ภาวะหัวใจล้มเหลว

ภาวะหัวใจล้มเหลว

ภาวะหัวใจล้มเหลว เป็นภาวะที่หัวใจทำงานผิดปกติ ซึ่งอาจผิดปกติที่โครงสร้างหรือการทำงานของหัวใจ ทำให้ไม่สามารถส่งเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆได้อย่างเพียงพอ และไม่สามารถรับเลือดกลับเข้าสู่หัวใจได้ตามปกติ ภาวะหัวใจล้มเหลวจึงมีผลต่อเนื้อเยื่อทุกส่วนของร่างกาย อาจส่งผลต่อผู้ป่วยอย่างรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

อาการหลักๆของภาวะหัวใจล้มเหลว

  • เหนื่อย
  • อ่อนเพลีย
  • บวม


ภาวะหัวใจล้มเหลว แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

  1. ภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง ผู้ป่วยมักมาด้วยอาการที่ไม่จำเพาะ เช่น อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย จำเป็นต้องตรวจเลือด และตรวจการทำงานของหัวใจเพิ่มเติม เพื่อช่วยในการวินิจฉัย การรักษานอกจากจะมุ่งเน้นการชะลอการดำเนินโรค และเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย
  2. ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน เป็นภาวะฉุกเฉินต้องให้การรักษาทันที่ มักพบในผู้ป่วยที่เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด การรักษามุ่งเน้นการรักษาภาวะฉุกเฉินเพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วย โดยช่วยเรื่องการไหลเวียนเลือด และการหายใจเป็นหลัก


ภาวะแทรกซ้อนของจากภาวะหัวใจล้มเหลว


การวินิจฉัยภาวะหัวใจล้มเหลว

  • ซักประวัติและตรวจร่างกายจากแพทย์
  • การตรวจเลือดเพื่อหาสารเคมีบางอย่างในร่างกาย (NT-ProBNP)
  • ตรวจการทำงานของหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อน (Echocardiography)

นอกจากนี้แพทย์อาจพิจารณาตรวจหาโรคที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวเพิ่มเติม เช่น การฉีดสีสวนหัวใจเพื่อหาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เพื่อจะได้ทำการแก้ไขโรคต้นเหตุได้อย่างทันท่วงที

ผู้ที่มีความปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลว


การรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว

  • การหาโรคที่เป็นทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว และรักษาแก้ไขที่โรคต้นเหตุร่วมกับการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว
  • รักษาด้วยยาเพื่อชะลอการดำเนินโรคและฟื้นฟูการทำงานของหัวใจ
  • ควบคุมปริมาณน้ำที่ดื่ม และอาหารที่มีโซเดียมสูง อาหารรสเค็ม และการปรับยาขับปัสสาวะอย่างเหมาะสม

การป้องกันการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ รับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30-40 นาที สัปดาห์ละ 3-5 วัน
  • ตรวจสุขภาพและพบแพทย์สม่ำเสมออย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  • หากมีโรคประจำตัว ควรรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และมาตรวจตามนัดทุกครั้ง
  • จัดการกับความเครียดอย่างเหมาะสม ทำกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด พักผ่อนอย่างเพียงพอ


สอบถามเพิ่มเติมที่ศูนย์โรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี 039-319888

