำช่วยในการลดน้ำหนักได้ดีอีกด้วย ทานอาหารอุดมด้วยแมกนีเซียม มีการศึกษาหลายชิ้นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของแมกนีเซียมกับมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยมีรายงานชิ้นหนึ่งกล่าวว่า การทานแมกนีเซียมเพิ่มขึ้น 100 มิลลิกรัมต่อวัน สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ถึงร้อยละ 12 ซึ่งเท่ากับการทานปลา 4 ออนซ์ ถั่วลิสง 2 ออนซ์ หรือผักโขมปรุงสุกประมาณ 1/2 ถ้วย ควบคุมการดื่มแอลกอฮอล์ จากการวิจัยชี้ชัดได้ว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีความสัมพันธ์กับมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยผู้ชายควรดื่มไม่เกิน 2 แก้วต่อวัน และผู้หญิงไม่เกิน 1 แก้วต่อวัน เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้ที่มีคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคนี้ อย่างไรก็ตามควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่และหลากหลายเพื่อให้ร่างกายได้ซ่อมแซมและฟื้นฟูตัวเอง และหากมีสัญญาณเตือนอย่างเช่นท้องสียท้องผูกบ่อยจนเป็นเรื่องปกติ น้ำหนักลดลงแม้กินอาหารเยอะขึ้นหรือเท่าเดิม ควรพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยเพราะถ้าหากพบโรคหรือรอยโรคเร็วก็มีโอกาสหายขาดได้อย่างแน่นอนค่ะ ขอบคุณข้อมูลจาก : BDMS สถานีสุขภาพ

