ตรวจสุขภาพของหัวใจแบบไหนเหมาะกับคุณ
5 วิธีตรวจสุขภาพหัวใจ เลือกให้เหมาะกับคุณ รู้ทันลดความเสี่ยงก่อโรค
ใครๆ ก็อยากมีสุขภาพที่ดี ซึ่งสามารถทำได้ด้วย Work life Balance การกินดี ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และนอนดี รวมถึงไม่เครียด แต่มีอีกสิ่งหนึ่งที่หลายคนมองข้าม คือ “การตรวจสุขภาพ”
ที่นับเป็นเรื่องสำคัญเป็นอย่างมากโดยเฉพาะการตรวจคัดกรอง “โรคหัวใจ” สาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ เพราะการตรวจจะช่วยทั้งคัดกรอง ค้นหาความเสี่ยงและพบความผิดปกติที่ซ่อนอยู่ การป้องกัน ชะลอการลุกลาม และรักษาให้ดีขึ้นก่อนที่จะสายเกินไป
ด้วยพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนในยุคปัจจุบันที่เปลี่ยนไปจากอดีต คนส่วนใหญ่มีความเครียดจากการทำงานที่มีการแข่งขันสูง การทำงานนั่งโต๊ะที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อย การพักผ่อนไม่เพียงพอ และการกินอาหารที่ทำลายสุขภาพ ซึ่งกว่าครึ่งของคนที่เป็นโรคหัวใจมักไม่แสดงอาการให้เห็นล่วงหน้า หลายคนจึงไม่รู้ตัวว่ากำลังเผชิญกับโรคหัวใจอยู่ โดยกว่าอาการจะแสดงออกมาให้รู้ตัวว่าเป็นโรคหัวใจก็มักสายไปเสียแล้ว วิธีที่จะบอกให้แน่ชัดว่าคุณมีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจหรือไม่นั้น ก็คือการไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กให้แน่ใจนั่นเอง
ใครบ้าง?...ที่เสี่ยงเป็น “โรคหัวใจ”
- ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถควบคุมและปรับเปลี่ยนได้ เช่น การสูบบุหรี่ มีความเครียด ไม่ออกกำลังกาย กินอาหารที่มีไขมันสูงหรือรสเค็มจัด การมีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง มีไขมันในเลือดสูง คอเลสเตอรอลสูง โรคเบาหวาน ซึ่งเราสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และพยายามควบคุมรักษาระดับความรุนแรงของโรคที่เป็นให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ในการดูแลของแพทย์
- ปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้ และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ด้านพันธุกรรม หากคนในครอบครัวมีประวัติเคยเป็นโรคหัวใจ เราก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจสูงกว่าคนทั่วไป
- อายุ เพราะเมื่ออายุมากขึ้น ตะกรันไขมันที่พอกพูนสะสมผ่านวันเวลาที่ยาวนานก็มักมากขึ้นตามอายุ ทำให้ผู้สูงวัยมีความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดตีบสูงขึ้น
- เพศ จากงานวิจัยต่างๆ แสดงให้เห็นว่า โรคหลอดเลือดหัวใจนั้นเกิดในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยอาจมีสาเหตุมาจากฮอร์โมนเพศหญิงที่ช่วยควบคุมปริมาณไขมันให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม แต่ในผู้หญิงวัยหลังหมดประจำเดือนจะมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจเพิ่มมากขึ้น เช่นกัน
อยากตรวจสุขภาพหัวใจ เลือกตรวจแบบไหนดี?
- ตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (EST Exercise Stress Test) เป็นวิธีที่ทำให้แพทย์ตรวจพบการทำงานของหัวใจที่ผิดปกติได้ เช่น หายใจลำบาก เจ็บแน่นหน้าอก การเต้นของหัวใจผิดปกติ หรือมีการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวที่ผิดปกติ เป็นการตรวจที่จะให้ทราบถึงภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้ดี
- ตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (ECHO Echocardiogram) เป็นการตรวจด้วยการใช้คลื่นเสียงเพื่อสะท้อนกลับมาและแปลเป็นภาพ ซึ่งจะเห็นทั้งรูปร่าง ขนาด และการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจและลิ้นหัวใจว่ามีความผิดปกติหรือไม่ เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการหอบ เหนื่อย บวม ที่สงสัยว่าอาจเกิดจากโรคหัวใจ หรือคนทั่วไปที่มีความเสี่ยง
- ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือ (EKG Electrocardiography )เป็นการตรวจดูว่าในแต่ละจังหวะการเต้นของหัวใจมีความผิดปกติหรือไม่ โดยการติดตัวรับสัญญาณบนผิวหนังบริเวณหน้าอก เป็นการตรวจที่ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด หรืออันตราย สามารถตรวจได้ทุกเพศทุกวัย
- ตรวจหาหินปูนและการตีบของหลอดเลือดหัวใจ (CT Calcium Scoring) เป็นการตรวจดูปริมาณหินปูนในหลอดเลือดโดยใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง เพื่อดูความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจในอนาคต ลดโอกาสเสียชีวิตฉับพลัยจากโรคหัวใจในอนาคต
- ตรวจเส้นเลือดแดงด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CTA Coronary CT Angiography) เป็นวิธีการตรวจดูเส้นเลือดของหัวใจว่ามีหลอดเลือดหัวใจตีบ-ตัน หรือความผิดปกติอื่นๆหรือไม่ โดยผู้เข้ารับการตรวจจะต้องมีการฉีดสารทึบรังสีก่อนการตรวจ เพื่อช่วยให้แพทย์สามารถประเมินอาการได้อย่างแม่นยำ เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่สามารถตรวจด้วยวิธีเดินสายพานได้
ใครบ้างที่ควรเข้ารับการตรวจ
- ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปทั้งชายและหญิง
- ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง หรือความดันโลหิตสูง
- ผู้ที่ชื่นชอบการทานอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็ม
- ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ รวมทั้งผู้ที่ใกล้ชิดกับบุคคลที่สูบบุหรี่
- ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหัวใจ
- ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ นอนหลับไม่สนิท และรู้สึกอ่อนเพลียเป็นประจำ
ไม่มีประวัติโรคหัวใจ ใช่ว่าไม่เสี่ยง!
การเสียชีวิตจากโรคหัวใจอย่างกะทันหันมี 2 สาเหตุหลักที่พบได้บ่อย คือ
- โรคหลอดเลือดหัวใจตีบฉับพลัน ซึ่งเป็นภาวะที่ค่อนข้างอันตรายและน่ากลัว เนื่องจากเป็นโรคที่ไม่มีการแสดงอาการที่บ่งบอกให้รู้ แม้ว่าหลอดเลือดจะตีบไปแล้วกว่า 50% แต่หากหัวใจยังสูบฉีดเลือดได้ก็จะไม่แสดงอาการใดๆ ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าตัวเองเป็น
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ ปกติอัตราการเต้นของหัวใจที่ จะอยู่ที่ 60-100 ครั้ง/นาที ซึ่งเท่ากับว่า...หากอัตราการเต้นของหัวใจต่ำกว่า 60 ครั้ง/นาที หรือ สูงกว่า 100 ครั้ง/นาที จะถูกนับว่าเป็นภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ส่งผลให้หัวใจสูบฉีดเลือดได้น้อยลง... นำไปสู่ภาวะหัวใจวาย!
อย่ามัวรอให้หัวใจส่งสัญญาณเตือน เพราะเราสามารถดูแลสุขภาพหัวใจได้ตั้งแต่วันนี้ โดยเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และเข้ารับการตรวจสุขภาพทั่วไป และสุขภาพหัวใจเป็นประจำทุกปี ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ฺBDMS สถานีสุขภาพ