ติดเชื้อ HPV ไม่เท่ากับเป็นมะเร็งปากมดลูก? เช็กความเสี่ยงและวิธีป้องกัน

เชื้อ HPV หรือ Human Papillomavirus เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อเอชพีวี แพร่กระจายได้ง่ายผ่านการสัมผัสกับเชื้อโดยตรง หรือการมีเพศสัมพันธ์ เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งชนิดต่างๆ เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งอวัยวะเพศชาย มะเร็งทวารหนัก มะเร็งช่องปากและลำคอ เป็นต้น ซึ่งมีอยู่กว่า 150 สายพันธุ์ สาเหตุส่วนใหญ่ของการติดเชื้อเอชพีวีคือติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ 

ไม่ว่าจะเป็นเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ทวารหนัก ปาก หรือการใช้อุปกรณ์เพื่อสนองความต้องการทางเพศร่วมกัน และสามารถแพร่ผ่านรอยแผล หรือรอยขีดข่วนตามผิวหนัง หากมีการสัมผัสผิวหนังหรือสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อจากผู้ป่วย

ติดเชื้อ HPV ไม่เท่ากับเป็นมะเร็ง ?  เชื้อ HPV เป็นสาเหตุของโรคหลายชนิด โดย HPV แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ

  • HPV ชนิดก่อมะเร็ง  :มี 14 สายพันธุ์ ทําให้เป็นโรคร้ายมะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด โดยสายพันธุ์ 16 และ 18 เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกถึงประมาณร้อยละ 70 รองลงมาคือ สายพันธุ์ 45, 31 และ 33
  • HPV ชนิดไม่ก่อให้เกิดมะเร็ง : ไม่ได้ทําให้เกิดมะเร็งปากมดลูก แต่เป็นสาเหตุของหูดหงอนไก่บริเวณอวัยวะเพศ เช่น HPV 6 และ 11

ส่วนใหญ่แล้วหากเรามีร่างกายและภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงการได้รับเชื้อ HPV อาจจะหายไปเองในระยะเวลา 2 ปี แต่หากมีพฤติกรรมเสี่ยงอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น การสูบบุหรี่และรับควันบุหรี่มือสอง ก็จะเพิ่มโอกาสเป็นมะเร็งปากมดลูกมากกว่าคนที่ติดเชื้ออย่างเดียวแต่เลี่ยงบุหรี่ได้ เชื้อจะอยู่ในร่างกายและมีเวลาดำเนินโรคประมาณ 10-15 ปี และจะแสดงอาการชัดเจนเมื่ออายุ 30-60 ปี

 

ตรวจหาเชื้อ HPV รู้ก่อนรักษาก่อน ?
ปัจจุบันมีวิธีการตรวจหาเชื้อ HPV โดยตรง เป็นการตรวจแบบเจาะลึกระดับดีเอ็นเอ เป็นเทคนิคขั้นสูงแบบ Real-time PCR เป็นการตรวจระดับชีวโมเลกุลที่สามารถค้นหาเชื้อเอชพีวีได้ในระยะก่อนที่จะเกิดเป็นมะเร็งปากมดลูก ทำให้สามารถป้องกันและรักษาเชื้อเอชพีวีได้ก่อนที่เชื้อจะพัฒนาเป็นมะเร็งปากมดลูก ความพิเศษของการตรวจนี้คือสามารถตรวจหาสายพันธุ์ของเชื้อไวรัส HPV (Human Papillomavirus Virus) กลุ่มเสี่ยงสูงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ถึง 14 สายพันธุ์สำคัญที่สุดคือ สายพันธุ์ที่ 16 และ 18 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่พบมากถึง 74% ในผู้หญิงไทยที่ป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูก และ 70% ในผู้หญิงทั่วโลก การตรวจพบได้เร็วจะช่วยให้ทราบความเป็นไปของสุขภาพร่างกายตัวเอง เพื่อวางแผนการดูแลและมาพบแพทย์ตามนัดเพื่อติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอ ในช่วงแรกแพทย์จะติดตามบ่อยครั้ง และค่อยๆ ห่างออกไป เพื่อให้แน่ใจว่าหากตรวจพบเชื้เอ HPV แล้วไม่มีการพัฒนาของโรคเป็นมะเร็ง

 

ติดเชื้อ HPV แล้วต้องทำอย่างไร ?