มะเร็งลำไส้ใหญ่

มะเร็งลำไส้ใหญ่

รู้เท่าทันมะเร็งลำไส้ใหญ่ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก่อนสายเกินแก้ มะเร็งลำไส้ใหญ่พบมากเป็นอันดับ 3 ของโลก และในประเทศไทยพบมากขึ้นทั้งในผู้ชายและผู้หญิง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนส่วนใหญ่ละเลยการตรวจเช็กโรคนี้ ลำไส้ใหญ่แบ่งเป็น 2 ส่วนหลักคือ ลำไส้ใหญ่ที่อยู่ในช่องท้องหรือ โคล่อน (Colon) กับลำไส้ใหญ่ส่วนที่อยู่ในอุ้งเชิงกรานหรือเร็คตั่ม (Rectum) มะเร็งสามารถเกิดขึ้นได้กับลำไส้ใหญ่ทุกๆ ส่วน มะเร็งลำไส้ใหญ่ของทั้ง 2 ส่วนจะมีลักษณะโรคและวิธีการรักษาจะแตกต่างกันบ้างแต่สาเหตุการตรวจวินิจฉัยและระยะโรคคล้ายคลึงกัน ขณะที่สาเหตุการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาวิจัยที่ได้ข้อสรุปชัดว่าอะไรเป็นสาเหตุของมะเร็งลำไส้ใหญ่ แต่พบว่ามีหลายปัจจัยที่อาจมีความสัมพันธ์หรือเป็นปัจจัยเสี่ยงได้แก่ 1. พันธุกรรม ทั้งชนิดพันธุกรรมที่ถ่ายทอดและพันธุกรรมที่ไม่ถ่ายทอด ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบของลำไส้ใหญ่หรือเกิดเป็นก้อนเนื้อโพลิบ (Polyp) ของลำไส้ใหญ่ 2. อาหาร บางการศึกษาวิจัยพบว่าการรับประทานอาหารไขมันสูงหรืออาหารที่ขาดใยอาหารทำให้มีปัจจัยเสี่ยงต่อมะเร็งลำไส้ใหญ่มากกว่า 3. บางการศึกษาพบว่าการขาดสารอาหารบางชนิดอาจเป็นปัจจัยให้เกิดมะเร็งในลำไส้ใหญ่ได้สูงกว่าผู้ป่วยได้รับสารอาหารครบถ้วน 4. การรับประทานผัก ผลไม้ ช่วยลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็ง ลำไส้ใหญ่ เมื่อเทียบกับการรับประทานกลุ่มอื่น 5. การควบคุมน้ำหนักและการออกกำลังกายที่พอเหมาะ อาจลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ระดับหนึ่ง 6. การดื่มสุราหรือเบียร์ อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ 7. การสูบบุหรี่ ก็อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามไม่มีอาการเฉพาะของมะเร็งลำไส้ใหญ่ แต่จะเป็นอาการเช่นเดียวกับอาการของโรคลำไส้ทั่วๆ ไป เช่น 1. ท้องผูก สลับท้องเสียอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน 2. อุจจาระเป็นมูกเลือด เป็นเลือดสด หรือสีดำคล้ายสีถ่าน 3. ปวดเบ่งเวลาถ่ายอุจจาระ 4. ปวดท้องอย่างรุนแรง 5. อาจมีคลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย หรือซีดโดยไม่รู้สาเหตุ 6. อาจคลำก้อนได้ในท้อง ในการตรวจหาระยะของโรคแพทย์อาจมีการตรวจเพิ่มเติม ทั้งนี้ตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ไม่จำเป็นต้องตรวจเหมือนๆกันในผู้ป่วยทุกราย เช่น 