อหิวาต์ (Cholera)

อหิวาต์ (Cholera)

อหิวาต์ หรืออหิวาตกโรค เป็นโรคท้องเสียที่มีอาการรุนแรง และระบาดได้รวดเร็ว ในอดีตเคยมีการระบาดของโรคนี้จนมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก จึงถูกเรียกว่า “โรคห่า” ในปัจจุบันความรุนแรงของโรคลดลง ระบาดน้อยลง โรคนี้มักพบในช่วงฤดูร้อน และพบในชุมชนที่การสุขาภิบาลยังไม่ดี

สาเหตุ

เกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งเชื้อมีอยู่ 2 ชนิด ดังนี้

  1. เชื้อชนิดร้ายแรง ได้แก่ วิบริโอ คอเลอรา (Vibrio cholerae)

  2. เชื้อชนิดอ่อน ได้แก่ เอลทอร์ (EL Tor)

โดยเชื้ออหิวาต์เหล่านี้จะปล่อยสารพิษ (Toxin) ทำให้เกิดอาการท้องร่วง ซึ่งเชื้อมีระยะฟักตัว 1-5 วัน (เฉลี่ยประมาณ 1-2 วัน)

อาการ

เกิดขึ้นทันทีทันใดด้วยอาการท้องเสียถ่ายเหลวอย่างรุนแรง อุจจาระมักจะไหลพุ่งโดยไม่มีอาการปวดท้อง และมีอาเจียนโดยที่ไม่มีอาการคลื่นไส้นำมาก่อน อุจจาระเหมือนน้ำซาวข้าว

ในรายที่เป็นรุนแรง จะมีอาการขาดน้ำรุนแรง และช็อกอย่างรวดเร็ว อาจจะมีเสียงแหบแห้ง เป็นตะคริว ตัวเย็น เหงื่อออก ปัสสาวะออกน้อย ชีพจรเต้นเร็ว ความดันต่ำ ไม่มีไข้ หากรักษาไม่ทันผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตได้ในเวลาสั้น ๆ

ในรายที่เกิดจากเชื้ออหิวาต์อย่างอ่อน หรือเชื้อเอลทอร์ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลวบ่อยครั้งคล้ายโรคท้องเสีย มักจะหายใน 1-5 วัน

การรักษา

หากอาการท้องเสียรุนแรง ซึ่งชวนสงสัยว่าเป็นอหิวาต์ แพทย์จะพิจารณาเก็บอุจจาระส่งเพาะเชื้อ ให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ(ให้น้ำเกลือ) รับประทานยาฆ่าเชื้อตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เมื่อรักษาได้ทันการณ์ มักจะหายขาดภายในไม่กี่วัน โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนแต่อย่างใด อันตรายมักจะเกิดกับผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาช้าเกินการณ์คือ ปล่อยให้มีภาวะขาดน้ำรุนแรง

การป้องกัน

  1. รับประทานอาหารปรุงสุก สะอาด ไม่มีแมลงวันตอม

  2. ดื่มน้ำสะอาด

  3. สำหรับผู้ป่วยโรคนี้ ควรนำอาเจียนและอุจจาระของผู้ป่วยไปเทใส่ส้วมหรือฝังดินให้มิดชิด ห้ามเทตามพื้นหรือลงแม่น้ำลำคลอง ส่วนเสื้อผ้าของผู้ป่วยที่แปดเปื้อนเชื้อควรนำไปฝังหรือเผาเสีย ห้ามนำไปซักในแม่น้ำลำคลอง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่นในชุมชน

  4. อาจมีการเก็บอุจจาระของคนที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยส่งตรวจหาเชื้อ หากมีการติดเชื้อจะได้ทำการรักษาทันท่วงที