หากสังเกตเห็นความผิดปกติของตนเอง เช่น มีตุ่ม เกิดในบริเวณอวัยวะเพศ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจในแน่ชัด พร้อมวางแผนการรักษา ซึ่งไม่มียาฆ่าเชื้อ HPV ได้โดยเฉพาะเจาะจง ดังนั้นแพทย์จะทำการรักษาหลากหลายวิธี เพื่อให้ผู้ป่วยมีสุขภาพที่แข็งแรง และปลอดภัยขึ้นหากคุณหมอวินิจฉัยว่ามีการติดเชื้อ HPV ชนิดที่เพิ่มความเสี่ยงสูงในการเป็นมะเร็งปากมดลูก หรือ ตรวจคัดกรองจากเซลล์พบว่ามีรอยโรคระยะก่อนมะเร็งที่ปากมดลูก โดยที่ปากมดลูกมองด้วยตาเปล่ายังไม่เห็นรอยโรค จะได้รับการตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีการตรวจด้วยกล้องขยายปากมดลูกทางช่องคลอด (Colposcopy) เป็นเครื่องมือที่ให้ภาพขยายของปากมดลูก โดยจะตรวจดูปากมดลูกอย่างละเอียดและเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อบริเวณที่ผิดปกติมาวิเคราะห์ จากนั้นอาจทำการรักษาด้วยวิธีที่จะกล่าวต่อไปนี้การรักษา HPV

 

ใครบ้างที่มีความเสี่ยง มะเร็งปากมดลูก ?

  • ผู้หญิงที่แต่งงานเมื่ออายุน้อย
  • คลอดบุตรหลายคน
  • มีคู่นอนหลายคน เป็นกามโรคบ่อย
  • มีประวัติในครอบครัว เช่น มีญาติผู้หญิงเป็นมะเร็งปากมดลูก

 

ป้องกันและลดความเสี่ยงได้

  • ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำทุก 3 ปี และตรวจหาเชื้อไวรัส HPV ทุก 5 ปี
  • หากมีอาการผิดปกติทางนรีเวช ไม่ควรนิ่งนอนใจปล่อยทิ้งไว้ ควรเข้ารับการตรวจหรือปรึกษากับสูตินรีแพทย์
  • ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก เพื่อเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ปี

 

เกณฑ์ในการฉีดวัคซีนจะแบ่งตามช่วงอายุ โดยวัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ที่บรรจุในวัคซีน ได้มากกว่า 90%

  • อายุ 9 – 14 ปี ฉีดจำนวน 2 เข็ม
  • สำหรับอายุ 15 ปี ขึ้นไป ฉีดจำนวน 3 เข็ม

 

เพื่อประสิทธิภาพที่ดีที่สุด ควรฉีดวัคซีนในช่วงเด็ก หรือก่อนมีเพศสัมพันธ์ เพราะหากได้รับเชื้อมาแล้วจะไม่สามารถป้องกันจากเชื้อนั้นได้เรียกได้ว่า “โรคมะเร็งปากมดลูก” เป็นสิ่งที่สามารถหลีกเลี่ยงและลดความเสี่ยงได้ หากต้องการมีสุขภาพที่ดีและป้องกันโรคร้ายที่อาจเกิดขึ้น แนะนำให้ผู้หญิงทุกคนควรดูแลสุขอนามัย มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย รวมถึงสำรวจตัวเองอย่างสม่ำเสมอและเข้ามามาพบสูตินรีแพทย์เพื่อตรวจภายใน และตรวจคัดกรองเป็นประจำทุกปี

ขอบคุณข้อมูลจาก : BDMS สถานีสุขภาพ