1. การตรวจช่องท้องด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ซีทีสแกน (CT-Scan) 2. การตรวจภาพเอกซเรย์ปอด 3. การตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการเพื่อดูการทำงานของตับ ไต หรือ โรคเบาหวานเป็นต้น 4. การตรวจภาพสแกนของกระดูก ถ้าผู้ป่วยมีอาการปวดหลังมาก เพื่อตรวจว่าได้มีโรคแพร่กระจายไปกระดูกหรือไม่ 5. การตรวจอัลตราซาวด์ตับถ้าสงสัยว่ามีโรคแพร่ไปตับ ผ่าตัดผ่านกล้องรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ (Laparoscopic Surgery) ในอดีตการผ่าตัดรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นการผ่าตัดแบบแผลเปิด ซึ่งความยาวของแผลอยู่ที่ประมาณ 6 – 12 นิ้ว หรือ 15 – 30 เซนติเมตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของก้อนมะเร็ง แต่ในปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง นำมาซึ่งการผ่าตัดผ่านกล้องเพื่อรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ (Laparoscopic Surgery) โดยศัลยแพทย์จะทำการเจาะรูขนาดเล็กประมาณ 4 – 5 รู ขนาด 6 – 8 มิลลิเมตร และมีแผลใหญ่สุด 1 รู ขนาดไม่เกิน 4 เซนติเมตร หลังจากนั้นจะมีการใส่เครื่องมือผ่าตัดรวมถึงกล้องขนาดเล็กที่สามารถมองเห็นอวัยวะภายในบนจอมอนิเตอร์ได้อย่างชัดเจน จำนวนและขนาดของแผลจะขึ้นอยู่กับขนาดของก้อนมะเร็ง โดยข้อดีของการผ่าตัดผ่านกล้องคือ แผลเล็ก เสียเลือดลดลง เจ็บน้อย ฟื้นตัวไว ลดการเกิดผลแทรกซ้อนจากการผ่าตัด เช่น การติดเชื้อที่แผล และทำให้กลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้เร็วขึ้น ทั้งนี้ผลการผ่าตัดผ่านกล้องรักษาได้ดีเทียบเท่าการผ่าตัดแบบแผลเปิด แต่ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ควรจะเข้ารับการผ่าตัดแบบใดนั้นขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์เป็นสำคัญ เพื่อผลลัพธ์การรักษาที่ดีที่สุด อย่างไรก็ตาม สถิติล่าสุดพบว่า ทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีผู้ป่วยด้วยโรคนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในประเทศไทยพบมากขึ้นทั้งในผู้ชายและผู้หญิง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนส่วนใหญ่ละเลยการตรวจเช็กโรคนี้ ทำให้มักพบเมื่อป่วยเข้าสู่ระยะท้าย ๆ แล้ว ดังนั้นการรู้เท่าทันมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยการดูแลใส่ใจ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และหมั่นตรวจเช็กตั้งแต่เนิ่น ๆ คือหนทางการป้องกันโรคได้ในระยะยาวได้ ขอขอบคุณข้อมูลสุขภาพจาก : BDMS สถานีสุขภาพ

ไวรัสตับอักเสบบี

ไวรัสตับอักเสบบี

ส่องกล้อง "มะเร็งลำไส้ใหญ่"