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี 039-319888

บทความที่เกี่ยวข้อง

5 นิสัย เสี่ยงมะเร็งลำไส้

5 นิสัย เสี่ยงมะเร็งลำไส้

5 นิสัย เสี่ยงมะเร็งลำไส้ มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งชนิดที่พบมากเป็นอันดับ 3 ในเพศชายและอันดับ 5 ในเพศหญิง ซึ่งแน่นอนว่ามะเร็งทุกชนิดยังไม่พบสาเหตุที่แท้จริงว่าเกิดจากอะไรแต่เหล่าแพทย์และนักวิจัยต่างคาดการณ์ว่า สาเหตุหลักๆ เกิดจากการใช้ชีวิตประจำวันของเรานี้แหละ โดยเฉพาะพฤติกรรมการกินการใช้ชีวิตปล่อยให้ท้องผูกบ่อยๆจนเป็นเรื่องปกติ ดื่มเหล้าและสูบบุหรี่จัด เห็นไหมละคะว่าที่กล่าวมาล้วนแล้วแต่ใกล้ตัวเราตั้งสิ้น แทบจะไมได้ระมัดระวังตัวเองแม้แต่น้อย กลไกมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มะเร็งสำไส้ใหญ่และทวารหนักเกิดจากการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเซลล์เยื่อบุลำไส้ใหญ่ พัฒนาไปจนเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ในที่สุด ในอาการเริ่มแรกมักไม่มีอาการหรือเล็กๆน้อยๆอย่างเช่นท้องอืด ท้องผูกบ่อยๆ กว่าจะรู้ตัวเมื่อสายเกิดไปแล้ว แต่ปัจจุบันทางการแพทย์ได้มีการคัดกรองโรคตรวจพบอาการผิดปกตินี้ได้ตั้งแต่การเป็นติ่งเนื้อและสามารถตัดออกไปได้ทัน! ก็จะทำลายโอกาสการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ ซึ่งจากข้อมูลทางทฤษฎีพบว่าติ่งเนื้อขนาด 1 ซม.จะใช้เวลานานถึง 10 ปีในการพัฒนากลายเป็นมะเร็ง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงมาในอาการมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะลุกลามแล้วนั้นเอง โดยเฉพาะคนทำงานวัยกลางคน 40 ขึ้นไปที่ระบบการย่อยเริ่มเสื่อมสภาพ แน่นอนว่า มะเร็งมักหยิบฉวยโอกาสจากความเสื่อมของร่างกายอย่างอายุ และกรรมพันธุ์แต่ไม่ได้หลายความว่าทุกคนจะต้องป่วยด้วยโรคนี้เราสามารถเฝ้าระวัง คัดกรองและตัดพฤติกรรมเสี่ยงออกไปได้ ทำไมมะเร็งลำไส้ ถึงมีแนวโน้มสูงขึ้นในคนรุ่นใหม่อายุน้อย? ชอบบริโภคเนื้อสัตว์เนื้อแดง อาหารแปรรูป ไขมันสูง วิถีชีวิตที่เร่งรีบและเปลี่ยนไป การทานอาหารกลายเป็นเรื่องที่ง่ายและสะดวก ซึ่งหลายต่อหลายครั้งที่เราไม่ได้คำนวนถึงสัดส่วนให้ครบ 5 หมู่ โดยองค์กรวิจัยมะเร็งนานาชาติ หรือ International Agency for Research on Cancer (IARC) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดให้เนื้อสัตว์แปรรูปเป็นสารก่อมะเร็งกลุ่ม 1 คือ สามารถก่อมะเร็งในมนุษย์ ส่วนเนื้อแดง เป็นกลุ่ม 2A คือ อาจจะก่อมะเร็งในมนุษย์ การบริโภคเนื้อแปรรูปที่มากขึ้นและเป็นประจำจะเพิ่มความเสี่ยงการเป็นมะเร็งลำไส้และไส้ตรง แม้ว่าเนื้อสัตว์แปรรูปจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มสารก่อมะเร็งเดียวกันกับบุหรี่ แอลกอฮอล์ แร่ใยหิน สารหนู เป็นต้น แต่ไม่ได้มีอันตราย ดังนั้นสามารถรับประทานเนื้อสัตว์แปรรูปได้ แต่ให้จำกัดปริมาณไม่เกิน 500 กรัมต่อสัปดาห์สำหรับเนื้อแดงมีคุณค่าทางโภชนาการ เช่น โปรตีน สังกะสี เหล็ก วิตามินบี 12 อีกทั้งควรบริโภคโปรตีนจากแหล่งอื่นเสริม เช่น ไข่ เต้าหู้ และถั่ว ชอบกินอาหารปิ้งย่าง รมควัน ยิ่งติดมัน ไหม้เกรียมกรอบๆ ยิ่งอร่อย แต่รู้หรือไม่เมนูที่บางคนกิน 6 วันต่อสัปดาห์นี้เป็นปัจจัยเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่ เพราะนอกจากจะมีไขมันอิ่มตัวสูงแล้ว เนื้อวัวและเนื้อหมูยังเป็นสัตว์เนื้อแดงที่มีสารประกอบฮีโมโกลบิน ที่เรียกว่าฮีม (heme) หากรับประทานมากจะไปกระตุ้นเซลล์มะเร็งให้เติบโต รวมถึงการปิ้งย่างยังเป็นวิธีปรุงสุกโดยมีไขมันหยดลงบนถ่านจนเกิดควัน ทำให้เกิดสารโพลีไซคลิก อโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง หากรับประทานบ่อยๆ จะสะสมอยู่ในร่างกาย ส่งผลให้ร่างกายเกิดการอักเสบเรื้อรัง จนกลายเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ในที่สุด หากเป็นเมนูโปรดจริงๆ หรือหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรตัดส่วนที่ไหม้เกรียมทิ้งก่อนรับประทาน อย่างไรก็ตามไม่ควรรับประทานในปริมาณมากและบ่อยจนเกินไป ไม่กินผัก-ผลไม้ ไม่เสริมกากใย ผักผลไม้เสมือนตัวช่วยทำความสะอาดลำไส้และร่ากายมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังต่างๆ ช่วยทำความสะอาดลำไส้ ช่วยลดการดูดซึมไขมัน ช่วยปรับสมดุลเอนไซม์และฮอร์โมนในร่างกายให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย ทั้งยังช่วยต้านมะเร็งหรือลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งบางชนิดได้อีกด้วย ควรกินผักให้เพียงพอ โดยในเด็กควรกินผักให้ได้วันละ 12 ช้อนหรือ 4 ทัพพี และในผู้ใหญ่ควรกินผักให้ได้วันละ 18 ช้อน หรือ 6 ทัพพีแนะนำให้กินผลไม้วันละ 400 กรัม ที่สำคัญควรเลือกผักให้ ให้หลากหลาย เพื่อให้ได้รับวิตามินต่างชนิดกัน ชอบดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่จัด แม้ว่าเอทานอลที่อยู่ในแอลกอฮอล์จะไม่ใช่สารก่อมะเร็ง แต่เมื่อเข้าสู่ระบบเผาผลาญของร่างกายมันจะแปรเปลี่ยนกลายเป็นสารก่อมะเร็งได้ พฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์จึงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อโรคมะเร็งหลายๆ อย่าง หรือแม้แต่คนที่สูบบุหรี่จัด สารพิษในบุหรี่ก็สามารถส่งผลให้เกิดการอักเสบหรือเกิดแผลในลำไส้ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งได้เช่นกัน ไม่ควบคุมน้ำหนักปล่อยให้อ้วน หลายๆ การศึกษาวิจัยพบว่า ผู้ที่มีน้ำหนักมากกว่าเกณฑ์มาตรฐาน มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งมากยิ่งขึ้น เนื่องจากระดับไขมันที่สูงมีความสัมพันธ์กับโรคมะเร็งนั่นเอง โดยผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์แห่งสหราชอาณาจักร พบว่า ภาวะอ้วนสามารถเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งได้มากถึง 11 ชนิด หนึ่งในนั้นคือ มะเร็งลำไส้ ซึ่งอาจเกิดจากติ่งเนื้อขนาดเล็ก เรียกว่า โพลิป (Polyp) ซึ่งเป็นเซลล์เนื้อผิดปกติที่งอกจากผนังลำไส้ การสะสมไขมันในช่องท้องส่งผลต่อการทำงานของฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งเป็นสารที่เปลี่ยนเป็นฮอร์โมนแอนดรอกทินซึ่งส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้ ซึ่งผู้ที่มีภาวะอ้วนเสี่ยงเป็นมะเร็งลำไส้มากกว่าคนปกติ 30-70% เลยทีเดียวค่ะ จะเห็นได้ว่าสาเหตุของมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนหนึ่งคือพฤติกรรมการกินและ โรคอ้วน ดังนั้นการหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันและ มีแคลอรีสูง รับประทานผัก ผลไม้มากๆ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ก็จะสามารถหลีกเลี่ยงโรคอ้วนซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ นอกจากนี้ การงดสูบบุหรี่และทำตรวจคัดกรองโรคกรณีที่มีปัจจัยเสี่ยง หรือมีอาการชวนสงสัยว่าอาจจะเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ จากผลการศึกษาการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ในต่างประเทศทำให้มีคำแนะนำให้ตรวจคัดกรองโรคนี้ในช่วงอายุ 50 ปี หรือมากกว่า หรือคนที่มีประวัติโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในครอบครัว หรือคนที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรค ขอบคุณข้อมูลจาก : BDMS สถานีสุขภาพ

