โรคความดันโลหิตสูง

โรคความดันโลหิตสูง

ความดันโลหิตสูง หมายถึง ภาวะที่แรงดันของเลือดในหลอดเลือดมีค่าสูงเกินปกติ ค่าปกติควรน้อยกว่า 120/80 มิลลิเมตรปรอท หากมีค่าตั้งแต่ 120/80 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป ถือว่ามีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง เป็นสภาวะที่ต้องทําการควบคุม แต่ถ้าวัดความดันโลหิตตั้งแต่ 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป ถือว่ามีภาวะความดันโลหิตสูง

ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง

  • ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ ได้แก่ อายุที่มากขึ้น และการมีกรรมพันธุ์พ่อ แม่ พี่ น้อง เป็นโรคความดันโลหิตสูง
  • ปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมได้ ได้แก่ รับประทานอาหารที่มีรสเค็มจัด หวานจัด มันจัด ไขมันในเลือดผิดปกติ ภาวะเบาหวาน ขาดการออกกําลังกาย เป็นโรคอ้วนหรือน้ำหนักตัวเกิน เครียดเรื้อรัง สูบบุหรี่ และดื่มสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

อาการเตือนโรคความดันโลหิตสูง

ภาวะความดันโลหิตสูงส่วนมากจะไม่มีอาการเตือนจึงหมั่นตรวจวัดความดันโลหิตเป็นประจำสม่ำเสมอ ในผู้ป่วยบางรายก็อาจมีอาการเตือน เช่น ปวดมึนท้ายทอย วิงเวียน ปวด ศีรษะตุบๆ หากเป็นมานานหรือความดันสูงมากๆ มีอาการเลือดกําเดาไหล ตาพร่ามัว ใจสั่น มือเท้าชา ควรรีบไปพบแพทย์

ภาวะแทรกซ้อนเกิดจากความดันโลหิตสูง

  1. หัวใจ : อาจเกิดหัวใจโต และหลอดเลือดหัวใจหนาตัวและแข้งขึ้น
    ทําให้เกิดหัวใจขาดเลือดหรือหัวใจล้มเหลว
  2. สมอง : อาจเกิดหลอดเลือดในสมองอุดตันหรือแตกได้ เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือเสียชีวิตทันที
  3. ตา : อาจเกิดเลือดออกที่ตา ตาพร่ามัวจนถึงตาบอดได้
  4. หลอดเลือด : อาจทําให้เลือดไปเลี้ยงแขนขาและอวัยวะภายในน้อยลง

การป้องกันโรคความดันโลหิตสูง

  1. เลิกสูบบุหรี่ และงดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  2. ออกกําลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยวันละ 30-40 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน
  3. ควบคุมน้ำหนักและรอบเอว ในผู้ชายรอบเอวน้อยกว่า 90 ซม. ส่วนในผู้หญิงรอบเอวน้อยกว่า 80 ซม.
  4. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็ม
  5. จัดการกับความเครียดอย่างเหมาะสม
  6. พบแพทย์ตรวจสุขภาพเป็นประจําปี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์โรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี 039-319888

