ปฎิบัติตัวอย่างไร เมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน

 

ในช่วงอายุ 45 ถึง 55 ปี สิ่งที่สตรีทุกคนเริ่มกังวลคือการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน วัยหมดประจำเดือน หรือ วัยทอง (menopause) หมายถึง การหมดประจำเดือนอย่างถาวร เนื่องจากสิ้นสุดการทำงานของรังไข่ เป็นช่วงเวลาการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของสตรีทุกคน โดยทั่วไปวินิจฉัยวัยทอง เมื่อมีการขาดประจำเดือนอย่างน้อย 12 เดือน

เมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนปริมาณฮอร์โมนเพศหญิงในร่างกายจะลดระดับลงอย่างมาก ร่วมกับปัจจัยด้านอายุที่เพิ่มขึ้น ทำให้สตรีวัยนี้มีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและจิตใจ และพบว่ามีอุบัติการณ์และความเสี่ยงต่อการเกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้น

 

1.อาการ

            ผลที่เกิดจากรังไข่หยุดทำงานในวัยหมดประจำเดือน ทำให้เกิดอาการและการเปลี่ยนแปลงในสตรีวัยนี้หลายอย่างได้แก่  ร้อนวูบวาบ เหงื่อออกตอนกลางคืน หงุดหงิด ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย ซึมเศร้า ใจสั่น หลงลืม น้ำหนักเพิ่ม ปวดตามข้อและกล้ามเนื้อ ท้องผูก ปัสสาวะลำบาก และความรู้สึกทางเพศลดลง เป็นต้น

อาการร้อนวูบวาบและเหงื่อออกตอนกลางคืน

            หมายถึง ความรู้สึกร้อนวูบวาบบริเวณส่วนบนของร่างกายเช่น ใบหน้า คอ หน้าอก โดยแต่ละครั้งอาการจะคงอยู่นานไม่เกิน 3-4 นาที แล้วอาการดีขึ้น อาการมักจะเป็นมากเวลากลางคืน อาจมีความรู้สึกร้อนวูบวาบจนกระทั่งมีเหงื่อออกมากตอนกลางคืน อาการร้อนวูบวาบเป็นภาวะที่พบได้บ่อยถึงร้อยละ 20-50 อาการมักจะดีขึ้นหลังจากหมดประจำเดือน 2 ปีขึ้นไป เกิดจากการลดระดับของฮอร์โมนเพศหญิงลงจากเดิมที่เคยมีระดับสูง

            อาการทางระบบทางเดินปัสสาวะและอวัยวะสืบพันธุ์

            เยื่อบุช่องคลอดและท่อปัสสาวะเป็นเนื้อเยื่อที่ได้รับผลกระทบต่อการขาดฮอร์โมนเพศหญิงโดยตรง ทำให้มีอาการต่างๆดังนี้

          - ช่องคลอดแห้ง มีอาการคัน ระคายเคือง หรือปวดแสบร้อนที่บริเวณอวัยวะเพศและช่องคลอด

          - ความรู้สึกทางเพศลดลง สารคัดหลั่งลดลงระหว่างมีกิจกรรมทางเพศ ทำให้มีอาการเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์

          - ปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ มีการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้บ่อย

          การเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง

            การขาดฮอร์โมนเพศหญิงเป็นปัจจัยเร่งในอายุที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดความเสื่อมของระบบผิวหนังทั้งการแบ่งเซลล์ช้าลง ความเสื่อมของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน และคอลลาเจน ทำให้ผิวหนังบาง และขาดความยืดหยุ่น เกิดมีอาการผิวแห้ง คัน แพ้ง่าย และหย่อนคล้อย

          โรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดแดงตีบแข็ง

     ฮอร์โมนที่ลดลงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระดับไขมันต่างๆในร่างกาย ทำให้เกิดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดแดงตีบแข็งมากขึ้น

          โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis)

            ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลงเป็นปัจจัยเร่งในอายุที่มากขึ้น ภาวะกระดูกพรุนเป็นเหมือนภัยเงียบ โดยร่างกายจะสูญเสียมวลกระดูกอย่างรวดเร็วใน 5 ปีแรก ทำให้เกิดกระดูกหักได้ง่าย เนื่องจากผู้ป่วยมักจะไม่มีอาการ แต่จะตรวจพบหลังมีกระดูกหักจากอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย

          ภาวะซึมเศร้าและนอนไม่หลับ

            พบภาวะซึมเศร้าและมีอาการกังวลได้บ่อยขึ้น โดยเฉพาะความกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย การสูญเสียความสวยงามทางร่างกาย ทำให้ขาดสมาธิในการทำงาน มีอาการหงุดหงิด อารมณ์แปรปรวน หรือหลงลืมได้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการขาดหรือการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมน ความรุนแรงของอาการขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมทางครอบครัวและสังคมด้วย

 

2. แนวทางการดูแลสุขภาพ

            ปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในสตรีวัยหมดประจำเดือนแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ อาการที่สัมพันธ์กับภาวะหมดประจำเดือน และ โรคอันเกิดจากความเสื่อมถอยตามอายุ ปัญหาสุขภาพดังกล่าวมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต การดูแลสุขภาพของสตรีในวัยนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้สตรีสามารถดำรงคุณภาพชีวิตที่มีคุณภาพให้นานที่สุด โดยใช้หลักการเรื่องของการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคอันเกิดจากความเสื่อมถอยตามอายุ

2.1 การตรวจร่างกายและการตรวจสืบค้นเพิ่มเติม

            เพื่อคัดกรองโรคที่พบได้บ่อยในวัยหมดประจำเดือน และตรวจหาข้อบ่งชี้/ข้อบ่งห้ามในการที่จะต้องรักษาผลกระทบต่างๆของวัยหมดประจำเดือน

  1. ตรวจร่างกายทั่วไป ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดความดันโลหิต ตรวจเต้านม และตรวจภายใน อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  2. ตรวจทางห้องปฏิบัติการขั้นพื้นฐาน ได้แก่ ตรวจเลือดเพื่อนับเม็ดเลือด, ตรวจน้ำตาลหลังอดอาหารเพื่อคัดกรองโรคเบาหวาน, ตรวจการทำงานของไตและตับ, ตรวจระดับไขมันในเลือด, ตรวจเอกซเรย์ปอด, ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และตรวจปัสสาวะ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  3. ตรวจความหนาแน่นของกระดูก (BMD) แนะนำให้ตรวจในสตรีที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีเป็นต้นไป หรือในสตรีวัยหมดประจำเดือนที่อายุน้อยกว่า 65 ปี แต่มีปัจจัยเสี่ยงเช่น น้ำหนักตัวน้อย มีประวัติกระดูกหัก รับประทานยาบางชนิดที่ทำให้มวลกระดูกลดลง
  4. ตรวจภาพรังสีเต้านม (mammogram) ตั้งแต่อายุ 40 ปี ทุก 1-2 ปี โดยเฉพาะในรายที่อยู่ในระหว่างให้ฮอร์โมนบำบัด
  5. ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ทุก 5 ปี (ขึ้นกับวิธีตรวจ) โดยทั่วไปจะหยุดตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเมื่อสตรีอายุมากกว่า 65 ปีหรือถูกตัดมดลูกออกไปแล้วร่วมกับมีประวัติการตรวจคัดกรองก่อนหน้าที่เพียงพอและผลปกติ
  6. ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ แนะนำตรวจคัดกรองอายุ 45-75 ปี วิธีตรวจมีหลายแบบ ได้แก่ ตรวจเม็ดเลือดแดงในอุจจาระปีละครั้ง หรือตรวจ fecal immunochemical test (FIT test) ปีละครั้ง หรือตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ลำไส้ใหญ่ (computerized tomography colonoscopy) ทุก 5 ปี หรือส่องกล้องลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย (flexible sigmoidoscopy) ทุก 5 ปี หรือส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (colonoscopy) ทุก 10 ปี