ไขมันพอกตับ

ไขมันพอกตับ

ไขมันพอกตับ จุดเริ่มต้นมะเร็งตับ-ตับแข็ง 8 สัญญาณ “ไขมันพอกตับ”ภัยพฤติกรรมเลี่ยงละเลยอาจพ่วงมะเร็งตับ-ตับแข็ง รู้หรือไม่? คนรุ่นใหม่ป่วยเป็น ไขมันพอกตับ โดยไม่รู้ตัวเพราะไลฟ์สไตล์ที่ง่ายๆ สะดวก รวดเร็ว และสังสรรค์บ่อย และหลายคนมองข้ามภาวะดังกล่าว เพราะคิดว่าที่ไม่อันตรายและปล่อยปะละเลย และบางทีอาจจะไม่รู้ตัวว่ากำลังประสบอยู่ ซึ่งหากปล่อยลุกลาม อาจต้องเผชิญกับโรคตับแข็งและมะเร็งตับในที่สุด ตับเป็นอวัยวะสำคัญ มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองในร่างกาย มีหน้าที่ทำลายสารพิษต่างๆ ที่เป็นอันตรายจากเลือด รวมถึงเป็นที่สำหรับกักเก็บพลังงานในรูปแบบของไขมันเพื่อใช้สร้างเป็นแหล่งพลังงาน แต่หากกินอาหารที่ให้พลังงานสูง หรือไขมันสูงมากจนเกินไป โดยไม่มีการใช้พลังงานออกไปอย่างเหมาะสม รวมไปถึงการดื่มแอลกอฮอล์จะทำให้เกิดการสะสมไขมันในตับจำนวนมากกว่า 5-10% ของน้ำหนักตับ ถือว่าเริ่มมีภาวะไขมันพอกตับ(Fatty liver) ส่งผลให้เซลล์ตับเกิดการอักเสบ เมื่อเป็นเรื้อรังจะมีการสร้างพังผืดมากขึ้น จนกลายเป็นโรคตับแข็ง และเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับซึ่ง ผู้ป่วยที่มีภาวะไขมันพอกตับจำนวนมากมักไม่แสดงอาการใดๆ จนกว่าตับจะถูกทำลายอย่างรุนแรง เช่น เมื่อมีภาวะตับแข็งในระยะแรก จะเริ่มแสดงอาการ เช่น อ่อนเพลีย คลื่นไส้ ขาบวม ตัวตาเหลือง หรือจุกแน่นบริเวณท้องด้านขวาบน ควรพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย สาเหตุของการเกิดภาวะไขมันพอกตับ ภาวะไขมันพอกตับจากการดื่มแอลกอฮอล์ (Alcohol-related Fatty Liver Disease) มีสาเหตุหลักจากการดื่มแอลกอฮอล์ติดต่อกันในปริมาณมาก จนตับไม่สามารถทำงานได้ปกติ และเกิดการสะสมของไขมันที่ตับในที่สุด ภาวะไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ (Non-alcoholic Fatty Liver Disease : NAFLD) หรือในปัจจุบันมีผู้พยายามเปลี่ยนชื่อเป็น Metabolic-associated Fatty Liver disease (MAFLD) เพื่อให้สอดคล้องกับกลไกการเกิดโรคมากขึ้น เป็นที่ชัดเจนว่าเกิดจากภาวะระบบการเผาผลาญผิดปกติ สัมพันธ์กับภาวะดื้ออินซูลิน (Insulin resistance) เช่น โรคอ้วนลงพุง (Metabolic syndrome), โรคเบาหวานชนิดที่ 2, โรคไขมันในเลือดสูง และโรคความดันโลหิตสูง จากข้อมูลในปัจจุบัน พบว่า ผู้ป่วยโรคตับเรื้อรัง และโรคตับแข็ง ที่ได้รับการวินิจฉัยใหม่ มีสาเหตุมาจากภาวะนี้ถึงหนึ่งในสามของผู้ป่วยทั้งหมด อาการของไขมันพอกตับ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ มึนงง ผิวและตาเหลือง ปัสสาวะสีเข้ม อ่อนเพลีย ไม่มีแรง รู้สึกเหนื่อย น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ ขาบวม หรือมีน้ำในช่องท้อง ไม่สบายท้องหรือปวดบริเวณท้องด้านขวาบน ผิวหนังคัน ช้ำ หรือเลือดออก เนื่องจากภาวะไขมันพอกตับ มีสาเหตุจากการเผาผลาญพลังงานที่ไม่เหมาะสม มีความผิดปกติเกี่ยวกับระบบเมตาบอลิซึม จึงมักพบร่วมกับโรคต่างๆ ดังนี้ โรคเบาหวาน ทั้งชนิดที่ 2 และชนิดที่ 1 โรคอ้วนลงพุง ไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ การวินิจฉัยภาวะไขมันพอกตับ หากแพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยอาจมีภาวะไขมันพอกตับ หรือเป็นผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง แพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย หาปัจจัยเสี่ยงต่างๆ รวมถึงประวัติครอบครัว ประวัติการใช้ยาต่างๆ การดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งนี้อาจส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมอาทิ การเจาะ การตรวจอัลตร้าซาวด์ตับ การตรวจวัดความยืดหยุ่นของตับ (Liver stiffness) ด้วยวิธีตรวจไฟโบรสแกน (FibroScan®) เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI scan) สามารถตรวจพบไขมันสะสมในตับได้ ตั้งแต่ 5-10% แต่ส่วนมากใช้เมื่อสงสัยว่าจะมีก้อนผิดปกติในตับมากกว่า แนวทางการรักษาภาวะไขมันพอกตับ ปัจจุบันยังไม่มียาสำหรับรักษาภาวะไขมันพอกตับโดยตรง การรักษาภาวะไขมันพอกตับยังมุ่งเน้นไปที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และดูแลสุขภาพในองค์รวม ดังนี้ หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง ลดอาหารจำพวกแป้ง และคาร์โบไฮเดรต เพิ่มโปรตีนที่มีคุณภาพ และผักต่างๆ ให้มากขึ้น ออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยครั้งละ 45 นาที 3-4 ครั้งขึ้นไปต่อสัปดาห์ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ ลดการดื่มแอลกอฮอล์ให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม โดยปริมาณแอลกอฮอล์ที่พอรับได้ สำหรับผู้ชาย คือไม่เกิน 2-3 แก้ว/วัน และ 1-2 แก้วต่อวัน สำหรับผู้หญิง ใช้ยาเท่าที่จำเป็น หลีกเลี่ยงการกินยาสมุนไพร หรือยาที่ไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ลดหรือเลิกสูบบุหรี่ การป้องกันภาวะไขมันพอกตับ ไขมันพอกตับเป็นภาวะที่สามารถป้องกันเบื้องต้นได้ หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และมีการดูแลสุขภาพที่ดี โดยเฉพาะการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างหลากหลายและออกกำลังกายสม่ำเสมอ สำหรับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวควรพบแพทย์ตามนัด รับประทานยา และปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์นอกจากนี้การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบหลายชนิดสามารถทำลายตับได้เช่นกัน เพื่อปกป้องสุขภาพตับ แพทย์อาจแนะนำให้รับวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบเอ และไวรัสตับอักเสบบี ขอขอบคุณข้อมูลจาก : BDMS สถานีสุขภาพ

