การดูแลเด็กสมาธิสั้นสำหรับคุณครู

การรักษาเด็กสมาธิสั้นประกอบด้วยการรักษาด้วยยา และการฝึกวินัย การปรับพฤติกรรม ดังนั้นครูจึงนับมีบทบาทสำคัญไม่แพ้คนในครอบครัวในการดูแลเด็กกลุ่มนี้ สำหรับคำแนะนำการดูแลเด็กกลุ่มนี้เมื่ออยู่โรงเรียน ได้แก่

  1. จัดให้เด็กนั่งหน้าชั้น หรือใกล้ครูให้มากที่สุด เพื่อให้ง่ายในการเตือนเด็ก ให้กลับมาตั้งใจเรียนเมื่อเด็กขาดสมาธิให้นั่งอยู่ท่ามกลางเด็กเรียบร้อยที่ไม่คุยในระหว่างเรียน
  2. จัดให้นั่งกลางห้อง หรือไกลจากประตูหน้าต่าง เพื่อลดโอกาสวอกแวก โดยสิ่งต่างๆ ที่อยู่นอกห้องเรียน
  3. เมื่อหมดสมาธิจริงๆ ควรจัดกิจกรรมที่เปลี่ยนอิริยาบถ และเป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ให้เด็กทํา เช่น ให้ช่วยครูแจกสมุดให้เพื่อน ๆ ในห้อง ลบกระดานดํา เติมน้ำใส่แจกัน เป็นต้น
  4. ให้คําชมเชย หรือรางวัล เมื่อเด็กปฏิบัติตัวดีหรือทําสิ่งที่เป็นประโยชน์
  5. คิดรูปแบบวิธีตักเตือน หรือเรียกให้เด็กกลับมาสนใจบทเรียนโดยไม่ทําให้เด็กเสียหน้า
  6. เขียนการบ้าน หรืองานที่เด็กต้องทําในชั้นเรียนให้ชัดเจนบนกระดานดํา พยายามสั่งงานด้วยวาจาให้สั้นที่สุด
  7. ถ้าต้องสั่งงานด้วยวาจา ควรสั่งตามขั้นตอน หลีกเลี่ยงการสั่งพร้อมกันทีเดียวหลาย ๆ คําสั่ง ให้เวลาทําให้เสร็จทีละอย่าง ก่อนให้คําสั่งต่อไป หลังจากสั่งเด็ก ควรถามกลับว่าสั่งอะไรเพื่อตรวจสอบความเข้าใจและยืนยันในคําสั่ง
  8. ตรวจสมุดงานสม่ำเสมอ เพื่อให้แน่ใจว่าเด็กจดงานได้ครบถ้วนและฝึกฝนให้เด็กตรวจทานงาน
  9. ถ้าสมาธิสั้นมาก ควรลดเวลางานให้สั้นลง เพื่อให้เกิดความพยายามทํางานให้เสร็จทีละอย่าง ซึ่งใช้เวลาไม่นาน ให้เน้นความรับผิดชอบที่จะต้องทํางานให้เสร็จ
  10. หลีกเลี่ยงการใช้วาจาตําหนิ ประจาน ประณาม หรือทําให้เด็กอับอายขายหน้าและไม่ลงโทษเด็กด้วยความรุนแรง เช่น การตี หากเป็นพฤติกรรมจากโรคสมาธิสั้น เช่น ซุ่มซ่าม ทําของเสียหาย หุนหันพลันแล่น
  11. ใช้การตัดคะแนน งดเวลาพัก ทําเวรหรืออยู่ต่อหลังเลิกเรียน ( เพื่อทํางานที่ค้างอยู่ให้เสร็จ ) เมื่อเด็กทําความผิด
  12. มองหาจุดดีของเด็ก และสนับสนุนให้เด็กได้แสดงออกถึงข้อดี หรือความสามารถของตัวเอง
  13. พยายามสร้างบรรยากาศที่เข้าใจ และเป็นกําลังใจให้เด็กพยายามปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น
  14. ให้ความช่วยเหลือด้านการเรียนเป็นพิเศษ ถ้ามีความบกพร่องด้านการเรียนร่วมด้วย
  15. ควรให้เด็กได้รับการสอนแบบตัวต่อตัว เพราะทําให้เรียนรู้ได้ดีที่สุด ครูสามารถคุมให้เด็กมีสมาธิ และยืดหยุ่นการเรียนการสอนให้เข้ากับความพร้อมของเด็กได้ดีกว่า
  16. ครูควรให้เวลาที่ใช้ในการสอนสําหรับเด็กที่เป็นสมาธิสั้น นานกว่าเด็กปกติ

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่คลินิกกุมารเวช โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี 039-319888

