“กรดยูริก” สะสมในเลือดสูงกระตุ้นโรคเกาต์ พบได้ที่ไหนบ้าง?

รู้จัก กรดยูริก (Uric Acid) ตัวการร้ายที่หากสะสมในร่างกายมาก จะทำใก้เกิดภาวะกรดยูริกในเลือดสูง (Hyperuricemia) เสี่ยงโรคเกาต์ ภาวะไตวาย โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง เผยกระบวนการทางเคมี วิธีรักษา และแหล่งกรดยูริกที่ควรกินแต่พอดี

กรดยูริก (Uric Acid) สารที่เกิดจากกระบวนการทางเคมีในร่างกายในขณะที่มีการสร้างหรือซ่อมแซมเซลล์ต่างๆ และอีกส่วนหนึ่งเกิดจากอาหารที่มีกรดยูริกสูง เช่น สัตว์ปีก เครื่องในสัตว์ ยอดผัก ถั่วต่างๆ หรือการดื่มเครื่องดื่ม เช่น เบียร์ น้ำผลไม้ที่มีน้ำตาลฟรุคโตส ฉะนั้นควรกินแต่พอดีหรือหลีกเลี่ยงในคนที่มีความเสี่ยงเพราะหากร่างกายมีกรดยูริกมากเกินกว่าความสามารถของไตจะขับออกได้ หรือไตมีความเสื่อมจนความสามารถในการขับกรดยูริกออกจากร่างกายลงลง เช่น ในผู้ป่วยไตเสื่อมหรือไตวาย ก็จะทำให้มีการสะสมของกรดยูริกมากขึ้นอีก

 

ภาวะกรดยูริกในเลือดสูง

ภาวะกรดยูริกในเลือดสูง (Hyperuricemia) เป็นความผิดปกติที่พบได้บ่อย โดยทางการแพทย์จะกำหนดว่าเมื่อกรดยูริกในเลือดสูงเกินขีดจำกัดของความสามารถในการละลายของกรดยูริก (Monosodium urate) คือ 6.8 มก./ดล. ที่อุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส ถือว่ามีภาวะกรดยูริกสูง

ระดับกรดยูริกในเลือดที่เกิน 7 มก./ดล. จะเริ่มมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคข้ออักเสบจากผลึกเกลือยูเรตหรือโรคเกาต์ และเสี่ยงต่อการเป็นนิ่วที่ไต ดังนั้นโดยทั่วๆ ไป เราจึงใช้ระดับกรดยูริก มากกว่า 7 มก./ดล. ในการบอกว่าเป็นภาวะกรดยูริกในเลือดสูงค่าการทำงานของไต (ระดับครีเอตินิน) น้ำหนัก อายุ เพศ ความดันโลหิตและการดื่มแอลกอฮอล์ ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะกรดยูริกในเลือดสูงได้

ปัจจุบันยังพบว่า การมีกรดยูริกสะสมในร่างกายปริมาณมากเป็นเวลานานจะทำให้เกิดภาวะไตเสื่อม เกิดโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งนำไปสู่โรคหัวใจ โรคเส้นเลือดสมอง เพิ่มความเสี่ยงเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตได้มากขึ้น โดยข้อมูลจากการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยชายที่เป็นโรคไตวายจนต้องได้รับการรักษาด้วยการฟอกไต ส่วนหนึ่งเกิดจากการเป็นโรคเก๊าท์หรือมีภาวะกรดยูริกในเลือดสูงมาก่อน ในขณะที่ผู้ป่วยหญิงที่ฟอกไตส่วนมากเกิดจากการเป็นโรคเบาหวาน

  • การรักษาโดยการไม่ใช้ยา
    • ออกกำลังกายและลดน้ำหนัก สามารถทำให้ระดับกรดยูริกในเลือดลดลง และลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเกาต์ด้วย
    • จำกัดการรับประทานเนื้อแดงหรืออาหารทะเล การรับประทานเนื้อแดงปริมาณมาก จะทำให้ระดับกรดยูริกในเลือดเพิ่มขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเกาต์ แต่การรับประทาน พืช ฝัก ถั่ว หรือผักที่มีสารพิวรีนสูง ไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเกาต์
    • ลดหรืองดการดื่มสุรา โดยเฉพาะเบียร์หรือสุราที่ผ่านการกลั่น
    • จำกัดการทานน้ำผลไม้ หรือเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาล
    • รักษาภาวะหรือโรคอื่นที่พบร่วม เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน หรือภาวะไขมันในเลือดสูง

 

การรักษาโดยการใช้ยา

จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับวินิจฉัยและการใช้ยาที่ถูกต้องและหมาะสมการตรวจสุขภาพประจำปี จะทำให้เราตรวจพบความผิดปกติ ทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัย พร้อมให้คำแนะนำและให้การรักษาได้ถูกต้องและทันท่วงที อย่างไรก็ดีหากพบความผิดปกติของกรดยูริก การลดระดับกรดยูริกในเลือดโดยการปรับพฤติกรรม เป็นวิธีที่ดีที่สุด สามารถทำได้เลย ไม่มีอันตราย หรือผลข้างเคียง และช่วยให้สุขภาพของคุณกลับมาดีขึ้นได้

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : BDMS สถานีสุขภาพ