โรคเกาต์พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงหลายเท่า นั้นก็เพราะเกี่ยวข้องกับกรดยูริคที่เพิ่มขึ้นมากตามอายุ ขณะที่ผู้หญิงจะเพิ่มขึ้นหลังวัยหมดประจำเดือน รู้จักโรคเกาต์ที่ไม่ว่าใครก็เป็นได้!
โรคเกาต์ (gout) ข้ออักเสบที่หายเองไม่ได้ เกิดจากการระดับกรดยูริกสูงในเลือด ซึ่งเป็นผลมาจากการสะสมกรดยูริคในร่างกายจำนวนมากเป็นระยะเวลานาน ก็จะไปตกตะกอนอยู่บริเวณรอบๆ ข้อ หรือภายในข้อ ทำให้เกิดการอักเสบขึ้น โดยเฉพาะที่ข้อ บริเวณใกล้ข้อและที่ไตเหมือนกัน หากได้รับการรักษาที่ถูกต้องจะได้รับประโยชน์มาก แต่หากไม่ได้รับการรักษา หรือได้รับการรักษาไม่ถูกต้อง ผู้ป่วยอาจต้องพบกับการพิการทางข้อ และหรือไตวายเรื้อรังได้
ทำไมผู้ชายถึงเสี่ยงโรคเกาต์มากกว่าผู้หญิง
โรคเกาต์มักเป็นกับผู้ชายวัยสูงอายุ เนื่องจากภาวะกรดยูริคในเลือดที่สูงนั้น จะยังไม่เกิดการตกตะกอน และเกิดข้ออักเสบทันที แต่ต้องใช้ระยะเวลาที่กรดยูริคในเลือดสูงเป็นเวลานานหลายสิบปี พบว่าในผู้ชายที่มีกรดยูริคสูงนั้น ระดับของยูริคในเลือดจะเริ่มสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น และสูงไปนานจนกว่าจะเริ่มมีอาการคืออายุประมาณ 40 ปีขึ้นไป
ส่วนผู้หญิงระดับยูริคจะเริ่มสูงขึ้นหลังจากวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากฮอร์โมนเพศหญิงโดยเฉพาะเอสโตรเจนจะมีผลทำให้กรดยูริคในเลือดไม่สูง โดยทั่วไปโรคเกาต์พบได้ในเพศชายมากกว่าเพศหญิง โดยทั่วไปก็พบเมื่ออายุมากกว่า 30 ปี ในเพศหญิงส่วนมากก็จะพบแต่ในวัยหมดประจำเดือน ถ้าหากพบโรคเกาต์ในเด็กก็ต้องมองหาความผิดปกติของโรคทางพันธุกรรม บางชนิดซึ่งพบได้น้อยมาก
โรคที่พบร่วมกับโรคเกาต์
- โรคอ้วน มีโอกาสมากกว่าคนผอม
- โรคเบาหวาน คนไข้โรคเกาต์โดยทั่วไปก็พบได้บ่อยว่ามีน้ำหนักตัวมากจึงพบโรคเบาหวานได้บ่อย
- ไขมันในเลือดสูง โดยเฉพาะระดับไขมันไตรกรีเซอไรด์ ซึ่งพบว่าสูงได้ประมาณ80%ของคนไข้โรคเกาต์ทั้งหมด
- ความดันโลหิตสูง จากการศึกษาวิจัยพบโรคความดันโลหิตสูงร่วมกับโรคเกาต์ได้บ่อย
- โรคหลอดเลือดแข็งผิดปกติ
- ผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากสารตะกั่ว
- โรคไตวายเรื้อรัง
- โรคเลือดชนิด sickle cell anemia, myeloproliferative diseas
- โรคเลือดบางชนิด โรคมะเร็ง โดย เฉพาะมะเร็งต่อมน้ำเหลือง หรือได้รับเคมีบำบัด จะทำให้เซลล์ถูกทำลายมากอย่างรวดเร็ว จะทำให้ระดับกรดยูริคในเลือดสูงมากๆ ได้ ทำให้เกิดโรคเกาต์ ข้ออักเสบ นิ่วไต หรือแม้แต่ตัวกรดยูริคเองไปอุดตันตามท่อเล็กๆ ในเนื้อไตทำให้เกิดไตวายได้
- การดื่มเหล้า หรือเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ จะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเกาต์ เนื่องจากไปขัดขวางกระบวนการขับกรดยูริคออกจากร่างกาย อีกทั้งแอลกอฮอล์ช่วยเร่งปฏิกิริยาการสร้างกรดยูริค
- ยาบางชนิดเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคเกาต์ โดยจะทำให้ระดับกรดยูริคในเลือดสูง เนื่องจากยาเหล่านี้ไปลดการขับถ่ายกรดยูริคออกทางไต ทำให้เกิดการคั่งของกรดยูริคในเลือด จนกระทั่งทำให้ระดับของกรดยูริคในเลือดสูง เช่น ยาแอสไพริน,ยาขับปัสสาวะกลุ่ม,ยารักษาโรคพาร์กินสัน,ยารักษาวัณโรค เช่น ไพราซินาไมด์ หรืออีแธมบูทอล,ยากดภูมิคุ้มกัน
ทั้งนี้ผู้ป่วยโรคเกาต์ 90% เกิดจากการที่กรดยูริคถูกสร้างขึ้น แต่ไตทำหน้าที่ขับถ่ายออกมาได้ช้าหรือน้อย แต่ไม่เสมอไปทุกคน และหลายคนที่มีระดับกรดยูริกสูงในกระแสเลือดกลับไม่มีอาการข้ออักเสบจากโรคเกาต์ ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 10 เกิดจากการที่ร่างกายสร้างกรดยูริคมากเกินไป พบว่ายูริคในเลือดที่สูงนั้น อย่างไรก็ตามหากมีอาการปวดข้อควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว
ขอบคุณข้อมูลจาก : BDMS สถานีสุขภาพ