ส่องกล้อง "มะเร็งลำไส้ใหญ่"

ส่องกล้อง "มะเร็งลำไส้ใหญ่" จากข้อมูลสถิติของการเกิดโรคมะเร็งพบว่า “มะเร็งลำไส้ใหญ่” มีอัตราการเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ อาจเพราะในปัจจุบันพฤติกรรมการใช้ชีวิต และการบริโภค เปลี่ยนแปลงไป คนไทยเรารับประทานอาหารแบบตะวันตกมากขึ้น ผนวกกับสภาวะแวดล้อมในปัจจุบัน การทำงาน ความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถูกเรียกว่า Epigenetic เกิดจากสิ่งแวดล้อมด้านอาหาร พฤติกรรม ปัจจัยอีกหนึ่งส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งนั่นก็คือ Genetics เป็นเรื่องของพันธุกรรมที่มีการถ่ายทอดโดยยีนซึ่งจะส่งผลกับทุกคน นั่นหมายความว่าคนเราทุกคนมียีนของมะเร็งอยู่ในตัวประมาณ 30% เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ และหากมีพ่อ แม่ หรือญาติสายตรงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ สัดส่วนที่มีการถ่ายทอดมาสู่ลูกก็จะมากขึ้นตามไปด้วยรวมเป็นประมาณ 50% แต่อีก 50% ที่เหลือเป็นเรื่องของ Epigenetic ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ทำให้มะเร็งที่อยู่ในตัวของเรานั้นแสดงผลออกมาว่าเป็นมะเร็งหรือไม่เป็นเพราะฉะนั้น ถึงแม้พ่อแม่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ลูกก็อาจเป็นหรือไม่เป็นได้ สถานการณ์ปัจจุบันคนส่วนใหญ่เป็นมะเร็งกันมาก เพราะเรื่องของสิ่งแวดล้อมและการใช้ชีวิต เช่น พักผ่อนน้อย เครียด ไม่ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่กากใยน้อย ล้วนกระตุ้นให้ยีนของเซลล์มะเร็งแสดงผลออกมา จึงทำให้พบผู้ที่เป็นมะเร็งมากขึ้นกว่าในอดีต ทำไมเราควรส่องกล่องตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) เพราะการคัดกรองดังกล่าว เป็นมาตรฐานสากล การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยเทคนิคที่ทันสมัยผ่านทางกล้อง NBI (Narrow Band Image), EMR (Endoscopic Mucosal Resection) และ ESD (Endoscopic Submucosal Dissection) เป็นรูปแบบการผ่าตัดแบบแผลเล็ก (Minimal Invasive Surgery- MIS) ช่วยให้แพทย์สามารถตัดก้อนเนื้อขนาดใหญ่ออกจากลำไส้ใหญ่และกระเพาะอาหารได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเปิดแผลหน้าท้อง เป็นการผ่าตัดที่ปลอดภัย สามารถลดความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด โดยเกณฑ์ของสมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหาร ประเทศสหรัฐอเมริกาได้กำหนดไว้คือเพศชาย และหญิงอายุ 50 ปี ทุกคนต้องตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยการส่องกล้อง แต่ในกรณีที่พ่อแม่ ญาติสายตรงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ให้ใช้หลักโดยการนำอายุขณะที่ญาติที่เป็นลบด้วย 10 เช่น แม่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่เมื่ออายุ 50-10 = 40 ปี ดังนั้น ลูกต้องเข้ารับการส่องกล้องตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่เมื่ออายุ 40 ปี เพื่อตรวจหาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น มะเร็งลำไส้ใหญ่เกิดจากติ่งเนื้อ เนื้องอกและพัฒนาไปเป็นมะเร็ง ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอายุมาก มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ มีประวัติ Epigenetic ด้านลบ ดังนั้น หากคนไข้ที่ตรวจส่องกล้องและไม่พบติ่งเนื้อ และไม่มีความเสี่ยงใดๆ แพทย์จะให้นัดตรวจติดตามในอีก 5-10 ปี ใครบ้างที่ควรส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่และไส้ตรง มีอาการผิดปกติในระบบทางเดินอาหารหรือมีอาการดังที่กล่าวไว้ข้างต้น อายุ 15-20 ปีขึ้นไป โดยมีประวัติญาติเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือไส้ตรง 3 คนขึ้นไป อายุ 40 ปีขึ้นไป โดยมีประวัติญาติสายตรงเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือไส้ตรง 1 คนขึ้นไป อายุ 50 ปีขึ้นไป โดยไม่มีปัจจัยเสี่ยงและไม่มีอาการผิดปกติ การส่องกล้องมะเร็งลำไส้ใหญ่ เจ็บตัวหรือไม่? การส่องกล้องตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่สามารถทำได้ทั้งเป็นเครื่องมือในการตรวจวินิจฉัย และการรักษาในเวลาเดียวกัน โดยใช้เวลาตรวจรักษาประมาณ 30 นาที โดยไม่ต้องวางยาสลบ เรียกได้ว่าตั้งแต่การเตรียมตัว จนกระทั่งแพทย์ตรวจรักษาโดยการตัดติ่งเนื้อ และให้คนไข้พักหลังทำหัตถการใช้เวลารวมประมาณครึ่งวัน ในบางรายอาจกังวลว่าหลังจากที่ตัดติ่งเนื้อไปแล้วจะเจ็บหรือไม่ บอกได้เลยว่า “ไม่เจ็บ” เพราะบริเวณนั้นเป็นเยื่อบุ ไม่มีเส้นประสาทไปหล่อเลี้ยง จึงหมดกังวลเรื่องความเจ็บปวดไปได้ ข้อดีของการส่องกล้องคัดกรองมะเร็งลำใส้ใหญ่ เป็นการตรวจมาตรฐานสากลที่มีประโยชน์เป็นอย่างมาก และเป็นอีกช่องทางที่เสมือนช่วยหลีกเลี่ยงให้ห่างไกลจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ทางหนึ่ง เพราะการป้องกันคือสิ่งที่สำคัญที่สุด บางคนอาจมองว่าการตรวจสุขภาพแต่ละครั้งต้องเสียค่าใช้จ่ายในระดับหนึ่ง แต่อยากให้ลองมองในมุมกลับกันว่าในแต่ละปีคุณเสียค่าใช้จ่ายไปกับสิ่งต่างๆ เป็นจำนวนมาก โดยไม่มีประโยชน์ให้กับร่างกายเลย แต่หากเราตัดสินมาตรวจสุขภาพเพื่อตรวจหาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นในร่างกาย โดยที่เราไม่สามารถทราบได้ด้วยตนเอง นับว่าเป็นสิ่งที่คุ้มค่ากับชีวิตของทุกคน ขอบคุณข้อมูลจาก : BDMS สถานีสุขภาพ

