ถึงแม้สถิติจะบ่งบอกว่าผู้ชายมีความเสี่ยงโรคเกาต์มากกว่าผู้หญิง 10 เท่า แต่คุณผู้หญิงเองก็ต้องใส่ใจสุขภาพ โดยเฉพาะ "วัยทอง" ไม่แพ้ผู้ชายเนื่องจากฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจนที่มีฤทธิ์ขับกรดยูริกลดลง
โรคเกาต์ หนึ่งในโรคกระดูก และข้อที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ เกิดจากการกินโปรตีนบางชนิดมากเกินไป ซึ่งโปรตีนดังกล่าวจะย่อยสลายเป็นกรดยูริคไปตกตะกอนในข้อ ทำให้ข้อหรือเนื้อเยื่อรอบๆ ข้ออักเสบเฉียบพลันการเกิดโรคเกาต์ผู้ป่วยมักมีระดับกรดยูริกในเลือดสูงเป็นระยะเวลานานพอสมควรโดยเฉลี่ยมากกว่า 20 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะถ้าระดับกรดยูริกยิ่งสูง อุบัติการณ์การเกิดโรคจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น เกิดอาการได้เร็วยิ่งขึ้น ในเพศชายพบโรคนี้ได้บ่อยกว่าเพศหญิงประมาณ 10 เท่า แต่วัยหลังหมดประจำเดือน เพศหญิงจะพบโรคสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเพศชาย การอักเสบ ของข้อครั้งแรกมักพบในเพศชายอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป โดยเฉลี่ย 40-60 ปี แต่ในเพศหญิงมักพบหลังวัยหมดประจำเดือนแล้ว เพราะในวัยเจริญพันธุ์ผู้หญิงแทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงค่าจนกว่าจะหมดประจำเดือน ซึ่งเป็นผลจากฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจนซึ่งมีฤทธิ์ในการเพิ่มการขับกรดยูริกออกทางปัสสาวะ หลังวัยหมดประจำเดือนระดับกรดยูริกในผู้หญิงจากค่อยๆ สูงขึ้น ใช้เวลาประมาณ 5-10 ปี จนมีค่าใกล้เคียงกับระดับกรดยูริกในเลือดของผู้ชาย
โรคที่พบร่วมกับโรคเกาต์ที่ผู้สูงอายุต้องระวัง
- โรคอ้วน
- โรคเบาหวาน
- ไขมันในเลือดสูง โรคไขมันในเลือดสูงโดยเฉพาะระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ พบว่าสูงร้อยละ 80 ของคนไข้โรคเกาต์ทั้งหมด
- ความดันโลหิตสูง
- โรคหลอดเลือดแข็งผิดปกติ
- ผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากสารตะกั่ว
- โรคไตวายเรื้อรัง
- ผู้ป่วยโรคเลือดบางชนิด เช่นโรคมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งต่อมน้ำเหลือง หรือได้รับเคมีบำบัดจะทำให้เซลล์ถูกทำลายอย่างรวดเร็ว จนทำให้ระดับกรดยูริกในเลือดสูงมากๆ ก่อให้เกิดโรคเกาต์ ข้ออักเสบ นิ่วที่ไต หรือแม้แต่ตัวกรดยูริกเองไปอุดตันตามท่อเล็กๆ ในเนื้อไต ทำให้เกิดไตวายได้
อย่างไรก็ตามข้ออักเสบในระยะแรกมักเป็นเพียง 1-2 ข้อ จะมีการอักเสบรุนแรงเป็นเฉียบพลัน จากระยะเริ่มปวดจนอักเสบเต็มที่ภายใน 24 ชั่วโมง ส่วนมากจะเกิดขึ้นทีละ 1 ข้อ ข้อที่พบบ่อย ได้แก่ โคนนิ้วโป้งเท้า ข้อเท้า ข้อกลางเท้า ข้อเข่า ข้อนิ้วมือ ข้อกลางมือ ข้อมือ ข้อศอก ถ้าไม่ได้รับการรักษาหรือรักษาไม่ถูกต้อง จำนวนข้อที่อักเสบจะเพิ่มขึ้น เริ่มพบที่ข้อมือ ข้อนิ้วมือ และข้อศอก การอักเสบรุนแรงขึ้น เป็นถี่ขึ้นและนานขึ้น จนกลายเป็นการอักเสบเรื้อรัง
ขอบคุณข้อมูลจาก : BDMS สถานีสุขภาพ