บทความที่เกี่ยวข้อง

โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด จํานวนผู้ป่วยโรคหัวใจในประเทศมีแนวโน้มเพิ่่มสูงขึ้นทุกปี ซึ่งทําให้บั่นทอนคุณภาพชีวิตของคนไทยเป็นอย่างมาก โรคหัวใจ ชนิดหนึ่งที่คนไทยเป็นกันมากขึ้น คือ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด สาเหตุและอาการของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เกิดจากการตีบแคบ หรืออุดตันในหลอดเลือดโคโรนารีที่นําเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ทําให้หัวใจขาดเลือด จึงเกิดอาการต่าง ๆ เช่น จุกแน่น เสียดแสบบริเวณทรวงอก อาจแพร่กระจายไปที่แขน ลําคอ ขากรรไกร กราม หากเป็นมากจะอ่อนเพลีย เหงื่อออก เป็นลม จนถึงเสียชีวิตแบบเฉียบพลัน ถ้าท่านเจ็บหน้าอก และมีอาการร่วมอื่น ดังกล่าวข้างต้น และหรือเจ็บนานเกิน 15-20 นาที ควรรีบไปโรงพยาบาลโดยเร่งด่วน เพื่อรับการรักษาได้ทันท่วงที ปัจจัยเสี่ยงโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง การสูบบุหรี่ โรคเบาหวาน ความอ้วน ความเครียด การไม่ออกกําลังกายอย่างสม่ำเสมอ ผู้ชายอายุ 40 ปีขึ้นไป หรือหญิงอายุ 50 ปีขึ้นไป หรือวัยหลังหมดประจําเดือน ผู้มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ การปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หากมีโรคประจำตัว ควรรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และมาตรวจตามนัดทุกครั้ง รับประทานผัก ผลไม้และดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 2-3 ลิตร ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอตามกำลังของตนเอง หากออกกำลังกายแล้วมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก เวียนศีรษะ มึนงง คลื่นไส้ เหนื่อยมากจนพูดไม่ออก หายใจสั้นและถี่มาก เมื่อยหรือปวดกล้ามเนื้อ เหงื่อออกมาก ควรหยุดออกกำลังกายและพบแพทย์ทันที จัดการกับความเครียดอย่างเหมาะสม ทำกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด พักผ่อนอย่างเพียงพอ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์โรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี 039-319888

รักษาความดันไม่สม่ำเสมอมีผลต่อหลอดเลือดแดงใหญ่

รักษาความดันไม่สม่ำเสมอมีผลต่อหลอดเลือดแดงใหญ่

ความดันโลหิตสูงหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจนำไปสู่โรคร้ายแรงที่อันตรายถึงชีวิตได้ โรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง เป็นอาการที่ผนังหลอดเลือดอ่อนแอและถูกความดันเลือดดันออกทำให้เกิดการโป่งพอง มีสาเหตุได้จากทั้งความเสื่อมตามวัยของผู้สูงอายุ หรือความผิดปกติอื่นๆ เช่น ภาวะความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่จัด หรือคนที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรมบางชนิด หากใครที่อยู่ในภาวะเสี่ยงควรรีบพบแพทย์และรักษาโดยด่วน เพราะหลอดเลือดแดงใหญ่นั้นมีความสำคัญกับร่างกายมาก เปรียบเสมือนท่อประปาหลักที่ส่งเลือดแดงไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น หัวใจ สมอง ประสาทไขสันหลัง แขน ขา และรวมไปถึงในช่องท้อง เช่น ตับ ไต และลำไส้ แน่นอนว่าถ้ามีความผิดปกติเกิดขึ้นอย่างการที่เส้นเลือดแดงใหญ่โป่งพอง และปริแตกอาจส่งผลให้เสียชีวิตได้ถึง 50-90% หลอดเลือดแดงใหญ่อยู่ตรงไหน...สำคัญยังไง? ลองนึกภาพหลอดเลือดแดงใหญ่เป็นท่อประปาหลักๆ ที่พาดยาวจากบนลงล่างในร่างกาย แตกแขนงออกมาหล่อเลี้ยงอวัยวะสำคัญอย่าง หัวใจ สมอง ประสาทไขสันหลัง แขน ขา ตับ ไต สำไส้ ดังนั้นหากมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับหลอดเลือดแดงใหญ่ แน่นอนว่าย่อมกระทบต่ออวัยวะส่วนต่างๆ และหากหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองถึงขั้นปริแตกล่ะก็อาจทำให้เสียชีวิตได้ ไม่แสดงอาการเบื้องต้น อาจโป่งพองจนแตก...นี่คือสิ่งที่ต้องระวัง โรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง เป็นได้กับทุกตำแหน่งของหลอดเลือดแดงใหญ่ ในช่วงตั้งแต่ส่วนติดกับหัวใจลงมาถึงในช่องท้องที่แยกแขนงเป็นไปเลี้ยงขาสองข้าง ความอันตรายคือเป็นโรคที่อาจไม่มีอาการ แม้บางครั้งจะโป่งพองขนาดใหญ่มากแล้วเกิดแตก ทำให้เสียเลือดออกจากระบบไหลเวียนโลหิตและเสียชีวิตในเวลาอันสั้น สาเหตุหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง โรคนี้เกิดจากความดันโลหิตไม่สม่ำเสมอ และมักไม่ปรากฏอาการ จนกว่าหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งถึงขนาดที่ใกล้แตก อาการ เจ็บหรือปวด อาจเป็นที่หน้าอก กลางหลังหรือในช่องท้อง คลำได้เป็นก้อนที่เต้นตามชีพจรตรงแถวสะดือ ซึ่งแล้วแต่ตำแหน่งหลอดเลือดแดงใหญ่ที่โป่ง หรือโป่งพองไปกดอวัยวะข้างเคียง เสียงแหบ ไอ ไอเป็นเลือด อาเจียนเป็นเลือด เหนื่อยจากภาวะหัวใจวาย ถ้าเกิดในช่องท้องอาจกดหลอดเลือดดำทำให้ขาบวม “การรักษาหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง ถ้ารักษาตอนที่แตกแล้ว อัตราตายจะสูงมาก จะได้ผลดีและปลอดภัยต้องรักษาก่อนมีอาการ” ดังนั้นผู้สูงวัยที่เข้าข่ายอาจมีความเสี่ยง ควรรีบเข้ารับการตรวจไว้แต่เนิ่นๆ ซึ่งการรักษาทำได้สองวิธีคือการผ่าตัดแบบเปิด ต้องเปิดแผลใหญ่ ฟื้นตัวช้า ขณะผ่าตัดก็จะเสียเลือด และยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดอัมพาตถ้าเป็นการผ่าตัดหลอดเลือดแดงใหญ่ส่วนที่มีแขนงไปเลี้ยงสมอง แต่ในปัจจุบันยกเว้นหลอดเลือดแดงใหญ่ส่วนที่ติดกับหัวใจ เราสามารถรักษาได้โดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่ มีเพียงรอยผ่าตัดที่ขาหนีบความยาวประมาณ 1 นิ้ว แล้วสอดหลอดเลือดเทียมที่มีขดลวดที่ผนังให้ไปกางคร่อมตำแหน่งที่โป่งพอง เลือดจะไหลในเส้นเลือดเทียม ผนังส่วนโป่งพองก็จะไม่สัมผัสกับเลือด ไม่แตกและค่อย ๆ ยุบลงในที่สุด คนไข้สามารถลุกเดินได้เร็ว ฟื้นตัวเร็ว อยู่โรงพยาบาลสั้น กลับไปใช้ชีวิตปกติได้เร็ว การรักษาโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองด้วยการใช้ขดลวดและหลอดเลือดเทียมเป็นการรักษามาตรฐานของโรคนี้ อาจมีข้อยกเว้นในตำแหน่งโป่งพองที่รักษาไม่ได้ หรือคนไข้มีลักษณะทางกายวิภาคไม่เหมาะสม ซึ่งการรักษาต้องใช้แพทย์ที่มีประสบการณ์สูง ดังนั้น ยิ่งตรวจพบเร็ว การรักษายิ่งได้ผลดี และปลอดภัย ขอบคุณข้อมูลจาก : BDMS สถานีสุขภาพ

ภาวะหัวใจล้มเหลว

ภาวะหัวใจล้มเหลว

ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจล้มเหลว เป็นภาวะที่หัวใจทำงานผิดปกติ ซึ่งอาจผิดปกติที่โครงสร้างหรือการทำงานของหัวใจ ทำให้ไม่สามารถส่งเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆได้อย่างเพียงพอ และไม่สามารถรับเลือดกลับเข้าสู่หัวใจได้ตามปกติ ภาวะหัวใจล้มเหลวจึงมีผลต่อเนื้อเยื่อทุกส่วนของร่างกาย อาจส่งผลต่อผู้ป่วยอย่างรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ อาการหลักๆของภาวะหัวใจล้มเหลว เหนื่อย อ่อนเพลีย บวม ภาวะหัวใจล้มเหลว แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้ ภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง ผู้ป่วยมักมาด้วยอาการที่ไม่จำเพาะ เช่น อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย จำเป็นต้องตรวจเลือด และตรวจการทำงานของหัวใจเพิ่มเติม เพื่อช่วยในการวินิจฉัย การรักษานอกจากจะมุ่งเน้นการชะลอการดำเนินโรค และเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน เป็นภาวะฉุกเฉินต้องให้การรักษาทันที่ มักพบในผู้ป่วยที่เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด การรักษามุ่งเน้นการรักษาภาวะฉุกเฉินเพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วย โดยช่วยเรื่องการไหลเวียนเลือด และการหายใจเป็นหลัก ภาวะแทรกซ้อนของจากภาวะหัวใจล้มเหลว ไตวาย ตับวาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ ลิ้นหัวใจรั่ว การวินิจฉัยภาวะหัวใจล้มเหลว ซักประวัติและตรวจร่างกายจากแพทย์ การตรวจเลือดเพื่อหาสารเคมีบางอย่างในร่างกาย (NT-ProBNP) ตรวจการทำงานของหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อน (Echocardiography) นอกจากนี้แพทย์อาจพิจารณาตรวจหาโรคที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวเพิ่มเติม เช่น การฉีดสีสวนหัวใจเพื่อหาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เพื่อจะได้ทำการแก้ไขโรคต้นเหตุได้อย่างทันท่วงที ผู้ที่มีความปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลว โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่ ผู้ป่วยที่มีภาวะโลหิตจางเรื้อรัง การรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว การหาโรคที่เป็นทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว และรักษาแก้ไขที่โรคต้นเหตุร่วมกับการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว รักษาด้วยยาเพื่อชะลอการดำเนินโรคและฟื้นฟูการทำงานของหัวใจ ควบคุมปริมาณน้ำที่ดื่ม และอาหารที่มีโซเดียมสูง อาหารรสเค็ม และการปรับยาขับปัสสาวะอย่างเหมาะสม การป้องกันการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ รับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30-40 นาที สัปดาห์ละ 3-5 วัน ตรวจสุขภาพและพบแพทย์สม่ำเสมออย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หากมีโรคประจำตัว ควรรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และมาตรวจตามนัดทุกครั้ง จัดการกับความเครียดอย่างเหมาะสม ทำกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด พักผ่อนอย่างเพียงพอ สอบถามเพิ่มเติมที่ศูนย์โรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี 039-319888

ปัญหาช่องปาก เรื่องใหญ่ของผู้ป่วยโรคหัวใจ

ปัญหาช่องปาก เรื่องใหญ่ของผู้ป่วยโรคหัวใจ

กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคทรวงอก แนะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยง ลดปัญหาสุขภาพช่องปาก เตือนผู้ป่วยโรคหัวใจควรใส่ใจสุขภาพช่องปากมากกว่าคนทั่วไป หากละเลยเสี่ยงติดเชื้อในกระแสเลือดอันตรายต่อชีวิต สุขภาพช่องปาก เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญโดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหัวใจ เนื่องจากปัญหาโรคเหงือกและฟันมีความเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจ หากพบว่าในช่องปากมีโรคเหงือก ฟันผุ หรือหนองจากฟันผุทะลุโพรงประสาทฟัน จะทำให้เกิดอาการปวดฟัน รากฟันอักเสบเป็นหนอง และอาจเกิดการติดเชื้อจากแบคทีเรียแทรกซึมเข้าสู่กระแสเลือดไปตามอวัยวะต่างๆ รวมถึงหัวใจ ทำให้เกิดพยาธิสภาพที่หัวใจได้ ปัจจัยเสี่ยงปัญหาสุขภาพช่องปาก การสูบบุหรี่ ทำให้เกิดปัญหากลิ่นปาก โรคปริทันต์อักเสบ การรับประทานของหวาน ของว่างระหว่างมื้อบ่อยๆ อาจทำให้เกิดฟันผุ ฟันผุทะลุโพรงประสาทฟัน การเคี้ยวของแข็ง ส่งผลทำให้ฟันบิ่น หรือฟันแตก การรับประทานยาหลายชนิด อาจทำให้เกิดภาวะปากแห้ง การแปรงฟันแรง แปรงฟันไม่ถูกวิธี อาจทำให้ฟันสึก หรือฟันผุ ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเหล่านี้ เพื่อลดความเสี่ยงปัญหาสุขภาพช่องปากในอนาคต สำหรับข้อควรระวัง และการเตรียมตัวในการทำฟันของผู้ป่วยโรคหัวใจ ควรปรึกษาแพทย์ประจำตัว ขอใบรับรองแพทย์เพื่อยืนยันว่าสามารถทำฟันได้หรือไม่ รวมถึงข้อควรระวัง ชนิดของโรคหัวใจที่เป็น และยาที่รับประทานอยู่ ต้องแจ้งทันตแพทย์ทุกครั้งเกี่ยวกับชนิดของโรคหัวใจ ยาที่รับประทาน รวมถึงปัญหาที่ผู้ป่วยเคยมีในการทำฟัน เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาซ้ำ ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ประจำตัวและทันตแพทย์อย่างเคร่งครัดในการปรับ หรืองดยาละลายลิ่มเลือด การเจาะเลือดก่อนการทำฟัน การรับประทานยาปฏิชีวนะก่อนทำฟัน และการปฏิบัติตนภายหลังการทำฟัน ผู้ป่วยไม่ควรหยุดยาใดๆมาเอง หากไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือทันตแพทย์ วิธีการดูแล และป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพช่องปากที่ควรปฏิบัติ แปรงฟันอย่างถูกวิธีด้วยแปรงสีฟันขนนุ่มและยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ วันละ 2 ครั้ง เช้าและก่อนนอน ใช้ไหมขัดฟัน หรือแปรงซอกฟันเพื่อทำความสะอาดบริเวณด้านประชิดของฟัน ที่สำคัญทั้งผู้ป่วยโรคหัวใจและคนที่สุขภาพร่างกายแข็งแรงควรพบทันตแพทย์ตามนัดหมายเป็นประจำทุก 6 เดือน หากปรับพฤติกรรมที่ไม่ดีร่วมกับการดูแลฟันอย่างถูกวิธีตามคำแนะนำของแพทย์ ก็สามารถช่วยลดปัญหาสุขภาพช่องปากในระยะยาวลงได้ ขอบคุณข้อมูลจาก : สถาบันโรคทรวงอก และ BDMS สถานีสุขภาพ

การตรวจอัลตร้าซาวด์หัวใจ (Echocardiogram)

การตรวจอัลตร้าซาวด์หัวใจ (Echocardiogram)

