ลิ้นหัวใจรั่วจากพฤติกรรม
“ลิ้นหัวใจรั่ว”จากหลอดเลือดหัวใจตีบ ภัยเงียบจากพฤติกรรมเสี่ยง
ในอดีต เรามักเข้าใจว่า ลิ้นหัวใจรั่ว จะเป็นได้ต้องเกิดจากความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด แต่ในปัจจุบัน กลับเป็นภัยใกล้ตัวและมีปัจจัยเสริมอื่นๆที่ทำให้เกิดขึ้นได้โดยเฉพาะวัย 40+ ที่ต้องระวัง
ลิ้นหัวใจรั่ว (Heart Valve Regurgitation) ที่เกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงในคนที่ไม่ค่อยออกกำลังกาย โหมหนักงานจนไม่มีเวลาดูแลตัวเอง จนป่วยด้วยโรคต่างๆมากมาย เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง หรือโรคไขมันในเลือดสูง จนสุดท้ายภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบที่ทำร้ายหัวใจเราได้โดยตรง
สาเหตุของลิ้นหัวใจรั่ว แบ่งเป็น 2 สาเหตุ
- เกิดจากตัวลิ้นหัวใจเอง อาจเป็นตั้งแต่กำเนิด หรือว่าเป็นตอนโต
- เกิดจากผลแทรกซ้อนจากโรคอื่น
- การติดเชื้อ เช่น การติดเชื้อจากแบคทีเรียในลำคอหรือทางเดินหายใจ และเกิดผลแทรกซ้อนตามมา มักจะเกิดในเด็ก ผู้สูงอายุหรือกลุ่มผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
- ภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายและเกิดลิ้นหัวใจรั่วตามมา ปัจจัยเสี่ยงของหลอดเลือดหัวใจตีบ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง การสูบบุหรี่่ อายุที่มากขึ้น หรือ กรรมพันธุ์
ความเสี่ยงเป็นโรคลิ้นหัวใจรั่ว
- เป็นตั้งแต่กำเนิด
- กลุ่มที่สามารถติดเชื้อได้ง่าย เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
- กลุ่มที่มีความเสี่ยงกับภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบร่วมกับปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่ กรรมพันธุ์ได้แก่
- ผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 40 ปี
- ผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 50 ปี
- ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน
ลิ้นหัวใจรั่วอาการอย่างไร?
- เสียงหัวใจผิดปกติ เป็นลักษณะเสียงฟู่
- เริ่มมีอาการตั้งแต่ เหนื่อยง่าย จนกระทั่งหอบเหนื่อย
- น้ำท่วมปอด นอนราบไม่ได้
- มีอาการใจสั่น หรือเจ็บหน้าอก
- มีอาการบวมที่เท้าและข้อเท้า
วินิจฉัยโรคลิ้นหัวใจรั่วได้อย่างไร
วินิจฉัยด้วยการฟังเสียงหัวใจ และ X-ray เพื่อดูขนาดของเงาหัวใจ ดูภาวะน้ำท่วมปอด หลังจากนั้นจะใช้การตรวจที่เรียกว่า คลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (Echocardiogram) เพื่อตรวจดูว่า พยาธิสภาพของตัวลิ้นหัวใจผิดปกติอย่างไร รั่วแบบไหน ซึ่งต้องพิจารณาว่าจะต้องทำการรักษา เช่น การผ่าตัด หรือการรักษาแบบอื่น เฉพาะรายบุคคลไป
การป้องกันเพื่อไม่ให้เป็นโรคลิ้นหัวใจรั่ว
การออกกำลังกาย หมั่นดูแลตัวเองกินอาหารที่เป็นประโยชน์เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิด ก็ยังนับเป็นแนวทางป้องกันโรค หากมีอาการใจสั่น เจ็บหน้าอก เหนื่อยง่าย เท้าบวม หรือมีโรคที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เช่นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ควรจะพบแพทย์เพื่อตรวจเช็คร่างกายและทำตามคำแนะนำจากแพทย์
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ฺฺBDMS สถานีสุขภาพ