บทความที่เกี่ยวข้อง

ท้องเสียจากโนโรไวรัส

ท้องเสียจากโนโรไวรัส

โรคอีสุกอีใส (Chickenpox/Varicella)

โรคอีสุกอีใส (Chickenpox/Varicella)

โรคอีสุกอีใส (Chickenpox/Varicella) เป็นโรคที่พบได้บ่อยมากในเด็ก แต่พบได้น้อยมากในผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ที่เป็นโรคนี้ส่วนใหญ่ไม่เคยเป็นโรคนี้มาก่อน และมักจะมีอาการและภาวะแทรกซ้อนมากกว่าที่พบในเด็ก มักพบระบาดในตอนปลายฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อน เช่นเดียวกับหัด แต่ก็พบได้ประปรายตลอดทั้งปี สาเหตุ เกิดจากไวรัสที่มีชื่อว่าวาริเซลลาไวรัส (Varicella virus) เป็นเชื้อตัวเดียวกับที่ทําให้เกิดงูสวัด ติดต่อโดยการไอ จาม หรือหายใจรดกัน หรือโดยการสัมผัสหรือใช้ของใช้ร่วมกัน (เช่น ผ้าเช็ดตัว ผ้าห่ม ที่นอน) ร่วมกับคนที่เป็นอีสุกอีใสหรืองูสวัดระยะฟักตัว 10 - 20 วัน อาการ เด็กจะมีไข้ต่ำ อ่อนเพลียและเบื่ออาหารเล็กน้อยในผู้ใหญ่มักมีไข้สูง และปวดเมื่อยตามตัวคล้ายเป็นไข้หวัดใหญ่นํามาก่อน ผู้ป่วยจะมีผื่นขึ้น ซึ่งจะขึ้นพร้อมๆกับวันที่เริ่มมีไข้หรือ 1 วันหลังจากมีไข้ เริ่มแรกจะขึ้นเป็นผื่นแดงราบก่อน ต่อมาจะกลายเป็นตุ่ม นูน มีน้ำใสๆ อยู่ข้างในและมีอาการคันต่อมาจะหลายเป็นตุ่มหนอง หลังจากนั้น 2 - 4 วัน ก็จะตกสะเก็ด ผื่นและตุ่มจะขึ้นตามไรผมก่อน แล้วลามไปตามหน้า ลําตัว และแผ่นหลัง บางคนมีตุ่มขึ้นในช่องปาก ทําให้ปากเปื่อย ลิ้นเปื่อย เจ็บคอ บางคนอาจไม่มีไข้ มีเพียงผื่นและตุ่มขึ้น ทําให้เข้าใจผิดว่าเป็นเริ่มได้ เนื่องจากผื่นตุ่มของโรคนี้จะค่อยๆ ออกทีละระลอก(ชุด)ขึ้นไม่พร้อมกันทั่วร่างกาย ดังนั้นจะพบว่าบางที่ขึ้นเป็นผื่นแดงราบ บางทีเป็นตุ่มใสบางทีเป็นตุ่มหนอง และบางที่เริ่มตกสะเก็ด ด้วยลักษณะนี้ ชาวบ้านจึงเรียกว่า อีสุกอีใส (มีทั้งตุ่มสุกตุ่มใส) อาการแทรกซ้อน พบได้น้อยในเด็ก แต่ถ้าเป็นผู้ใหญ่อาจมีภาวะแทรกซ้อนได้บ่อยและรุนแรงขึ้น ที่พบได้บ่อย คือ ตุ่มกลายเป็นหนองจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งอาจทําให้กลายเป็นแผลเป็นได้ บางคนอาจกลายเป็นปอดอักเสบแทรกซ้อน ซึ่งอาจทําให้ตายได้ มักพบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็กที่ร้ายแรง คือสมองอักเสบแต่พบได้น้อยมาก ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงมักเกิดในคนที่ใช้ยาที่ลดภูมิต้านทานโรค เช่น สเตอรอยด์ หรือ ยารักษามะเร็ง ข้อแนะนำ โรคนี้ส่วนใหญ่จะหายได้เอง ไข้อาจมีอยู่เพียงไม่กี่วัน ส่วนตุ่มจะตกสะเก็ดหลุดหายใน 1 - 3 สัปดาห์ ผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่ อาจเป็นนานกว่าผู้ป่วยเด็ก โรคนี้เมื่อเป็นแล้ว มักมีภูมิต้านทานไปจนตลอดชีวิต จะไม่เป็นซ้ำอีก แต่อาจมีโอกาสเป็นงูสวัดในภายหลังได้ ไม่ควรใช้ยาสเตอรอยด์ทั้งยากิน (เช่น ยาชุด) และยาทา เพราะอาจทําให้โรคลุกลามได้ ควรแยกผู้ป่วยออกต่างหาก ระยะแพร่เชื้อติดต่อให้คนอื่นได้คือ ระยะตั้งแต่ 24 ชั่วโมง ก่อนมีผื่นตุ่มขึ้นจนกระทั่งระยะ 6 วัน หลังผื่นตุ่มขึ้น ไม่มีของแสลงสําหรับโรคนี้ ควรให้ผู้ป่วยกินอาหารพวกโปรตีน (เช่น เนื้อ นม ไข่) ให้มากๆ เพื่อให้ภูมิต้านทานโรค หมายเหตุ เด็กที่เป็นอีสุกอีใส ควรตัดเล็บให้สั้น และอย่าเกาตุ่มคัน อาจทําให้เป็นแผลเป็นได้ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่คลินิกกุมารเวช โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี 039-319888