4 ระยะ “มะเร็งลำไส้ใหญ่”ระยะไหนหายขาดได้

4 ระยะ “มะเร็งลำไส้ใหญ่”ระยะไหนหายขาดได้

มะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colon Cancer) คือ โรคที่เกิดจากความผิดปกติของเนื้อเยื่อลำไส้ใหญ่และลำไส้ที่มีการเปลี่ยนแปลงและแบ่งตัวอย่างต่อเนื่องจนไม่สามารถควบคุมได้ กลายเป็นก้อนหรือเนื้องอก ระยะแรกอาจเป็นเพียงแค่ติ่งเนื้องอกเล็ก ๆ เรียกว่าโพลิป (Polyp) แต่หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ทำการรักษาหรือตัดทิ้ง อาจพัฒนากลายเป็นมะเร็ง ที่สามารถลุกลามทะลุผนังลำไส้จนแพร่กระจายต่อไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้ อีกทั้งคาดว่าจะเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมส่งต่อของยีนต์มะเร็ง และพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิต กลุ่มคนที่สุ่มเสี่ยงคือชอบกินอาหารปิ้งย่างที่ไหม้เกรียม อาหารแปรรูป ไขมันสูง ไม่ชอบกินผัก ผลไม้ที่มีไฟเบอร์ หรือแม้กระทั้งการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ ปล่อยให้ตัวเองท้องผูกบ่อยครั้งก็จัดก็นับเป็นความเสี่ยงด้วยเช่นกัน อาการของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะแรกมักไม่มีอาการแต่หากมีอาการ 8 ข้อต่อไปนี้ ควรพบแพทย์เพราะอาจเป็นอาการอาการของมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะหลังแล้วแม้อายุจะยังไม่ถึง 50 ปีก็ตาม อาการนำ โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ระยะแรกมักไม่มีอาการมักตรวจพบโดยบังเอิญ ท้องผูกสลับท้องเสีย อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน หรืออาจมีอาการท้องเสียเรื้อรัง ถ่ายเป็นเลือด อุจจาระเป็นเลือดสด หรือมี เลือดปนมากับอุจจาระ อุจจาระสีดำ หรือสีดำแดง อุจจาระลำเล็กลง ถ่ายไม่สุด ปวดลงทวาร อ่อนเพลียจากภาวะโลหิตจาง น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ ปวดท้องเรื้อรัง โดยเฉพาะบริเวณท้องน้อย หรือคลำได้ก้อนบริเวณหน้าท้อง มะเร็งลำไส้ แบ่งได้เป็น 5 ระยะ ระยะที่ 0 เซลล์มะเร็งที่เป็นเพียงติ่งเนื้อ ตรวจพบได้จากการส่องกล้อง (Colonoscopy) และสามารถตัดออกขณะส่องได้ทันที ตั้งแต่ก่อนการเป็นมะเร็งหรือเกือบเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ทำให้มีโอกาสหายขาดถึง 100% ระยะที่ 1 เซลล์มะเร็งระยะเติบโตขึ้น และยังอยู่ในผนังลำไส้ เริ่มฝังในชั้นผนังของลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โดยยังไม่กระจายไปสู่เนื้อเยื่อข้างเคียงหรือต่อมน้ำเหลือง ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด หรือ Curative resection เป็นการผ่าตัดลำไส้ใหญ่ นำส่วนที่ดีมาต่อกัน ทั้งยังเป็นเทคนิคที่ใช้ผ่าตัดในมะเร็งทวารหนักร่วมด้วยได้ ระยะที่ 2 เกิดการลุกลามออกนอกผนังลำไส้ใหญ่ในบริเวณใกล้เคียง แต่ยังไม่กระจายถึงต่อมน้ำเหลือง สามารถใช้การผ่าตัดแบบหวังหาย (Curative resection) เป็นการรักษาหลักเช่นเดียวกับระยะที่ 1 ระยะที่ 3 เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง แต่ยังไม่ลุกลามไปยังอวัยวะอื่น รักษาโดยการผ่าตัดแบบหวังหาย (Curative resection) ร่วมกับเคมีบำบัดหลังผ่าตัด ระยะที่ 4 มะเร็งแพร่กระจายลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น ตับ, ปอด หากก้อนมะเร็งที่ลุกลามไปที่ตับหรือปอดสามารถตัดออกได้ แพทย์จะทำการผ่าตัดมะเร็งที่ลำไส้ใหญ่หรือทวารหนักออก พร้อมผ่าตัดมะเร็งที่ลุกลามออกด้วย แล้วให้ยาเคมีบำบัดต่อไป การวินิจฉัยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ การซักประวัติ การตรวจร่างกายเบื้องต้น เช่น การตรวจทางทวารหนัก การตรวจอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น การตรวจอุจจาระทางห้องปฏิบัติการ การถ่ายภาพเอกซเรย์ด้วยการสวนแป้งทางทวารหนัก ทั้งนี้ เมื่อพบความผิดปกติ จะทำการตรวจอย่างละเอียดโดยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) ซึ่งเป็นการส่องกล้องเข้าไปทางทวารหนัก เพื่อให้เห็นภาพภายในลำไส้ใหญ่ทั้งหมด รวมถึงสามารถตัดชิ้นเนื้อที่สงสัยส่งตรวจทางพยาธิวิทยาได้ วิธีนี้จึงเป็นวิธีการตรวจที่มีความแม่นยำมากที่สุด ผู้ป่วยที่รักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่แล้ว มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีก ทั้งจุดเดิมของโรคและบริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนอื่นๆ ดังนั้น ผู้ป่วยจึงต้องใส่ใจรับการตรวจติดตามโรคเป็นระยะๆ ตามคำแนะนำของแพทย์ ซึ่งหลังการรักษานั้น แพทย์จะมีการติดตามผลเป็นระยะ โดยในช่วง 2 ปีแรก แพทย์จะนัดติดตามอาการทุก 3 - 6 เดือน และในช่วง 3-5 ปีหลัง แพทย์จะนัดติดตามอาการทุก 6 เดือน ในการนัดแต่ละครั้งแพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจร่างกาย นอกจากนั้น การจำกัดการบริโภคเนื้อแดง และอาหารไขมันสูง เพิ่มเกราะป้องกันให้ตัวเองโดยการบริโภค ผัก ผลไม้ และอาหารที่มีกากใยสูง เพื่อช่วยให้การขับถ่ายเป็นปกติ ออกกำลังกายเป็นประจำ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รวมถึงการเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี ผู้ป่วยควรลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ได้ ขอบคุณข้อมูลจาก : BDMS สถานีสุขภาพ

5 เทคนิคลดความเสี่ยง "มะเร็งลำไส้" ตามงานวิจัย

5 เทคนิคลดความเสี่ยง "มะเร็งลำไส้" ตามงานวิจัย

5 เทคนิคลดความเสี่ยง "มะเร็งลำไส้" ตามงานวิจัย เพิ่มความสมดุลร่างกาย มะเร็งลำไส้ ถูกคาดการณ์ว่าเกิดจากพฤติกรรมการกินแบบผิด ๆ วันนี้เราพามารู้จักเทคนิคกินแบบไหนให้ห่างไกลมะเร็ง! มะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคมะเร็งร้ายที่พบได้เป็นอันดับต้นๆ ในไทย เชื่อกันว่ามีปัจจัยหลักๆ ของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่มักมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตแบบผิดๆ โดยเฉพาะเรื่องของอาหารการกิน อาทิ ชอบกินอาหารปิ้งๆย่างๆไหม้เกรียม อาหารไขมันสูงแปรรูป โซเดียมสูง การไม่ชอบทานผักผลไม้ รวมถึงการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่จัด ซึ่งมีอาหารและวิธีการกินบางอย่างที่ทำให้เราสามารถลดความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ได้ 5 เทคนิคการกินช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ เน้นไฟเบอร์สูง แน่นอนว่า ไฟเบอร์หรือใยอาหาร ขึ้นชื่อเรื่องมีส่วนช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบขับถ่าย ซึ่งมีการศึกษาพบว่า..การทานใยอาหารเพิ่มขึ้น 10 กรัมต่อวัน ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ โดยอาหารไฟเบอร์สูงที่ควรทาน ได้แก่ ธัญพืช ผักตระกูลกะหล่ำ หรือผักโขม เป็นต้น เพิ่มแคลเซียมในแต่ละวัน มีการศึกษาเปรียบเทียบการทานแคลเซียมจากนมในแต่ละวัน โดยพบว่ากลุ่มที่ทานแคลเซียมจากนมสูงที่สุด สามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ถึง 20 %เลยทีเดียว เลือกทานปลาแทนเนื้อแดง ไขมันสูงจากเนื้อแดงจะเพิ่มโอกาสเสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่สำหรับมะเร็งลำไส้ยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้ชัดเจน อาจเกิดจากปัจจัยอื่นร่วม เช่น วิธีการปรุงที่มักใช้อุณหภูมิสูง แต่เพื่อลดความเสี่ยงควรหันมาทานไขมัน omega-3 จากเนื้อปลาแทนจะดีกว่า อีกทั้งปลายังไขมันต่ำช่วยในการลดน้ำหนักได้ดีอีกด้วย ทานอาหารอุดมด้วยแมกนีเซียม มีการศึกษาหลายชิ้นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของแมกนีเซียมกับมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยมีรายงานชิ้นหนึ่งกล่าวว่า การทานแมกนีเซียมเพิ่มขึ้น 100 มิลลิกรัมต่อวัน สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ถึงร้อยละ 12 ซึ่งเท่ากับการทานปลา 4 ออนซ์ ถั่วลิสง 2 ออนซ์ หรือผักโขมปรุงสุกประมาณ 1/2 ถ้วย ควบคุมการดื่มแอลกอฮอล์ จากการวิจัยชี้ชัดได้ว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีความสัมพันธ์กับมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยผู้ชายควรดื่มไม่เกิน 2 แก้วต่อวัน และผู้หญิงไม่เกิน 1 แก้วต่อวัน เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้ที่มีคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคนี้ อย่างไรก็ตามควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่และหลากหลายเพื่อให้ร่างกายได้ซ่อมแซมและฟื้นฟูตัวเอง และหากมีสัญญาณเตือนอย่างเช่นท้องสียท้องผูกบ่อยจนเป็นเรื่องปกติ น้ำหนักลดลงแม้กินอาหารเยอะขึ้นหรือเท่าเดิม ควรพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยเพราะถ้าหากพบโรคหรือรอยโรคเร็วก็มีโอกาสหายขาดได้อย่างแน่นอนค่ะ ขอบคุณข้อมูลจาก : BDMS สถานีสุขภาพ

3 ปัจจัยกระตุ้น “มะเร็งลำไส้ใหญ่” ในคนรุ่นใหม่

3 ปัจจัยกระตุ้น “มะเร็งลำไส้ใหญ่” ในคนรุ่นใหม่

3 ปัจจัยกระตุ้น “มะเร็งลำไส้ใหญ่” ในคนรุ่นใหม่ ยิ่งตามใจปากยิ่งเสี่ยง มะเร็งลำไส้ มะเร็งชนิดที่คนรุ่นใหม่เป็นเยอะขึ้นและมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ มีสถิติคร่าชีวิตคนไทยปีละกว่า 3,000 คน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 2.4 เท่าในอนาคตอันใกล้ ถึงแม้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงแต่เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์และวิถีชีวิตการกินที่เร่งรีบ โดยมีอาหารเป็นตัวกระตุ้น เช่น การทานอาหารจานด่วน เน้นกินเนื้อแดง อาหารแปรรูป กินอาหารปิ้งย่าง ไม่กินผัก-ผลไม้ อาหารที่มีกากใย ทุกอย่างล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งลำไส้ได้ทั้งสิ้น 3 ปัจจัยทำคนรุ่นใหม่เสี่ยงมะเร็งลำไส้มากขึ้น กินอาหารปิ้งย่าง-แปรรูป เชื่อว่าหลายคนคงทราบดีอยู่แล้วว่า การทานอาหารปิ้งย่าง หรืออาหารแปรรูปมากเกินไป เป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็ง เพราะเมื่อย่างเนื้อสัตว์จนไหม้เกรียมหรือมีรอยดำจะทำให้เกิดสารก่อมะเร็งติดมากับอาหาร หากกินบ่อยๆ จะสะสมในร่างกายและเป็นมะเร็งได้ โดยเนื้อแดง-เนื้อแปรรูป มีไขมันเยอะ ย่อยยาก ทำให้อุจจาระค้างในลำไส้ เมื่อผ่านการแปรรูปและปิ้งย่าง ก็ยิ่งเพิ่มสารก่อมะเร็ง โดยการกินเนื้อแดง 1 ขีดต่อวัน เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ 17% ส่วนเนื้อแปรรูปแค่ครึ่งขีดต่อวัน ก็เพิ่มความเสี่ยงถึง 18% โรคลำไส้อักเสบ (Inflammatory Bowel Disease: IBD) โรคลำไส้อักเสบอาจมาจากพันธุกรรม ภูมิต้านทานผิดปกติ หรือพฤติกรรมการกินอาการ คือ ถ่ายวันละหลายรอบ ปวดเกร็งช่องท้อง ท้องเสีย ถ่ายเป็นมูกหรือเลือด ซึ่งอาจทำให้เกิดการอักเสบ มีแผล และมีเลือดออกในลำไส้รวมถึงอาจมีการติดเชื้อซ้ำเติม ภาวะโลหิตจาง หรือลำไส้ตีบตันเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ 2-20 เท่า พฤติกรรมเนือยนิ่ง (Sedentary Behavior) ขาดการเคลื่อนไหว หรือมีกิจกรรมทางกายไม่ถึง 150 นาทีต่อสัปดาห์ ซึ่งจะทำให้ร่างกายเผาผลาญน้อยลง น้ำตาลและไขมันในเลือดสูงเสี่ยงเป็น “โรคอ้วน” ซึ่งเสี่ยงเป็นมะเร็งลำไส้มากกว่าคนปกติ 30-70% นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น เช่น สูบบุหรี่จัด และต่อเนื่องยาวนาน ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประจำกรรมพันธุ์คนในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ มะเร็งในส่วนอื่นๆ ลุกลามมา อาการเตือนของโรคมะเร็งลำไส้ สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ ในระยะแรกจะยังไม่แสดงออกการมากนัก และอาการเริ่มแรกจะคล้ายกับโรคอื่นๆ เช่น น้ำหนักลด ท้องเสีย ท้องผูก ขับถ่ายผิดปกติ มีเลือดออกทางทวาร หรืออุจจาระมีลักษณะเปลี่ยนไป อุจจาระมีเลือดปน มีสีคล้ำ หรือกลิ่นเหม็นผิดปกติ หากมีการปวดท้องร่วมด้วย ลักษณะการปวดขึ้นอยู่กับก้อนมะเร็งและตำแหน่งที่พบ เช่น ปวดบริเวณชายโครงด้านขวา หรือปวดบิดอย่างรุนแรง เป็นต้น ตรวจไว รู้ไว มะเร็งลำไส้รักษาได้ ในเบื้องต้น การตรวจวินิจฉัยมะเร็งลำไส้สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การส่องกล้องตรวจลำไส้ การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือการตรวจอุจจาระ เป็นต้น โดยวิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ การส่องกล้อง เพราะเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงและให้ความแม่นยำได้ดี ทำให้แพทย์ทั่วโลกเลือกใช้วิธีนี้ การส่องกล้องยังสะดวกสบายกับตัวผู้ป่วย เพราะไม่ต้องตรวจบ่อยๆ ในกรณีที่ไม่พบความผิดปกติ สามารถตรวจในระยะ 5-10 ปีได้ และหากพบก้อนเนื้อ ก็สามารถเก็บชิ้นเนื้อได้ทันที โรคมะเร็งสำไส้ หากตรวจพบเร็ว โอกาสรักษาหายจะสูงมาก ดังนั้นเมื่อพบความผิดปกติหรือมีอาการน่าสงสัย ควรรีบพบแพทย์ ขอบคุณข้อมูลจาก : BDMS สถานีสุขภาพ

ท้องผูกเป็นปกติ 1ใน 5 สัญญาณเสี่ยง“มะเร็งลำไส้”

ท้องผูกเป็นปกติ 1ใน 5 สัญญาณเสี่ยง“มะเร็งลำไส้”

ท้องผูกเป็นปกติ 1ใน 5 สัญญาณเสี่ยง“มะเร็งลำไส้”ที่ไม่ควรมองข้าม มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตอันดับ 3 ภัยเงียบที่แฝงอยู่ในชีวิตประจำวันซึ่งสัญญาณของโรคมักเป็นอาการเล็กๆน้อยๆ จนผู้ป่วยส่วยใหญ่ไม่ทันได้สังเกตรู้ตัวอีกทีก็ป่วยโรคร้ายซะแล้ว แต่หากลองลองสังเกตดีๆ จะมีสัญญาณเตือนส่งมาเป็นระยะ อะไรคือสัญญาณเตือนที่พึงระวังมะเร็งลำไส้ มะเร็งลำไส้ใหญ่ แน่นอนว่าเหมือนมะเร็งทุกชนิดที่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง แต่เกิดจากเป็นความผิดปกติของเซลล์ ที่ก่อตัวเป็นมะเร็งบริเวณลำไส้ใหญ่ มีความยาวเฉลี่ย 150 - 180 เซนติเมตร เกิดได้ตั้งแต่ส่วนต้นที่ติดกับลำไส้เล็ก ส่วนกลางลำไส้ ไปจนถึงส่วนปลายของลำไส้ใหญ่ที่อยู่ติดกับทวารหนัก ส่วนใหญ่แล้วจะเริ่มเกิดขึ้นจากจุดเล็กๆ เช่น มีติ่งเนื้อเล็กๆ เกิดขึ้นภายในลำไส้ นั้นหมายความว่าหากตรวจพบติ่งเนื้อเร็วก็สามารถรักษาหายได้ทันท่วงที 5 สัญญาณผิดปกติ ควรคำนึงถึง“มะเร็งลำไส้ใหญ่” คนในครอบครัวมีประวัติมะเร็งลำไส้ หากเป็นเช่นนั้นเราก็อาจมีโอกาสเกิดมะเร็งลำไส้มากกว่าคนปกติ 2 ใน 3 แต่ก็ไม่เสมอไปทั้งหมด เราสามารถเลี่ยงได้ด้วยการดูแลควบคุมตัวเองอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พยายามทานอาหารที่ช่วยระบบย่อยและขับถ่าย ไม่ปล่อยให้ท้องผูกเป็นระยะเวลานานๆ เลี่ยงอาหารปิ้ง ย่าง ทอด หรือมีไขมันสูง และควรหมั่นตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี พร้อมตรวจหาความเสี่ยงโรคมะเร็ง อย่างน้อยปีละ 1ครั้ง คนที่ท้องผูกเป็นปกติ อีกหนึ่งจุดเริ่มต้นของคนที่เสี่ยงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ หลายๆ คนคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย เพราะแค่ท้องผูกเอง หากนานๆ เป็นทีก็คงไม่เป็นอะไร แต่คนที่มีอาการท้องผูกติดต่อกันอย่างสม่ำเสมอ ก็แปลว่าระบบขับถ่ายไม่ดี แสดงว่าอาจมีความผิดปกติบางอย่างขึ้นที่บริเวณลำไส้ เช่น ลำไส้อักเสบ ลำไส้แปรปรวน ถ้าลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินและดื่มน้ำให้มากขึ้นแล้ว แต่ยังท้องผูกต่อเนื่อง หรืออาการไม่ดีขึ้นเลย ก็ควรจะรีบปรึกษาแพทย์ ถ่ายอุจจาระมีมูกเลือดปะปน เป็นหนึ่งเหตุผลที่ควรใส่ใจเวลาขับถ่ายก็ต้องหมั่นคอยสังเกต เพราะจะช่วยให้เราทราบความผิดปกติตั้งแต่เนิ่น ๆ หากใครที่ขับถ่ายแล้วมีมูกเลือดปนออกมาด้วยบ่อย ๆ แสดงว่าเริ่มมีความผิดปกติเกิดขึ้นแล้ว และลองสังเกตต่อไปหากอุจจาระมีขนาดเล็กผิดปกติ ก็ควรปรึกษาและบอกอาการที่เกิดขึ้นกับแพทย์ เพื่อช่วยค้นหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป น้ำหนักลดลงทั้งที่กินอาหารเท่าเดิม หนึ่งอาการที่แสดงออกมาทางร่างกาย แต่หลายคนอาจจะคิดว่าโชคดีเหลือเกินที่กินเท่าเดิมแต่น้ำหนักกลับลดลง ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยด้วยซ้ำถ้าร่างกายปกติดี หากช่วงนั้นเรารับประทานอาหารเท่าเดิม ไม่ได้ออกกำลังกายอะไรเป็นพิเศษ แต่น้ำหนักกลับลดฮวบฮาบ หรือลดลงผิดปกติ ก็เป็นอาการอย่างหนึ่งที่บอกถึงความผิดปกติของร่างกาย ที่เราควรรีบพบแพทย์เป็นการด่วน ระบบขับถ่ายผิดปกติ เดี๋ยวท้องผูก เดี๋ยวท้องเสีย อีกหนึ่งอาการที่สังเกตได้ของคนที่เป็นมะเร็งลำไส้ในระยะเริ่มต้น ซึ่งมักจะมีอาการท้องเสียสลับกับท้องผูกแบบที่เป็นเรื้อรังไม่หายขาดสักที หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน เลือกกินแต่อาหารปรุงสุกใหม่แล้วยังท้องเสีย แสดงว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นกับระบบขับถ่ายอย่างแน่นอน จะเห็นได้ว่าสัญญาณเหล่านี้ไม่ควรมองข้ามและควรรู้เอาไว้ เพราะหากรู้ทันไม่ใช่แค่มะเร็งลำไส้ แต่ยังหลายรวมถึงโรคภัยอื่นๆด้วยที่สำคัญการป้องกันที่ดีที่สุดคือการกินอาหารอย่างถูกหลักอนามัย ลดอาหารลดจัด แปรรูป ปิ้งย่าง เพิ่มไฟเบอร์ผักใบเขียวเพื่อกระตุ้นการขับถ่าย แน่นอนว่าสุขภาพกายคุณจะดีวันดีคืน ห่างไกลโรคภัยแน่นอนค่ะ ขอบคุณข้อมูลจาก : BDMS สถานีสุขภาพ