ไข้เลือดออก...ติดซ้ำร้ายแรงกว่าเดิม

ไข้เลือดออก...ติดซ้ำร้ายแรงกว่าเดิม

โรคไข้เลือดออกเด็งกี่ เป็นโรคติดเชื้อไวรัสเดงกีที่มียุงลายเป็นแมลงนำโรค โรคนี้ได้กลายเป็นปัญหาสาธารณสุขในหลายประเทศทั่วโลก เนื่องจากโรคได้แพร่กระจายอย่างกว้างขวางและจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมากใน 30 ปีที่ผ่านมา มากกว่า 100 ประเทศที่โรคนี้กลายเป็นโรคประจำถิ่น และโรคนี้ยังคุกคามต่อสุขภาพของประชากรโลกมากกว่าร้อยละ 40 หรือกว่า 2,500 ล้านคน

สถิติในประเทศไทยพบผู้ป่วยไข้เลือดออกเป็นอันดับที่ 2 รองจากประเทศฟิลิปปินส์

โดยกลุ่มอายุที่เป็นไข้เลือดออกมากที่สุด คืออายุ 10-14 ปี รองลงมาคือ 5-9 ปี, 15-24 ปี และ 25-34 ปีตามลำดับ ความรุนแรงสูงสุดของโรคไข้เลือดออกคือ ทำให้เสียชีวิตได้ โดยเฉลี่ย ถ้าหากมีผู้ป่วย 1,000 ราย จะเสียชีวิต 1 ราย โดยสองสาเหตุหลักของการเสียชีวิตก็คือภาวะเลือดออกมาก และสารน้ำรั่วจากเส้นเลือดจนเกิดภาวะช็อกและเสียชีวิต

การแพร่ระบาด

กระบวนการแพร่เชื้อไวรัสของโรคนี้นั้น เกิดจากยุงลายตัวเมียกัดและดูดเลือดของผู้ที่เป็นโรคไข้เลือดออกก่อน หลังจากนั้น เมื่อยุงลายตัวเดิมกัดคนที่อยู่ในระยะทางไม่เกิน 400 เมตร เชื้อดังกล่าวก็จะแพร่เข้าสู่คนที่สองนั้นทันที ซึ่งยุงชนิดนี้สามารถกัดคนได้ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน มักพบได้ในบริเวณที่มีการเพาะพันธุ์ตามแหล่งน้ำนิ่งในบริเวณบ้าน

สาเหตุไข้เลือดออก

ไข้เลือดออกมีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ ได้แก่ DENV-1, DENV-2, DENV-3 และ DENV-4 ซึ่งในประเทศไทยพบมีการระบาดของทั้งสี่สายพันธุ์ในแต่ละพื้นที่ จึงมีโอกาสที่จะเป็นโรคไข้เลือดออกซ้ำ จากเชื้อคนละตัวได้

อาการไข้เลือดออก

ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อเด็งกี่ ส่วนใหญ่จะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูกและมีจุดแดงที่ผิวหนัง ซึ่งอาการสำคัญแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะคือ

  • ระยะไข้ผู้ป่วยจะมีไข้สูงกว่า 38.5 องศาเซลเซียส อย่างเฉียบพลัน เป็นเวลา 2-7 วัน บางรายอาจมีอาการชักเกิดขึ้น ผู้ป่วยมักจะมีหน้าแดง ไม่มีน้ำมูกหรือไอ เบื่ออาหาร อาเจียน ตับโต กดเจ็บ มีผื่นตามตัว มีจุดเลือดออกเล็กๆ กระจายตามผิวหนัง ลำตัว แขน ขา รักแร้ เนื่องจากเส้นเลือดเปราะหรือการทำ Tourniquet test จะพบจุดเลือดออก อาจมีเลือดกำเดาหรือเลือดออกตามไรฟัน หรือถ่ายเป็นสีดำ
  • ระยะวิกฤต/ช็อก อาการจะเลวลงเมื่อไข้ลดลงกะทันหัน ผู้ป่วยจะมีอาการกระสับกระส่าย มือเท้าเย็น รอบๆ ปากเขียว บางรายอาจมีอาการปวดท้องมาก่อนจะมีอาการช็อก ชีพจรเบาเร็ว ความดันโลหิตต่ำ ถ้าให้การรักษาไม่ทัน ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตใน 12-24 ชั่วโมง แต่ถ้าได้รับการรักษาถูกต้องและทันเวลา ผู้ป่วยจะหายได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว ในรายที่มีอาการไม่รุนแรง เมื่อไข้ลดลงอาการต่างๆ จะดีขึ้น ส่วนใหญ่ไข้จะลดลงอย่างรวดเร็ว อาจมีเหงื่อออกมากและมือเท้าเย็น ชีพจรเบาเร็ว แต่จะเป็นเพียงช่วงสั้นๆ จะกลับเป็นปกติ เริ่มรู้สึกอยากอาหาร ซึ่งจะเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าผู้ป่วยพ้นระยะอันตราย
  • ระยะฟื้นตัว อาการโดยทั่วไปดีขึ้นอย่างชัดเจน ความดันโลหิตและชีพจรปกติ ตับที่โตจะลดขนาดลงภายใน 1-2 สัปดาห์ มักจะมีผื่นแดงที่ขา ปลายมือปลายเท้าและมีอาการคัน

ป่วยซ้ำได้

คนหนึ่งคนสามารถเป็นไข้เลือดออกได้มากกว่าหนึ่งครั้งและในครั้งถัดมาของการติดเชื้อ อาการของโรคมักจะหนักมากกว่าครั้งก่อน มีความรุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ ที่เป็นเช่นนี้ เพราะในการได้รับเชื้อไข้เลือดออกในครั้งแรกร่างกายของเราจะมีระบบภูมิคุ้มกันโดยการสร้างภูมิต้านทานออกมาต่อสู้กับการเชื้อไวรัส แต่ภูมิต้านทานไม่ได้อยู่ถาวรหรือป้องกันชนิดอื่นๆ สามารถป้องกันได้เพียงสายพันธุ์ที่เคยติดมาแล้ว เมื่อได้รับเชื้อไข้เลือดออกซ้ำในครั้งที่สองแต่คนละสายพันธุ์ภูมิต้านของเราในร่างกายเราจึงเกิดอาการสับสน และทำงานได้ไม่ดีพอ ไม่สามารถสู้กับเชื้อไวรัสได้อย่างทันเวลา หรือบางรายภูมิต้านทานที่เคยเป็นเกราะป้องอาจกลับผันตัวเองไปเป็นตัวช่วยให้เชื้อไวรัสนั้นแข็งแรงขึ้น กระจายตัวได้มากขึ้น จึงเป็นสาเหตุทำให้การติดเชื้อครั้งที่สองหรือครั้งต่อมายิ่งรุนแรงขึ้นนั้นเอง

การดูแลรักษาผู้ป่วยไข้เลือดออก

ในปัจจุบันยังไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัสเดงกี่ จึงให้การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ คือ

  • เช็ดตัวลดไข้ เพื่อป้องกันไม่ให้มีอาการชัก
  • ให้ยาลดไข้จำพวกพาราเซตามอล “ห้ามใช้ยาจำพวกแอสไพริน” เพราะจะทำให้ระคายเคืองกระเพาะอาหารและทำให้เลือดออกง่าย
  • ให้ผู้ป่วยได้รับสารน้ำชดเชย เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่มีไข้สูง เบื่ออาหาร อาเจียนและอ่อนเพลีย ควรให้ดื่มน้ำผลไม้ น้ำเกลือแร่ โดยดื่มทีละน้อยๆ แต่ดื่มบ่อยๆ
  • ให้รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย

เมื่อสงสัยว่าคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก โดยมีไข้สูงลอย เกิน 38.5 องศาเซลเซียส นานเกิน 2 วัน หรือหน้าแดง คอแดง ปวดศีรษะ หรือปวดกระบอกตา ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว จะทำให้ลดการเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกได้

การป้องกัน

  • ป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยนอนกางมุ้งหรือมีมุ้งครอบ แม้ตอนกลางวัน
  • กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย โดยกำจัดลูกน้ำในภาชนะต่างๆ ที่มีน้ำขัง ด้วยการใส่เกลือหรือน้ำส้มสายชู เช่น ใส่ลงในขารองตู้กับข้าว
  • ปิดฝาภาชนะสำหรับเก็บน้ำให้มิดชิด เช่น โอ่ง ถังเก็บน้ำ
  • หมั่นเปลี่ยนหรือทิ้งน้ำในภาชนะบรรจุน้ำและภาชนะที่มีน้ำขัง เพื่อป้องกันยุงมาวางไข่ เช่น แจกัน จานรองกระถางต้นไม้
  • เก็บทำลายเศษวัสดุ เช่น ขวด กระป๋อง เพื่อไม่ให้รองรับน้ำได้
  • ปล่อยปลากินลูกน้ำในภาชนะที่ไม่มีฝาปิดหรือแหล่งน้ำใกล้บ้าน
  • ตัดต้นไม้ที่รกครึ้ม เพื่อให้มีแสงสว่างและอากาศถ่ายเทได้ดี
  • ป้องกันตัวเองไม่ให้ยุงลายกัด ด้วยการดูแลหน้าต่าง ประตู ช่องลม ไม่ให้ยุงเข้า จัดข้าวของในบ้านไม่ให้กองสุมกัน รวมถึงเลือกใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดยุง และทากันยุงให้ถูกต้อง
  • ฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก

May be an image of 2 people and text

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ฺBDMS สถานีสุขภาพ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ข้อควรรู้เกี่ยวกับวัคซีนเด็ก

ข้อควรรู้เกี่ยวกับวัคซีนเด็ก

ข้อควรรู้เกี่ยวกับวัคซีนเด็ก ท่านควรทราบว่าเด็กได้รับวัคซีนอะไรบ้างในแต่ละครั้ง และควรทราบว่าอาจเกิดอาการจากวัคซีนนั้นอย่างไรบ้าง ทั้งนี้เพื่อให้ท่านให้การดูแลเด็กได้อย่างถูกต้อง การฉีดวัคซีน บีซีจี วัคซีนป้องกันวัณโรค เด็กทุกคนจะได้รับการฉีดเมื่อแรกเกิดที่ไหล่ซ้าย หลังฉีดไม่มีแผล ต่อมาประมาณ 3 – 4 อาทิตย์ จะเห็นเป็นตุ่มขึ้นมา บวม แดง อาจแตกและมีหนองหรือไม่มีหนองก็ได้ ให้เช็ดผิวหนังบริเวณนั้นให้สะอาด และแห้งเสมอด้วยแอลกอฮอล์ 70 % ทุกครั้งที่แผลเปียก ตุ่มนี้จะค่อย ๆ แห้งลง และมีรอยบุ๋มตรงกลางภายใน 3 – 6 อาทิตย์ หลังการฉีดวัคซีนบางชนิด เด็กอาจตัวร้อนอยู่ประมาณ 1 – 2 วัน ควรเช็ดตัว และให้ทานยาลดไข้ตามที่แพทย์แนะนํา วัคซีนบางชนิด เด็กอาจให้มากกว่า 1 ครั้งและต้องฉีดอีกเป็นครั้งคราว จึงจะได้ผลป้องกันโรคได้เต็มที่ ท่านจึงควรพาเด็กมาตามนัดทุกครั้ง ในวันนัด ถ้าเด็กเป็นไข้ ควรเลื่อนไปจนกว่าเด็กจะหายไข้ ในรายที่ไม่สามารถมาตามนัด ควรพาเด็กมารับวัคซีนให้ครบให้เร็วที่สุด ถ้าเด็กเคยมีอาการรุนแรงหลังฉีดวัคซีน เช่น ชัก ไข้สูงมาก ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนฉีดทุกครั้ง สอบถามเพิ่มเติมได้ที่คลินิกกุมารเวช โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี 039319888

โรคท้องเสีย หรือโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน

โรคท้องเสีย หรือโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน

โรคท้องเสีย หรือโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน ตามความหมายขององค์การอนามัยโลก ก็ได้ให้คำนิยามเอาไว้ว่า หมายถึง การถ่ายอุจจาระเหลว หรือ มีน้ำมากกว่าปกติ 3 ครั้ง หรือถ่ายเป็นน้ำ 1 ครั้ง หรือถ่ายมีมูกเลือด 1 ครั้งในเวลา 1 วัน กรณีเช่นนี้ถือว่าเป็นโรคท้องเสีย ซึ่งจะต้องทำการรักาาให้ถูกวิธี สาเหตุ สาเหตุของโรคท้องเสียส่วนใหญ่เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำดื่มที่มีเชื้อโรคปนเข้าไป หรือคุณแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมผสม แล้วผสมนมไม่ถูกส่วนหรือล้างภาชนะไม่สะอาด อาหารไม่สะอาด นอกจากนี้เด็กที่ชอบดูดนิ้วหรืออมมือ และชอบหยิบของหล่นจากพื้นเข้าปากก็อาจท้องเสียจากการติดเชื้อได้ง่าย อาการที่ควรมาพบแพทย์ทันที อาเจียนมาก ทานไม่ได้ มีไข้สูง ปวดท้อง กระสับกระส่าย ชีพจรเต้นเบา อ่อนเพลียมาก ในเด็กสังเกต กระหม่อมหนานุ่ม ตาลึกโหล หายใจหอบ ปัสสาวะน้อยลง การป้องกันโรคท้องเสียในเด็กทำได้โดยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ล้างมือให้สะอาดก่อนปรุงอาหารและรับประทานอาหารทุกครั้ง รับประทานอาหารและดื่มน้ำที่สะอาด ตลอดจนดูแลสิ่งแวดล้อมบริเวณบ้าน ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงวัน เพียงเท่านี้ทุกคนในบ้านก็จะมีสุขภาพดีกันทุกคน สอบถามเพิ่มเติมได้ที่คลินิกกุมารเวช โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี 039-319888

การเช็ดตัวลดไข้

การเช็ดตัวลดไข้

การเช็ดตัวลดไข้ เช็ดตัวด้วยผ้าขนหนูนิ่ม ๆ บิดน้ำอุ่นหมาดๆ โดยเริ่มจากใบหน้า ลําคอ แขน ลําตัว ขา โดยเช็ดไปในทิศทางเข้าสู่หัวใจ เน้นบริเวณข้อพับต่าง ๆ น้ำอุ่นจะทําให้เส้นเลือดขยายตัว ความร้อนในร่างกายของลูกจะถูกถ่ายเทผ่านน้ำที่ระเหยจากผิวหนัง ให้ลูกอยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเท ไม่ควรสวมเสื้อผ้าหนา ๆ หรือผ้าห่มหลายชั้นเกินไป เพราะจะทําให้ความร้อนไม่ถ่ายเท ไข้ไม่ลดได้ หลังเช็ดตัวควรจะวัดอุณหภูมิซ้ำทุก ๆ 20 นาที หรือจนแน่ใจว่าไข้ลดแล้ว หากไข้ลดแล้วเหงื่อออกมาก ควรจะให้ลูกดื่มน้ำหรือน้ำเกลือแร่ชดเชยการเสียเหงื่อ รวมทั้งเปลี่ยนชุดใหม่ที่แห้งและสะอาดให้ลูกจะได้หลับอย่างสบายตัว ถ้าเช็ดตัวแล้วไข้ไม่ลดหรือมีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส ควรจะให้ยาลดไข้ สิ่งสําคัญที่ไม่ควรลืมก็คือ ให้ใช้น้ำอุณหภูมิปกติหรือน้ำอุ่นเช็ดตัวลูก คุณพ่อคุณแม่หลายคนหวังดีอยากให้ลูกไข้ลดเร็วๆ เลยใช้น้ำเย็นเช็ดตัว ผลปรากฏว่าไข้ของลูกยิ่งสูงขึ้น เพราะน้ำเย็นทําให้รูขุมขนหดตัวเล็กลง การระบายความร้อนออกจากร่างกายก็เลยยิ่งไม่สะดวก และน้ำที่เย็นจัดๆ ก็ทําให้ไข้เพิ่มสูงขึ้นได้ค่ะ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่คลินิกกุมารเวช โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี 039-319888

การเตรียมตัวตรวจ Skin Test

การเตรียมตัวตรวจ Skin Test

ล้างจมูกถูกวิธี

ล้างจมูกถูกวิธี

ล้างจมูกถูกวิธี “การล้างจมูก” เป็นวิธีทำความสะอาดโพรงจมูกด้วยการสวนล้างโดยใช้น้ำเกลือ เพื่อชำระสิ่งสกปรกอย่างน้ำมูก หรือสารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ที่อยู่ภายในโพรงจมูกให้หมดไป ซึ่งสามารถลดปัญหาน้ำมูกไหลลงคอและอาการคัดจมูกได้ดี ช่วยให้โพรงจมูกมีความชุ่มชื้นขึ้น การหายใจจึงสะดวกขึ้น ทั้งนี้ต้องเป็นเด็กที่สามารถกลั้นหายใจและสั่งน้ำมูกเองได้แล้วจึงจะทำได้โดยไม่สำลัก ประโยชน์ของการล้างจมูก ช่วยกำจัดมูกเหนียวข้นที่ตกค้างอยู่ในโพรงจมูก ทำให้จมูกให้สะอาดขึ้น บรรเทาอาการหวัดเรื้อรังให้ทุเลาลง ป้องกันการลุกลามของเชื้อโรคที่อยู่ภายในโพรงจมูก ป้องกันการลุกลามของอาการไซนัสไม่ให้ลงไปยังปอด ลดปริมาณเชื้อโรค ของเสีย และสารก่อภูมิแพ้ต่างๆ เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับเยื่อบุโพรงจมูก บรรเทาอาการแน่นจมูกหรือหายใจไม่ออก ให้หายใจโล่งขึ้น บรรเทาอาการระคายเคืองที่เกิดขึ้นในโพรงจมูก เพิ่มประสิทธิภาพของยาพ่นจมูก เพราะยาจะทำงานได้ดีขึ้นเมื่อจมูกโล่งสะอาด การล้างจมูก ควรทำก่อนใช้ยาพ่นจมูกเพื่อรักษาโรค หรือในกรณีที่เด็กป่วยเป็นโรคที่เกี่ยวกับโพรงจมูก ควรทำการล้างจมูกอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคต่อไปนี้ โรคภูมิแพ้ โรคไซนัสอักเสบ โรคหอบหืด เป็นหวัดคัดจมูก มีน้ำมูกหรือเสมหะมากเกินไป จนหายใจไม่สะดวก ทั้งนี้หากสังเกตเห็นว่าเด็กมีน้ำมูกเหนียวข้นออกมามาก เด็กได้รับฝุ่นควัน หรือเผชิญกับสภาพอากาศที่มีมลภาวะสูงมา ก็ควรล้างจมูกให้เด็กด้วยน้ำเกลือ เช่นกัน อุปกรณ์สำหรับการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ น้ำเกลือที่มีความเข้มข้น 0.9% สามารถหาซื้อได้ที่โรงพยาบาลหรือร้านขายยาทั่วไป ถ้วยสำหรับใส่น้ำเกลือ กระบอกฉีดยาพลาสติก สำหรับเด็กเล็ก ควรใช้ขนาด 5-10 cc. สำหรับเด็กโต ควรใช้ขนาด 10-20 cc. ภาชนะรองน้ำมูก หรือหากไม่ใช้ภาชนะ อาจล้างจมูกที่อ่างล้างหน้าก็ได้ ขั้นตอนการล้างจมูก ล้างมือและอุปกรณ์ต่างๆ ให้สะอาด เทน้ำเกลือลงในภาชนะที่เตรียมไว้ ใช้กระบอกฉีดยาพลาสติกดูดน้ำเกลือประมาณ 5-10 มิลลิลิตร จากนั้นโน้มตัวเหนือภาชนะรองรับ พยายามจัดให้กระบอกฉีดแนบสนิทกับรูจมูกข้างใดข้างหนึ่ง จากนั้นกลั้นหายใจ ก้มหน้า อ้าปาก หรืออาจจะให้เด็กร้อง ‘อา…” โดยลากเสียงยาวๆ แทนก็ได้ ขณะกลั้นหายใจ ให้ค่อยๆ ฉีดน้ำเกลือเข้าไปในรูจมูก เพื่อให้น้ำเกลือไหลผ่านเข้าไปในโพรงจมูกข้างที่สอดกระบอกฉีด และไหลผ่านออกทางรูจมูกอีกด้านหนึ่ง หากมีน้ำมูกค้างอยู่ให้สั่งออกมาเบาๆ หรืออาจมีน้ำเกลือบางส่วนไหลออกมาทางปากแทนก็ให้บ้วนทิ้งไป จากนั้นทำซ้ำที่จมูกอีกข้างหนึ่ง อาจทำซ้ำจนกว่าจะรู้สึกหายใจโล่ง ไม่มีน้ำมูกเหลือก็ได้ ทั้งนี้สามารถล้างจมูกได้บ่อยๆ เมื่อมีอาการหายใจไม่ออกหรือคัดจมูก หรืออาจล้างวันละ 2-3 ครั้ง โดยไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายแต่อย่างใด ขอขอบคุณข้อมูลจาก : BDMS สถานีสุขภาพ