อาการอาเจียนในเด็ก

อาการอาเจียนในเด็ก

เมื่อลูกอาเจียน คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตลักษณะอาเจียนที่ออกมา ว่าเป็นเศษอาหาร เสมหะสีอะไร อาเจียนแบบพุ่งหรือไม่พุ่ง เนื่องจากลักษณะอาเจียนต่าง ๆ จะช่วยในการวินิจฉัยโรคได้ อาเจียนเกิดจากอะไร สาเหตุของอาเจียนมีได้ ดังนี จากสมอง มักมีอาเจียนพุ่ง จากทางเดินอาหาร เช่น การอุดตันของกระเพาะ ลําไส้ หรือมีการอักเสบ ของทางเดินอาหาร สาเหตุทางกายอื่น ๆ เช่น ไข้สูง ไซนัสอักเสบ คออักเสบ ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ สาเหตุอื่น เช่น รับประทานอาหารมากเกินไป เมื่ออาเจียนออกมาแล้วมักจะสบายขึ้น เมื่อลูกอาเจียนจึงควรพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุและให้การรักษาต่อ ถ้าลูกอาเจียนจะดูแลอย่างไร ควรให้รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย โดยให้ทีละน้อย บ่อย ๆ ให้น้ำเกลือแร่ ORS เพื่อทดแทนเกลือแร่ที่เสียไปกับอาเจียน โดยให้จิบทีละน้อยและบ่อย ๆ ให้ยาแก้อาเจียนตามแพทย์สั่ง ควรให้รับประทาน 1/2 ชั่วโมงก่อนมื้ออาหาร เมื่อมีอาเจียนมาก รับประทานอาหารหรือน้ำไม่ได้เลย ซึมลง มีอาการขาดน้ำกระหม่อมบุ๋ม ปากแห้งมาก ตาโหล ผิวหนังเหี่ยว แพทย์จะพิจารณาให้นํ้าเกลือทางเส้นเลือด และรักษาสาเหตุต่อไป สอบถามเพิ่มเติมได้ที่คลินิกกุมารเวช โรงพยาบาลกรุงเทพจัรทบุรี 039-319888

การเตรียมตัวทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Skin Test)

การเตรียมตัวทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Skin Test)

โรคหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน

โรคหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน

โรคหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน หลอดลมอักเสบแบ่งเป็นชนิดเฉียบพลัน กับชนิดเรื้อรัง ในที่นี้จะกล่าวถึงชนิดเฉียบพลันก่อน หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน เป็นโรคที่พบได้บ่อยในทุกคนทุกเพศทุกวัย ซึ่งมักพบหลังเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ส่วนมากเกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งจะมีอาการไอ มีเสมหะขาว บางครั้งอาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งจะไอมีเสมหะสีเหลืองหรือเขียว นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากการถูกสารระคายเคือง เช่น ควันบุหรี่ ไอเสียรถยนต์ ฝุ่นละออง เป็นต้น ซึ่งอาจทําให้มีอาการเรื้อรังได้ อาการ มีอาการไอ ซึ่งมักมีอาการมากตอนกลางคืน ระยะแรกจะไอแห้งๆ อาจมีเสียงแหบ และเจ็บหน้าอกเพราะไอมาก 4 - 5 วัน ต่อมาจะมีเสมหะเหนียวเป็นสีขาว(เชื้อไวรัส) หรือขุ่นข้นเป็นสีเหลืองหรือสีเขียว(เชื้อแบคทีเรีย) ในเด็กอาจไอจนอาเจียน อาจมีไข้ต่ำๆ หรือไม่มีก็ได้ บางคนอาจมีอาการหอบหืดร่วมด้วย เรียกว่า หืดจากหลอดลมอักเสบ (Asthmatic bronchitis) อาการแทรกซ้อน โรคนี้มักหายได้ภายใน 1-3 สัปดาห์ แต่บางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน ที่พบได้บ่อย ได้แก่ หลอดลมอักเสบเรื้อรัง หลอดลมพอง ถุงลมพอง การรักษา แนะนําให้ผู้ป่วยพักผ่อนให้มากขึ้น ควรดื่มน้ำอุ่นมากๆ เพื่อช่วยให้เสมหะออกได้ง่ายขึ้น ไม่ควรดื่มน้ำเย็นหรือน้ำแข็ง อาจทําให้ไอมากขึ้น ไม่ควรอยู่ในที่ ๆ มีอากาศเสียหรือฝุ่นละอองมาก ให้ยาขับเสมหะ ไม่ควรให้ยาแก้ไอชนิดกดการไอ เช่น ยาแก้ไอน้ำดํา ยาแก้ไอน้ำเชื่อม หรือยาโคเดอีน เพราะจะทําให้เสมหะเหนียว ขากออกยาก และอาจอุดกั้นหลอดลมเล็กๆทําให้ปอดบางส่วนแฟบได้ ถ้าไอนานเกิน 3 สัปดาห์ หรือมีไข้นานเกิน 1 สัปดาห์ หรือน้ำหนักลดควรส่งโรงพยาบาล อาจต้องเอกซเรย์ ตรวจเสมหะ หาสาเหตุและรักษาตามสาเหตุ ข้อแนะนำ โรคนี้มักเป็นหลังจากเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่และอาจไออยู่นาน 2 - 3 สัปดาห์ โดยที่สุขภาพทั่วไปแข็งแรงดี แต่ถ้าพบว่ามีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด หรือมีไข้เรื้อรัง อาจเป็นจากสาเหตุอื่น เช่น วัณโรค หากสงสัยควรส่งโรงพยาบาล ถ้าไอมีเสมหะ ควรดื่มน้ำอุ่นมากๆ และไม่ควรซื้อยาแก้ไอรับประทานเอง เพราะยาแก้ไอบางชนิดกดการไอ ทำให้เสมหะค้่งภายในไม่ถูกขับออกมาได้ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่คลินิกกุมารเวช โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี 039-319888

การเช็ดตัวลดไข้

การเช็ดตัวลดไข้

การเช็ดตัวลดไข้ เช็ดตัวด้วยผ้าขนหนูนิ่ม ๆ บิดน้ำอุ่นหมาดๆ โดยเริ่มจากใบหน้า ลําคอ แขน ลําตัว ขา โดยเช็ดไปในทิศทางเข้าสู่หัวใจ เน้นบริเวณข้อพับต่าง ๆ น้ำอุ่นจะทําให้เส้นเลือดขยายตัว ความร้อนในร่างกายของลูกจะถูกถ่ายเทผ่านน้ำที่ระเหยจากผิวหนัง ให้ลูกอยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเท ไม่ควรสวมเสื้อผ้าหนา ๆ หรือผ้าห่มหลายชั้นเกินไป เพราะจะทําให้ความร้อนไม่ถ่ายเท ไข้ไม่ลดได้ หลังเช็ดตัวควรจะวัดอุณหภูมิซ้ำทุก ๆ 20 นาที หรือจนแน่ใจว่าไข้ลดแล้ว หากไข้ลดแล้วเหงื่อออกมาก ควรจะให้ลูกดื่มน้ำหรือน้ำเกลือแร่ชดเชยการเสียเหงื่อ รวมทั้งเปลี่ยนชุดใหม่ที่แห้งและสะอาดให้ลูกจะได้หลับอย่างสบายตัว ถ้าเช็ดตัวแล้วไข้ไม่ลดหรือมีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส ควรจะให้ยาลดไข้ สิ่งสําคัญที่ไม่ควรลืมก็คือ ให้ใช้น้ำอุณหภูมิปกติหรือน้ำอุ่นเช็ดตัวลูก คุณพ่อคุณแม่หลายคนหวังดีอยากให้ลูกไข้ลดเร็วๆ เลยใช้น้ำเย็นเช็ดตัว ผลปรากฏว่าไข้ของลูกยิ่งสูงขึ้น เพราะน้ำเย็นทําให้รูขุมขนหดตัวเล็กลง การระบายความร้อนออกจากร่างกายก็เลยยิ่งไม่สะดวก และน้ำที่เย็นจัดๆ ก็ทําให้ไข้เพิ่มสูงขึ้นได้ค่ะ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่คลินิกกุมารเวช โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี 039-319888

Hospital Logo

ติดต่อสอบถามเจ้าหน้าที่

บริการให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง