ไขมันพอกตับ

ไขมันพอกตับ จุดเริ่มต้นมะเร็งตับ-ตับแข็ง

8 สัญญาณ “ไขมันพอกตับ”ภัยพฤติกรรมเลี่ยงละเลยอาจพ่วงมะเร็งตับ-ตับแข็ง

รู้หรือไม่? คนรุ่นใหม่ป่วยเป็น ไขมันพอกตับ โดยไม่รู้ตัวเพราะไลฟ์สไตล์ที่ง่ายๆ สะดวก รวดเร็ว และสังสรรค์บ่อย และหลายคนมองข้ามภาวะดังกล่าว เพราะคิดว่าที่ไม่อันตรายและปล่อยปะละเลย และบางทีอาจจะไม่รู้ตัวว่ากำลังประสบอยู่ ซึ่งหากปล่อยลุกลาม อาจต้องเผชิญกับโรคตับแข็งและมะเร็งตับในที่สุด

ตับเป็นอวัยวะสำคัญ มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองในร่างกาย มีหน้าที่ทำลายสารพิษต่างๆ ที่เป็นอันตรายจากเลือด รวมถึงเป็นที่สำหรับกักเก็บพลังงานในรูปแบบของไขมันเพื่อใช้สร้างเป็นแหล่งพลังงาน แต่หากกินอาหารที่ให้พลังงานสูง หรือไขมันสูงมากจนเกินไป โดยไม่มีการใช้พลังงานออกไปอย่างเหมาะสม รวมไปถึงการดื่มแอลกอฮอล์จะทำให้เกิดการสะสมไขมันในตับจำนวนมากกว่า 5-10% ของน้ำหนักตับ ถือว่าเริ่มมีภาวะไขมันพอกตับ(Fatty liver) ส่งผลให้เซลล์ตับเกิดการอักเสบ เมื่อเป็นเรื้อรังจะมีการสร้างพังผืดมากขึ้น จนกลายเป็นโรคตับแข็ง และเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับซึ่ง ผู้ป่วยที่มีภาวะไขมันพอกตับจำนวนมากมักไม่แสดงอาการใดๆ จนกว่าตับจะถูกทำลายอย่างรุนแรง เช่น เมื่อมีภาวะตับแข็งในระยะแรก จะเริ่มแสดงอาการ เช่น อ่อนเพลีย คลื่นไส้ ขาบวม ตัวตาเหลือง หรือจุกแน่นบริเวณท้องด้านขวาบน ควรพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย

สาเหตุของการเกิดภาวะไขมันพอกตับ

  • ภาวะไขมันพอกตับจากการดื่มแอลกอฮอล์ (Alcohol-related Fatty Liver Disease) มีสาเหตุหลักจากการดื่มแอลกอฮอล์ติดต่อกันในปริมาณมาก จนตับไม่สามารถทำงานได้ปกติ และเกิดการสะสมของไขมันที่ตับในที่สุด
  • ภาวะไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ (Non-alcoholic Fatty Liver Disease : NAFLD) หรือในปัจจุบันมีผู้พยายามเปลี่ยนชื่อเป็น Metabolic-associated Fatty Liver disease (MAFLD) เพื่อให้สอดคล้องกับกลไกการเกิดโรคมากขึ้น เป็นที่ชัดเจนว่าเกิดจากภาวะระบบการเผาผลาญผิดปกติ สัมพันธ์กับภาวะดื้ออินซูลิน (Insulin resistance) เช่น โรคอ้วนลงพุง (Metabolic syndrome), โรคเบาหวานชนิดที่ 2, โรคไขมันในเลือดสูง และโรคความดันโลหิตสูง จากข้อมูลในปัจจุบัน พบว่า ผู้ป่วยโรคตับเรื้อรัง และโรคตับแข็ง ที่ได้รับการวินิจฉัยใหม่ มีสาเหตุมาจากภาวะนี้ถึงหนึ่งในสามของผู้ป่วยทั้งหมด

อาการของไขมันพอกตับ

  • เบื่ออาหาร คลื่นไส้ มึนงง
  • ผิวและตาเหลือง
  • ปัสสาวะสีเข้ม
  • อ่อนเพลีย ไม่มีแรง รู้สึกเหนื่อย
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ขาบวม หรือมีน้ำในช่องท้อง
  • ไม่สบายท้องหรือปวดบริเวณท้องด้านขวาบน
  • ผิวหนังคัน ช้ำ หรือเลือดออก

เนื่องจากภาวะไขมันพอกตับ มีสาเหตุจากการเผาผลาญพลังงานที่ไม่เหมาะสม มีความผิดปกติเกี่ยวกับระบบเมตาบอลิซึม จึงมักพบร่วมกับโรคต่างๆ ดังนี้

การวินิจฉัยภาวะไขมันพอกตับ

หากแพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยอาจมีภาวะไขมันพอกตับ หรือเป็นผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง แพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย หาปัจจัยเสี่ยงต่างๆ รวมถึงประวัติครอบครัว ประวัติการใช้ยาต่างๆ การดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งนี้อาจส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมอาทิ การเจาะ การตรวจอัลตร้าซาวด์ตับ การตรวจวัดความยืดหยุ่นของตับ (Liver stiffness) ด้วยวิธีตรวจไฟโบรสแกน (FibroScan®) เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI scan) สามารถตรวจพบไขมันสะสมในตับได้ ตั้งแต่ 5-10% แต่ส่วนมากใช้เมื่อสงสัยว่าจะมีก้อนผิดปกติในตับมากกว่า

แนวทางการรักษาภาวะไขมันพอกตับ

ปัจจุบันยังไม่มียาสำหรับรักษาภาวะไขมันพอกตับโดยตรง การรักษาภาวะไขมันพอกตับยังมุ่งเน้นไปที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และดูแลสุขภาพในองค์รวม ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง ลดอาหารจำพวกแป้ง และคาร์โบไฮเดรต เพิ่มโปรตีนที่มีคุณภาพ และผักต่างๆ ให้มากขึ้น
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยครั้งละ 45 นาที 3-4 ครั้งขึ้นไปต่อสัปดาห์
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์
  • ลดการดื่มแอลกอฮอล์ให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม โดยปริมาณแอลกอฮอล์ที่พอรับได้ สำหรับผู้ชาย คือไม่เกิน 2-3 แก้ว/วัน และ 1-2 แก้วต่อวัน สำหรับผู้หญิง
  • ใช้ยาเท่าที่จำเป็น หลีกเลี่ยงการกินยาสมุนไพร หรือยาที่ไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
  • ลดหรือเลิกสูบบุหรี่

การป้องกันภาวะไขมันพอกตับ

ไขมันพอกตับเป็นภาวะที่สามารถป้องกันเบื้องต้นได้ หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และมีการดูแลสุขภาพที่ดี โดยเฉพาะการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างหลากหลายและออกกำลังกายสม่ำเสมอ สำหรับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวควรพบแพทย์ตามนัด รับประทานยา และปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์นอกจากนี้การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบหลายชนิดสามารถทำลายตับได้เช่นกัน เพื่อปกป้องสุขภาพตับ แพทย์อาจแนะนำให้รับวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบเอ และไวรัสตับอักเสบบี

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : BDMS สถานีสุขภาพ

บทความที่เกี่ยวข้อง

โรคกระเพาะ (Peptic ulcer)

โรคกระเพาะ (Peptic ulcer)

โรคกระเพาะ (Peptic ulcer) โรคกระเพาะอาหาร ตามความหมายของแพทย์ หมายถึง แผลที่เกิดในกระเพาะอาหาร (Stomach) หรือลำไส้เล็กส่วนต้น (duodenum) โรคนี้พบได้ประมาณ 10 % ของประชากรทั่วไป และพบได้ทุกเพศทุกวัย ส่วนใหญ่จะมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง แผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้น (Duodenal ulcer/DU) พบบ่อยในวัยหนุ่มสาว (อายุเฉลี่ยของผู้ที่เริ่มเป็นโรคนี้ประมาณ 30 ปีเศษ) พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 4 เท่า ผู้ที่เป็นโรคนี้มักจะมีการหลั่งกรดออกมาในกระเพาะอาหารมากเกิน ซึ่งจะไประคายเคืองต่อเยื่อบุผิวของลำไส้เล็กส่วนต้น ทำให้เกิดเป็นแผลขึ้นมา แต่สาเหตุที่ทำให้กระเพาะอาหารหลั่งกรดมากกว่าปกติ ยังไม่ทราบแน่ชัด เชื่อว่าอาจมีความสัมพันธ์กับกรรมพันธุ์และฮอร์โมนในร่างกาย โรคนี้พบมากในคนที่เคร่งเครียดกับการงาน รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา วิตกกังวลหรือคิดมาก อาจพบร่วมกับโรคอื่น ๆ เช่น ถุงลมพอง ตับแข็ง ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง เนื้องอกของตับอ่อน ต่อมพาราธัยรอยด์ทำงานมากเกิน (Hyperparathyroidism) ผู้หญิงที่เป็นโรค ระหว่างตั้งครรภ์อาการจะดีขึ้นหรือหายไปได้เอง แต่พอถึงวัยหมดประจำเดือน อาจมีอาการกำเริบรุนแรงได้ เชื่อว่าฮอร์โมนเพศอาจมีความสัมพันธ์กับโรคนี้ได้ แผลที่กระเพาะอาหาร (Gastric ulcer/GU) พบได้น้อยกว่าแผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้น ประมาณ 4 เท่า มักพบในวัยกลางคนขึ้นไป (อายุเฉลี่ยของผู้ที่เริ่มเป็นโรคนี้ประมาณ 50 ปีเศษ) พบในผู้หญิงกับผู้ชายจำนวนเท่า ๆ กัน ผู้ที่เป็นโรคนี้จะไม่มีการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารมากกว่าปกติ แต่ความต้านทานต่อกรดของเยื่อบุกระเพาะอาหารเสื่อมลง อาจมีสาเหตุมาจาดื่มสุราจัด การรับประทานยาบางชนิด โรคนี้มักพบในคนที่มีฐานะยากจน ขาดอาหารสุขภาพไม่สมบูรณ์ อาจพบร่วมกับโรคอื่น ๆ เช่น โรคปอด โรคไต หรือโรคมะเร็ง อาการ ผู้ป่วยมักมีอาการปวดท้องเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง มักตรวจบริเวณใต้ลิ้นปี่ (บางคนอาจค่อนมาทางใต้ชายโครงขวาหรือซ้ายก็ได้) เวลาที่ปวดมักสัมพันธ์กับมื้ออาหาร เช่น ก่อนอาหาร หรือหลังอาหาร ลักษณะการปวดอาจปวดแสบ ปวดตื้อ ปวดเสียด จุกแน่น หรือมีความรู้สึกแบบหิวข้าว อาการปวดมักจะดีขึ้นถ้ารับประทานอาหาร ดื่มนม รับประทานยาลดกรดหรืออาเจียน นอกจากอาการปวดท้องแล้ว ยังอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนหรือเรอเปรี้ยว ในผู้ป่วยที่มีแผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้น มักมีอาการปวดหลังอาหารประมาณ 1-2 ชั่วโมง หรือขณะที่ท้องว่าง โดยมากจะเริ่มปวดตอนสายๆ หลังรับประทานอาหารเช้าแล้ว (ก่อนอาหารเช้ามักไม่มีอาการปวด) จะปวดมากขึ้นในช่วงบ่าย ๆ และเย็น ๆ และอาจปวดมากตอนเที่ยงคืนถึงตี 2 จนนอนไม่หลับ ในรายที่เป็นมาก อาจปวดร้าวไปที่หลังร่วมด้วย อาการปวดท้องมักเป็นอยู่นานหลายสัปดาห์ แล้วอาจหายได้เองโดยไม่ต้องรักษา แต่มักจะกำเริบใหม่ภายในเวลา 2 ปี ในผู้ป่วยที่มีแผลที่กระเพาะอาหาร มักมีอาการปวดท้องหลังอาหารประมาณ 30-60 นาที หรือหลังรับประทานอาหารอิ่ม มักทำให้ผู้ป่วยไม่กล้ารับประทานอาหารและทำให้น้ำหนักลด อาการแสดง ส่วนมากมักไม่พบอาการ บางคนอาจรู้สึกกดเจ็บเล็กน้อยตรงบริเวณใต้ลิ้นปี่ หากเป็นเรื้อรัง และมีเลือดออก (เลือดที่ออกในกระเพาะลำไส้ เมื่อถูกกับกรดจะเป็นสีดำ ทำให้มีอาการถ่ายอุจจาระดำ) ผู้ป่วยอาจมีอาการซีด อาการแทรกซ้อน ส่วนมากมักจะไม่มีอาการแทรกซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้น มักจะหายได้เป็นส่วนใหญ่ อาการแทรกซ้อนที่อาจพบได้ เช่น กระเพาะทะลุ กระเพาะหรือลำไส้ตีบตัน เลือดออกในกระเพาะ อาจทำให้อาเจียนเป็นเลือดสด หรือถ่ายอุจจาระดำ (ถ้าเลือดออกมาก อาจถึงช็อกได้ ถ้าออกทีละน้อย ทำให้มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก) ในผู้ป่วยที่เป็นแผลที่กระเพาะอาหาร บางรายถ้าเป็นเรื้อรัง อาจกลายเป็นมะเร็งของกระเพาะอาหารได้ การรักษาและป้องกันการเป็นซ้ำ การรักษาที่สำคัญคือการรับประทานยาตามแพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัดร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่กระตุ้นการเกิดโรคกระเพาะอาหาร ได้แก่ รับประทานอาหารตรงเวลาโดยไม่ปล่อยให้หิว เลี่ยงการรับประทานอาหารรสเผ็ดจัด งดสูบบุหรี่ หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ

4 ระยะ “มะเร็งลำไส้ใหญ่”ระยะไหนหายขาดได้

4 ระยะ “มะเร็งลำไส้ใหญ่”ระยะไหนหายขาดได้

มะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colon Cancer) คือ โรคที่เกิดจากความผิดปกติของเนื้อเยื่อลำไส้ใหญ่และลำไส้ที่มีการเปลี่ยนแปลงและแบ่งตัวอย่างต่อเนื่องจนไม่สามารถควบคุมได้ กลายเป็นก้อนหรือเนื้องอก ระยะแรกอาจเป็นเพียงแค่ติ่งเนื้องอกเล็ก ๆ เรียกว่าโพลิป (Polyp) แต่หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ทำการรักษาหรือตัดทิ้ง อาจพัฒนากลายเป็นมะเร็ง ที่สามารถลุกลามทะลุผนังลำไส้จนแพร่กระจายต่อไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้ อีกทั้งคาดว่าจะเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมส่งต่อของยีนต์มะเร็ง และพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิต กลุ่มคนที่สุ่มเสี่ยงคือชอบกินอาหารปิ้งย่างที่ไหม้เกรียม อาหารแปรรูป ไขมันสูง ไม่ชอบกินผัก ผลไม้ที่มีไฟเบอร์ หรือแม้กระทั้งการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ ปล่อยให้ตัวเองท้องผูกบ่อยครั้งก็จัดก็นับเป็นความเสี่ยงด้วยเช่นกัน อาการของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะแรกมักไม่มีอาการแต่หากมีอาการ 8 ข้อต่อไปนี้ ควรพบแพทย์เพราะอาจเป็นอาการอาการของมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะหลังแล้วแม้อายุจะยังไม่ถึง 50 ปีก็ตาม อาการนำ โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ระยะแรกมักไม่มีอาการมักตรวจพบโดยบังเอิญ ท้องผูกสลับท้องเสีย อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน หรืออาจมีอาการท้องเสียเรื้อรัง ถ่ายเป็นเลือด อุจจาระเป็นเลือดสด หรือมี เลือดปนมากับอุจจาระ อุจจาระสีดำ หรือสีดำแดง อุจจาระลำเล็กลง ถ่ายไม่สุด ปวดลงทวาร อ่อนเพลียจากภาวะโลหิตจาง น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ ปวดท้องเรื้อรัง โดยเฉพาะบริเวณท้องน้อย หรือคลำได้ก้อนบริเวณหน้าท้อง มะเร็งลำไส้ แบ่งได้เป็น 5 ระยะ ระยะที่ 0 เซลล์มะเร็งที่เป็นเพียงติ่งเนื้อ ตรวจพบได้จากการส่องกล้อง (Colonoscopy) และสามารถตัดออกขณะส่องได้ทันที ตั้งแต่ก่อนการเป็นมะเร็งหรือเกือบเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ทำให้มีโอกาสหายขาดถึง 100% ระยะที่ 1 เซลล์มะเร็งระยะเติบโตขึ้น และยังอยู่ในผนังลำไส้ เริ่มฝังในชั้นผนังของลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โดยยังไม่กระจายไปสู่เนื้อเยื่อข้างเคียงหรือต่อมน้ำเหลือง ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด หรือ Curative resection เป็นการผ่าตัดลำไส้ใหญ่ นำส่วนที่ดีมาต่อกัน ทั้งยังเป็นเทคนิคที่ใช้ผ่าตัดในมะเร็งทวารหนักร่วมด้วยได้ ระยะที่ 2 เกิดการลุกลามออกนอกผนังลำไส้ใหญ่ในบริเวณใกล้เคียง แต่ยังไม่กระจายถึงต่อมน้ำเหลือง สามารถใช้การผ่าตัดแบบหวังหาย (Curative resection) เป็นการรักษาหลักเช่นเดียวกับระยะที่ 1 ระยะที่ 3 เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง แต่ยังไม่ลุกลามไปยังอวัยวะอื่น รักษาโดยการผ่าตัดแบบหวังหาย (Curative resection) ร่วมกับเคมีบำบัดหลังผ่าตัด ระยะที่ 4 มะเร็งแพร่กระจายลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น ตับ, ปอด หากก้อนมะเร็งที่ลุกลามไปที่ตับหรือปอดสามารถตัดออกได้ แพทย์จะทำการผ่าตัดมะเร็งที่ลำไส้ใหญ่หรือทวารหนักออก พร้อมผ่าตัดมะเร็งที่ลุกลามออกด้วย แล้วให้ยาเคมีบำบัดต่อไป การวินิจฉัยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ การซักประวัติ การตรวจร่างกายเบื้องต้น เช่น การตรวจทางทวารหนัก การตรวจอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น การตรวจอุจจาระทางห้องปฏิบัติการ การถ่ายภาพเอกซเรย์ด้วยการสวนแป้งทางทวารหนัก ทั้งนี้ เมื่อพบความผิดปกติ จะทำการตรวจอย่างละเอียดโดยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) ซึ่งเป็นการส่องกล้องเข้าไปทางทวารหนัก เพื่อให้เห็นภาพภายในลำไส้ใหญ่ทั้งหมด รวมถึงสามารถตัดชิ้นเนื้อที่สงสัยส่งตรวจทางพยาธิวิทยาได้ วิธีนี้จึงเป็นวิธีการตรวจที่มีความแม่นยำมากที่สุด ผู้ป่วยที่รักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่แล้ว มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีก ทั้งจุดเดิมของโรคและบริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนอื่นๆ ดังนั้น ผู้ป่วยจึงต้องใส่ใจรับการตรวจติดตามโรคเป็นระยะๆ ตามคำแนะนำของแพทย์ ซึ่งหลังการรักษานั้น แพทย์จะมีการติดตามผลเป็นระยะ โดยในช่วง 2 ปีแรก แพทย์จะนัดติดตามอาการทุก 3 - 6 เดือน และในช่วง 3-5 ปีหลัง แพทย์จะนัดติดตามอาการทุก 6 เดือน ในการนัดแต่ละครั้งแพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจร่างกาย นอกจากนั้น การจำกัดการบริโภคเนื้อแดง และอาหารไขมันสูง เพิ่มเกราะป้องกันให้ตัวเองโดยการบริโภค ผัก ผลไม้ และอาหารที่มีกากใยสูง เพื่อช่วยให้การขับถ่ายเป็นปกติ ออกกำลังกายเป็นประจำ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รวมถึงการเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี ผู้ป่วยควรลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ได้ ขอบคุณข้อมูลจาก : BDMS สถานีสุขภาพ

ปิ้งย่าง เสี่ยงมะเร็งลำไส้-มะเร็งกระเพาะอาหาร

ปิ้งย่าง เสี่ยงมะเร็งลำไส้-มะเร็งกระเพาะอาหาร

ปิ้งย่าง เสี่ยงมะเร็งลำไส้-มะเร็งกระเพาะอาหาร ปิ้งย่าง อาหารสุดแสนอร่อยมื้อพิเศษที่หลายคนกิน 6 วันต่อสัปดาห์ เพราะความลงตัวของเนื้อ ผักและเครื่องเคียง แต่รู้หรือไม่ ขณะที่กินปิ้งย่าง คุณเองก็กำลังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเช่นกัน โดยเฉพาะ“มะเร็งทางเดินอาหาร” อย่าง มะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือมะเร็งกระเพาะอาหารได้ แล้วปัจจัยนี้มีผลต่อความเสี่ยงโรคมะเร็งได้อย่างไร? อาหารสัมผัสความร้อนยิ่งสูงยิ่งเสี่ยงมะเร็ง มีการศึกษาพบว่าอาหารที่ถูกปรุงสุกโดยให้ความร้อนสัมผัสโดยตรงกับอาหาร ทำให้เกิดสารก่อมะเร็งที่มีชื่อว่า PAH ซึ่งเป็นสารที่เกิดขึ้นเมื่อไขมันในเนื้อสัตว์หยดลงไปโดนถ่านมันในเนื้อสัตว์หยดลงไปโดนถ่าน แล้วเกิดควันที่เป็นสารก่อมะเร็งลอยกลับมาเกาะอยู่บนเนื้อสัตว์ หากทานเข้าไปมากๆ หรือทานบ่อยๆ ก็จะสะสมอยู่ในร่างกาย ซึ่งสารชนิดนี้คือสารชนิดเดียวกันกับที่พบในควันท่อไอเสียรถยนต์ หรือควันบุหรี่ นั่นเอง เนื้อวัว เนื้อหมู ไขมันยิ่งสูง ก็ยิ่งเสี่ยง เชื่อว่าหลายคนมีเป้าหมายหลักในการไปกินปิ้งย่างนั้น ก็คือ เนื้อหมู เนื้อวัวสไลด์ แบบไขมันฉ่ำละลายในปาก หรือแม้แต่มันหมูที่ถูกประกบด้วยหนังหมูย่างกรุบกรอบ ความอร่อยจนยากจะห้ามใจเหล่านี้นี่แหละที่เป็นสาเหตุของความเสี่ยงโรคมะเร็ง เนื่องจากไขมันในสัตว์เนื้อแดงจะเป็นไขมันอิ่มตัว ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับการก่อตัวของมะเร็ง เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ รสชาติเข้มข้น ที่มาของ“โซเดียมสูง” เนื้อสัตว์ที่ผ่านการหมักด้วยเครื่องปรุงมาอย่างเข้มข้นถึงรสชาติ นอกจากความอร่อยแล้ว...ก็คงหนีไม่พ้นปริมาณโซเดียมที่ค่อนข้างสูง โดยอาจมาจากซอสปรุงรส หรือผงชูรส รวมไปถึง “น้ำจิ้ม” ที่เรียกได้ว่ามีโซเดียมสูงไม่แพ้กัน ซึ่งปริมาณโซเดียมที่สะสมอยู่ในร่างกายไม่เพียงแค่ส่งผลเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคไตอย่างที่หลายคนรู้กันดี แต่ยังเสี่ยงโรคร้ายแรงอื่นๆ เช่น มะเร็งกระเพาะอาหาร ได้เหมือนกัน กินปลา(ย่าง)...ก็เจอสารก่อมะเร็งได้ ถึงการกินเนื้อแดงที่มีไขมันสูงจะทำให้เสี่ยงมะเร็ง ก็ไม่ได้หมายความว่าการกินปลาทะเลย่างจะไม่เสี่ยงต่อโรคมะเร็ง เพราะในปลาทะเลย่าง หรือปลาหมึกย่าง จะมีสารก่อมะเร็งที่เรียกว่า “สารไนโตรซามีน” แฝงตัวอยู่ รวมไปถึง “เบคอน” เมนูสุดโปรดของใครหลายคน หรือแฮม ไส้กรอก อาหารเหล่านี้ล้วนมีสารก่อมะเร็ง ที่มีชื่อว่า สารไนเตรต เจือปนอยู่ด้วย “การกิน” จะเป็นความสุขอย่างหนึ่ง แต่หากกินแบบให้โทษต่อร่างกายก็อาจนำมาซึ่งความทุกข์ทรมานในอนาคต ทางที่ดี! ควรกินในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่กินอาหารปิ้งย่างบ่อยครั้งเกินไป และปรับวิธีการกินเพื่อลดความเสี่ยง เช่น เลือกใช้เตาแบบไร้ควันแทน ทานผักควบคู่กับเนื้อสัตว์ ตัดส่วนที่เป็นไขมันสัตว์ออกไป รวมไปถึงการเลือกร้านที่สะอาดถูกสุขอนามัย กินผักให้มากกว่าเนื้อสัตว์ก็ช่วยลดความเสี่ยงได้เช่นกันค่ะ ขอบคุณข้อมูลจาก : BDMS สถานีสุขภาพ

