ลำไส้อักเสบ ไม่รักษาเสี่ยงมะเร็งลำไส้

หนึ่งในปัจจัยการก่อมะเร็งลำไส้ใหญ่ กว่า 20 เท่าคือ “โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง” ที่ส่วนมากผู้ป่วยมักไม่จริงจังกับการรักษาและปล่อยให้หายเองเนื่องจากอาการไม่รุนแรงกว่าจะรู้ตัวว่าเป็นมะเร็งแล้วก็สายเกินแก้ เช็ก 8 สัญญาณและอาการเรื้อรังก่อนลุกลามเป็นมะเร็งลำไส้

โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory Bowel Disease-IBD) เป็นกลุ่มโรคของการอักเสบในระบบทางเดินอาหาร ส่งผลให้เกิดแผลและมีเลือดออกบริเวณระบบทางเดินอาหาร รวมถึงทำให้ลำไส้บีบตัวเร็วขึ้น ผู้ป่วยมักมีอาการปวดท้อง ท้องร่วงอย่างรุนแรง อ่อนเพลีย และน้ำหนักลด แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ คือ

  • โรคลำไส้ใหญ่อักเสบ จะจำกัดอยู่เพียงบริเวณลำไส้ใหญ่ มักเกิดกับผู้ที่มีอายุ 15-35 ปี
  • โรคโครห์น อาจเกิดขึ้นกับระบบทางเดินอาหารส่วนใดก็ได้ ตั้งแต่ปากไปจนถึงทวารหนัก ปกติมักเกิดที่ลำไส้เล็กส่วนปลายและลำไส้ใหญ่ส่วนต้น มักพบในผู้ที่มีอายุระหว่าง 20 – 30 ปี

สาเหตุของโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคที่แน่ชัด แพทย์และผู้เชี่ยวชาญลงความเห็นว่าอาจเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันร่างกายผิดปกติ มีการสร้างเม็ดเลือดขาวในเยื่อบุทางเดินอาหารมากเกินไป ส่งผลให้เกิดการอักเสบเรื้อรังและนำไปสู่การอุดตันของลำไส้ ขณะที่พันธุกรรมก็อาจเป็นอีกสาเหตุสำคัญเพิ่มมากขึ้นกว่าคนปกติถึง 20%ซึ่งโรคโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง มักมีแนวโน้มจะเกิดในชาวตะวันตกมากกว่าชาวตะวันออก แต่ปัจจุบันคนไทยและชาวเอเชียมีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป มีการรับประทานอาหารแบบตะวันตกมากขึ้น จึงพบการเกิดโรคมากขึ้น

อาการของโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง

  • ปวดเกร็งช่องท้อง
  • ท้องเสีย มีตั้งแต่ถ่ายเพียงไม่กี่ครั้งไปจนถึงถ่ายบ่อยมากตลอดทั้งวัน ส่วนใหญ่มีมูกเลือดปะปน
  • เป็นไข้
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • อ่อนเพลีย
  • น้ำหนักลด
  • โลหิตจาง
  • อาจพบอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดตามข้อต่อ การมองเห็นผิดปกติ หรือมีแผลในปาก โดยอาการเหล่านี้มักเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรังเป็นปีและกลับมาเป็นซ้ำอีก

โรคลำไส้อักเสบเรื้อรังปล่อยไว้อาจกลายเป็นมะเร็งลำไส้ได้ ?

เป็นเรื่องจริง เพราะ ลำไส้อักเสบอาจมีอาการไม่รุนแรง มักเป็นๆ หายๆ จนผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ใส่ใจ และปล่อยทิ้งไว้โดยไม่พบแพทย์ หากเกิดภาวะอักเสบต่อเนื่องและไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจทำให้เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เนื่องจากสูญเสียเกลือแร่ สารอาหาร และเลือดออกไปกับอุจจาระจำนวนมาก รวมถึงส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะโลหิตจางและอาการแทรกซ้อนอื่นๆ จนมีโอกาสเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ในที่สุดซึ่งเพิ่มมากกว่าคนปกติถึง 2-20 เท่า

การวินิจฉัยโรคลำไส้อักเสบ

เนื่องจากโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังมีอาการคล้ายโรคทางเดินอาหารอื่นๆ การวินิจฉัยที่ชัดเจนจำเป็นต้องมีการส่งตรวจเพิ่มเติม เพื่อช่วยในการแยกวินิจฉัยโรค ดังนี้การตรวจร่างกาย โดยเน้นการตรวจบริเวณช่องท้องและทวารหนักส่งตรวจตัวอย่างเลือดและอุจจาระตรวจนับเม็ดเลือด เพื่อช่วยให้ทราบว่าผู้ป่วยสูญเสียเลือดระหว่างการขับถ่าย หรือมีภาวะโลหิตจางเอกซเรย์ลำไส้เล็ก หลังจากดื่มแบเรียม ซึ่งเป็นสารละลายที่ช่วยให้มองเห็นความผิดปกติในลำไส้เล็ก การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy)

การรักษาโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง

  • ดูแลอาหารและโภชนาการ ยังไม่พบว่าอาหารชนิดใดที่สามารถรักษาหรือมีผลทำให้โรคลำไส้อักเสบเรื้อรังแย่ลง แต่การรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งนี้ในช่วงที่มีอาการ แนะนำให้รับประทานอาหารปริมาณน้อยตลอดทั้งวัน ดื่มน้ำให้พอเพียง หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง งดดื่มแอลกอฮอล์และคาเฟอีน
  • รับประทานยา เพื่อให้เยื่อบุลำไส้คืนสู่สภาพปกติ ผู้ป่วยควรรับประทานยาสม่ำเสมอและพบแพทย์ตามนัด เพื่อควบคุมอาการไม่ให้กลับเป็นซ้ำ
  • ผ่าตัด กรณีที่ใช้ยารักษาแล้วแต่ไม่สามารถควบคุมอาการได้ หรือผู้ป่วยที่มีเลือดออกมาก แพทย์อาจพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัด ส่วนใหญ่ในผู้ป่วยลำไส้อักเสบสามารถรักษาหายขาด แต่ไม่แนะนำในผู้ป่วยโรคโครห์น เนื่องจากเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ทั้งในลำไส้ใหญ่และลำไส้เล็ก อย่างไรก็ตามหากผู้ป่วยเรื้อรังที่เกิดพังผืดในลำไส้ จนเกิดภาวะลำไส้ตีบ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะขาดอาหาร แพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดเป็นกรณีพิเศษ

ขอบคุณข้อมูลจาก : BDMS สถานีสุขภาพ

บทความที่เกี่ยวข้อง

“มะเร็งลำไส้” ทำไมชายวัย 50+ ควรคัดกรอง

“มะเร็งลำไส้” ทำไมชายวัย 50+ ควรคัดกรอง

“มะเร็งลำไส้” ชายวัย 50+ ควรคัดกรอง-ปัจจัยอะไรทำให้ยิ่งเสี่ยงมากขึ้น เพราะผู้ชายตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป จะมีโอกาสเสี่ยงมากกว่าคนที่อายุน้อย จึงไม่ควรมองข้ามการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ มะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colorectal cancer) ภัยร้ายที่มาจากพฤติกรรม มะเร็งลำไส้ คือ ก้อนเนื้องอกที่เกิดขึ้นบริเวณลำไส้ใหญ่ มักเกิดขึ้นจากติ่งเนื้อที่อยู่ที่ลำไส้ใหญ่มาก่อนสักระยะหนึ่ง ซึ่งหากติ่งเนื้อนั้นมีการเปลี่ยนแปลงของเซลล์จนโตขึ้นก็อาจจะกลายเป็นมะเร็งได้ในที่สุด เพราะสาเหตุสำคัญของโรคนี้ มักสืบเนื่องมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่ผิด ๆ อาทิ การเลือกกินอาหารที่ปิ้งย่างที่มักมีสารก่อมะเร็ง การกินอาหารแปรรูปบางอย่างมากเกินไป การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ การขาดการออกกำลังกาย มีความเครียดสูง และเมื่อมีปัญหาระบบขับถ่ายแต่ไม่ยอมไปพบแพทย์เพื่อรักษา นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ อาทิ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ขึ้นไป โดยเฉพาะเพศชายเนื่องจาก เป็นช่วงวัยที่ระบบทางเดินอาหารและระบบย่อยอาหารเริ่มเสื่อมประสิทธิภาพลง กว่าที่อาหารที่เข้าไปจะผ่านระบบย่อย และเดินทางมาถึงทวารหนักก็ต้องใช้เวลามากกว่าคนในวัยอื่นๆ พันธุกรรม การเลือกทานอาหารประเภทไขมันสูง ไม่มีใยอาหาร หรือทานผักผลไม้น้อย การสูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น สุรา เป็นประจำ การไม่ออกกำลังกาย และมีภาวะโรคอ้วน พฤติกรรมการขับถ่ายและอาการผิดปกติที่ไม่ควรปล่อยผ่าน ขับถ่ายบ่อยครั้งขึ้น หรือท้องผูกมากขึ้น ขับถ่ายไม่สุด หรือปวดเบ่ง ท้องเสียสลับกับท้องผูก มีเลือดสดๆ หรือเลือดแดงคลํ้าปนออกมากับอุจจาระ อุจจาระมีลักษณะก้อนเปลี่ยนเป็นเส้นลีบแบน มีท้องอืด ปวดท้อง แน่นท้อง จุกเสียด มีลมในลำไส้มาก นํ้าหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ เหนื่อย อ่อนเพลียง่าย จนกระทบต่อการใช้ชีวิต ปัจจุบันการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ มีหลายวิธี โดยวิธีที่ง่าย รวดเร็ว และประหยัดที่สุด คือ “การตรวจเลือดที่มองไม่เห็นในอุจจาระ” หรือที่เรียกว่า “Fecal Occult Blood Test” ซึ่งสามารถทำได้โดย การเก็บตัวอย่างของอุจจาระไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ หากเป็นผลบวก แสดงว่าอาจมีเลือดปนอยู่ในอุจจาระ ซึ่งควรเข้ารับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่อไป การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่สามารถทำได้ร่วมกับเทคนิคการถ่ายภาพทางรังสีวิทยา เช่น การสวนแป้ง และการถ่ายภาพลำไส้ใหญ่ด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Visual Colonoscopy) อย่างไรก็ตามวิธีการตรวจคัดกรองที่เป็นที่ยอมรับที่สุดในปัจจุบัน คือ การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) เนื่องจากการตรวจด้วยวิธีนี้นอกจากจะให้ข้อมูลที่มีความแม่นยำที่สุดแล้ว ยังสามารถทำการรักษาในกรณีที่ตรวจพบความผิดปกติในลำไส้ใหญ่ได้อีกด้วย กระบวนการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งลำไส้ใหญ่รักษาได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับขนาด จำนวนก้อนมะเร็ง และระยะของโรค รวมถึงสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย เช่น การผ่าตัด การให้เคมีบำบัด (Chemotherapy) การฉายรังสี (radiotherapy) ซึ่งการผ่าตัดร่วมกับเคมีบำบัด เป็นวิธีการรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่สำคัญที่สุด ส่วนการฉายแสงหรือการฉายรังสี มักจะรักษากับคนไข้ที่เป็นก้อนมะเร็งที่อยู่ในลำไส้ใหญ่ส่วนล่าง ๆ ซึ่งไม่สามารถที่จะผ่าตัดได้ ลดความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่ ออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยให้ได้สัปดาห์ละ 150 นาทีขึ้นไป เลือกทานอาหารที่มีกากใยสูงเพื่อช่วยในขับถ่าย ดื่มน้ำให้มาก และอย่าให้ท้องผูกเรื้อรัง เลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง หรือทานอาหารมากเกินไป งดการสูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งนี้ไม่ใช่แค่วัย 50+ ขึ้นที่ต้องใส่ใจเรื่องดังกล่าว หากอายุน้อยแต่มีพฤติกรรมเสี่ยงและมีอาการต้องสงสัยควรเข้ารับการคัดกรองด้วย เพราะหากปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานาน เซลล์มะเร็งอาจลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ ของร่างกาย โอกาสในการรักษาหายก็จะลดน้อยลง ขอบคุณข้อมูลจาก : BDMS สถานีสุขภาพ

ไวรัสตับอักเสบบี

ไวรัสตับอักเสบบี

กระเพาะอักเสบ (Gastritis)

กระเพาะอักเสบ (Gastritis)

กระเพาะอักเสบ (Gastritis) กระเพาะอักเสบ หมายถึงการอักเสบของเยื่อบุกระเพาะอาหาร ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นชนิดเฉียบพลันและชนิดเรื้อรัง กระเพาะอักเสบเฉียบพลัน (Acute gastritis) มักมีอาการเกิดขึ้นรวดเร็วและหายได้รวดเร็ว สาเหตุมีได้หลายอย่าง เช่น การกินยาแก้ปวดประเภทแอสไพริน หรือยาแก้ปวดข้อ การดื่มสุรา การรับประทานอาหารรสเผ็ดจัด หรือเกิดจากพิษของเชื้อโรค๖อาหารเป็นพิษ) โรคติดเชื้อไวรัส เช่น ไข้หวัดใหญ่ หัด ตับอักเสบ) หรือแพ้ยาแพ้อาหาร เป็นต้น โรคนี้เกิดในคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่ใช้ยาแอสไพริน หรือยาชุดแก้ปวดข้อปวดหลังเป็นประจำ ส่วนมากจะไม่มีอาการรุนแรง ส่วนน้อยที่อาจมีเลือกออกในกระเพาะ (อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระดำ) ซึ่งอาจรุนแรงจนช็อกได้ กระเพาะอักเสบเรื้อรัง (Chronic gastritis) มักมีอาการเรื้อรัง สาเหตุมีได้หลายอย่าง เช่น เกิดจากการดื่มสุรา การรับประทานยาแก้ปวด แอสไพริน หรือยาแก้ปวดข้อ หรือเกิดจากน้ำดีขย้อนจากลำไส้เล็กเข้าไปในกระเพาะอาหาร เป็นต้น บางรายเชื่อว่ามีความสัมพันธ์กับพันธุกรรม หรือความเครียดทางจิตใจ บางรายอาจมีความสัมพันธ์กับมะเร็งของกระเพาะอาหาร โดยเฉพาะในรายที่เป็นกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรังชนิดที่เยื่อบุกระเพาะมีลักษณะบางลง (Atrophic gastritis) ซึ่งมักพบในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยชนิดนี้อาจทำให้เกิดมะเร็งของกระเพาะอาหารตามมาภายหลังได้ อาการ กระเพาะอักเสบเฉียบพลัน ผู้ป่วยมักมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน เสียดแน่นตรงลิ้นปี่ บางรายอาจมีอาการปวดท้อง ท้องเดิน เป็นไข้ ปวดศีรษะคล้ายอาหารเป็นพิษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเกิดจากพิษของเชื้อโรค ในรายที่เป็นรุนแรง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสุราหรือยาแก้ปวด) อาจมีอาการอาเจียนเป็นเลือดสดหรือสีดำออกมากจนซีด หรือช็อก (เหงื่อออก ตัวเย็น ชีพจรเบาเร็ว ความดันตก) ในเวลารวดเร็ว กระเพาะอักเสบเรื้อรัง ส่วนมากจะไม่แสดงอาการผิดปกติ ในรายที่มีอาการปรากฏ อาจมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน เสียดแน่นตรงใต้ลิ้นปี่ เรอเปรี้ยว หรือมีอาการปวดแสบท้องเวลาหิวหรืออิ่มจัด คล้ายอาการของโรคกระเพาะ บางรายอาจมีอาการอาเจียนเป็นเลือดหรือถ่ายดำและอาจมีอาการซีดร่วมด้วย การรักษา กระเพาะอาหารอักเสบเฉียบพลัน ถ้าอาการไม่รุนแรง ให้งดน้ำงดอาหารจนอาการดีขึ้น ระหว่างนี้อาจให้น้ำเกลือ เมื่ออาการดีขึ้นให้รับประทานอหารพวกน้ำ ๆ ก่อนแล้วค่อยให้อาหารเหลวที่ย่อยง่าย แพทย์อาจพิจารณาให้ยาลดกรด ยากล่อมประสาท และยาตามอาการ เช่น ยาแก้อาเจียน ถ้ามีอาการคลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น ควรงดสุรา และยาแก้ปวด ส่วนมากมักจะหายได้ภายใน 1-7 วัน ถ้ามีอาการอาเจียนเป็นเลือดหรือช็อก ควรส่งโรงพยาบาลด่วน ควรให้น้ำเกลือไประหว่างทางด้วย อาจต้องให้เลือดและทำการล้างกระเพาะด้วยน้ำเย็น โดยใส่ท่อผ่านทางจมูกเข้าไปในกระเพาะ ในรายที่เป็นรุนแรง เลือดออกไม่หยุด อาจต้องผ่าตัด กระเพาะอักเสบเรื้อรัง ให้ยาลดกรด ยากล่อมประสาท แนะนำงดสุรา ยาแก้ปวด แอสไพริน ยาแก้ปวดข้อ บุหรี่ กาแฟ อาหารรสจัด หากมีอาการอาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายดำควรส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว แพทย์อาจจำเป็นต้องพิจารณาให้เลือด หากพบในอายุน้อยกว่า 50 ปี หรือมีอาการน้ำหนักลด ควรแนะนำไปตรวจที่โรงพยาบาลอาจต้องเอ็กซเรย์ ใช้กล้องส่องตรวจกระเพาะลำไส้ (Endoscope) ตัดชิ้นเนื้อพิสูจน์ (Biopsy) เพื่อวินิจฉัยสาเหตุให้แน่ชัด ถ้ากระเพาะอักเสบเรื้อรัง ก็ให้การรักษาตามอาการ ข้อแนะนำ โรคนี้สามารถป้องกันได้โดยหลีกเลี่ยงการดืมสุรา หลีกเลี่ยงรับประทานยาแอสไพริน หรือยาแก้ปวดข้อเป็นประจำ (หากต้องใช้ยาเหล่านี้ จำเป็นต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์) กระเพาะอักเสบเรื้อรังอาจมีอาการคล้ายโรคกระเพาะจนแยกจากลักษณะอาการไม่ได้ อาจต้องวินิจฉัยจากเอ็กซเรย์ (กลืนแป้งแบเรียม) หรือไม่ส่องกล้องตรวจกระเพาะลำไส้ โรคกระเพาะจะต้องตรวจพบแผล ถ้าไม่พบมักจะเป็นกระเพาะอักเสบเรื้อรัง ในรายที่กระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง การกินยาอาจเพียงช่วยบรรเทาอาการได้ชั่วคราวไม่หายขาด ควรแนะนำให้ออกกำลังกาย (เช่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน) เป็นประจำ และหาทางผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีต่าง ๆ อาจช่วยให้ดีขึ้นได้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี 039-319888

อาหารไม่ย่อย จุกแน่นท้อง (Dyspepsia)

อาหารไม่ย่อย จุกแน่นท้อง (Dyspepsia)

อาหารไม่ย่อย เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของอาการปวดท้องในทุกเพศทุกวัย พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย สาเหตุ มักเกิดในผู้ที่มีความเครียด กังวล ในเด็กอาจเกิดจากรับประทานอาหารมากเกินไป หรือรับประทานอาหารที่ย่อยยาก อาการ จุกแน่น (คล้ายมีลมตีขึ้น) บริเวณยอดอกหรือใต้ลิ้นปี่หลังรับประทานอาหารอิ่ม จะรู้สึกสบายขึ้นเมื่อเรอเอาลมออกมา อาจมีอาการเบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ท้องผูก ใจสั่น กังวลใจ ปวดศีรษะ บางครั้งอาจมีเริมขึ้นที่ปากหรือปากเปื่อย การรักษา รักษาด้วยยาขับลม บางรายหากมีอาการกังวล นอนไม่หลับ แพทย์อาจพิจารณาให้ยากล่อมประสาท ข้อพึงสังเกต ในรายที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือด ถุงน้ำดีอักเสบเรื้อรัง หรือโรคกระเพาะ อาจแสดงอาการท้องอืดคล้ายอาหารไม่ย่อย หากรับประทานยาแล้วไม่ดีขึ้นหรือเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง ควรแนะนำไปตรวจที่โรงพยาบาล สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี โทร 039-319888

อหิวาต์ (Cholera)

อหิวาต์ (Cholera)

อหิวาต์ (Cholera) อหิวาต์ หรืออหิวาตกโรค เป็นโรคท้องเสียที่มีอาการรุนแรง และระบาดได้รวดเร็ว ในอดีตเคยมีการระบาดของโรคนี้จนมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก จึงถูกเรียกว่า “โรคห่า” ในปัจจุบันความรุนแรงของโรคลดลง ระบาดน้อยลง โรคนี้มักพบในช่วงฤดูร้อน และพบในชุมชนที่การสุขาภิบาลยังไม่ดี สาเหตุ เกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งเชื้อมีอยู่ 2 ชนิด ดังนี้ เชื้อชนิดร้ายแรง ได้แก่ วิบริโอ คอเลอรา (Vibrio cholerae) เชื้อชนิดอ่อน ได้แก่ เอลทอร์ (EL Tor) โดยเชื้ออหิวาต์เหล่านี้จะปล่อยสารพิษ (Toxin) ทำให้เกิดอาการท้องร่วง ซึ่งเชื้อมีระยะฟักตัว 1-5 วัน (เฉลี่ยประมาณ 1-2 วัน) อาการ เกิดขึ้นทันทีทันใดด้วยอาการท้องเสียถ่ายเหลวอย่างรุนแรง อุจจาระมักจะไหลพุ่งโดยไม่มีอาการปวดท้อง และมีอาเจียนโดยที่ไม่มีอาการคลื่นไส้นำมาก่อน อุจจาระเหมือนน้ำซาวข้าว ในรายที่เป็นรุนแรง จะมีอาการขาดน้ำรุนแรง และช็อกอย่างรวดเร็ว อาจจะมีเสียงแหบแห้ง เป็นตะคริว ตัวเย็น เหงื่อออก ปัสสาวะออกน้อย ชีพจรเต้นเร็ว ความดันต่ำ ไม่มีไข้ หากรักษาไม่ทันผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตได้ในเวลาสั้น ๆ ในรายที่เกิดจากเชื้ออหิวาต์อย่างอ่อน หรือเชื้อเอลทอร์ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลวบ่อยครั้งคล้ายโรคท้องเสีย มักจะหายใน 1-5 วัน การรักษา หากอาการท้องเสียรุนแรง ซึ่งชวนสงสัยว่าเป็นอหิวาต์ แพทย์จะพิจารณาเก็บอุจจาระส่งเพาะเชื้อ ให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ(ให้น้ำเกลือ) รับประทานยาฆ่าเชื้อตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เมื่อรักษาได้ทันการณ์ มักจะหายขาดภายในไม่กี่วัน โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนแต่อย่างใด อันตรายมักจะเกิดกับผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาช้าเกินการณ์คือ ปล่อยให้มีภาวะขาดน้ำรุนแรง การป้องกัน รับประทานอาหารปรุงสุก สะอาด ไม่มีแมลงวันตอม ดื่มน้ำสะอาด สำหรับผู้ป่วยโรคนี้ ควรนำอาเจียนและอุจจาระของผู้ป่วยไปเทใส่ส้วมหรือฝังดินให้มิดชิด ห้ามเทตามพื้นหรือลงแม่น้ำลำคลอง ส่วนเสื้อผ้าของผู้ป่วยที่แปดเปื้อนเชื้อควรนำไปฝังหรือเผาเสีย ห้ามนำไปซักในแม่น้ำลำคลอง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่นในชุมชน อาจมีการเก็บอุจจาระของคนที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยส่งตรวจหาเชื้อ หากมีการติดเชื้อจะได้ทำการรักษาทันท่วงที ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี 039-319888

ปิ้งย่าง เสี่ยงมะเร็งลำไส้-มะเร็งกระเพาะอาหาร

ปิ้งย่าง เสี่ยงมะเร็งลำไส้-มะเร็งกระเพาะอาหาร

ปิ้งย่าง เสี่ยงมะเร็งลำไส้-มะเร็งกระเพาะอาหาร ปิ้งย่าง อาหารสุดแสนอร่อยมื้อพิเศษที่หลายคนกิน 6 วันต่อสัปดาห์ เพราะความลงตัวของเนื้อ ผักและเครื่องเคียง แต่รู้หรือไม่ ขณะที่กินปิ้งย่าง คุณเองก็กำลังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเช่นกัน โดยเฉพาะ“มะเร็งทางเดินอาหาร” อย่าง มะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือมะเร็งกระเพาะอาหารได้ แล้วปัจจัยนี้มีผลต่อความเสี่ยงโรคมะเร็งได้อย่างไร? อาหารสัมผัสความร้อนยิ่งสูงยิ่งเสี่ยงมะเร็ง มีการศึกษาพบว่าอาหารที่ถูกปรุงสุกโดยให้ความร้อนสัมผัสโดยตรงกับอาหาร ทำให้เกิดสารก่อมะเร็งที่มีชื่อว่า PAH ซึ่งเป็นสารที่เกิดขึ้นเมื่อไขมันในเนื้อสัตว์หยดลงไปโดนถ่านมันในเนื้อสัตว์หยดลงไปโดนถ่าน แล้วเกิดควันที่เป็นสารก่อมะเร็งลอยกลับมาเกาะอยู่บนเนื้อสัตว์ หากทานเข้าไปมากๆ หรือทานบ่อยๆ ก็จะสะสมอยู่ในร่างกาย ซึ่งสารชนิดนี้คือสารชนิดเดียวกันกับที่พบในควันท่อไอเสียรถยนต์ หรือควันบุหรี่ นั่นเอง เนื้อวัว เนื้อหมู ไขมันยิ่งสูง ก็ยิ่งเสี่ยง เชื่อว่าหลายคนมีเป้าหมายหลักในการไปกินปิ้งย่างนั้น ก็คือ เนื้อหมู เนื้อวัวสไลด์ แบบไขมันฉ่ำละลายในปาก หรือแม้แต่มันหมูที่ถูกประกบด้วยหนังหมูย่างกรุบกรอบ ความอร่อยจนยากจะห้ามใจเหล่านี้นี่แหละที่เป็นสาเหตุของความเสี่ยงโรคมะเร็ง เนื่องจากไขมันในสัตว์เนื้อแดงจะเป็นไขมันอิ่มตัว ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับการก่อตัวของมะเร็ง เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ รสชาติเข้มข้น ที่มาของ“โซเดียมสูง” เนื้อสัตว์ที่ผ่านการหมักด้วยเครื่องปรุงมาอย่างเข้มข้นถึงรสชาติ นอกจากความอร่อยแล้ว...ก็คงหนีไม่พ้นปริมาณโซเดียมที่ค่อนข้างสูง โดยอาจมาจากซอสปรุงรส หรือผงชูรส รวมไปถึง “น้ำจิ้ม” ที่เรียกได้ว่ามีโซเดียมสูงไม่แพ้กัน ซึ่งปริมาณโซเดียมที่สะสมอยู่ในร่างกายไม่เพียงแค่ส่งผลเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคไตอย่างที่หลายคนรู้กันดี แต่ยังเสี่ยงโรคร้ายแรงอื่นๆ เช่น มะเร็งกระเพาะอาหาร ได้เหมือนกัน กินปลา(ย่าง)...ก็เจอสารก่อมะเร็งได้ ถึงการกินเนื้อแดงที่มีไขมันสูงจะทำให้เสี่ยงมะเร็ง ก็ไม่ได้หมายความว่าการกินปลาทะเลย่างจะไม่เสี่ยงต่อโรคมะเร็ง เพราะในปลาทะเลย่าง หรือปลาหมึกย่าง จะมีสารก่อมะเร็งที่เรียกว่า “สารไนโตรซามีน” แฝงตัวอยู่ รวมไปถึง “เบคอน” เมนูสุดโปรดของใครหลายคน หรือแฮม ไส้กรอก อาหารเหล่านี้ล้วนมีสารก่อมะเร็ง ที่มีชื่อว่า สารไนเตรต เจือปนอยู่ด้วย “การกิน” จะเป็นความสุขอย่างหนึ่ง แต่หากกินแบบให้โทษต่อร่างกายก็อาจนำมาซึ่งความทุกข์ทรมานในอนาคต ทางที่ดี! ควรกินในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่กินอาหารปิ้งย่างบ่อยครั้งเกินไป และปรับวิธีการกินเพื่อลดความเสี่ยง เช่น เลือกใช้เตาแบบไร้ควันแทน ทานผักควบคู่กับเนื้อสัตว์ ตัดส่วนที่เป็นไขมันสัตว์ออกไป รวมไปถึงการเลือกร้านที่สะอาดถูกสุขอนามัย กินผักให้มากกว่าเนื้อสัตว์ก็ช่วยลดความเสี่ยงได้เช่นกันค่ะ ขอบคุณข้อมูลจาก : BDMS สถานีสุขภาพ