บทความที่เกี่ยวข้อง

โรคไขมันในเลือดสูง

โรคไขมันในเลือดสูง

โรคไขมันในเลือดสูง โรคไขมันในเลือดสูง คือโรคที่ผู้ป่วยมีระดับไขมันในเลือดอยู่ในระดับที่สูงกว่าปกติ โดยไขมันนั้นแบ่งออกเป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ ดังนี้ คอเลสเตอรอล (Cholesteral) ได้แก่ ไขมันดี (HDL) พบในผู้ที่รับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์และออกกำลังอย่างม่ำเสมอ ไขมันชนิดนี้ยิ่งมีมากยิ่งส่งผลดี เพราะช่วยขจัดไขมันไม่ดีจากร่างกาย ไขมันไม่ดี (LDL) เป็นไขมันที่สะสมตามผนังหลอดเลือด ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองตีบได้ ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) มักมีระดับที่สูงขึ้นจากการดื่มสุรา รับประทานอาหารมีน้ำตาลและไขมันมากเกินไปในแต่ละวัน รับประทานยาสเตียรอยด์หรือฮอร์โมนเป็นประจำ หรืออาจสูงขึ้นจากโรคประจำตัว เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน ซึ่งระดับไตรกลีเซอไรด์ที่สูงขึ้นเพิ่มความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดแข็ง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน ไขมันเกาะตับ และมีโอากาสเป็นโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน โดยเฉพาะเมื่อระดับไตรกลีเซอไรด์มากกว่า 500 มก./ดล. การป้องกันตนเองจากโรคไขมันในเลือดสูง รับประทานอาหารแต่พอเหมาะ ตามที่ร่างกายต้องการ เพิ่มการรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูงทดแทนแป้งและน้ำตาล ลดอาหารมัน โดยเฉพาะไขมันจากสัตว์ ออกกำลังกายอย่างน้อยครั้งละ 30 นาที 4-5 ครั้งต่อสัปดาห์ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์โรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี 039-319888

รักษาความดันไม่สม่ำเสมอมีผลต่อหลอดเลือดแดงใหญ่

รักษาความดันไม่สม่ำเสมอมีผลต่อหลอดเลือดแดงใหญ่

ความดันโลหิตสูงหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจนำไปสู่โรคร้ายแรงที่อันตรายถึงชีวิตได้ โรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง เป็นอาการที่ผนังหลอดเลือดอ่อนแอและถูกความดันเลือดดันออกทำให้เกิดการโป่งพอง มีสาเหตุได้จากทั้งความเสื่อมตามวัยของผู้สูงอายุ หรือความผิดปกติอื่นๆ เช่น ภาวะความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่จัด หรือคนที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรมบางชนิด หากใครที่อยู่ในภาวะเสี่ยงควรรีบพบแพทย์และรักษาโดยด่วน เพราะหลอดเลือดแดงใหญ่นั้นมีความสำคัญกับร่างกายมาก เปรียบเสมือนท่อประปาหลักที่ส่งเลือดแดงไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น หัวใจ สมอง ประสาทไขสันหลัง แขน ขา และรวมไปถึงในช่องท้อง เช่น ตับ ไต และลำไส้ แน่นอนว่าถ้ามีความผิดปกติเกิดขึ้นอย่างการที่เส้นเลือดแดงใหญ่โป่งพอง และปริแตกอาจส่งผลให้เสียชีวิตได้ถึง 50-90% หลอดเลือดแดงใหญ่อยู่ตรงไหน...สำคัญยังไง? ลองนึกภาพหลอดเลือดแดงใหญ่เป็นท่อประปาหลักๆ ที่พาดยาวจากบนลงล่างในร่างกาย แตกแขนงออกมาหล่อเลี้ยงอวัยวะสำคัญอย่าง หัวใจ สมอง ประสาทไขสันหลัง แขน ขา ตับ ไต สำไส้ ดังนั้นหากมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับหลอดเลือดแดงใหญ่ แน่นอนว่าย่อมกระทบต่ออวัยวะส่วนต่างๆ และหากหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองถึงขั้นปริแตกล่ะก็อาจทำให้เสียชีวิตได้ ไม่แสดงอาการเบื้องต้น อาจโป่งพองจนแตก...นี่คือสิ่งที่ต้องระวัง โรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง เป็นได้กับทุกตำแหน่งของหลอดเลือดแดงใหญ่ ในช่วงตั้งแต่ส่วนติดกับหัวใจลงมาถึงในช่องท้องที่แยกแขนงเป็นไปเลี้ยงขาสองข้าง ความอันตรายคือเป็นโรคที่อาจไม่มีอาการ แม้บางครั้งจะโป่งพองขนาดใหญ่มากแล้วเกิดแตก ทำให้เสียเลือดออกจากระบบไหลเวียนโลหิตและเสียชีวิตในเวลาอันสั้น สาเหตุหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง โรคนี้เกิดจากความดันโลหิตไม่สม่ำเสมอ และมักไม่ปรากฏอาการ จนกว่าหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งถึงขนาดที่ใกล้แตก อาการ เจ็บหรือปวด อาจเป็นที่หน้าอก กลางหลังหรือในช่องท้อง คลำได้เป็นก้อนที่เต้นตามชีพจรตรงแถวสะดือ ซึ่งแล้วแต่ตำแหน่งหลอดเลือดแดงใหญ่ที่โป่ง หรือโป่งพองไปกดอวัยวะข้างเคียง เสียงแหบ ไอ ไอเป็นเลือด อาเจียนเป็นเลือด เหนื่อยจากภาวะหัวใจวาย ถ้าเกิดในช่องท้องอาจกดหลอดเลือดดำทำให้ขาบวม “การรักษาหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง ถ้ารักษาตอนที่แตกแล้ว อัตราตายจะสูงมาก จะได้ผลดีและปลอดภัยต้องรักษาก่อนมีอาการ” ดังนั้นผู้สูงวัยที่เข้าข่ายอาจมีความเสี่ยง ควรรีบเข้ารับการตรวจไว้แต่เนิ่นๆ ซึ่งการรักษาทำได้สองวิธีคือการผ่าตัดแบบเปิด ต้องเปิดแผลใหญ่ ฟื้นตัวช้า ขณะผ่าตัดก็จะเสียเลือด และยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดอัมพาตถ้าเป็นการผ่าตัดหลอดเลือดแดงใหญ่ส่วนที่มีแขนงไปเลี้ยงสมอง แต่ในปัจจุบันยกเว้นหลอดเลือดแดงใหญ่ส่วนที่ติดกับหัวใจ เราสามารถรักษาได้โดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่ มีเพียงรอยผ่าตัดที่ขาหนีบความยาวประมาณ 1 นิ้ว แล้วสอดหลอดเลือดเทียมที่มีขดลวดที่ผนังให้ไปกางคร่อมตำแหน่งที่โป่งพอง เลือดจะไหลในเส้นเลือดเทียม ผนังส่วนโป่งพองก็จะไม่สัมผัสกับเลือด ไม่แตกและค่อย ๆ ยุบลงในที่สุด คนไข้สามารถลุกเดินได้เร็ว ฟื้นตัวเร็ว อยู่โรงพยาบาลสั้น กลับไปใช้ชีวิตปกติได้เร็ว การรักษาโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองด้วยการใช้ขดลวดและหลอดเลือดเทียมเป็นการรักษามาตรฐานของโรคนี้ อาจมีข้อยกเว้นในตำแหน่งโป่งพองที่รักษาไม่ได้ หรือคนไข้มีลักษณะทางกายวิภาคไม่เหมาะสม ซึ่งการรักษาต้องใช้แพทย์ที่มีประสบการณ์สูง ดังนั้น ยิ่งตรวจพบเร็ว การรักษายิ่งได้ผลดี และปลอดภัย ขอบคุณข้อมูลจาก : BDMS สถานีสุขภาพ

หัวใจเต้นผิดจังหวะ

หัวใจเต้นผิดจังหวะ

หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจเต้นผิดจังหวะ คือ การที่หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะตามปกติ โดยอาจเต้นเร็วเกินไปหรือช้าเกินไป เกิดจากความผิดปกติของกระแสไฟฟ้าหัวใจ ส่งผลต่อความสม่ำเสมอและอัตราการเต้นของหัวใจ ทำให้การสูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายมีประสิทธิภาพลดล อาจรุนแรงถึงขั้นทำให้ผู้ป่วยมีภาวะภาวะหัวใจล้มเหลวได้ อาการของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ วิงเวียน หน้ามืด ตาลาย เจ็บแน่นบริเวณหน้าอก ใจสั่น หายใจไม่สะดวก เป็นลม หมดสติ การตรวจวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ การซักประวัติอสุขภาพ และพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ตรวจร่างกาย การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ(EKG & ECG) เป็นเครื่องมือตรวจพิเศษช่วยวิเคราะห์ความผิดปกติของหัวใจเบื้องต้น ที่ไม่เสียเวลาและไม่ต้องเจ็บตัว การวัดสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (EST) เพื่อทดสอบความทนของหัวใจขณะออกกำลังกาย ทำให้สามารถประเมินโอกาสเสี่ยงในการเกิดคววามผิดปกติที่อาจจะมีต่อหัวใจขณะออกแรง การติดเครื่องบันทึกคลื่นหัวใจไว้ที่ตัวผู้ป่วยเป็นเวลา 24 หรือ 48 ชั่วโมง (Holter monitoring test) ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการบ่อยแต่ไม่ได้เป็นตลอดเวลา การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงหรือเอคโค(Echocardiogram) เพื่อดูการทำงาน โครงสร้าง และความผิดปกติของหัวใจ การตรวจระบบการนำไฟฟ้าภายในหัวใจ (cardiac electrophysiology study) การรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ การรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ แพทย์จะพิจารณาตามสาเหตุ อาการ ตำแหน่ง และความรุนแรงของโรค โดยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิดอาจไม่ต้องทำการรักษา แต่ในบางชนิดที่ต้องทำการรักษาตามแนวทางของแพทย์ต่อไป การป้องกันภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ความเครียด การสูบบุหรี่ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ รับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30-40 นาที สัปดาห์ละ 3-5 วัน ตรวจสุขภาพและพบแพทย์สม่ำเสมออย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์โรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี 039-319888

7 สัญญาณโรคหัวใจกำเริบ

7 สัญญาณโรคหัวใจกำเริบ

7 สัญญาณโรคหัวใจกำเริบ โรคหัวใจกำเริบเฉียบพลัน (Heart attack) สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตในผู้ใหญ่ ซึ่งพบได้บ่อยตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป สาเหตุอาจเกิดได้จากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ที่มีสาเหตุจากหลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตันชนิดเฉียบพลัน ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บหน้าอกบริเวณซีกซ้าย อาจจะมีร้าวไปที่แขนซ้ายหรือร้าวไปที่กราม ร่วมกับมีอาการเหงื่อออก มือเท้าเย็น วิงเวียน จะเป็นลม หมดแรง คลื่นไส้อาเจียน หายใจไม่อิ่ม ซึ่งผู้ป่วยที่เสียชีวิตก่อนถึงโรงพยาบาล เป็นผลมาจากหัวใจห้องล่างเต้นผิดจังหวะชนิดร้ายแรง ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่ทำให้เกิดโรคหัวใจกำเริบเฉียบพลัน การสูบบุหรี่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ภาวะอ้วนลงพุง การบริโภคอาหารที่มีไขมันทรานส์ อาการอย่างไรเรียกว่าเจ็บหน้าอกจากโรคหัวใจ เจ็บ แน่น หรือรู้สึกไม่สบายตรงกลางหน้าอก อาการเจ็บหน้าอก ร้าวไปที่คอ แขน หรือขากรรไกร เหงื่อออกจะมีเหงื่อออกอย่างมากจนรู้สึกหนาวบริเวณลำตัวส่วนบน อาจมีอาการวิงเวียน หายใจไม่อิ่ม และคลื่นไส้ร่วมด้วย อาการเหล่านี้อาจเกิดขณะที่ออกกำลังกาย หรือมีอารมณ์เครียดอย่างกะทันหัน อาการเหล่านี้มักจะคงอยู่นานราว 1–10 นาที รู้สึกหายใจไม่ทันขณะที่ออกกำลังกาย อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน รู้สึกแน่นอึดอัดท้องอย่างมาก ถ้าออกกำลังกายทันทีภายหลังรับประทานอาหาร อย่างไรก็ดีอาการหัวใจกำเริบเฉียบพลันอาจเกิดขึ้นในผู้ป่วยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงดังที่กล่าวมาและเกิดได้ทุกสถานที่ และทุกเวลา เช่น ขณะออกกำลังกาย หรือแม้กระทั่ง นอนหลับพักผ่อน เกิดจากมีภาวะหลอดเลือดแดงแข็งและหนาตัว จากการมีคราบไขมัน (Plaque) และเมื่อเกิดการปริแตกของผนังด้านในหลอดเลือดบริเวณนั้น ทำให้มีลิ่มเลือดมาจับตัวเป็นก้อน จนเกิดการอุดกั้นของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ทำให้กล้ามเนื้อขาดเลือดจนกล้ามเนื้อหัวใจตาย อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก และถ้ามีการเต้นหัวใจผิดจังหวะของหัวใจห้องล่างชนิดร้ายแรง (VT/VF) ส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตฉับพลันได้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการแต่ยังรู้สึกตัวดีต้องรีบมาโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด กรณีที่ผู้ป่วยหมดสติ ผู้ที่เห็นเหตุการณ์ซึ่งหน้าจะต้องมีความรู้เรื่องการกู้ชีพขั้นพื้นฐาน (CPR) และรู้จักการใช้เครื่องกระตุกหัวใจ (AED) ก่อนนำตัวส่งโรงพยาบาล เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต ภายหลังการรักษาผู้ป่วยต้องรับประทานยาที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และควบคุมปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว ด้วยการมาพบแพทย์ตามนัด ควบคุมอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารหวาน มัน เค็ม งดการสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำของแพทย์ หากพบว่าอาการผิดปกติ เช่น เจ็บแน่นหน้าอก เวลาออกแรง เหนื่อยง่าย หอบเหนื่อยนอนราบไม่ได้ ขาบวมกดบุ๋มให้รีบมาพบแพทย์ทันที ขอบคุณข้อมูลจาก : BDMS สถานีสุขภาพ

หัวใจล้มเหลว เกิดได้ทุกเพศทุกวัย

หัวใจล้มเหลว เกิดได้ทุกเพศทุกวัย

หัวใจล้มเหลว(HEART FAILURE) หรือหัวใจวายสามารถเกิดขึ้นได้แบบไม่คาดคิดทั้งกับตัวเองและคนใกล้ตัว และสามารถเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย ทั้งแต่อยู่ในครรภ์จนกระทั่งวัยชรา เช็กอาการสุ่มเสี่ยงป้องกันได้ตั้งแต่อยู่ในท้อง! ภาวะหัวใจล้มเหลว (HEART FAILURE) คือ ภาวะที่หัวใจทำงานผิดปกติส่งผลให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายและรับเลือดกลับเข้าหัวใจได้ตามปกติ ทำให้เกิดอาการเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย และอาจบวมจากการคั่งของน้ำในร่างกาย ซึ่งอาจมีอันตรายรุนแรงถึงชีวิตได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสุขภาพของแต่ละคน เด็กกับภาวะหัวใจล้มเหลว ในเด็กนั้นสามารถพบภาวะหัวใจล้มเหลวได้ตั้งแต่ยังเป็นทารกในครรภ์ โดยมาจากหัวใจและระบบไหลเวียนเลือดทำงานได้ไม่ดี อาจร้ายแรงถึงขั้นพิการหรือเสียชีวิตได้ หากไม่รีบตรวจวินิจฉัยและทำการรักษาอย่างถูกวิธีเด็กที่หัวใจล้มเหลวมักโตช้า ขาดสารอาหาร เหงื่อออกมาก ผิวหนังเย็น หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว หัวใจโต ตับโต มักมาจากปัญหากล้ามเนื้อหัวใจและโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด จึงควรตรวจวินิจฉัยกับแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจโดยเร็วที่สุด ซึ่งแพทย์มักตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เอกซเรย์ปอด คลื่นเสียงหัวใจ และพิจารณาตามอาการและความรุนแรงของโรค วัยรุ่นกับภาวะหัวใจล้มเหลว สาเหตุมาจากโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ลิ้นหัวใจติดเชื้อโรค หรือความผิดปกติของหัวใจที่อาจไม่เคยรู้ตัวมาก่อน หากรู้ว่าตนเองเป็นโรคหัวใจมาก่อนอาจมีการดูแลสุขภาพหัวใจ แต่เนื่องจากวัยรุ่นไม่ได้ตรวจเช็กสุขภาพหัวใจจึงต้องหมั่นสังเกตตนเองและรีบพบแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจโดยเร็ว อาการที่พบส่วนใหญ่คือ เหนื่อยง่าย ขึ้นบันไดแล้วเหนื่อยผิดปกติ เจ็บแน่นหน้าอกด้านซ้าย หายใจลำบาก ริมฝีปากมีสีเขียว ใจสั่น หน้ามืดเป็นลม หมดสติ ควรต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที เพราะหากร้ายแรงอาจเสียชีวิตแบบฉับพลันได้ ผู้ใหญ่กับภาวะหัวใจล้มเหลว ในผู้ใหญ่นอกจากความเสี่ยงภาวะหัวใจล้มเหลวแบบเฉียบพลันที่อาจถึงแก่ชีวิต ยังมีความเสี่ยงภาวะหัวใจล้มเหลวที่เกิดจากโรคต่าง ๆ อาทิ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง อ้วน เส้นเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ลิ้นหัวใจตีบ หรือลิ้นหัวใจรั่ว การเต้นหัวใจผิดปกติ ซึ่งการตรวจเช็กสุขภาพหัวใจมีความสำคัญ เพราะช่วยให้รู้ความผิดปกติและดูแลตัวเองได้อย่างถูกวิธี อาการหัวใจล้มเหลวที่พบคือ เหนื่อยง่าย นอนราบแล้วหายใจไม่ออก ตื่นกลางดึกเพราะหายใจไม่ออก เท้าหรือขาบวม ท้องอืดไม่ย่อย ตลอดจนน้ำขังตามบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย อ่อนเพลียไม่มีแรง ใจสั่น หน้ามืดเป็นลม หมดสติ นอกจากนี้หากเคยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดอาจเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลวได้มากกว่าคนทั่วไป ผู้สูงวัยกับภาวะหัวใจล้มเหลว ผู้สูงวัยมีโอกาสเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวมากกว่าคนในวัยอื่น ๆ ยิ่งในผู้สูงวัยที่ป่วยด้วยโรคหัวใจ ยิ่งมีความเสี่ยงมาก รวมถึงผู้สูงวัยที่มีปัจจัยเสี่ยงภาวะหัวใจล้มเหลว ได้แก่ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน สูบบุหรี่ กล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ ลิ้นหัวใจผิดปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หลอดเลือดหัวใจอุดตัน กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เป็นต้น อาการที่พบคือ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก นอนราบไม่ได้ หายใจลำบาก บวมที่ขาหรือเท้า กดแล้วมีรอยบุ๋ม ท้องอืด อาหารไม่ย่อย ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว รวมถึงอาจมีอาการทางประสาทอย่างมึนงง สับสน เป็นลม หมดสติ จากการที่หัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงไม่พอ ดังนั้นหากมีอาการผิดปกติแม้เพียงนิดเดียวควรต้องรีบมาพบแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจทันที นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่สุดคือการตรวจเช็กสุขภาพหัวใจอย่างละเอียดเป็นประจำทุกปี รักษาภาวะหัวใจล้มเหลว การรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรคเป็นสำคัญ อันดับแรกคือต้องพบแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจโดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการเจ็บแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก เหนื่อยง่าย หากมีอาการหายใจไม่ออกแพทย์อาจจะใส่เครื่องช่วยหายใจ หากมีน้ำในปอดแพทย์จะทำการให้ยาขับปัสสาวะ รวมถึงการให้ยาต่าง ๆ เพื่อลดความรุนแรงของโรค ทั้งนี้อาจต้องทำการฉีดสีสวนหัวใจบอลลูนถ่างขยายเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจโดยเร่งด่วน มีการใช้เครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติที่ช่วยเรื่องการบีบตัวของหัวใจ การผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ การผ่าตัดลิ้นหัวใจรั่ว ซึ่งเป็นไปตามการประเมินการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจ ที่สำคัญผู้ป่วยต้องมาพบแพทย์ตามนัดหมายทุกครั้ง ดูแลไม่ให้หัวใจล้มเหลว-รักษาทัน สังเกตความผิดปกติอยู่เสมอ ศึกษาหาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะหัวใจล้มเหลว ตรวจเช็กสุขภาพหัวใจของตัวเองและคนใกล้ชิดตามคำแนะนำของแพทย์ หากมีโรคประจำตัวต้องรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง พกยาติดตัวเสมอ ดูแลอย่างใกล้ชิด เลือกกินอาหารที่ดี ออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอ งดสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ ดูแลสุขภาพใจให้ห่างไกลซึมเศร้า ผู้ป่วยโรคหัวใจไม่ควรเดินทางไกลคนเดียวควรมีคนสนิทติดตามไปด้วยทุกครั้ง โรคหัวใจมักไม่แสดงอาการที่ชัดเจน แต่มีโอกาสเสียชีวิตกะทันหันเพราะโรคหัวใจเกิดขึ้นได้ทุกเวลาดังนั้นการตรวจสุขภาพหัวใจเชิงลึกเป็นประจำทุกปีจึงสำคัญมากไม่ใช่แค่สุขภาพหัวใจของตัวเองแต่สุขภาพหัวใจของคนในครอบครัวและคนใกล้ชิดก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลยโดยเฉพาะในผู้ที่มีความเสี่ยงโรคหัวใจและผู้สูงวัยควรต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจเพราะหากรู้ทันโรคก่อนย่อมช่วยให้รับมือได้เร็วประเมินความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตดูแลรักษาหัวใจได้ถูกวิธีมีสุขภาพหัวใจที่แข็งแรงไปอีกนาน ขอบคุณข้อมูลจาก : BDMS สถานีสุขภาพ

“ภาวะวูบหมดสติ”

“ภาวะวูบหมดสติ”

“ภาวะวูบหมดสติ” กรมการแพทย์ ระบุว่า ภาวะวูบหมดสติ (Syncope) เป็นอาการสูญเสีย ความรู้สึกตัว และการทรงตัวชั่วคราว โดยทั่วไปเกิดจากเลือดไปเลี้ยงสมองลดลงชั่วขณะ ทำให้สมองขาดออกซิเจนชั่วคราวจะมีลักษณะอาการเฉพาะ คือ หมดสติเฉียบพลัน เกิดขึ้นชั่วขณะในระยะเวลาอันสั้น และสามารถฟื้นคืนสติ ได้เองจะแสดงออกทางอาการหลากหลาย เช่น เรียกไม่รู้สึกตัว ล้มลงกับพื้น ทรงตัวไม่อยู่ อาจมีอาการเกร็งที่มือ เท้า ตาค้างชั่วขณะ เหงื่อออกที่ใบหน้า ผู้ป่วยจะจำเหตุการณ์ตอน หมดสติไม่ได้ โดยจะมีระยะเวลาการหมดสติ ตั้งแต่ 30 วินาที ถึง 5 นาที ขึ้นกับสุขภาพพื้นฐานเดิมของผู้ป่วย ขณะที่ผู้ป่วยบางราย อาจจะมีอาการนำมาก่อนเกิดอาการวูบหมดสติ เช่น รู้สึกหวิว ๆ มึนศีรษะ โคลงเคลง ตาพร่า หรือเห็นแสงแวบวาบ ปลายมือ ปลายเท้าเย็น คลื่นไส้ เป็นต้น อาการวูบไม่รู้ตัวเป็นเรื่องที่ อันตรายมากโดยเฉพาะคนที่ต้องทำงานบนที่สูง หรือผู้ที่ ต้องขับรถ หากมีอาการวูบบ่อย ๆ ควรพบแพทย์ประเมิน หาสาเหตุ สาเหตุของภาวะวูบหมดสติ เกิดจากหัวใจเต้นผิดจังหวะ เส้นเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวผิดปกติ เกิดจาก ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกติ ซึ่งมักพบตามหลังสถานการณ์เฉพาะบางอย่าง เช่น หลังไอ จาม เบ่ง ยืนนานๆ ในที่แออัด หรืออากาศร้อน กลัวการเจาะเลือด เป็นต้น เกิดจากการเสียเลือด หรือขาดน้ำ เช่น ท้องเสียรุนแรง หรือมีเลือดออกในอวัยวะภายใน เกิดจากยาบางชนิด โดยเฉพาะยาลดความดันโลหิตสูง ยารักษาต่อมลูกหมาก ยาต้านอาการซึมเศร้า หรือแม้แต่ยาเบาหวาน สิ่งที่เป็นอันตราย เป็นอาการสูญเสียความรู้สึกตัว และการทรงตัวชั่วคราว โดยทั่วไปเกิดจากเลือดไปเลี้ยงสมองลดลง จะส่งผลให้เกิดอันตราย เช่น อุบัติเหตุบนท้องถนนหรือขณะทำงานกับเครื่องจักร เป็นต้น โดยเฉพาะบางอาชีพที่มีความเสี่ยงสูง เช่น พนักงานขับรถ นักบิน นักประดาน้ำ คนงานก่อสร้าง ซึ่งอาจเกิดอุบัติเหตุซ้ำเติมจากการภาวะวูบได้ ในผู้สูงอายุพบมากถึง 23% พบอุบัติการณ์ของภาวะนี้ในคนทั่วไป 3% ผู้ที่เคยมีอาการวูบหมดสติมีโอกาสเกิดซ้ำได้อีกถึง 1 ใน 3 เท่า อาการวูบที่ควรพบแพทย์ วูบแล้วหมดสติ-ชัก มีอาการหน้าเบี้ยวร่วมด้วย หัวใจเต้นผิดปกติ หรือในผู้สูงอายุรวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัว สำหรับสิ่งที่ควรต้องระวัง คือ หลังจากผู้ป่วยตื่นขึ้นมาอาจมีอาการ บาดเจ็บได้ การรักษาควรจะต้องรักษาที่สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ แต่ถ้าหากวูบหมดสติตื่นขึ้นมาแล้วมีอาการ เช่น ปากเบี้ยว ลิ้นแข็ง พูดไม่ชัด ชา หรืออ่อนแรงร่างกายครึ่งซีก อาจเป็นสัญญาณเตือนความผิดปกติภาวะทางสมองอาการของหลอดเลือดสมองตีบ หรือหลอดเลือดสมองแตกได้ ผู้ป่วยหรือผู้ใกล้ชิดควรต้องสังเกตอาการวูบที่เกิดขึ้น และควรรีบไปพบแพทย์ทันทีอย่าปล่อยทิ้งไว้ ขอบคุณข้อมูลจาก : BDMS สถานีสุขภาพ