การตรวจอัลตร้าซาวด์หัวใจ (Echocardiogram) การตรวจ ECHO หัวใจ (Echocardiogram หรือ Echocardiography) เป็นการตรวจการทำงานของหัวใจ เช่น ขนาดของห้องภายในหัวใจ การไหลเวียนของเลือดภายในหัวใจ การบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ การทำงานของลิ้นหัวใจ ภาวะน้ำในเยื่อหุ้มหัวใจ ช่องหัวใจโต และตรวจหาภาวะหัวใจพิการแต่กำเนิด ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของอาการเหนื่อยง่าย หรือแน่นหน้าอก และดูตำแหน่งของหลอดเลือดต่างๆ ที่คอยสูบฉีดเลือดจากหัวใจไปเลี้ยงเซลล์และอวัยวะต่างๆ ด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง คำแนะนำสำหรับผู้รับการตรวจ 1. ควรมาถึงก้อนเวลานัด 15 นาที พร้อมยื่นใบนัดที่แผนกเวชระเบียน 2. ใช้เวลาในการตรวจพิเศษ ประมาณ 1 ชั่วโมง ขั้นตอนต่างๆจะแจ้งให้ทราบก่อนเริ่มการทดสอบ 3. ควรพักผ่อนให้เพียงพอช่วงก่อนวันนัด หากผู้ป่วยมีไข้ อ่อนเพลีย หรืออาการกำเริบ โปรดสอบถามแพทย์หรือแจ้งเจ้าหน้าที่ 4. ไม่ต้องงดน้ำไม่ต้องงดอาหารและไม่ต้องงดยา สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์โรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี 039-319888

ตรวจหาคราบหินปูนหลอดเลือดหัวใจ

ตรวจหาคราบหินปูนหลอดเลือดหัวใจ

ตรวจหาคราบหินปูนหลอดเลือดหัวใจ Coronary Calcium Scan (CAC) ภาวะหลอดเลือดแดงของหัวใจแข็ง การตรวจหาคราบหินปูนที่หลอดเลือดแดงของหัวใจ (Coronary Artery Calcium Scan หรือ CAC) เป็นการตรวจหาหลักฐานของภาวะหลอดเลือดแดงของหัวใจแข็ง (Atherosclerosis of Coronary Artery) การที่หลอดเลือดแดงแข็งเป็นผลมาจากการอักเสบเรื้อรังร่วมกับภาวะหลอดเลือดแดงเสื่อมที่เป็นมาระยะเวลานานพอสมควรประมาณ 2 – 5 ปี สาเหตุจากโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง บุหรี่ โรคอ้วนลงพุง หรือกรรมพันธุ์ ทำให้หลอดเลือดแข็งขึ้นจากการอักเสบเรื้อรัง และสุดท้ายเป็นแคลเซียมไปเกาะที่หลอดเลือด ทำให้ความยืดหยุ่นของหลอดเลือดเสียไป รวมทั้งมีการตีบของหลอดเลือด การพัฒนาของหลอดเลือดจนกลายเป็นคราบหินปูนเกาะตามหลอดเลือด การบ่งบอกได้ว่าผู้ป่วยมีภาวะหลอดเลือดแข็งนั้นสามารถประเมินและวินิจฉัยได้โดยการส่งตรวจ Computerized Coronary Calcium Scan ซึ่งจะสามารถบอกได้ในผู้ป่วยที่เป็นเรื้อรังเท่านั้น ในคนที่เป็นแบบเฉียบพลันอาจจะไม่สามารถบอกได้ เนื่องจากเป็นรอยโรคใหม่ จุดสังเกตแคลเซียมหรือหินปูน สำหรับพยาธิสภาพของหลอดเลือดหัวใจที่มีแคลเซียมหรือหินปูน เริ่มต้นจาก ลักษณะของแคลเซียมที่หลอดเลือดหัวใจเริ่มตั้งแต่เป็นจุด (Fine Speckles) กลุ่มของจุดที่กระจาย (Fragmented) เล็ก ๆ (0.5 – 15.0 µm) เป็นรอยโรคที่เกิดใหม่มีความเสี่ยงต่อ Heart Attack หรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันหรือโรคหลอดเลือดหัวใจตีบรุนแรงหรือตัน เมื่อแคลเซียมเพิ่มมากขึ้นเป็นเส้นตามแนวหลอดเลือด (Diffuse Calcification) เมื่อแคลเซียมเพิ่มมากขึ้นเป็นปื้นหรือแผ่นของแคลเซียม (Sheet of Calcification) ที่ขนาดมากกว่า 3 มิลลิเมตร ซึ่งหมายถึงการเป็นเรื้อรังมานาน โดยสรุปการบอกแคลเซียมหรือคราบหินปูนที่เกิดขึ้นเป็นของใหม่ที่เพิ่งเกิด หรือเป็นของเก่าพอมีลักษณะที่บอกได้ จากลักษณะเริ่มเป็นจุด เส้น ๆ กลายเป็นหนา และกลายเป็นแผ่นหนาขึ้น การตรวจวินิจฉัย การตรวจวินิจฉัยคราบหินปูนในผนังเส้นเลือดหัวใจที่หนาตัว (CAC) ทำให้หลอดเลือดแดงหัวใจตีบแคบลง เลือดไหลเวียนไม่เพียงพอ ทำให้เกิดอาการเจ็บแน่นหน้าอก การทำ Coronary Calcium Scan เป็นวิธีการตรวจเบื้องต้นที่ง่าย ไม่ต้องฉีดสี ใช้เวลาในการตรวจประมาณ 10 – 15 นาที มีประโยชน์ในการประเมินความเสี่ยงของการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดในอนาคตที่มีสาเหตุจากหลอดเลือดหัวใจตีบ โดยประเมินร่วมกับปัจจัยเสี่ยงอื่น รวมทั้งอาการและอาการแสดงของผู้ป่วยมาประกอบในการวางแนวทางการตรวจรักษาที่เหมาะสมต่อไป ผู้ที่ควรตรวจ Coronary Calcium Scan ข้อบ่งชี้ในการทำ Coronary Calcium Scan ในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจน้อยถึงปานกลาง ได้แก่ ประวัติครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ เพศชายอายุ 40 ปีขึ้นไป เพศหญิงอายุ 50 ปีขึ้นไปหรือวัยหมดประจำเดือน ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคอ้วนลงพุง ไขมันในเส้นเลือดสูง สูบบุหรี่ เทคนิคการทำ Coronary Calcium Scan การตรวจหาคราบหินปูนที่หลอดเลือดแดงของหัวใจ (Coronary Artery Calcium Scan หรือ CAC) เป็นการใช้คอมพิวเตอร์โดยใช้เทคโนโลยีเอกซเรย์พิเศษที่เรียกว่า Multidetector Row หรือ Multislice Computerized Tomography (CT) ซึ่งสแกนภาพหลายภาพของคราบหินปูนที่สะสมอยู่ที่เส้นเลือด การทดสอบการถ่ายภาพจะดูที่ระดับของคราบหินปูนที่สะสมอยู่ คราบหินปูนประกอบด้วยไขมัน คอเลสเตอรอล แคลเซียม และสารอื่น ๆ ในเลือด ซึ่งจะค่อย ๆ พัฒนาเกาะเพิ่มขึ้นกลายเป็นแผ่นหนาใหญ่ขึ้น จนทำให้เห็นคราบหินปูนที่ชัดเจนขึ้น Coronary Calcium Scan กับความเสี่ยง การสแกนหัวใจใช้เทคโนโลยี