เช็คอาการปวดข้อว่าเป็น เกาต์ หรือ ข้อเข่าเสื่อม

โรคเกาต์และข้อเข่าเสื่อม “โรคข้ออักเสบ” ที่พบได้บ่อย

อาการปวดข้อ จาก โรคข้ออักเสบ เป็นอาการของหลากหลายโรค หนึ่งในโรคเกาต์และโรคข้อเข่าเสื่อมที่มีอาการคล้ายกันแต่แตกต่างกันหลายอย่าง รู้ทันได้ป้องกันโรคลุกลาม เลี่ยงขาผิดรูป โรคเกาต์และโรคข้อเข่าเสื่อมนั้นเป็นรูปแบบของ “โรคข้ออักเสบ” ที่พบบ่อยที่สุด โดยมีปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคที่คล้ายคลึงกัน เช่น อายุที่มากขึ้น โรคอ้วน และภาวะโภชนาการ ทำให้มีอาการปวดข้อเช่นเดียวกัน มีอาการบวมหรือผิดรูปของข้อเข่าคล้ายๆ กัน สามารถเกิดขึ้นได้ในข้อเดียวกันและเวลาเดียวกัน และยังสามารถกระตุ้นให้เกิดโรคของกันและกันได้ แต่จริงๆ แล้วโรคเกาต์และโรคข้อเข่าเสื่อมนั้นก็มีความแตกต่างกันอยู่

ความแตกต่างของโรคเกาต์ และ โรคข้อเข่าเสื่อม

กลุ่มเสี่ยง

  • โรคเกาต์ : พบบ่อยทั้งในเพศชายและเพศหญิง
  • ข้อเข่าเสื่อม : พบบ่อยในผู้ที่มีอายุเฉลี่ยตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป โดยพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย เนื่องจากปัจจัยด้านฮอร์โมน กระดูกและกล้ามเนื้อ

สาเหตุของโรคเกาต์ VS ข้อเข่าเสื่อม

  • โรคเกาต์ : เกิดจากภาวะกรดยูริกในเลือดสูง (Hyperuricemia) และไม่สามารถขับกรดยูริกส่วนเกินออกได้ จึงสะสมและตกผลึกตามข้อต่อและอวัยวะต่าง ๆ
  • ข้อเข่าเสื่อม : เกิดจากภาวะที่กระดูกอ่อนผิวข้อเข่าเกิดอาการสึกหรอ ฉีกขาด และเสื่อมสภาพตามช่วงอายุและปัจจัยหลายๆ ด้าน เมื่อกระดูกอ่อนผิวข้อมีการสึกหรอมากขึ้น จึงก่อให้เกิดอาการปวดเข่าขึ้น และยังไปกระตุ้นให้เกิดการอักเสบในข้อเข่าอีกด้วย

อาการของโรคเกาต์ VS ข้อเข่าเสื่อม

  • อาการโรคเกาต์ : คือ ปวด บวม แดง ร้อนบริเวณข้อต่ออย่างรุนแรงและเฉียบพลัน สามารถเกิดได้กับข้อต่อต่างๆ เช่น ข้อเท้า ข้อศอก ข้อเข่า และข้อมือ แต่ส่วนใหญ่เกิดขึ้นบริเวณนิ้วหัวแม่เท้า โดยจะปวดที่ข้อเดียว ไม่ปวดพร้อมกันหลายๆ ข้อ ปวดเข่าข้างใดข้างหนึ่ง

หากเกิดอาการแล้ว จะเป็นๆ หายๆ ในระยะแรก หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องจะปวดบ่อยขึ้นและนานขึ้นจนกลายเป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรัง เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ได้ เช่น โรคไต ไตวาย

  • อาการข้อเข่าเสื่อม : อาการปวดเข่า ข้อเข่าติด/ฝืดตึงน้อยกว่า 30 นาทีหลังตื่นนอน มีเสียงดังในข้อเข่าขณะเคลื่อนไหว มีจุดกดเจ็บบริเวณข้อเข่า ข้อเข่าผิดรูป บวม โดยอาการต่างๆ ค่อยๆ เกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปและเรื้อรัง มากกว่า 6 เดือน มักปวด 2 ข้างพร้อมกัน

อาการจะเป็นๆ หายๆ หรือมีอาการปวดหลังจากที่ได้ทำกิจกรรมที่มีแรงกดต่อผิวข้อเข่าเยอะๆ หรือเดินไกลๆ หากเป็นข้อเข่าเสื่อมในระยะแรกๆ หลังทำกิจกรรมนั้นแล้ว อาการปวดจะอยู่ไม่นานและจะหายไปได้เอง แต่หากเป็นระยะปานกลางขึ้นไปแล้ว อาการปวดจะเป็นต่อเนื่อง หากไม่ได้ใช้งานข้อเข่าก็ยังมีอาการปวด และไม่สามารถหายเองได้ หรือหากหายก็ไม่หายขาด

การรักษา โรคเกาต์ VS ข้อเข่าเสื่อม

  • โรคเกาต์ : สามารถรักษาและควบคุมไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำได้ด้วยการใช้ยาละลายผลึกกรดยูริก โดยรับประทานอย่างต่อเนื่องและเคร่งครัด เพื่อเป็นการรักษาอาการแบบเฉียบพลันและป้องกันการสะสมใหม่ของกรดยูริกและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้
  • ข้อเข่าเสื่อม : สามารถรักษาได้ตามระดับความรุนแรงของโรคที่เป็น ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล การให้ยาแก้ปวดหรือยาต้านการอักเสบ การทำกายภาพบำบัด การฉีดน้ำเลี้ยงข้อเข่าเทียม หรือการฉีด PRP การผ่าตัดโดยวิธีส่องกล้อง การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม

การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันโรค

  • โรคเกาต์: นอกจากการรับประทานยาแล้ว ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีกรดยูริกสูง ดื่มน้ำมากๆ เพื่อขับกรดยูริกออกจากร่างกาย ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม หากมีอาการปวดสามารถใช้การประคบเย็นที่ข้อเข่าได้
  • ข้อเข่าเสื่อม: นอกจากการรักษาข้างต้นแล้ว การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ภาวะโภชนาการและการออกกำลังกายก็เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้มีสุขภาพที่ดี น้ำหนักอยู่ในระดับที่สมดุล ลดปัจจัยของอาการปวดเข่าและการพัฒนาของข้อเข่าเสื่อมได้

อาการของโรคเกาต์และข้อเข่าเสื่อมส่งผลต่อผู้ป่วย ทั้งความเจ็บปวดทางร่างกาย และส่งผลกระทบทางจิตใจ สร้างความเครียด วิตกกังวล และรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ดังนั้น หากเผชิญกับอาการปวดข้อควรพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาให้ตรงกับโรค เนื่องจากโรคเกาต์สามารถรักษาให้หายและควบคุมได้เพียงรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด สำหรับข้อเข่าเสื่อมนั้นก็สามารถเข้ารับการรักษาเพื่อบรรเทาความเจ็บปวด การปล่อยปละละเลยอาจยิ่งทวีความรุนแรงของโรค

ขอบคุณข้อมูลจาก : BDMS สถานีสุขภาพ

บทความที่เกี่ยวข้อง

เกาต์ หญิงกับชายใครเสี่ยงกว่ากัน

เกาต์ หญิงกับชายใครเสี่ยงกว่ากัน

โรคเกาต์พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงหลายเท่า นั้นก็เพราะเกี่ยวข้องกับกรดยูริคที่เพิ่มขึ้นมากตามอายุ ขณะที่ผู้หญิงจะเพิ่มขึ้นหลังวัยหมดประจำเดือน รู้จักโรคเกาต์ที่ไม่ว่าใครก็เป็นได้! โรคเกาต์ (gout) ข้ออักเสบที่หายเองไม่ได้ เกิดจากการระดับกรดยูริกสูงในเลือด ซึ่งเป็นผลมาจากการสะสมกรดยูริคในร่างกายจำนวนมากเป็นระยะเวลานาน ก็จะไปตกตะกอนอยู่บริเวณรอบๆ ข้อ หรือภายในข้อ ทำให้เกิดการอักเสบขึ้น โดยเฉพาะที่ข้อ บริเวณใกล้ข้อและที่ไตเหมือนกัน หากได้รับการรักษาที่ถูกต้องจะได้รับประโยชน์มาก แต่หากไม่ได้รับการรักษา หรือได้รับการรักษาไม่ถูกต้อง ผู้ป่วยอาจต้องพบกับการพิการทางข้อ และหรือไตวายเรื้อรังได้ ทำไมผู้ชายถึงเสี่ยงโรคเกาต์มากกว่าผู้หญิง โรคเกาต์มักเป็นกับผู้ชายวัยสูงอายุ เนื่องจากภาวะกรดยูริคในเลือดที่สูงนั้น จะยังไม่เกิดการตกตะกอน และเกิดข้ออักเสบทันที แต่ต้องใช้ระยะเวลาที่กรดยูริคในเลือดสูงเป็นเวลานานหลายสิบปี พบว่าในผู้ชายที่มีกรดยูริคสูงนั้น ระดับของยูริคในเลือดจะเริ่มสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น และสูงไปนานจนกว่าจะเริ่มมีอาการคืออายุประมาณ 40 ปีขึ้นไป ส่วนผู้หญิงระดับยูริคจะเริ่มสูงขึ้นหลังจากวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากฮอร์โมนเพศหญิงโดยเฉพาะเอสโตรเจนจะมีผลทำให้กรดยูริคในเลือดไม่สูง โดยทั่วไปโรคเกาต์พบได้ในเพศชายมากกว่าเพศหญิง โดยทั่วไปก็พบเมื่ออายุมากกว่า 30 ปี ในเพศหญิงส่วนมากก็จะพบแต่ในวัยหมดประจำเดือน ถ้าหากพบโรคเกาต์ในเด็กก็ต้องมองหาความผิดปกติของโรคทางพันธุกรรม บางชนิดซึ่งพบได้น้อยมาก โรคที่พบร่วมกับโรคเกาต์ โรคอ้วน มีโอกาสมากกว่าคนผอม โรคเบาหวาน คนไข้โรคเกาต์โดยทั่วไปก็พบได้บ่อยว่ามีน้ำหนักตัวมากจึงพบโรคเบาหวานได้บ่อย ไขมันในเลือดสูง โดยเฉพาะระดับไขมันไตรกรีเซอไรด์ ซึ่งพบว่าสูงได้ประมาณ80%ของคนไข้โรคเกาต์ทั้งหมด ความดันโลหิตสูง จากการศึกษาวิจัยพบโรคความดันโลหิตสูงร่วมกับโรคเกาต์ได้บ่อย โรคหลอดเลือดแข็งผิดปกติ ผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากสารตะกั่ว โรคไตวายเรื้อรัง โรคเลือดชนิด sickle cell anemia, myeloproliferative diseas โรคเลือดบางชนิด โรคมะเร็ง โดย เฉพาะมะเร็งต่อมน้ำเหลือง หรือได้รับเคมีบำบัด จะทำให้เซลล์ถูกทำลายมากอย่างรวดเร็ว จะทำให้ระดับกรดยูริคในเลือดสูงมากๆ ได้ ทำให้เกิดโรคเกาต์ ข้ออักเสบ นิ่วไต หรือแม้แต่ตัวกรดยูริคเองไปอุดตันตามท่อเล็กๆ ในเนื้อไตทำให้เกิดไตวายได้ การดื่มเหล้า หรือเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ จะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเกาต์ เนื่องจากไปขัดขวางกระบวนการขับกรดยูริคออกจากร่างกาย อีกทั้งแอลกอฮอล์ช่วยเร่งปฏิกิริยาการสร้างกรดยูริค ยาบางชนิดเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคเกาต์ โดยจะทำให้ระดับกรดยูริคในเลือดสูง เนื่องจากยาเหล่านี้ไปลดการขับถ่ายกรดยูริคออกทางไต ทำให้เกิดการคั่งของกรดยูริคในเลือด จนกระทั่งทำให้ระดับของกรดยูริคในเลือดสูง เช่น ยาแอสไพริน,ยาขับปัสสาวะกลุ่ม,ยารักษาโรคพาร์กินสัน,ยารักษาวัณโรค เช่น ไพราซินาไมด์ หรืออีแธมบูทอล,ยากดภูมิคุ้มกัน ทั้งนี้ผู้ป่วยโรคเกาต์ 90% เกิดจากการที่กรดยูริคถูกสร้างขึ้น แต่ไตทำหน้าที่ขับถ่ายออกมาได้ช้าหรือน้อย แต่ไม่เสมอไปทุกคน และหลายคนที่มีระดับกรดยูริกสูงในกระแสเลือดกลับไม่มีอาการข้ออักเสบจากโรคเกาต์ ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 10 เกิดจากการที่ร่างกายสร้างกรดยูริคมากเกินไป พบว่ายูริคในเลือดที่สูงนั้น อย่างไรก็ตามหากมีอาการปวดข้อควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว ขอบคุณข้อมูลจาก : BDMS สถานีสุขภาพ

โรคข้อรูมาตอยด์

โรคข้อรูมาตอยด์

โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์คืออะไร ? โรครูมาตอยด์เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่งที่มีลักษณะเด่นคือ มีการเจริญงอกงามของเยื่อบุข้ออย่างมาก เยื่อบุข้อนี้จะลุกลามและทำลายกระดูกและข้อในที่สุด โรคนี้มิได้เป็นแต่เฉพาะข้อเท่านั้น ยังอาจมีอาการทางระบบอื่น ๆ อีก เช่น ตา ประสาท กล้ามเนื้อ เป็นต้น ข้ออักเสบเรื้อรังส่วนใหญ่เป็นโรครูมาตอยด์ใช่หรือไม่ ? ถึงแม้โรครูมาตอยด์เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรังที่พบได้บ่อยที่สุด แต่จะมีกลุ่มโรคข้ออักเสบเรื้อรังอื่น ๆ อีกมากที่เลียนแบบโรครูมาตอยด์ได้ ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจจากแพทย์เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง เนื่องจากการรักษาจะแตกต่างกันออกไป สาเหตุของโรครูมาตอยด์คืออะไร ? สาเหตุที่แท้จริงยังไม่เป็นที่ทราบแน่นอน แต่จากการศึกษาพบว่าโรคนี้มีส่วนเกี่ยวกับการติดเชื้อบางอย่าง และมีส่วนเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม ผู้ใดบ้างที่เป็นโรครูมาตอยด์ได้ ? โรครูมาตอยด์สามารถเป็นได้กับทุกกลุ่มอายุตั้งแต่เด็กจนถึงวัยชรา แต่ส่วนใหญ่จะพบในผู้ป่วยวัยกลางคน และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย เมื่อเป็นโรครูมาตอยด์จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ? เมื่อเป็นโรครูมาตอยด์ เยื่อบุข้อจะมีการเจริญงอกงามและมีการหนาตัว จากนั้นจะลุกลามทำลายกระดูกและข้อในที่สุด ในระยะแรกผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการอ่อนเพลีย ปวดตามข้อ มีอาการฝืดขัดข้อเป็นเวลานานในตอนเช้า เมื่อมีอาการชัดเจนข้อจะมีการบวม ร้อน และปวด โรคนี้สามารถเป็นได้กับทุกข้อของร่างกาย แต่ที่พบไดบ่อยคือข้อของนิ้วมือ ข้อมือ ข้อเข่า ข้อเท้า และข้อนิ้วเท้า อาการของข้ออักเสบจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ในบางรายอาจมีอาการรุนแรงแบบเฉียบพลันได้ บางรายอาจมีไข้ เบื่ออาหาร และน้ำหนักลดร่วมด้วยได้ ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีอาการทางระบบตา ปอด และมีปุ่มขึ้นตามตัวได้ การวินิจฉัย ในรายที่เป็นมานานและมีข้ออักเสบชัดเจนการวินิจฉัยจะทำได้ไม่ยาก แต่ในรายที่เป็นในระยะแรกการวินิจฉัยอาจยุ่งยาก แพทย์อาจจำเป็นต้องทำการตรวจทางห้องปฏิบัติการต่าง ๆ เพื่อยืนยันการวินิจฉัยและวินิจฉัยแยกโรคที่คล้ายโรครูมาตอยด์ออกไป การตรวจหาสารรูมาตอยด์ในเลือดจะช่วยการวินิจฉัยหรือไม่ ? สารรูมาตอยด์สามารถตรวจพบได้ในเลือดของผู้ป่วยโรครูมาตอยด์ประมาณร้อยละ 70-80 แต่สารนี้สามารถตรวจพบได้ในโรคข้ออักเสบอื่น ๆ ที่ไม่ใช่โรครูมาตอยด์ ตรวจพบได้ในโรคติดเชื้อบางอย่าง หรือตรวจพบได้ในคนปกติ ดังนั้นการตรวจพบสารนี้จะไม่ได้บอกว่าผู้ป่วยเป็นโรครูมาตอยด์ แต่จะใช้ในการสนับสนุนการวินิจฉัยโรค อนึ่ง ในระยะแรก ๆ ของโรครูมาตอยด์การตรวจหาสารนี้อาจให้ผลลบได้ การรักษา 1. การใช้ยา ในปัจจุบันมียามากมายที่ใช้ในการควบคุมและรักษาโรครูมาตอยด์ให้ได้ผลดี ยาเหล่านี้ได้แก่ยาแอสไพรินและยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ ผู้ป่วยแต่ละรายจะตอบสนองต่อยาเหล่านี้แตกต่างกันออกไป ยาเหล่านี้อาจมีผลข้างเคียงทางด้านระบบทางเดินอาหารและระบบไตได้ ในรายที่เป็นรุนแรง มีอาการมากและข้อถูกทำลายมาก แพทย์อาจพิจารณาใช้ยาอีกกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่ายาระดับที่ 2 ซึ่งได้แก่ ยาต้านมาลาเรีย ยาทองคำ ยาเมทโธเทรกเซท ยาซัลฟาซาลาซีน เป็นต้น ยาเหล่านี้ไม่มีฤทธิ์ในการระงับการเจ็บปวด แต่จะช่วยระงับการลุกลามของโรคได้ แต่เนื่องจากยาเหล่านี้มีผลข้างเคียงที่รุนแรงจึงควรใช้ในรายที่มีอาการรุนแรงและใช้โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น อนึ่ง ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เป็นยาที่มีผู้นำเอามาใช้ในการรักษาโรครูมาตอยด์เป็นเวลานานแล้ว เนื่องจากยานี้มีคุณสมบัติในการระงับการอักเสบของข้อได้ แต่จากการศึกษาในระยะหลัง ๆ พบว่ายาชนิดนี้ไม่ได้ไปเปลี่ยนแปลงการดำเนินของโรคเลย แต่เมื่อใช้ยานี้ไปนาน ๆ ผู้ป่วยจะติดยาและไม่สามารถเลิกยาได้ พร้อมทั้งเกิดภาวะแทรกซ้อนจากยาชนิดนี้มากมาย เช่น อ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ตาเป็นต้อกระจก กล้ามเนื้ออ่อนแรง และกระดูกผุ เป็นต้น จึงไม่ควรเป็นอย่างยิ่งในการนำยานี้มาใช้รักษาผู้ป่วยโรครูมาตอยด์ ยกเว้นในรายที่มีอาการรุนแรงและไม่สามารถรักษาด้วยยาชนิดอื่นแล้ว และควรดูแลควบคุมด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น 2. การพักผ่อนและการบริหารร่างกาย มีส่วนสำคัญมากในการรักษาผู้ป่วยโรครูมาตอยด์ การพักผ่อนจะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้น ไม่มีอาการอ่อนเพลีย แต่การพักที่นานเกินไปจะทำให้ข้อฝืดขัด ดังนั้นการพักผ่อนจะต้องสมดุลย์กับการบริหารร่างกาย การบริหารร่างกายอย่างสม่ำเสมอไม่ติดขัด และช่วยให้ผู้ป่วยช่วยเหลือตนเองได้ (ศึกษาเพิ่มเติมจากเอกสารชุดการบริหารร่างกาย) 3. การป้องกันไม่ให้ข้อถูกทำลายมากขึ้น เป็นสิ่งสำคัญ ผู้ป่วยควรเรียนรู้ และหลีกเลี่ยงการกระทำบางอย่างที่อาจส่งเสริมให้ข้อถูกทำลายเร็วขึ้น เช่น การนั่งพับเข่าในกรณีที่มีข้อเข่าอักเสบ หรือการบิดข้อมือในกรณีที่มีข้อมืออักเสบ การรู้จักใช้กายอุปกรณ์บางอย่าง เช่น ไม้เท้า เครื่องช่วยเดิน จะช่วยให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวคล่องขึ้นและหลีกเลี่ยงแรงที่กระทำต่อข้อได้ 4. การผ่าตัด จะมีบทบาทในการรักษาโรครูมาตอยด์ในกรณีที่ข้อถูกทำลายไปมากแล้ว หรือกรณีที่เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น เอ็นขาด เป็นต้น การผ่าตัดซ่อมแซมหรือเปลี่ยนข้อจะช่วยให้ข้อทำงานได้ดีขึ้น ขอบคุณข้อมูลจาก : สมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย

"โรคเกาต์" สัญญาณเสี่ยงรีบพบแพทย์

"โรคเกาต์" สัญญาณเสี่ยงรีบพบแพทย์

“เกาต์”โรคข้ออักเสบที่ไม่สามารถหายเองได้ โรคเกาต์ (Gout) จัดเป็นหนึ่งในโรคข้ออักเสบที่เกิดจากการมีระดับกรดยูริกสูงเป็นเวลานาน เผยสัญญาณเริ่มแรกของโรค ปล่อยทิ้งไว้อาจข้อผิดรูป ไตเสื่อมและเกิดโรคนิ่วที่ไต โรคเกาต์ (Gout) โรคข้ออักเสบที่เกิดจากการตกผลึกของ เกลือยูริก บริเวณข้อและเอ็นซึ่งส่วนใหญ่ เป็นผลสืบเนื่องมาจากการมีระดับกรดยูริกในเลือดสูงเป็นเวลานาน ซึ่งหากผลึกยูริกสะสมมากขึ้นเรื่อยๆจะทำให้เกิดก้อนที่เรียกว่า Tophi ในระยะยาวก้อนอาจทำให้ข้อผิดรูปและเสียหน้าที่ในการทำงาน นอกจากนั้นยังทำให้ ไตเสื่อมและเกิดโรคนิ่วที่ไต ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์เมื่อมีอาการเกาต์เฉียบพลัน คือ อาการปวด บวมแดงร้อนบริเวณข้อ สำหรับผู้ป่วยโรคเกาต์อาการเริ่มแรกมักจะมีอาการปวด บวม แดงตามบริเวณข้อต่อต่างๆ ตามร่างกาย ซึ่งผู้ป่วยมักจะเกิดอาการปวดข้อตามบริเวณต่อไปนี้ ปวดข้อนิ้วหัวแม่เท้า ปวดข้อเท้า ข้อกลางเท้า ปวดข้อเข่า ปวดข้อมือ ข้อกลางมือ ปวดข้อศอก ปวดตาตุ่มของเท้า สำหรับผู้ป่วยโรคเกาต์ถ้าหากมีอาการปวดตามข้อต่อต่างๆ ตามร่างกายอย่างกะทันหันหรือรุนแรง แนะนำให้รีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาที่ถูกวิธีต่อไป เนื่องจากโรคเกาต์เป็นโรคที่ไม่สามารถหายไปได้เอง แต่อาการปวดรุนแรงจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากไม่เข้ารับการรักษา หรือรักษาไม่ถูกวิธี ผู้ที่ความเสี่ยงโรคเกาต์ กรรมพันธุ์ ผู้ชายจะเริ่มอายุ 35-40 ปี ส่วนผู้หญิงเริ่มหลังอายุ 45 ปี หรือหลังจากหมดประจำเดือน อ้วน ถ้าน้ำหนักเกิน จะส่งผลให้กรดยูริกในเลือดสูงขึ้นด้วย การรับประทานอาหารที่มีพิวรีน (Purine) สูง การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง โรคความดันโลหิตสูง ยาที่ใช้รักษาความดันโลหิตสูงบางชนิดจะลดการขับกรดยูริก ยา aspirin ยา niacin ยารักษาวัณโรค เช่น pyrazinamide , ethambutol, เหล่านี้มีผลทำให้ระดับกรดยูริกในเลือดเพิ่มสูงขึ้น เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ จะกระตุ้นให้มีการสร้างกรดยูริกเพิ่ม ไตเสื่อม โรคที่ทำให้กรดยูริกสูงเช่นโรคมะเร็ง โรคเม็ดเลือดแดงแตก ภาวะขาดน้ำ การได้รับอุบัติเหตุที่ข้อ การป้องกันโรคเกาต์ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง เช่น ลกน้ำหนัก หลีกเลี่ยงอาหารที่มีพิวรีนสูง (ดังตาราง) งดแอลกอฮอล์ ดื่มน้ำมากๆ อย่างน้อยวันละ 3 ลิตร รับประทาน colchicines 0.6 mg โดยปรับตามการทำงานของไต ในกรณีที่มีข้ออักเสบบ่อย หรือไตเสื่อม หรือมีระดับยูริกในเลือดสูง หรือมีก้อนเกาต์ (To phi) แพทย์จะพิจารณาจ่ายยาลดยูริก ซึ่งควรรับประทานสม่ำเสมอ ยกเว้นผู้ป่วยที่กำลังมีข้ออักเสบและไม่เคยทานยาลดกรดยูริกมาก่อน ควรรอให้ข้อหายอักเสบก่อนจึงจะเริ่มทานยาลดกรดยูริกได้ ไม่เช่นนั้นอาจจะทำให้ข้ออักเสบเพิ่มขึ้นได้ ขอบคุณข้อมูลจาก : BDMS สถานีสุขภาพ

การรักษาโรคเกาต์

การรักษาโรคเกาต์

ปัจจุบันโรคเกาต์ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาด แต่สามารถบรรเทาอาการเป็นๆหายๆ เรื้อรังได้ ทั้งการปรับพฤติกรรมและการใช้ยาควบคู่กันไปภายใต้คำแนะนำของแพทย์ ระยะต้นของโรคเกาต์ ผู้ป่วยอาจมีอาการเบื้องต้น ได้แก่ ปวด 1-2 ข้อ มีอาการปวดเป็นๆ หายๆ และลุกลามไปเรื่อยๆ ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาหรือรักษาไม่ถูกวิธี อาจกลายเป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรัง และอาจจะเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา เช่น ไตวาย โรคไต และนิ่วในทางเดินปัสสาวะได้ โรคเกาต์แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ระยะเฉียบพลัน มักมีอาการปวดข้อแบบเฉียบพลันทันที มักพบอาการปวดตอนกลางคืน และบริเวณเกิดอาการปวดได้บ่อย ได้แก่ หัวแม่เท้าและที่ข้อเท้า สามารถหายไปเองได้ แต่จะกลับมาปวดซ้ำๆ อีกเรื่อยๆ และมีอาการปวดแบบเป็นๆ หายๆ ระยะช่วงพัก สามารถใช้ชีวิตประจำวันหรือทำกิจวัตรประจำวันได้ปกติ โดยที่เมื่อมีอาการปวดข้อระยะเวลาที่ปวดจะสั้นลง แต่ความถี่ของอาการปวดมากจะมากกว่าระยะเฉียบพลัน และจะปวดถี่ขึ้นเรื่อยๆ ระยะเรื้อรัง คือกลุ่มผู้ป่วยที่ป่วยมานานกว่า 10 ปีขึ้นไป จะมีอาการข้ออักเสบหลายข้อ และปวดตลอดเวลา ไม่มีช่วงเว้นว่างหายสนิท และในระยะนี้มักมีปุ่มก้อนขึ้นตามข้อต่างๆ ที่ทำให้เกิดการอักเสบ โดยปุ่มเหล่านี้เกิดจากก้อนผลึกยูเรทที่มีการสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ ในระยะเรื้อรังหากผู้ป่วยโรคเก๊าท์ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธี จะสามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้อาการของโรครุนแรงมากกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม โรคเกาต์ไม่สามารถหายเองได้ต้องได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม เพราะฉะนั้นหากมีอาการปวดตามข้อต่อต่างๆ ตามร่างกายอย่างกะทันหันหรือรุนแรง แนะนำให้รีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาที่ถูกวิธีต่อไป การรักษาในระยะที่มีการอักเสบเฉียบพลัน สำหรับผู้ป่วยโรคเกาต์ที่อาการอยู่ในระยะข้ออักเสบเฉียบพลัน แพทย์ส่วนใหญ่มักจะแนะนำให้หลีกเลี่ยงการบีบนวดข้อ การประคบ และควรพักการใช้ข้อ โดยวิธีรักษาโรคเกาต์ส่วนใหญ่มักจะเป็นการใช้ยารักษาอาการและบรรเทาอาการเจ็บปวด ยารักษาโรคเกาต์ ให้หายขาดที่นิยมใช้เพื่อลดอาการอักเสบ ได้แก่ ยาโคลชิซิน (Colchicine) และยาต้านการอักเสบ (NSAIDs) โดยแนะนำให้รับประทานยาโคลชิซิน 1 เม็ด (0.6 มิลลิกรัม) ทุก 4 - 6 ชั่วโมงในวันแรก และลดเหลือวันละ 2 เม็ดในวันถัดมา ส่วนใหญ่แพทย์มักจะให้ทานยาโคลชิซินประมาณ 3 - 7 วัน หรือจนกว่าอาการอักเสบจะหายดี ทั้งนี้แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาปริมาณในการรับประทานยาแต่ละครั้งเนื่องจากผู้ป่วยบางท่านอาจจะมีปัญหาเรื่องการทำงานของไต หรือผู้ป่วยสูงใหญ่จำเป็นต้องลดปริมาณยาลดเพื่อความปลอดภัยและเพื่อบรรเทาอาการอักเสบควรเลือกใช้ยาต้านการอักเสบ (NSAIDs) ที่มีค่าครึ่งชีวิตสั้น และออกฤทธิ์เร็ว โดยแนะนำให้ทาน 3-7 วัน หรือจนกว่าอาการจะหายดี อย่างไรก็ตามยาโคลชิซิน หรือยาต้านการอักเสบ ก็จะมีผลข้างเคียง ได้แก่ ยาโคลชิซินสามารถทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน และยาต้านการอักเสบ (NSAIDs) ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยที่มีแผลในกระเพาะอาหาร การทำงานของไตบกพร่อง หรือโรคตับทานยา การรักษาเพื่อป้องกันการอักเสบซ้ำในระยะยาว การรักษาโรคส่วนใหญ่จะเป็นการรักษาเพื่อลดระดับของกรดยูริกในเลือดให้ต่ำลงมา โดยการรักษาเพื่อป้องกันการอักเสบซ้ำในระยะยาวผู้ป่วยโรคเกาต์จำเป็นต้องรับประทานยาโคลชิซินขนาด 0.6 - 1.2 มิลลิกรัมต่อวัน (ตามดุลพินิจของแพทย์) ซึ่งต้องทานจนกว่าจะตรวจไม่พบตุ่มโทฟัส และระดับกรดยูริกในเลือดต่ำกว่า 4 - 5 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร และไม่เกิดอาการข้ออักเสบอย่างน้อย 3 - 6 เดือน วิธีดูแลตัวเองสำหรับผู้ป่วยโรคเกาต์ ผู้ป่วยโรคเกาต์ ควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อเข้ารับการรักษาที่ถูกวิธี ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด หลีกเลี่ยงอาหารที่มีกรดยูริกสูง ได้แก่ เนื้อสัตว์ปีก อาหารทะเลบางชนิด และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด ดื่มน้ำให้มากเพื่อช่วยขับกรดยูริกออกจากร่างกายทางปัสสาวะ หากมีอาการปวดข้อเฉียบพลันแนะนำให้หลีกเลี่ยงการใช้งาน ขอบคุณข้อมูลจาก : BDMS สถานีสุขภาพ

กินถูกหลัก ช่วยรักษาเกาต์

กินถูกหลัก ช่วยรักษาเกาต์

กรมการแพทย์ แนะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเกี่ยวกับการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มสามารถช่วยลดอาการข้ออักเสบที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคเกาต์ได้ เกาต์เป็นโรคข้ออักเสบชนิดหนึ่ง มีผลมาจากการที่มีระดับกรดยูริกในเลือดสูงเป็นเวลานาน ทำให้เกิดการตกผลึกของเกลือยูเรตบริเวณข้อและเนื้อเยื่อต่างๆ ทั่วร่างกาย โดยผลึกดังกล่าวมีผลกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันทำให้เกิดกระบวนการอักเสบตามมา โดยส่วนมากโรคเกาต์มักจะพบได้มากในเพศชายอายุ 30 ปีขึ้นไป ส่วนเพศหญิงจะพบมากในช่วงวัยหลังหมดประจำเดือน อาการของโรคเกาต์ ข้ออักเสบ มักจะมีอาการแบบเฉียบพลันเริ่มแรกมักเป็นข้อเดียว โดยส่วนใหญ่มักจะเกิดที่โคนข้อนิ้วหัวแม่เท้า ข้อเท้า หรือข้อเข่า อาการปวด บวมแดง ร้อน เจ็บเมื่อกด และอาจมีไข้ร่วมด้วย บางรายพบก้อนโทฟัส ซึ่งเกิดจากการสะสมของผลึกเกลือยูเรตในเนื้อเยื่ออ่อน ข้อต่อ กระดูก และกระดูกอ่อน มักพบบริเวณศอก ตาตุ่ม นิ้วมือ นิ้วเท้า ส่วนนิ่วในทางเดินปัสสาวะ พบประมาณร้อยละ 10-25 ของผู้ป่วยโรคเกาต์ แนวทางการรักษาโรคเกาต์โดยวิธีไม่ใช้ยา แนวทางการรักษาโรคเกาต์ควรใช้การรักษาโดยวิธีไม่ใช้ยาและใช้ยาร่วมกัน ซึ่งจะมีประสิทธิภาพดีกว่าการใช้วิธีใดวิธีหนึ่ง ทำได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเกี่ยวกับการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มร่วมกับการดูแลโรคร่วมและปัจจัยเสี่ยงของโรคเกาต์ ขณะมีอาการข้ออักเสบกำเริบควรเลือกรับประทานโปรตีนจาก ไข่ เต้าหู้ นมและผลิตภัณฑ์จากนมที่มีไขมันต่ำ ลดการบริโภคเนื้อสัตว์ทุกชนิด รวมถึงอาหารที่มีพิวรีนสูง เช่น เครื่องในสัตว์, ไข่ปลา ลดการรับประทานผลไม้ที่มีรสหวานจัด น้ำผลไม้และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลฟรุ๊กโตส เช่น ชาเขียวพร้อมดื่ม งดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และควรดื่มน้ำ อย่างน้อย 8 แก้ว ต่อวัน นอกจากนี้หากท่านรับประทานอาหารชนิดใดแล้วมีอาการข้ออักเสบให้หลีกเลี่ยงอาหารชนิดนั้นๆ เพื่อป้องกันข้ออักเสบ ที่สำคัญควรพบแพทย์ตามนัดอยู่เสมอเพื่อเช็กอัพร่างกาย หากมีอาการปวดหรือมีก้อนขึ้นลุกลามควรรีบพบแพทย์ ขอบคุณข้อมูลจาก : BDMS สถานีสุขภาพ

เกาต์เทียม กับ เกาต์ แตกต่างกันอย่างไร

เกาต์เทียม กับ เกาต์ แตกต่างกันอย่างไร

“โรคเกาต์เทียม” คือการอักเสบเฉียบพลันเป็นพักๆ อาจไม่คุ้นหูมากนักแต่เป็นโรคข้ออักเสบที่พบได้บ่อยรองจากโรคเกาต์ เช็กอาการและจุดโรคกำเริบของเกาต์เทียมที่ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโดยตรง โรคเกาต์เทียม (Pseudogout) เป็นโรคข้ออักเสบอีกหนึ่งชนิดที่พบบ่อยรองจากโรคเกาต์ ถึงชื่อและอาการจะคล้ายกันแต่คนละชนิดกัน ซึ่งเกาต์เทียม เกิดจากการคั่งและสะสมของผลึกเกลือชนิดที่เรียกว่าแคลเซียมไพโรฟอสเฟตไดไฮเดรต (calcium pyrophosphate dihydrateหรือ CPPD) ที่สามารถทำให้ข้อเกิดการอักเสบเฉียบพลันเป็นพักๆ เกาต์กับเกาต์เทียมแตกต่างกันอย่างไร เกาต์ เกิดจากร่างกายมีการคั่งและสะสมของผลึกยูเรตหรือกรดยูริกข้อที่พบการอักเสบได้บ่อยคือ ข้อโคนหัวแม่เท้า ข้อโคนนิ้วเท้า ข้อเท้าเอ็นร้อยหวาย ข้อเข่า เป็นต้น เกาต์เทียม สะสมแคลเซียมไพโรฟอสเฟตไดไฮเดรตข้อที่พบการอักเสบได้บ่อย คือ ข้อเข่า ข้อมือ ข้อไหล่ข้อศอก ข้อเท้า และข้อนิ้วมือ เป็นต้นการอักเสบที่รุนแรงของโรคเก๊าต์เทียมมักเกิดที่ข้อเข่าทำให้เจ็บปวดจนอาจถึงขั้นเดินไม่ได้หลายวันหรือหลายสัปดาห์เพศชายและเพศหญิงมีโอกาสเป็นโรคเกาต์เทียมได้เท่าๆ กันโดยความเสี่ยงของการเกิดโรคเพิ่มขึ้นตามอายุผลึกแคลเซียมไพโรฟอสเฟตไดไฮเดรตพบได้ร้อยละ 3 ในคนที่อายุ 60 ปีขึ้นไปยิ่งอายุมากขึ้นก็ยิ่งพบผลึกนี้มากขึ้น และพบได้ถึงประมาณร้อยละ 50 ของคนที่อายุตั้งแต่ 90 ปีขึ้นไปแต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนที่มีผลึกนี้สะสมอยู่ในข้อ จะเกิดอาการข้ออักเสบ สาเหตุของโรคเกาต์เทียม การสะสมผลึกเกลือซีพีพีดี เนื่องจากมีไพโรฟอสเฟตอนินทรีย์เพิ่มมากขึ้นในกระดูกอ่อนผิวข้อ โดยสารไพโรฟอสเฟตอนินทรีย์ถูกสร้างเพิ่มขึ้นจากกระดูกอ่อนเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดการตกผลึกเกลือซีพีพีดี พันธุกรรม รวมทั้งผู้ที่มีความผิดปกติทางระบบต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึ่มบางอย่าง เช่นเป็นโรคไทรอยด์ต่ำ โรคฮอร์โมนพาราไทรอยด์สูง โรคที่มีธาตุเหล็กคั่งในตัวมากและสภาวะโรคต่างๆ ที่ทำให้ระดับแคลเซียมในเลือดสูงก็เป็นสาเหตุให้เกิดโรคเก๊าท์เทียมได้ การเกิดข้ออักเสบเฉียบพลันอาจเกิดหลังจากการผ่าตัดข้อ การผ่าตัดอย่างอื่น ตลอดจนการบาดเจ็บที่ข้อหรือมีการเจ็บป่วยทางร่างกายอย่างอื่นในผู้สูงอายุสภาวะเหล่านี้เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดข้ออักเสบเฉียบพลันในผู้ป่วยที่มีผลึกแคลเซียมไพโรฟอสเฟตไดไฮเดรตสะสมไว้ในข้อ อาการโรคเกาต์เทียมเลียนแบบโรคอื่น Type A อาการข้ออักเสบเฉียบพลันแบบเป็นๆ หายๆ เลียนแบบโรคเกาต์ Type B อาการของข้ออักเสบเรื้อรัง เลียนแบบโรครูมาตอยด์ Type C and D อาการปวดข้อเรื้อรังแบบโรคข้อเสื่อมเทียม Type E ไม่มีอาการ แต่สามารถตรวจพบผลึกแคลเซียมไพโรฟอสเฟตไดไฮเดรต Type F มีอาการโรคข้อจากพยาธิประสาทเทียม การคั่งและสะสมของผลึกแคลเซียมไพโรฟอสเฟตไดไฮเดรต โดยทั่วไปจะเกาะอยู่ที่กระดูกอ่อนในข้อ บางครั้งจะกระจายไปอยู่ที่เยื่อบุข้อผลึกนี้ทำให้ข้อเสื่อมสภาพเร็วขึ้นบางครั้งผลึกนี้จะทำให้เกิดปฏิกิริยาจนเกิดการอักเสบในข้อโดยผลึกจะแตกตัวออกไปและเม็ดโลหิตขาวจะเข้ามากินผลึกนี้โดยนึกว่าเป็นเชื้อโรคทำให้เกิดการอักเสบแบบเฉียบพลันการอักเสบแต่ละครั้งจะทำให้เกิดการทำลายกระดูกอ่อนภายในข้อ วิธีรักษาโรคเกาต์เทียม ปัจจุบันยังไม่มียาที่สามารถละลายผลึกของโรคเก๊าท์เทียมออกจากกระดูกอ่อนในข้อได้ ดังนั้นการรักษาโรคนี้ส่วนใหญ่จึงเน้นไปที่การรักษาอาการอักเสบของข้อการป้องกันการเป็นซ้ำ และการตรวจหาโรคที่อาจพบร่วมกับโรคเกาต์เทียมแล้วให้การรักษาควบคู่กันไป การรักษาโรคเก๊าต์เทียมขณะที่มีข้ออักเสบเฉียบพลัน โดยทั่วไปแพทย์จะใช้ยาต้านอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (non-steroidal anti-inflammatory drugs หรือ NSAIDs) ในผู้ป่วยที่สมรรถนะของไตไม่ดี หรือมีประวัติเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหารหรือกำลังกินยาที่ทำให้เลือดแข็งตัวช้าลง ก็ไม่ควรใช้ยา NSAIDs แพทย์จะใช้วิธีฉีดยาสเตียรอยด์เข้าข้อจะปลอดภัยกว่าในผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อยารับประทานก็อาจจำเป็นต้องใช้ยาฉีดเข้าข้อเช่นกัน แต่ไม่ควรกระทำบ่อย สำหรับผู้ป่วยที่มีน้ำไขข้อมาก การดูดเอาน้ำไขข้อออกจะช่วยลดการอักเสบของข้อได้ ผู้ป่วยบางรายมีข้อบวมมากเช่น ข้อเข่า ซึ่งอาจมีไข้และมีอาการซึมต้องเจาะและดูดน้ำไขข้อที่มีผลึกของโรคเกาต์เทียมออกไปให้มากที่สุดแล้วฉีดยาสเตียรอยด์เข้าข้อ ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ขอบคุณข้อมูลจาก : BDMS สถานีสุขภาพ