3 ปัจจัยกระตุ้น “มะเร็งลำไส้ใหญ่” ในคนรุ่นใหม่

3 ปัจจัยกระตุ้น “มะเร็งลำไส้ใหญ่” ในคนรุ่นใหม่

3 ปัจจัยกระตุ้น “มะเร็งลำไส้ใหญ่” ในคนรุ่นใหม่ ยิ่งตามใจปากยิ่งเสี่ยง มะเร็งลำไส้ มะเร็งชนิดที่คนรุ่นใหม่เป็นเยอะขึ้นและมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ มีสถิติคร่าชีวิตคนไทยปีละกว่า 3,000 คน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 2.4 เท่าในอนาคตอันใกล้ ถึงแม้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงแต่เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์และวิถีชีวิตการกินที่เร่งรีบ โดยมีอาหารเป็นตัวกระตุ้น เช่น การทานอาหารจานด่วน เน้นกินเนื้อแดง อาหารแปรรูป กินอาหารปิ้งย่าง ไม่กินผัก-ผลไม้ อาหารที่มีกากใย ทุกอย่างล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งลำไส้ได้ทั้งสิ้น 3 ปัจจัยทำคนรุ่นใหม่เสี่ยงมะเร็งลำไส้มากขึ้น กินอาหารปิ้งย่าง-แปรรูป เชื่อว่าหลายคนคงทราบดีอยู่แล้วว่า การทานอาหารปิ้งย่าง หรืออาหารแปรรูปมากเกินไป เป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็ง เพราะเมื่อย่างเนื้อสัตว์จนไหม้เกรียมหรือมีรอยดำจะทำให้เกิดสารก่อมะเร็งติดมากับอาหาร หากกินบ่อยๆ จะสะสมในร่างกายและเป็นมะเร็งได้ โดยเนื้อแดง-เนื้อแปรรูป มีไขมันเยอะ ย่อยยาก ทำให้อุจจาระค้างในลำไส้ เมื่อผ่านการแปรรูปและปิ้งย่าง ก็ยิ่งเพิ่มสารก่อมะเร็ง โดยการกินเนื้อแดง 1 ขีดต่อวัน เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ 17% ส่วนเนื้อแปรรูปแค่ครึ่งขีดต่อวัน ก็เพิ่มความเสี่ยงถึง 18% โรคลำไส้อักเสบ (Inflammatory Bowel Disease: IBD) โรคลำไส้อักเสบอาจมาจากพันธุกรรม ภูมิต้านทานผิดปกติ หรือพฤติกรรมการกินอาการ คือ ถ่ายวันละหลายรอบ ปวดเกร็งช่องท้อง ท้องเสีย ถ่ายเป็นมูกหรือเลือด ซึ่งอาจทำให้เกิดการอักเสบ มีแผล และมีเลือดออกในลำไส้รวมถึงอาจมีการติดเชื้อซ้ำเติม ภาวะโลหิตจาง หรือลำไส้ตีบตันเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ 2-20 เท่า พฤติกรรมเนือยนิ่ง (Sedentary Behavior) ขาดการเคลื่อนไหว หรือมีกิจกรรมทางกายไม่ถึง 150 นาทีต่อสัปดาห์ ซึ่งจะทำให้ร่างกายเผาผลาญน้อยลง น้ำตาลและไขมันในเลือดสูงเสี่ยงเป็น “โรคอ้วน” ซึ่งเสี่ยงเป็นมะเร็งลำไส้มากกว่าคนปกติ 30-70% นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น เช่น สูบบุหรี่จัด และต่อเนื่องยาวนาน ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประจำกรรมพันธุ์คนในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ มะเร็งในส่วนอื่นๆ ลุกลามมา อาการเตือนของโรคมะเร็งลำไส้ สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ ในระยะแรกจะยังไม่แสดงออกการมากนัก และอาการเริ่มแรกจะคล้ายกับโรคอื่นๆ เช่น น้ำหนักลด ท้องเสีย ท้องผูก ขับถ่ายผิดปกติ มีเลือดออกทางทวาร หรืออุจจาระมีลักษณะเปลี่ยนไป อุจจาระมีเลือดปน มีสีคล้ำ หรือกลิ่นเหม็นผิดปกติ หากมีการปวดท้องร่วมด้วย ลักษณะการปวดขึ้นอยู่กับก้อนมะเร็งและตำแหน่งที่พบ เช่น ปวดบริเวณชายโครงด้านขวา หรือปวดบิดอย่างรุนแรง เป็นต้น ตรวจไว รู้ไว มะเร็งลำไส้รักษาได้ ในเบื้องต้น การตรวจวินิจฉัยมะเร็งลำไส้สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การส่องกล้องตรวจลำไส้ การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือการตรวจอุจจาระ เป็นต้น โดยวิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ การส่องกล้อง เพราะเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงและให้ความแม่นยำได้ดี ทำให้แพทย์ทั่วโลกเลือกใช้วิธีนี้ การส่องกล้องยังสะดวกสบายกับตัวผู้ป่วย เพราะไม่ต้องตรวจบ่อยๆ ในกรณีที่ไม่พบความผิดปกติ สามารถตรวจในระยะ 5-10 ปีได้ และหากพบก้อนเนื้อ ก็สามารถเก็บชิ้นเนื้อได้ทันที โรคมะเร็งสำไส้ หากตรวจพบเร็ว โอกาสรักษาหายจะสูงมาก ดังนั้นเมื่อพบความผิดปกติหรือมีอาการน่าสงสัย ควรรีบพบแพทย์ ขอบคุณข้อมูลจาก : BDMS สถานีสุขภาพ

Hospital Logo

ติดต่อสอบถามเจ้าหน้าที่

บริการให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง