มะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colon Cancer) คือ โรคที่เกิดจากความผิดปกติของเนื้อเยื่อลำไส้ใหญ่และลำไส้ที่มีการเปลี่ยนแปลงและแบ่งตัวอย่างต่อเนื่องจนไม่สามารถควบคุมได้ กลายเป็นก้อนหรือเนื้องอก ระยะแรกอาจเป็นเพียงแค่ติ่งเนื้องอกเล็ก ๆ เรียกว่าโพลิป (Polyp) แต่หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ทำการรักษาหรือตัดทิ้ง อาจพัฒนากลายเป็นมะเร็ง ที่สามารถลุกลามทะลุผนังลำไส้จนแพร่กระจายต่อไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้ อีกทั้งคาดว่าจะเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมส่งต่อของยีนต์มะเร็ง และพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิต กลุ่มคนที่สุ่มเสี่ยงคือชอบกินอาหารปิ้งย่างที่ไหม้เกรียม อาหารแปรรูป ไขมันสูง ไม่ชอบกินผัก ผลไม้ที่มีไฟเบอร์ หรือแม้กระทั้งการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ ปล่อยให้ตัวเองท้องผูกบ่อยครั้งก็จัดก็นับเป็นความเสี่ยงด้วยเช่นกัน อาการของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะแรกมักไม่มีอาการแต่หากมีอาการ 8 ข้อต่อไปนี้ ควรพบแพทย์เพราะอาจเป็นอาการอาการของมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะหลังแล้วแม้อายุจะยังไม่ถึง 50 ปีก็ตาม

 

อาการนำ โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

  • ระยะแรกมักไม่มีอาการมักตรวจพบโดยบังเอิญ
  • ท้องผูกสลับท้องเสีย อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน หรืออาจมีอาการท้องเสียเรื้อรัง
  • ถ่ายเป็นเลือด อุจจาระเป็นเลือดสด หรือมี เลือดปนมากับอุจจาระ
  • อุจจาระสีดำ หรือสีดำแดง อุจจาระลำเล็กลง
  • ถ่ายไม่สุด ปวดลงทวาร
  • อ่อนเพลียจากภาวะโลหิตจาง
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ปวดท้องเรื้อรัง โดยเฉพาะบริเวณท้องน้อย หรือคลำได้ก้อนบริเวณหน้าท้อง

 

มะเร็งลำไส้ แบ่งได้เป็น 5 ระยะ

  • ระยะที่ 0 เซลล์มะเร็งที่เป็นเพียงติ่งเนื้อ ตรวจพบได้จากการส่องกล้อง (Colonoscopy) และสามารถตัดออกขณะส่องได้ทันที ตั้งแต่ก่อนการเป็นมะเร็งหรือเกือบเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ทำให้มีโอกาสหายขาดถึง 100%
  • ระยะที่ 1 เซลล์มะเร็งระยะเติบโตขึ้น และยังอยู่ในผนังลำไส้ เริ่มฝังในชั้นผนังของลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โดยยังไม่กระจายไปสู่เนื้อเยื่อข้างเคียงหรือต่อมน้ำเหลือง ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด หรือ Curative resection เป็นการผ่าตัดลำไส้ใหญ่ นำส่วนที่ดีมาต่อกัน ทั้งยังเป็นเทคนิคที่ใช้ผ่าตัดในมะเร็งทวารหนักร่วมด้วยได้
  • ระยะที่ 2 เกิดการลุกลามออกนอกผนังลำไส้ใหญ่ในบริเวณใกล้เคียง แต่ยังไม่กระจายถึงต่อมน้ำเหลือง สามารถใช้การผ่าตัดแบบหวังหาย (Curative resection) เป็นการรักษาหลักเช่นเดียวกับระยะที่ 1
  • ระยะที่ 3 เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง แต่ยังไม่ลุกลามไปยังอวัยวะอื่น รักษาโดยการผ่าตัดแบบหวังหาย (Curative resection) ร่วมกับเคมีบำบัดหลังผ่าตัด
  • ระยะที่ 4 มะเร็งแพร่กระจายลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น ตับ, ปอด หากก้อนมะเร็งที่ลุกลามไปที่ตับหรือปอดสามารถตัดออกได้ แพทย์จะทำการผ่าตัดมะเร็งที่ลำไส้ใหญ่หรือทวารหนักออก พร้อมผ่าตัดมะเร็งที่ลุกลามออกด้วย แล้วให้ยาเคมีบำบัดต่อไป

 

การวินิจฉัยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

  • การซักประวัติ
  • การตรวจร่างกายเบื้องต้น เช่น การตรวจทางทวารหนัก
  • การตรวจอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น การตรวจอุจจาระทางห้องปฏิบัติการ การถ่ายภาพเอกซเรย์ด้วยการสวนแป้งทางทวารหนัก ทั้งนี้ เมื่อพบความผิดปกติ จะทำการตรวจอย่างละเอียดโดยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) ซึ่งเป็นการส่องกล้องเข้าไปทางทวารหนัก เพื่อให้เห็นภาพภายในลำไส้ใหญ่ทั้งหมด  รวมถึงสามารถตัดชิ้นเนื้อที่สงสัยส่งตรวจทางพยาธิวิทยาได้ วิธีนี้จึงเป็นวิธีการตรวจที่มีความแม่นยำมากที่สุด

 

ผู้ป่วยที่รักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่แล้ว  มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีก ทั้งจุดเดิมของโรคและบริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนอื่นๆ ดังนั้น ผู้ป่วยจึงต้องใส่ใจรับการตรวจติดตามโรคเป็นระยะๆ ตามคำแนะนำของแพทย์ ซึ่งหลังการรักษานั้น แพทย์จะมีการติดตามผลเป็นระยะ โดยในช่วง 2 ปีแรก แพทย์จะนัดติดตามอาการทุก 3 - 6 เดือน และในช่วง 3-5 ปีหลัง แพทย์จะนัดติดตามอาการทุก 6 เดือน ในการนัดแต่ละครั้งแพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจร่างกาย นอกจากนั้น การจำกัดการบริโภคเนื้อแดง และอาหารไขมันสูง  เพิ่มเกราะป้องกันให้ตัวเองโดยการบริโภค ผัก  ผลไม้ และอาหารที่มีกากใยสูง เพื่อช่วยให้การขับถ่ายเป็นปกติ ออกกำลังกายเป็นประจำ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รวมถึงการเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี ผู้ป่วยควรลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ได้

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : BDMS สถานีสุขภาพ