เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ

เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เช็กอาการ วิธีรักษา ก่อนไร้อารมณ์

เสื่อมสมรรถภาพทางเพศภาวะที่ไม่มีใครอยากเป็น แต่เมื่อเริ่มมีความผิดปกติและส่งผลกระทบกับชีวิต ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง

รู้ทันปัญหาคุณผู้ชาย

อาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ หมายถึง การที่อวัยวะเพศชายไม่สามารถแข็งตัวและ/หรือแข็งตัวได้ไม่นานพอที่จะมีเพศสัมพันธ์ได้สำเร็จจนเป็นที่พึงพอใจอยู่เป็นประจำหรืออย่างต่อเนื่อง ซึ่งการที่จะทราบว่าอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศเกิดจากสาเหตุใด จะให้การรักษาได้อย่างไร จะต้องเข้าใจกลไกการแข็งตัวขององคชาตก่อน

การแข็งตัวขององคชาตมีด้วยกัน 3 กลไก ได้แก่

  • การแข็งตัวเวลานอนหลับ (Nocturnal Erection) เวลานอนหลับองคชาตจะมีการแข็งตัวคืนละประมาณ 4 – 6 ครั้ง ครั้งละ 15 – 30 นาที
  • การแข็งตัวจากจิตใจ (Psychogenic Erection) เมื่อมีความต้องการทางเพศจากสิ่งเร้าต่าง ๆ ที่มากระตุ้น คำสั่งจะส่งจากสมองมายังแกนสมองส่วนที่เรียกว่า พาราเวนทริคูลาร์นิวเคลียสที่อยู่บริเวณไฮโปทาลามัส จากนั้นคำสั่งจะผ่านไขสันหลังลงมายังศูนย์กลางการแข็งตัวขององคชาตบริเวณไขสันหลังระดับกระดูกก้นกบและผ่านเส้นประสาทคาร์เวอนัส (Cavernous Nerve) ที่มากระตุ้นให้เส้นเลือดในองคชาตมีการขยายตัว เลือดเข้ามาเลี้ยงมากขึ้น ทำให้องคชาตแข็งตัว
  • การแข็งตัวจากรีเฟล็กซ์ (Reflexogenic Erection) เมื่อมีการกระตุ้นหรือสัมผัสบริเวณองคชาตก็จะมีสัญญาณผ่านจากเส้นประสาทที่องคชาต (Dorsal Nerve) ไปยังศูนย์กลางการแข็งตัวที่ไขสันหลังระดับกระดูกก้นกบและส่งสัญญาณกลับมายังองคชาต (Cavernous Nerve)

สาเหตุบอกโรค

ความผิดปกติที่กลไกใด ๆ ก็ล้วนแต่ทำให้เกิดอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศได้ อันได้แก่

  • ความล้มเหลวในการเริ่มต้น (Failure to Initiate) อันมีสาเหตุจากปัญหาทางจิตใจ เนื้อเยื่อประสาท และฮอร์โมน
  • ความล้มเหลวในการแข็งตัว (Failure to Fill) เกิดจากความผิดปกติของเส้นเลือดแดง
  • ความล้มเหลวในการคงการแข็งตัวไว้ (Failure to Store) จากความผิดปกติของเส้นเลือดดำ ทำให้เกิด Venous Leakage

จากการศึกษาพบว่า สาเหตุด้านร่างกาย (Organic) สาเหตุด้านจิตใจ (Psychogenic) และทั้งสองสาเหตุร่วมกัน (Mixed ED) คิดเป็นร้อยละ 70, 11 และ 18 ตามลำดับ

1.ปัจจัยสมรรถภาพทางเพศหย่อนจากร่างกาย

  • โรคเรื้อรังทางระบบหลอดเลือดและประสาท เช่น โรคความดันโลหิต โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น
  • โรคระบบต่อมไร้ท่อ ที่สำคัญคือ โรคเบาหวาน
  • โรคเกิดจากการผ่าตัด หรือภยันตรายต่าง ๆ เช่น การผ่าตัดรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก หรือกระเพาะปัสสาวะ โรคของไขสันหลัง

2.ปัจจัยสมรรถภาพทางเพศหย่อนจากจิตใจ เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า

3.สาเหตุจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต

  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ : คุณผู้ชายหลายๆ ท่านอาจจะชอบเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อสร้างบรรยากาศ หรือเพื่อทำให้เกิดอารมณ์ทางเพศ แต่อาจทำให้คุณทำกิจกรรมทางเพศได้ยากขึ้น เพราะการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากเกินไป อาจรบกวนการแข็งตัวของอวัยวะเพศชั่วคราว
  • ชอบทำกิจกรรมกลางแจ้ง : การทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือเล่นกีฬากลางแจ้งอยู่เสมอ อาจทำให้อ่อนล้า อ่อนเพลีย รู้สึกเหนื่อยล้าในตอนกลางคืนได้
  • สูบบุหรี่ : การสูบบุหรี่จะไปยับยั้งการไหลเวียนของเลือด ทำให้หลอดเลือดเสียหาย หรือจำกัดการไหลเวียนของเลือดไปยังอวัยวะเพศ ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพเรื้อรังที่นำไปสู่ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
  • ติดเกม นั่งอยู่แต่หน้าจอเป็นเวลานาน : ส่งผลให้ร่างกายไม่แข็งแรง ไร้ความสดชื่น หมดความกระปรี้กระเปร่า เหนื่อยล้า ง่วงง่าย จึงไม่แปลกที่นำไปสู่ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
  • การนอนไม่สมบูรณ์ : อาจเกิดจากปัญหาการนอน รวมไปถึงการใช้ชีวิตแบบไม่หลับไม่นอน ออกเที่ยว ทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอ ร่างกายอ่อนเพลีย
  • รับประทานอาหารไม่มีประโยชน์ : หนุ่มท่านใดที่นิยมรับประทานอาหารขยะเพราะขี้เกียจหาอะไรทาน ง่ายสุดคือสั่งอาหารขยะส่งตรงถึงหน้าบ้าน แต่คุณรู้หรือไม่ว่าอาหารเหล่านี้มีปริมาณไขมันที่มากเกินไป ส่งผลให้เกิดโรคอ้วน ไขมันอุดตันจนหลอดเลือดตีบ ทำให้ไม่สามารถลำเลียงเลือดแดงไปเลี้ยงน้องชายคุณได้

รักษาหรือป้องกันอย่างไรดี?

ก่อนอื่นคุณผู้ชายต้องหันมาดูแลทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพใจของตนเอง หมั่นออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้สงบ ลดความเครียด ควบคุมอาหาร รวมถึงละ เลิก สาเหตุที่ทำให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศดังที่กล่าวมา แต่หากปฏิบัติแล้วผลลัพธ์ที่ออกมากยังไม่เป็นที่พอใจ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง

แนวทางการรักษา

ในปัจจุบันมีการรักษาหลายชนิด ขึ้นอยู่กับลักษณะอาการของแต่ละบุคคล ดังนี้

  • รักษาด้วยยารับประทาน ฉีดยา และการให้ฮอร์โมนทดแทน สามารถรักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศได้ โดยทำให้เลือดไหลเวียนเข้าไปสู่อวัยวะเพศชายในระหว่างมีการกระตุ้นทางเพศ ช่วยให้อวัยวะเพศชายแข็งตัวได้ ยาเหล่านี้จะไม่ก่อให้เกิดการแข็งตัวในช่วงที่ไม่ได้มีการกระตุ้นทางเพศ แต่ต้องได้รับตามแพทย์สั่งเท่านั้น พร้อมได้รับคำแนะนำ เทคนิควิธีการฉีดยาที่ถูกต้อง
  • การใช้กระบอกสูญญากาศ เพื่อช่วยให้เกิดการแข็งตัว หลักการทำงานของเครื่องคืออากาศจะถูกปั๊มออกจากท่อพลาสติกที่นำไปสวมไว้ที่อวัยวะเพศชาย ภายในเวลา 2-3 นาทีหลังทำการปั๊ม เลือดจะถูกดึงให้เข้าไปที่เนื้อเยื่อ เมื่ออวัยวะเพศแข็งตัวแล้ว เครื่องมือนี้จะถูกนำออกไป และต้องใช้ยางรัดที่โคนอวัยวะเพศ เพื่อกันไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับเข้าสู่ร่างกาย วิธีนี้ไม่เจ็บตัว และไม่ต้องเสี่ยงกับการใช้ยา
  • การผ่าตัด มีทั้งผ่าตัดแก้ไขเส้นเลือดแดงหรือดำที่มีปัญหา และการผ่าตัดใส่แกนอวัยวะเพศเทียม

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ฺBDMS สถานีสุขภาพ

บทความที่เกี่ยวข้อง

กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis)

กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis)

กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis) กระเพาะปัสสาวะอักเสบ พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากท่อปัสสาวะของผู้หญิงสั้น และใกล้ทวารหนัก โดยกระเพาะปัสสาวะอักเสบส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดเดียวกับที่อยู่ในลำไส้ สาเหตุ กลั้นปัสสาวะบ่อย ๆ ทางเดินปัสสาวะอุดตันหรือเป็นนิ่ว ทำให้ปัสสาวะคั่งในระบบทางเดินปัสสาวะนานจนเกิดการอักเสบ การตั้งครรภ์ เพราะมดลูกมีการกดเบียดกระเพาะปัสสาวะ ทำให้เกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบตามมา ความผิดปกติที่ทำให้มีปัสสาวะไหลย้อนกลับ ใช้เครื่องมือแพทย์สอดใส่ท่อปัสสาวะ เช่น ใส่สายสวนปัสสาวะ การส่องกล้องผ่านท่อปัสสาวะ การร่วมเพศ โดยเฉพาะหญิงที่มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก ๆ การเสียดสีอาจมีการช้ำและอักเสบของท่อปัสสาวะได้ โรคประจำตัว เช่น เบาหวาน นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ต่อมลูกหมากโต เป็นต้น ซึ่งโรคเหล่านี้อาจทำให้พบโรคแทรกซ้อนเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้ง่ายขึ้น อาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบ มักเกิดขึ้นหลังกลั้นปัสสาวะ หรือหลังมีเพศสัมพันธ์ ปัสสาวะกะปริดกะปรอย รู้สึกปวดขัดหรือแสบร้อนเวลาถ่ายปัสสาวะ อาจมีปวดท้องน้อยร่วมด้วย ปัสสาวะอาจมีกลิ่นเหม็น ปัสสาวะมักมีสีใส บางรายอาจขุ่นหรือมีเลือดปน ในเด็กเล็กอาจมีปัสสาวะรดที่นอน อาจมีไข้ เบื่ออาหาร และอาเจียน การรักษาและปฏิบัติตัวหลังกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ดื่มน้ำมาก ๆ รับประทานยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด หากรับประทานยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือหายแล้วเป็นซ้ำมากกว่า 2-3 ครั้ง หรือเป็นในผู้ชาย จะต้องมีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัดให้การรักษาที่เหมาะสมตามสาเหตุต่อไป เช่น การตรวจเม็ดเลือดขาวในปัสสาวะ การนำปัสสาวะไปเพาะเชื้อ เอ็กซเรย์ ส่องกล้องตรวจระบบทางเดินปัสสาวะ การป้องกันกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ดื่มน้ำมาก ๆ วันละอย่างน้อย 1-2 ลิตร ไม่กลั้นปัสสาวะ หลังขับถ่ายอุจจาระ ควรใช้กระดาษชำระเช็ดทำความสะอาดจากข้างหน้าไปข้างหลัง เพื่อป้องกันมิให้นำเชื้อโรคสู่ท่อปัสสาวะ สำหรับอาการขัดเบาหลังร่วมเพศ อาจป้องกันโดยดื่มน้ำ 1 แก้วก่อนร่วมเพศ ควรใช้เจลหล่อลื่น และปัสสาวะทันทีหลังร่วมเพศ ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่คลินิกศัลยกรรมระบบทางเดินปัสสาวะและสภาพเพศชาย โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี 039-319888

นิ่วในไต (Renal stone)

นิ่วในไต (Renal stone)

นิ่วในไต (Renal stone) นิ่วในไต( Renal stone) ทำให้มีอาการปวดเอว ปัสสาวะขุ่น ปัสสาวะเป็นเลือด หอบ เหนื่อย มีไข้ มีเลือดปนออกมาในปัสสาวะ ปวดเวลาปัสสาวะ และปัสสาวะน้อยลง สาเหตุของการเกิดนิ่ว สาเหตุความผิดปกติภายในตัวผู้ป่วยเอง ได้แก่ กรรมพันธุ์ อายุและเพศ ความผิดปกติด้านโครงสร้างระบบทางเดินปัสสาวะความเข้มข้นของน้ำปัสสาวะ ภาวะอักเสบติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะ สาเหตุร่วมที่เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมของผู้ป่วย ได้แก่ สภาพภูมิศาสตร์ ฤดูกาล ปริมาณการดื่มน้ำ โภชนาการและอาชีพ การวินิจฉัย การตรวจทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่ การตรวจปัสสาวะ การตรวจทางรังสีวินิจฉัย เช่น เอ็กซเรย์ อัลตราซาวด์ การรักษา Renal Stone(นิ่วในไต) ESWL (Extracorporeal shock wave Lithotripsy) การสลายนิ่วด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง โดยอาศัยคลื่นเสียงไปกระแทกเม็ดนิ่วให้แตกเป็นเม็ดเล็ก ๆ แล้วไหลหลุดผ่านท่อไตมาที่กระเพาะปัสสาวะ และ ปัสสาวะหลุดออกมาเองได้ PCNL (Percutaneous Nephroletuotrispy) การเจาะนิ่วผ่านด้านหลัง โดยสอดกล้องผ่านทางด้านหลัง จะมีแผลเล็ก ๆ ขนาดประมาณ 2 เซนติเมตร แล้วใช้เครื่องมือเข้าไปทำลายเม็ดนิ่วแล้วคีบออกมาผ่านกล้อง การผ่าตัดแบบเปิด ปัจจุบันมีที่ใช้น้อย ยกเว้นในรายนิ่วมีขนาดใหญ่มาก ๆ การปฏิบัติตัวเมื่อกลับบ้าน (รับคำแนะนำการปฏิบัติตัวจากแพทย์พยาบาล โดยตรงสำหรับการรักษาแต่ละชนิด) ในกรณีที่ทำผ่าตัด ต้องดูแลแผลผ่าตัดให้สะอาด ควรระมัดระวังไม่ให้แผลถูกน้ำ ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 8 แก้ว หรือ 2 ลิตรต่อวัน การรับประทานยาตามคำแนะนำของแพทย์จนครบ ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง การออกกำลังกายทำได้แต่ไม่ควรยกของหนัก หรือทำงานหนักในระยะ 8 – 12 สัปดาห์แรก มาตรวจตามแพทย์นัดทุกครั้ง หากมีอาการผิดปกติก่อนวันนัด สังเกตอาการผิดปกติที่ต้องมาพบแพทย์ก่อนวันนัด เช่น แผลอักเสบ มีไข้ ปัสสาวะปนเลือด ปัสสาวะไม่ออก เป็นต้น การป้องกัน ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 8 แก้ว หรือ 2 ลิตรต่อวัน เพื่อให้น้ำปัสสาวะเจือจาง ป้องกันการเกิดผลึกและตกตะกอนสาร ควรรับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ ในสัดส่วนที่เหมาะสมและไม่ควรรับประทานอาหารอย่างเดิมซ้ำกันนานๆ ไม่ควรกลั้นปัสสาวะ ควรถ่ายปัสสาวะทุกครั้งที่ปวด เพราะการมีน้ำปัสสาวะค้างอยู่นานๆ จะเป็นสาเหตุทำให้เกิดการติดเชื้อ ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ เช่น เดินหรือวิ่งเพื่อป้องกันการค้างของน้ำปัสสาวะ หรือถ้ามีนิ่วก้อนเล็กๆ ก้อนนิ่วจะได้หลุดออกมา กับน้ำปัสสาวะ ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่คลินิกศัลยกรรมระบบทางเดินปัสสาวะและสภาพเพศชาย โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี 039-319888

หนังหุ้มปลาย อวัยวะเพศชายไม่เปิด (Phimosis)

หนังหุ้มปลาย อวัยวะเพศชายไม่เปิด (Phimosis)

หนังหุ้มปลาย อวัยวะเพศชายไม่เปิด (Phimosis) ปัญหาหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ คือการรัดแน่นของหนังหุ่มปลายจนไม่สามารถเปิดขึ้นได้ หรือเปิดขึ้นได้ไม่สุด อาจเป็นแต่กำเนิดหรือเกิดจากการอกเสบทำให้เกิดการดึงรั้งในภายหลัง บางรายไม่มีอาการแต่บางรายมีผลกระทบกับการใช้ชีวิต เช่น ปัสสาวะไม่ออก ปัสสาวะลำบาก เกิดการติดเชื้อเป็นหนอง เจ็บขณะอวัยวะเพศแข็งตัว เป็นต้น การรักษา ยาปฏิชีวนะ ในรายที่มีการอักเสบติดเชื้อ การผ่าตัดหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศออก เป็นการรักษาที่ทำให้หายขาด เรียกว่า การขริบปลายองคชาต (Circumcision) ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่คลินิกศัลยกรรมระบบทางเดินปัสสาวะและสภาพเพศชาย โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี 039-319888

ต่อมลูกหมากโต (Benign prostatic hyperplasia)

ต่อมลูกหมากโต (Benign prostatic hyperplasia)

ต่อมลูกหมากโต (Benign prostatic hyperplasia) ต่อมลูกหมากโต เป็นการเปลี่ยนแปลงตามวัยที่พบได้ในชายที่อายุ 45 ปีขึ้นไป อาจโตขึ้นไม่มากก็น้อย โดยไม่แสดงอาการใด ๆ เมื่ออายุมากขึ้นผู้ชายบางรายอาจเริ่มมีอาการจากต่อมลูกหมากโตและแข็งกดท่อปัสสาวะได้ หากกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะไม่แข็งแรงพอ จะบีบต้านแรงกดของต่อมลูกหมาก จึงทำให้เกิดมีอาการอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะ อาการ ปัสสาวะพุ่งไม่แรง ปัสสาวะลำบากนานแรมปี ต้องออกแรงเบ่งมากขึ้น บางรายอาจถึงขั้นปัสสาวะไม่ออก ต้องถ่ายปัสสาวะบ่อยครั้ง (ตอนกลางคืนต้องลุกขึ้นถ่ายบ่อย) แต่ละครั้งออกทีละน้อย บางครั้งอาจถ่ายออกเป็นเลือด อาจมีอาการขัดเบาจากกระเพาะปัสสาวะอักเสบ โรคแทรกซ้อนที่พบได้หลังเป็นต่อมลูกหมากโต กระเพาะปัสสาวะอักเสบ กรวยไตอักเสบ ภาวะไตวาย การรักษา หากถ่ายปัสสาวะไม่ออกอาจต้องมีการสวนระบายปัสสาวะเป็นครั้งคราว หากเป็นมาก แพทย์อาจพิจารณาด้วยการผ่าตัด ซึ่งจะช่วยให้หายขาดได้ ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่คลินิกศัลยกรรมระบบทางเดินปัสสาวะและสภาพเพศชาย โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี 039-319888

นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ (Vesicular stone)

นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ (Vesicular stone)

นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ (Vesicular stone) สาเหตุการเกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ คือ ขาดสารฟอตเฟสซึ่งมีมากในอาหารประเภทโปรตีน ร่วมกับกินผักที่มีสารออกซาเลตสูง และดื่มน้ำน้อย ทำให้มีการสะสมของสารแคลเซียมออกซาเลตในกระเพาะปัสสาวะจนกลายเป็นนิ่วในที่สุด นอกจากนี้ยังพบร่วมกับการอุดตันของท่อปัสสาวะ , ต่อมลูกหมากโต , กระเพาะปัสสาวะหย่อน , กระเพาะปัสสาวะไม่ทำงานเนื่องจากเป็นอัมพาต อาการ ปัสสาวะขัด ปัสสาวะกะปริดกะปรอย ปัสสาวะสะดุด ปวดเบ่งคล้ายถ่ายปัสสาวะไม่สุด จากก้อนนิ่วอุดกั้นท่อปัสสาวะ บางรายปัสสาวะออกเป็นเลือดหรือสีน้ำล้างเนื้อ อาจถ่ายเป็นก้อนนิ่ว เม็ดกรวดทรายเล็ก ๆ หรือปัสสาวะขาวเหมือนผงแป้งปนมากับปัสสาวะ ปวดท้องน้อยมากปัสสาวะไม่ออก มีปัสสาวะคั่งในกระเพาะปัสสาวะ จากก้อนนิ่วตกลงไปอุดตันท่อปัสสาวะ ภาวะแทรกซ้อน การเป็นนิ่วกระเพาะปัสสาวะ มักทำให้มีอาการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งหากปล่อยไว้เรื้อรัง อาจกลายเป็นกรวยไตอักเสบ และไตวายได้ การรักษา หากสงสัยเป็นนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ จำเป็นต้องไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจวินิจฉัยรักษาโดยแพทย์และเครื่องมือเฉพาะ ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่คลินิกศัลยกรรมระบบทางเดินปัสสาวะและสภาพเพศชาย โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี 039-319888

นิ่วในท่อไต (Ureteric stone)

นิ่วในท่อไต (Ureteric stone)

นิ่วในท่อไต (Ureteric stone) ก้อนนิ่วขนาดเล็กในไตที่ตกผ่านมาในท่อไต เป็นเหตุให้ท่อไตเกิดการบีบรัดตัว เพื่อขับก้อนนิ่วออกมา ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดท้องรุนแรง เรียกว่า นิ่วในท่อไต อาการ ปวดท้องรุนแรง โดยปวดบิดเป็นพัก ๆ ตรงบริเวณท้องน้อยข้างหนึ่งข้างใดเพียงข้างเดียว อาการปวดท้องมักร้าวไปหลัง และต้นขาด้านใน บางรายปวดจนดิ้นไปมา หรือใช้มือกดบริเวณที่ปวดไว้ ซึ่งจะรู้สึกดีขึ้น ปวดมากจนเหงื่อออก ตัวเย็น ในสั่นหวิว คลื่นไส้ อาเจียน ผู้ป่วยจะไม่มีอาการขัดเบา ปัสสาวะมักจะใสปกติ ภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้ หากนิ่วก้อนใหญ่หลุดออกเองไม่ได้ ทิ้งไว้อาจทำให้มีการอักเสบของทางเดินปัสสาวะ และไตวายได้ การรักษา หากสงสัยควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาที่โรงพยาบาล เนื่องจากต้องใช้เครื่องมือส่องตรวจพิเศษต่าง ๆ ในการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่คลินิกศัลยกรรมระบบทางเดินปัสสาวะและสภาพเพศชาย โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี 039-319888

Hospital Logo

ติดต่อสอบถามเจ้าหน้าที่

บริการให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง