โรคหัวใจ ทำไมคนรุ่นใหม่เป็นมากขึ้น

6 สัญญาณ “โรคหัวใจ”คร่าชีวิตเฉลี่ย 2 คนต่อชม.ใครบ้างเสี่ยง?

โรคหัวใจ (Heart Disease) หลายคนคงนึกว่าเหมารวมเพียงแต่โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือ ภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน เนื่องจากเป็นโรคที่พบบ่อยที่สุดในบรรดากลุ่มโรคหัวใจ จากการรายงานสถิติขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในปี 2563 พบว่า กลุ่ม "โรคหัวใจ" และหลอดเลือดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนทั่วโลก หรือประมาณ 17.9 ล้านคน และจากสถิติในประเทศไทย พบผู้เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดมากถึง 6 หมื่นรายต่อปี เฉลี่ยชั่วโมงละ 2 คน 

นอกจากนี้ยังมีโรคที่เกิดขึ้นกับหัวใจได้อีกมากมาย อาทิ โรคกล้ามเนื้อหัวใจ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคลิ้นหัวใจ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด และโรคติดเชื้อบริเวณหัวใจ เป็นต้น

 

รู้หรือไม่ ทำไมคนรุ่นใหม่ถึงเป็นโรคหัวใจมากขึ้น

ในอดีตโรคหลอดเลือดหัวใจมักเกิดในผู้สูงอายุ แต่ปัจจุบันเราพบว่าหนุ่มสาววัยทำงานนั้นมีความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป ทำให้มีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง ขาดการออกกำลังกาย อยู่ในภาวะเครียด พักผ่อนน้อย ยิ่งหากใครที่สายปาร์ตี้ด้วยแล้วยิ่งเพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจมากขึ้นไปอีก

 

ส่วนปัจจัยที่นอกเหนือจากพฤติกรรมก็มีอยู่บ้าง เช่น

 

 สัญญาณเตือน “โรคหัวใจ”

  • เหนื่อยง่ายเวลาออกแรง เดินเร็วๆ หรือออกกําลังกาย
  • หายใจเข้าลำบาก อาจจะเป็นตลอดเวลา เป็นขณะออกกำลังกาย ตอนใช้แรงมากๆ หรือเป็นเฉพาะในเวลากลางคืนขณะพักผ่อน
  • เจ็บหน้าอกหรือแน่นบริเวณกลางอก เจ็บหน้าอกด้านซ้ายบริเวณหัวใจหรือทั้ง 2 ข้างจนไม่สามารถนอนราบได้ตามปกติ เพราะจะรู้สึกเหนื่อยเวลาหายใจและอึดอัดตรงหน้าอก
  • หายใจหอบ จนบางครั้งต้องตื่นขึ้นมาหอบกลางดึก
  • เป็นลมหมดสติโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ขาหรือเท้าบวมโดยไม่ทราบสาเหตุ ปลายมือ ปลายเท้า และริมฝีปากมีสีเขียวคล้ำ

 

หากมีอาการดังกล่าวแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคหัวใจหรือไม่ ?

  • อาศัยการซักประวัติ สอบถามอาการและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่น่าสงสัย
  • ตรวจร่างกายในทุกระบบที่เกี่ยวข้อง ฟังการเต้นของหัวใจ ตรวจระดับไขมันและหินปูนในหลอดเลือด
  • ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) โดยใช้สื่อนำคลื่นไฟฟ้าขนาดเล็กมาติดตามที่หน้าอก แขนและขา โดยคลื่นไฟฟ้าหัวใจจะแสดงออกมาเป็นกราฟ ซึ่งแพทย์จะอ่านผลและวินิจฉัยความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้
  • ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test: EST) คือการให้ผู้เข้ารับการตรวจเดินหรือวิ่งบนสายพานเพื่อกระตุ้นให้หัวใจเต้นแรงขึ้น ผลจะแสดงออกมาเป็นกราฟคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
  • ตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiography) สำหรับผู้ที่ไม่พร้อมทดสอบด้วยการวิ่งบนสายพาน เช่น ผู้สูงอายุ ผู้มีปัญหาด้านการเดิน เป็นการตรวจเพื่อดูกายวิภาคของหัวใจ ความหนาของผนังหัวใจ การเคลื่อนที่และการบีบตัว ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคหัวใจได้เกือบทุกประเภท
  • ตรวจหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง (CT Coronary Artery) เพื่อวิเคราะห์หาเส้นเลือดที่ตีบ-ตัน หรือความผิดปกติอื่นๆ ของหลอดเลือดหัวใจ

หากตรวจแล้วพบข้อสงสัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ การตรวจที่จะบอกได้แน่ชัดที่สุดว่ามีการตีบหรือใกล้ตันในจุดใด คือ การฉีดสีเพื่อดูเส้นเลือดหัวใจ ที่เรียกว่าการสวนหลอดเลือดหัวใจ นั่นเอง

 

ดูแลตัวเองให้ห่างไกลโรคหัวใจ

เพราะพฤติกรรมการใช้ชีวิตส่งผลต่อสุขภาพหัวใจโดยตรง ดังนั้นเราควรปรับพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งสามารถทำได้ ดังนี้

  • เลือกกินอย่างเหมาะสม ไม่หวาน ไม่มัน ไม่เค็มจนเกินไป กินผัก ผลไม้ที่มีกากใยให้มากขึ้น โดยเลือกชนิดที่น้ำตาลไม่สูง
  • ออกกำลังกายแบบคาร์ดิโออย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับหัวใจ ช่วยลดไขมันเลว (LDL) และเพิ่มไขมันดี (HDL) ในหลอดเลือด
  • ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพราะการมีน้ำหนักตัวมากเกินไปเป็นปัจจัยสำคัญในเกิดโรคต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพหัวใจ เช่น ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน
  • งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงชา กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสารเสพติดต่างๆ ที่จะทำให้เกิดความเสี่ยง
  • ทำจิตใจให้แจ่มใส หากรู้ตัวว่ามีความเครียดควรรีบหาวิธีกำจัดอย่างเหมาะสม
  • พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ
  • เลือกตรวจสุขภาพประจำปีให้เหมาะสมตามช่วงวัยและความเสี่ยง

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : BDMS สถานีสุขภาพ