กระเพาะอักเสบ (Gastritis)

กระเพาะอักเสบ (Gastritis)

กระเพาะอักเสบ (Gastritis) กระเพาะอักเสบ หมายถึงการอักเสบของเยื่อบุกระเพาะอาหาร ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นชนิดเฉียบพลันและชนิดเรื้อรัง กระเพาะอักเสบเฉียบพลัน (Acute gastritis) มักมีอาการเกิดขึ้นรวดเร็วและหายได้รวดเร็ว สาเหตุมีได้หลายอย่าง เช่น การกินยาแก้ปวดประเภทแอสไพริน หรือยาแก้ปวดข้อ การดื่มสุรา การรับประทานอาหารรสเผ็ดจัด หรือเกิดจากพิษของเชื้อโรค๖อาหารเป็นพิษ) โรคติดเชื้อไวรัส เช่น ไข้หวัดใหญ่ หัด ตับอักเสบ) หรือแพ้ยาแพ้อาหาร เป็นต้น โรคนี้เกิดในคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่ใช้ยาแอสไพริน หรือยาชุดแก้ปวดข้อปวดหลังเป็นประจำ ส่วนมากจะไม่มีอาการรุนแรง ส่วนน้อยที่อาจมีเลือกออกในกระเพาะ (อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระดำ) ซึ่งอาจรุนแรงจนช็อกได้ กระเพาะอักเสบเรื้อรัง (Chronic gastritis) มักมีอาการเรื้อรัง สาเหตุมีได้หลายอย่าง เช่น เกิดจากการดื่มสุรา การรับประทานยาแก้ปวด แอสไพริน หรือยาแก้ปวดข้อ หรือเกิดจากน้ำดีขย้อนจากลำไส้เล็กเข้าไปในกระเพาะอาหาร เป็นต้น บางรายเชื่อว่ามีความสัมพันธ์กับพันธุกรรม หรือความเครียดทางจิตใจ บางรายอาจมีความสัมพันธ์กับมะเร็งของกระเพาะอาหาร โดยเฉพาะในรายที่เป็นกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรังชนิดที่เยื่อบุกระเพาะมีลักษณะบางลง (Atrophic gastritis) ซึ่งมักพบในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยชนิดนี้อาจทำให้เกิดมะเร็งของกระเพาะอาหารตามมาภายหลังได้ อาการ กระเพาะอักเสบเฉียบพลัน ผู้ป่วยมักมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน เสียดแน่นตรงลิ้นปี่ บางรายอาจมีอาการปวดท้อง ท้องเดิน เป็นไข้ ปวดศีรษะคล้ายอาหารเป็นพิษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเกิดจากพิษของเชื้อโรค ในรายที่เป็นรุนแรง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสุราหรือยาแก้ปวด) อาจมีอาการอาเจียนเป็นเลือดสดหรือสีดำออกมากจนซีด หรือช็อก (เหงื่อออก ตัวเย็น ชีพจรเบาเร็ว ความดันตก) ในเวลารวดเร็ว กระเพาะอักเสบเรื้อรัง ส่วนมากจะไม่แสดงอาการผิดปกติ ในรายที่มีอาการปรากฏ อาจมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน เสียดแน่นตรงใต้ลิ้นปี่ เรอเปรี้ยว หรือมีอาการปวดแสบท้องเวลาหิวหรืออิ่มจัด คล้ายอาการของโรคกระเพาะ บางรายอาจมีอาการอาเจียนเป็นเลือดหรือถ่ายดำและอาจมีอาการซีดร่วมด้วย การรักษา กระเพาะอาหารอักเสบเฉียบพลัน ถ้าอาการไม่รุนแรง ให้งดน้ำงดอาหารจนอาการดีขึ้น ระหว่างนี้อาจให้น้ำเกลือ เมื่ออาการดีขึ้นให้รับประทานอหารพวกน้ำ ๆ ก่อนแล้วค่อยให้อาหารเหลวที่ย่อยง่าย แพทย์อาจพิจารณาให้ยาลดกรด ยากล่อมประสาท และยาตามอาการ เช่น ยาแก้อาเจียน ถ้ามีอาการคลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น ควรงดสุรา และยาแก้ปวด ส่วนมากมักจะหายได้ภายใน 1-7 วัน ถ้ามีอาการอาเจียนเป็นเลือดหรือช็อก ควรส่งโรงพยาบาลด่วน ควรให้น้ำเกลือไประหว่างทางด้วย อาจต้องให้เลือดและทำการล้างกระเพาะด้วยน้ำเย็น โดยใส่ท่อผ่านทางจมูกเข้าไปในกระเพาะ ในรายที่เป็นรุนแรง เลือดออกไม่หยุด อาจต้องผ่าตัด กระเพาะอักเสบเรื้อรัง ให้ยาลดกรด ยากล่อมประสาท แนะนำงดสุรา ยาแก้ปวด แอสไพริน ยาแก้ปวดข้อ บุหรี่ กาแฟ อาหารรสจัด หากมีอาการอาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายดำควรส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว แพทย์อาจจำเป็นต้องพิจารณาให้เลือด หากพบในอายุน้อยกว่า 50 ปี หรือมีอาการน้ำหนักลด ควรแนะนำไปตรวจที่โรงพยาบาลอาจต้องเอ็กซเรย์ ใช้กล้องส่องตรวจกระเพาะลำไส้ (Endoscope) ตัดชิ้นเนื้อพิสูจน์ (Biopsy) เพื่อวินิจฉัยสาเหตุให้แน่ชัด ถ้ากระเพาะอักเสบเรื้อรัง ก็ให้การรักษาตามอาการ ข้อแนะนำ โรคนี้สามารถป้องกันได้โดยหลีกเลี่ยงการดืมสุรา หลีกเลี่ยงรับประทานยาแอสไพริน หรือยาแก้ปวดข้อเป็นประจำ (หากต้องใช้ยาเหล่านี้ จำเป็นต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์) กระเพาะอักเสบเรื้อรังอาจมีอาการคล้ายโรคกระเพาะจนแยกจากลักษณะอาการไม่ได้ อาจต้องวินิจฉัยจากเอ็กซเรย์ (กลืนแป้งแบเรียม) หรือไม่ส่องกล้องตรวจกระเพาะลำไส้ โรคกระเพาะจะต้องตรวจพบแผล ถ้าไม่พบมักจะเป็นกระเพาะอักเสบเรื้อรัง ในรายที่กระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง การกินยาอาจเพียงช่วยบรรเทาอาการได้ชั่วคราวไม่หายขาด ควรแนะนำให้ออกกำลังกาย (เช่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน) เป็นประจำ และหาทางผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีต่าง ๆ อาจช่วยให้ดีขึ้นได้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี 039-319888

5 นิสัย เสี่ยงมะเร็งลำไส้

5 นิสัย เสี่ยงมะเร็งลำไส้

5 นิสัย เสี่ยงมะเร็งลำไส้ มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งชนิดที่พบมากเป็นอันดับ 3 ในเพศชายและอันดับ 5 ในเพศหญิง ซึ่งแน่นอนว่ามะเร็งทุกชนิดยังไม่พบสาเหตุที่แท้จริงว่าเกิดจากอะไรแต่เหล่าแพทย์และนักวิจัยต่างคาดการณ์ว่า สาเหตุหลักๆ เกิดจากการใช้ชีวิตประจำวันของเรานี้แหละ โดยเฉพาะพฤติกรรมการกินการใช้ชีวิตปล่อยให้ท้องผูกบ่อยๆจนเป็นเรื่องปกติ ดื่มเหล้าและสูบบุหรี่จัด เห็นไหมละคะว่าที่กล่าวมาล้วนแล้วแต่ใกล้ตัวเราตั้งสิ้น แทบจะไมได้ระมัดระวังตัวเองแม้แต่น้อย กลไกมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มะเร็งสำไส้ใหญ่และทวารหนักเกิดจากการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเซลล์เยื่อบุลำไส้ใหญ่ พัฒนาไปจนเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ในที่สุด ในอาการเริ่มแรกมักไม่มีอาการหรือเล็กๆน้อยๆอย่างเช่นท้องอืด ท้องผูกบ่อยๆ กว่าจะรู้ตัวเมื่อสายเกิดไปแล้ว แต่ปัจจุบันทางการแพทย์ได้มีการคัดกรองโรคตรวจพบอาการผิดปกตินี้ได้ตั้งแต่การเป็นติ่งเนื้อและสามารถตัดออกไปได้ทัน! ก็จะทำลายโอกาสการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ ซึ่งจากข้อมูลทางทฤษฎีพบว่าติ่งเนื้อขนาด 1 ซม.จะใช้เวลานานถึง 10 ปีในการพัฒนากลายเป็นมะเร็ง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงมาในอาการมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะลุกลามแล้วนั้นเอง โดยเฉพาะคนทำงานวัยกลางคน 40 ขึ้นไปที่ระบบการย่อยเริ่มเสื่อมสภาพ แน่นอนว่า มะเร็งมักหยิบฉวยโอกาสจากความเสื่อมของร่างกายอย่างอายุ และกรรมพันธุ์แต่ไม่ได้หลายความว่าทุกคนจะต้องป่วยด้วยโรคนี้เราสามารถเฝ้าระวัง คัดกรองและตัดพฤติกรรมเสี่ยงออกไปได้ ทำไมมะเร็งลำไส้ ถึงมีแนวโน้มสูงขึ้นในคนรุ่นใหม่อายุน้อย? ชอบบริโภคเนื้อสัตว์เนื้อแดง อาหารแปรรูป ไขมันสูง วิถีชีวิตที่เร่งรีบและเปลี่ยนไป การทานอาหารกลายเป็นเรื่องที่ง่ายและสะดวก ซึ่งหลายต่อหลายครั้งที่เราไม่ได้คำนวนถึงสัดส่วนให้ครบ 5 หมู่ โดยองค์กรวิจัยมะเร็งนานาชาติ หรือ International Agency for Research on Cancer (IARC) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดให้เนื้อสัตว์แปรรูปเป็นสารก่อมะเร็งกลุ่ม 1 คือ สามารถก่อมะเร็งในมนุษย์ ส่วนเนื้อแดง เป็นกลุ่ม 2A คือ อาจจะก่อมะเร็งในมนุษย์ การบริโภคเนื้อแปรรูปที่มากขึ้นและเป็นประจำจะเพิ่มความเสี่ยงการเป็นมะเร็งลำไส้และไส้ตรง แม้ว่าเนื้อสัตว์แปรรูปจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มสารก่อมะเร็งเดียวกันกับบุหรี่ แอลกอฮอล์ แร่ใยหิน สารหนู เป็นต้น แต่ไม่ได้มีอันตราย ดังนั้นสามารถรับประทานเนื้อสัตว์แปรรูปได้ แต่ให้จำกัดปริมาณไม่เกิน 500 กรัมต่อสัปดาห์สำหรับเนื้อแดงมีคุณค่าทางโภชนาการ เช่น โปรตีน สังกะสี เหล็ก วิตามินบี 12 อีกทั้งควรบริโภคโปรตีนจากแหล่งอื่นเสริม เช่น ไข่ เต้าหู้ และถั่ว ชอบกินอาหารปิ้งย่าง รมควัน ยิ่งติดมัน ไหม้เกรียมกรอบๆ ยิ่งอร่อย แต่รู้หรือไม่เมนูที่บางคนกิน 6 วันต่อสัปดาห์นี้เป็นปัจจัยเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่ เพราะนอกจากจะมีไขมันอิ่มตัวสูงแล้ว เนื้อวัวและเนื้อหมูยังเป็นสัตว์เนื้อแดงที่มีสารประกอบฮีโมโกลบิน ที่เรียกว่าฮีม (heme) หากรับประทานมากจะไปกระตุ้นเซลล์มะเร็งให้เติบโต รวมถึงการปิ้งย่างยังเป็นวิธีปรุงสุกโดยมีไขมันหยดลงบนถ่านจนเกิดควัน ทำให้เกิดสารโพลีไซคลิก อโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง หากรับประทานบ่อยๆ จะสะสมอยู่ในร่างกาย ส่งผลให้ร่างกายเกิดการอักเสบเรื้อรัง จนกลายเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ในที่สุด หากเป็นเมนูโปรดจริงๆ หรือหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรตัดส่วนที่ไหม้เกรียมทิ้งก่อนรับประทาน อย่างไรก็ตามไม่ควรรับประทานในปริมาณมากและบ่อยจนเกินไป ไม่กินผัก-ผลไม้ ไม่เสริมกากใย ผักผลไม้เสมือนตัวช่วยทำความสะอาดลำไส้และร่ากายมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังต่างๆ ช่วยทำความสะอาดลำไส้ ช่วยลดการดูดซึมไขมัน ช่วยปรับสมดุลเอนไซม์และฮอร์โมนในร่างกายให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย ทั้งยังช่วยต้านมะเร็งหรือลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งบางชนิดได้อีกด้วย ควรกินผักให้เพียงพอ โดยในเด็กควรกินผักให้ได้วันละ 12 ช้อนหรือ 4 ทัพพี และในผู้ใหญ่ควรกินผักให้ได้วันละ 18 ช้อน หรือ 6 ทัพพีแนะนำให้กินผลไม้วันละ 400 กรัม ที่สำคัญควรเลือกผักให้ ให้หลากหลาย เพื่อให้ได้รับวิตามินต่างชนิดกัน ชอบดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่จัด แม้ว่าเอทานอลที่อยู่ในแอลกอฮอล์จะไม่ใช่สารก่อมะเร็ง แต่เมื่อเข้าสู่ระบบเผาผลาญของร่างกายมันจะแปรเปลี่ยนกลายเป็นสารก่อมะเร็งได้ พฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์จึงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อโรคมะเร็งหลายๆ อย่าง หรือแม้แต่คนที่สูบบุหรี่จัด สารพิษในบุหรี่ก็สามารถส่งผลให้เกิดการอักเสบหรือเกิดแผลในลำไส้ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งได้เช่นกัน ไม่ควบคุมน้ำหนักปล่อยให้อ้วน หลายๆ การศึกษาวิจัยพบว่า ผู้ที่มีน้ำหนักมากกว่าเกณฑ์มาตรฐาน มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งมากยิ่งขึ้น เนื่องจากระดับไขมันที่สูงมีความสัมพันธ์กับโรคมะเร็งนั่นเอง โดยผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์แห่งสหราชอาณาจักร พบว่า ภาวะอ้วนสามารถเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งได้มากถึง 11 ชนิด หนึ่งในนั้นคือ มะเร็งลำไส้ ซึ่งอาจเกิดจากติ่งเนื้อขนาดเล็ก เรียกว่า โพลิป (Polyp) ซึ่งเป็นเซลล์เนื้อผิดปกติที่งอกจากผนังลำไส้ การสะสมไขมันในช่องท้องส่งผลต่อการทำงานของฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งเป็นสารที่เปลี่ยนเป็นฮอร์โมนแอนดรอกทินซึ่งส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้ ซึ่งผู้ที่มีภาวะอ้วนเสี่ยงเป็นมะเร็งลำไส้มากกว่าคนปกติ 30-70% เลยทีเดียวค่ะ จะเห็นได้ว่าสาเหตุของมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนหนึ่งคือพฤติกรรมการกินและ โรคอ้วน ดังนั้นการหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันและ มีแคลอรีสูง รับประทานผัก ผลไม้มากๆ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ก็จะสามารถหลีกเลี่ยงโรคอ้วนซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ นอกจากนี้ การงดสูบบุหรี่และทำตรวจคัดกรองโรคกรณีที่มีปัจจัยเสี่ยง หรือมีอาการชวนสงสัยว่าอาจจะเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ จากผลการศึกษาการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ในต่างประเทศทำให้มีคำแนะนำให้ตรวจคัดกรองโรคนี้ในช่วงอายุ 50 ปี หรือมากกว่า หรือคนที่มีประวัติโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในครอบครัว หรือคนที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรค ขอบคุณข้อมูลจาก : BDMS สถานีสุขภาพ

ไฟโบรสแกน

ไฟโบรสแกน

ไฟโบรสแกน คืออะไร? เป็นเทคโนโลยีใหม่ลาสุดในการตรวจหาภาวะพังผืดในเนื้อตับ และตรวจวัดปริมาณไขมันสะสมในตับ โดยไม่เกิดความเจ็บปวดใดๆ กับร่างกาย และลดอัตราความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อน เมื่อเทียบจากการเจาะตับ (liver biopsy) หลักการทำงานของเครื่อง ไฟโบรสแกน เครื่อง ไฟโบรสแกน ใช้หลักการปล่อยคลื่นความถี่ต่ำที่ 50 เฮิรตซ์ ด้วยเทคนิค VCTETM (Vibration Controlled Transient Elastograply) เข้าไปในตับแล้ววัดคลื่นที่สะท้อนกลับมาด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงต่ำ จากนั้นเครื่องจะประมวลผลออกมา เป็นค่าความแข็งเนื้อตับ หากตับเริ่มแข็ง คลื่นเสียงสะท้อนกลับจะเดินทางเร็ว ค่าที่วัดได้ก็จะสูงตาม มีหน่วยวัดเป็น กิโลพาสคาล(kPa) ส่วนการวัดปริมาณไขมันสะสมในตับ สามารถวัดได้โดยมีชื่อเรียกวิธีนี้ว่า CAP(Controlled Attenuation Parameter) ใช้หลักการปล่อยคลื่นเสียงความถี่ต่ำเข้าไปในเนื้อตับ และวัดค่าความต้านทานนั้นๆ หากตับมีปริมาณไขมันสะสมมาก ก็จะมีแรงต้านทานมาก ค่าที่ใด้ก็จะสูงตามมีหน่วยวัดเป็น เดซิเบล/เมตร(dB/m) ตับส่งสัญญาณว่าคุณควรพบแพทย์ ตาเหลือง ตัวเหลือง อ่อนเพลีย อาหารไม่ย่อย มีประวัติการดื่มสุราเรื้อรัง มีประวัติว่าคนในครอบครัวป่วยเป็นมะเร็งตับ เป็นผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อไวรัส ตับอักเสบ B และไวรัสตับอักเสบ C ข้อดีของการตรวจไฟโบรสเกน ไม่เกิดความเจ็บปวด และไม่เป็นอันตรายใดๆ กับร่างกาย ง่าย รวดเร็ว ใช้เวลาไม่เกิน 5-10 นาที ทราบผลทันที จะรู้สึกสั่นสะเทือนบริเวณผิวหนังที่ปลายหัวตรวจเล็กน้อย ในกรณีที่ต้องติดตามผลอย่างใกล้ชิด สามารถตรวจซ้ำได้หลายครั้งและปลอดภัย วิธีการตรวจไฟโบรสแกน ให้นอนหงายโดยยกแขนทั้งสองข้างไว้เหนือศรีษะ ทาเจลที่หัวตรวจหรือผิวหนังคนไข้เพียงเล็กน้อย ทำการตรวจวัดที่บริเวณตำแหน่งตรงกลางเนื้อตับทั้งหมด 10 ครั้งในจุดเดียวกัน ผลที่ได้เป็น ค่าความแข็งของตับ เป็นตัวเลข ตั้งแต่ 1.5-75 กิโลพาสคาล และค่าปริมาณไขมันสะสมในตับเป็นตัวเลข ตั้งแต่ 100-400 เดซิเบล/เมตร ซึ่งแพทย์จะแปลผลที่ได้เพื่อใช้เป็นข้อมูลส่วนหนึ่งในการรักษาผู้ป่วยโรคตับ ตรวจ ไฟโบรสแกน เพื่ออะไร? ผลตรวจไฟโบรสแกนสามารถช่วยในการติดตามผลการดำเนินโรค และประเมินระดับความรุ่นแรงของภาวะตับแข็ง เพื่อดูผลการตอบสนองการรักษาและวางแผนการรักษาต่อไป โดยอาจใช้แทนการเจาะเนื้อตับในผู้ป่วยที่มีข้อห้ามหรือปฏิเสธการเจาะตับ ใครเป็นผู้ตรวจ ไฟโบรสแกน? แพทย์เฉพาะทางผู้เชี่ยวชาญด้านโรคตับหรือบุคลากรที่ได้รับการอบรมจะเป็นผู้ตรวจไฟโบรสแกนได้ดีที่สุด ข้อห้ามในการตรวจ ไฟโบรสแกน ไม่ตรวจในอวัยวะอื่นๆ นอกจากตับ ผู้ป่วยที่ติดอุปกรณ์ในร่างกาย เช่น pacemekers, defibrillators ผู้ที่มีภาวะท้องมาน หญิงตั้งครรภ์ ง่าย รวดเร็ว ปลอดภัย ไม่เจ็บ ทราบผลทันที!! สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ โทร. 0-3931-9888