“เกาต์”โรคข้ออักเสบที่ไม่สามารถหายเองได้
โรคเกาต์ (Gout) จัดเป็นหนึ่งในโรคข้ออักเสบที่เกิดจากการมีระดับกรดยูริกสูงเป็นเวลานาน เผยสัญญาณเริ่มแรกของโรค ปล่อยทิ้งไว้อาจข้อผิดรูป ไตเสื่อมและเกิดโรคนิ่วที่ไต
โรคเกาต์ (Gout) โรคข้ออักเสบที่เกิดจากการตกผลึกของ เกลือยูริก บริเวณข้อและเอ็นซึ่งส่วนใหญ่ เป็นผลสืบเนื่องมาจากการมีระดับกรดยูริกในเลือดสูงเป็นเวลานาน ซึ่งหากผลึกยูริกสะสมมากขึ้นเรื่อยๆจะทำให้เกิดก้อนที่เรียกว่า Tophi ในระยะยาวก้อนอาจทำให้ข้อผิดรูปและเสียหน้าที่ในการทำงาน นอกจากนั้นยังทำให้ ไตเสื่อมและเกิดโรคนิ่วที่ไต ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์เมื่อมีอาการเกาต์เฉียบพลัน คือ
- อาการปวด
- บวมแดงร้อนบริเวณข้อ
สำหรับผู้ป่วยโรคเกาต์อาการเริ่มแรกมักจะมีอาการปวด บวม แดงตามบริเวณข้อต่อต่างๆ ตามร่างกาย ซึ่งผู้ป่วยมักจะเกิดอาการปวดข้อตามบริเวณต่อไปนี้
- ปวดข้อนิ้วหัวแม่เท้า
- ปวดข้อเท้า ข้อกลางเท้า
- ปวดข้อเข่า
- ปวดข้อมือ ข้อกลางมือ
- ปวดข้อศอก
- ปวดตาตุ่มของเท้า
สำหรับผู้ป่วยโรคเกาต์ถ้าหากมีอาการปวดตามข้อต่อต่างๆ ตามร่างกายอย่างกะทันหันหรือรุนแรง แนะนำให้รีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาที่ถูกวิธีต่อไป เนื่องจากโรคเกาต์เป็นโรคที่ไม่สามารถหายไปได้เอง แต่อาการปวดรุนแรงจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากไม่เข้ารับการรักษา หรือรักษาไม่ถูกวิธี
ผู้ที่ความเสี่ยงโรคเกาต์
- กรรมพันธุ์ ผู้ชายจะเริ่มอายุ 35-40 ปี ส่วนผู้หญิงเริ่มหลังอายุ 45 ปี หรือหลังจากหมดประจำเดือน
- อ้วน ถ้าน้ำหนักเกิน จะส่งผลให้กรดยูริกในเลือดสูงขึ้นด้วย
- การรับประทานอาหารที่มีพิวรีน (Purine) สูง
- การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง
- โรคความดันโลหิตสูง
- ยาที่ใช้รักษาความดันโลหิตสูงบางชนิดจะลดการขับกรดยูริก ยา aspirin ยา niacin ยารักษาวัณโรค เช่น pyrazinamide , ethambutol, เหล่านี้มีผลทำให้ระดับกรดยูริกในเลือดเพิ่มสูงขึ้น
- เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ จะกระตุ้นให้มีการสร้างกรดยูริกเพิ่ม
- ไตเสื่อม
- โรคที่ทำให้กรดยูริกสูงเช่นโรคมะเร็ง โรคเม็ดเลือดแดงแตก
- ภาวะขาดน้ำ
- การได้รับอุบัติเหตุที่ข้อ
การป้องกันโรคเกาต์
- หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง เช่น ลกน้ำหนัก หลีกเลี่ยงอาหารที่มีพิวรีนสูง (ดังตาราง) งดแอลกอฮอล์ ดื่มน้ำมากๆ อย่างน้อยวันละ 3 ลิตร
- รับประทาน colchicines 0.6 mg โดยปรับตามการทำงานของไต
- ในกรณีที่มีข้ออักเสบบ่อย หรือไตเสื่อม หรือมีระดับยูริกในเลือดสูง หรือมีก้อนเกาต์ (To phi) แพทย์จะพิจารณาจ่ายยาลดยูริก ซึ่งควรรับประทานสม่ำเสมอ ยกเว้นผู้ป่วยที่กำลังมีข้ออักเสบและไม่เคยทานยาลดกรดยูริกมาก่อน ควรรอให้ข้อหายอักเสบก่อนจึงจะเริ่มทานยาลดกรดยูริกได้ ไม่เช่นนั้นอาจจะทำให้ข้ออักเสบเพิ่มขึ้นได้
ขอบคุณข้อมูลจาก : BDMS สถานีสุขภาพ