X – Ray ซึ่งมีปริมาณรังสีค่อนข้างน้อย (ประมาณ 1 Millisievert) เวลาที่ใช้ในการตรวจเพียง 10 – 15 นาทีเท่านั้น การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจ ไม่ต้องงดน้ำหรืออาหารก่อนรับการตรวจ หลีกเลี่ยงยาหรือสารที่กระตุ้นหัวใจให้ชีพจรเร็วขึ้น ได้แก่ งดชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนเป็นส่วนประกอบ งดสูบบุหรี่อย่างน้อย 4 ชั่วโมงก่อนตรวจ เปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดคลุมของโรงพยาบาล ถอดเครื่องประดับรอบคอหรือแผ่นต่าง ๆ ที่ติดบริเวณหน้าอก ขั้นตอนระหว่างทำ Coronary Calcium Scan แพทย์จะตรวจ / บันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG หรือ EKG) ซึ่งจะบันทึกการเต้นของหัวใจในระหว่างการทำ Coronary Calcium Scan ท่านอนจะต้องนอนหงายและต้องกลั้นหายใจนิ่งเพื่อให้ภาพมีความชัดเจน โดยผู้ป่วยอาจจะต้องกลั้นหายใจประมาณ 2 – 10 วินาที ในช่วงที่ถ่ายภาพ กรณีที่อัตราการเต้นของหัวใจผู้ป่วยเต้นเร็วมาก แพทย์อาจพิจารณาให้ยาควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจเพื่อให้หัวใจเต้นในเกณฑ์ปกติ ขั้นตอนทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 10 – 15 นาที การปฏิบัติตัวหลังทำ Coronary Calcium Scan ไม่มีข้อควรระวังเป็นพิเศษหลังทำ Coronary Calcium Scan สามารถขับรถกลับบ้านได้และทำกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ ได้ตามปกติ การแปลผล Coronary Calcium Scan การแปลผลปริมาณหินปูนมีความสัมพันธ์กับโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดแดงหัวใจตีบหรืออุดตัน โดยใช้การแปลผลจากคะแนน Agatston Score คะแนน 0 หมายความว่า ไม่มีแคลเซียมที่หลอดเลือดแดงหัวใจ แสดงว่าโอกาสต่ำในการเกิด Heart Attack หรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันหรือโรคหลอดเลือดหัวใจตีบรุนแรงหรือตันในอนาคตน้อย คะแนน 1 – 100 หมายความว่า มีแคลเซียมที่หลอดเลือดแดงหัวใจน้อย มีความเสี่ยงน้อยที่จะเกิด Heart Attack หรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือโรคหลอดเลือดหัวใจตีบรุนแรงหรือตัน ดูแลเรื่องอาหารและการออกกำลังกาย คะแนน 101 ถึง 400 หมายความว่า มีแคลเซียมที่หลอดเลือดแดงหัวใจระดับปานกลาง มีความเสี่ยงปานกลางถึงสูงที่จะเป็นในการเกิด Heart Attack หรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือโรคหลอดเลือดหัวใจตีบรุนแรงหรือตัน ต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์เพื่อพิจารณาในการตรวจรักษา คะแนนตั้งแต่ 400 ขึ้นไป หลอดเลือดแดงหัวใจอาจมีภาวะหลอดเลือดตีบแอบแฝงอยู่ มีความเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดหัวใจตีบสูงมาก รวมทั้ง Heart Attack หรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือโรคหลอดเลือดหัวใจตีบรุนแรงหรือตัน แม้ว่าจะมีอาการหรือไม่ก็ตาม ซึ่งต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์เพื่อพิจารณาในการตรวจรักษาเพิ่มเติม CAC Score 10 – Year Mortality Risk Guidance Reassure 0 Very Low (<1%) Reassure; maintenance of healthy diet and lifestyle. 1 – 100 Low (<10%) Maintenance of healthy diet and lifestyle 101 – 400 Moderate (10–20%) Aspirin recommended Statins considered reasonable 101-400 & >75th centile Moderately High (15-20%) Reclassify as high risk Aspirin recommended Statins considered reasonable >400 High (>20%) Aspirin recommended Statin recommended, to achieve target LDL <2.0 mmol/L Consider functional assessment. * Suggested management based on CAC results for asymptomatic patients Source: 2017 CSANZ Calcium Score Position Statement ขอบคุณข้อมูลจาก : เว็บไซต์ bangkokhearthospital