ส่องกล้อง "มะเร็งลำไส้ใหญ่"
จากข้อมูลสถิติของการเกิดโรคมะเร็งพบว่า “มะเร็งลำไส้ใหญ่” มีอัตราการเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ อาจเพราะในปัจจุบันพฤติกรรมการใช้ชีวิต และการบริโภค เปลี่ยนแปลงไป คนไทยเรารับประทานอาหารแบบตะวันตกมากขึ้น ผนวกกับสภาวะแวดล้อมในปัจจุบัน การทำงาน ความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถูกเรียกว่า Epigenetic เกิดจากสิ่งแวดล้อมด้านอาหาร พฤติกรรม ปัจจัยอีกหนึ่งส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งนั่นก็คือ Genetics เป็นเรื่องของพันธุกรรมที่มีการถ่ายทอดโดยยีนซึ่งจะส่งผลกับทุกคน นั่นหมายความว่าคนเราทุกคนมียีนของมะเร็งอยู่ในตัวประมาณ 30% เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ และหากมีพ่อ แม่ หรือญาติสายตรงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ สัดส่วนที่มีการถ่ายทอดมาสู่ลูกก็จะมากขึ้นตามไปด้วยรวมเป็นประมาณ 50% แต่อีก 50% ที่เหลือเป็นเรื่องของ Epigenetic ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ทำให้มะเร็งที่อยู่ในตัวของเรานั้นแสดงผลออกมาว่าเป็นมะเร็งหรือไม่เป็นเพราะฉะนั้น ถึงแม้พ่อแม่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ลูกก็อาจเป็นหรือไม่เป็นได้ สถานการณ์ปัจจุบันคนส่วนใหญ่เป็นมะเร็งกันมาก เพราะเรื่องของสิ่งแวดล้อมและการใช้ชีวิต เช่น พักผ่อนน้อย เครียด ไม่ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่กากใยน้อย ล้วนกระตุ้นให้ยีนของเซลล์มะเร็งแสดงผลออกมา จึงทำให้พบผู้ที่เป็นมะเร็งมากขึ้นกว่าในอดีต
ทำไมเราควรส่องกล่องตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy)
เพราะการคัดกรองดังกล่าว เป็นมาตรฐานสากล การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยเทคนิคที่ทันสมัยผ่านทางกล้อง NBI (Narrow Band Image), EMR (Endoscopic Mucosal Resection) และ ESD (Endoscopic Submucosal Dissection) เป็นรูปแบบการผ่าตัดแบบแผลเล็ก (Minimal Invasive Surgery- MIS) ช่วยให้แพทย์สามารถตัดก้อนเนื้อขนาดใหญ่ออกจากลำไส้ใหญ่และกระเพาะอาหารได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเปิดแผลหน้าท้อง เป็นการผ่าตัดที่ปลอดภัย สามารถลดความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด โดยเกณฑ์ของสมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหาร ประเทศสหรัฐอเมริกาได้กำหนดไว้คือเพศชาย และหญิงอายุ 50 ปี ทุกคนต้องตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยการส่องกล้อง แต่ในกรณีที่พ่อแม่ ญาติสายตรงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ให้ใช้หลักโดยการนำอายุขณะที่ญาติที่เป็นลบด้วย 10 เช่น แม่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่เมื่ออายุ 50-10 = 40 ปี ดังนั้น ลูกต้องเข้ารับการส่องกล้องตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่เมื่ออายุ 40 ปี เพื่อตรวจหาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น มะเร็งลำไส้ใหญ่เกิดจากติ่งเนื้อ เนื้องอกและพัฒนาไปเป็นมะเร็ง ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอายุมาก มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ มีประวัติ Epigenetic ด้านลบ ดังนั้น หากคนไข้ที่ตรวจส่องกล้องและไม่พบติ่งเนื้อ และไม่มีความเสี่ยงใดๆ แพทย์จะให้นัดตรวจติดตามในอีก 5-10 ปี
ใครบ้างที่ควรส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่และไส้ตรง
- มีอาการผิดปกติในระบบทางเดินอาหารหรือมีอาการดังที่กล่าวไว้ข้างต้น
- อายุ 15-20 ปีขึ้นไป โดยมีประวัติญาติเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือไส้ตรง 3 คนขึ้นไป
- อายุ 40 ปีขึ้นไป โดยมีประวัติญาติสายตรงเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือไส้ตรง 1 คนขึ้นไป
- อายุ 50 ปีขึ้นไป โดยไม่มีปัจจัยเสี่ยงและไม่มีอาการผิดปกติ
การส่องกล้องมะเร็งลำไส้ใหญ่ เจ็บตัวหรือไม่?
การส่องกล้องตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่สามารถทำได้ทั้งเป็นเครื่องมือในการตรวจวินิจฉัย และการรักษาในเวลาเดียวกัน โดยใช้เวลาตรวจรักษาประมาณ 30 นาที โดยไม่ต้องวางยาสลบ เรียกได้ว่าตั้งแต่การเตรียมตัว จนกระทั่งแพทย์ตรวจรักษาโดยการตัดติ่งเนื้อ และให้คนไข้พักหลังทำหัตถการใช้เวลารวมประมาณครึ่งวัน ในบางรายอาจกังวลว่าหลังจากที่ตัดติ่งเนื้อไปแล้วจะเจ็บหรือไม่ บอกได้เลยว่า “ไม่เจ็บ” เพราะบริเวณนั้นเป็นเยื่อบุ ไม่มีเส้นประสาทไปหล่อเลี้ยง จึงหมดกังวลเรื่องความเจ็บปวดไปได้
ข้อดีของการส่องกล้องคัดกรองมะเร็งลำใส้ใหญ่
เป็นการตรวจมาตรฐานสากลที่มีประโยชน์เป็นอย่างมาก และเป็นอีกช่องทางที่เสมือนช่วยหลีกเลี่ยงให้ห่างไกลจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ทางหนึ่ง เพราะการป้องกันคือสิ่งที่สำคัญที่สุด บางคนอาจมองว่าการตรวจสุขภาพแต่ละครั้งต้องเสียค่าใช้จ่ายในระดับหนึ่ง แต่อยากให้ลองมองในมุมกลับกันว่าในแต่ละปีคุณเสียค่าใช้จ่ายไปกับสิ่งต่างๆ เป็นจำนวนมาก โดยไม่มีประโยชน์ให้กับร่างกายเลย แต่หากเราตัดสินมาตรวจสุขภาพเพื่อตรวจหาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นในร่างกาย โดยที่เราไม่สามารถทราบได้ด้วยตนเอง นับว่าเป็นสิ่งที่คุ้มค่ากับชีวิตของทุกคน
ขอบคุณข้อมูลจาก : BDMS สถานีสุขภาพ