            สตรีวัยหมดประจำเดือนควรรับการฉีดวัคซีนสำหรับผู้ใหญ่ ได้แก่ วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่, วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี, วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ, วัคซีนป้องกันงูสวัด และวัคซีนป้องกัน covid-19

2.2 อาหาร อาหารเสริม และวิตามิน

            สตรีวัยหมดประจำเดือนควรงดแอลกอฮอล์รวมทั้งบุหรี่ ลดอาหารประเภทแป้งและน้ำตาล โดยเปลี่ยนมารับประทานคาร์โบไฮเดรตจากธัญพืชประเภท whole-grain ผัก และผลไม้ ซึ่งมีเส้นใยอาหารอยู่มาก ลดอาหารไขมันประเภทไขมันทรานส์ เช่น มาการีน ครีมเทียม เนยเทียม เนยขาว ลดอาหารประเภทไขมันอิ่มตัว เช่น น้ำมันหมู น้ำมันมะพร้าว กะทิเพื่อลดความเสี่ยงของโรคในระบบหัวใจและหลอดเลือด สตรีที่มีอาการร้อนวูบวาบรุนแรง ควรลดอาหารที่มีเครื่องเทศเผ็ดร้อนและคาเฟอีน

            แคลเซียม (calcium) เป็นส่วนประกอบสำคัญของกระดูก โดยพบว่า ร้อยละ 99 ของแคลเซียมในร่างกายสะสมในกระดูก มีเพียงร้อยละ 1 ของแคลเซียมในร่างกายถูกนำไปใช้ในการทำงานในกระบวนการต่างๆของร่างกาย หากระดับแคลเซียมในส่วนนี้ลดลง จะกระตุ้นการสลายแคลเซียมจากกระดูกเพื่อนำมาใช้งานดังกล่าว จึงจำเป็นต้องรับประทานแคลเซียมให้เพียงพอ โดยปริมาณธาตุแคลเซียมที่เหมาะสมสำหรับสตรีวัยหมดประจำเดือนคือ 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งได้มาจากนม และผลิตภัณฑ์จากนม เช่น ชีส โยเกิร์ต ปลาที่กินพร้อมกระดูกได้ ผักใบเขียว เช่น คะน้า บลอกโคลี ใบชะพลู ผักกะเฉด  เต้าหู้ ถั่วขาว ข้าวโอ๊ต น้ำส้ม งา

           วิตามินดี (vitamin D) เป็นวิตามินที่มีความสำคัญต่อการควบคุมระดับแคลเซียมในร่างกาย ช่วยเพิ่มการดูดซึมแคลเซียมและฟอสเฟตจากลำไส้เล็ก และเพิ่มการดูดกลับแคลเซียมทางท่อไต วิตามินดีแบ่งได้เป็น 2 ชนิด ได้แก่ วิตามินดี 2 พบได้เฉพาะในพืชและยีสต์ และวิตามินดี 3 พบได้เฉพาะในสัตว์ สามารถสังเคราะห์ได้ที่เซลล์ผิวหนังของมนุษย์ ปริมาณวิตามินดีที่ร่างกายได้รับร้อยละ 80-90 มาจากการสังเคราะห์ที่เซลล์ผิวหนัง และส่วนน้อยได้มาจากอาหาร

            แมกนีเซียม (magnesium) เป็นเกลือแร่ที่สำคัญต่อร่างกาย ร้อยละ 50 ของแมกนีเซียมในร่างกายสะสมอยู่ที่กระดูก ในผู้ใหญ่ควรจะต้องได้รับแมกนีเซียมวันละ 600 มิลลิกรัม จึงจะสามารถรักษาระดับแมกนีเซียมในกระดูให้คงที่ได้ ผู้ที่ขาดแมกนีเซียมจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและการเสียชีวิตจากภาวะหัวใจวายเฉียบพลันในอัตราที่สูงกว่าผู้ที่รับประทานอาหารที่มีแมกนีเซียมเพียงพอ

            วิตามินอี (vitamin E) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ มีบทบาทในการป้องกันการเกิดเส้นเลือดหัวใจตีบ และช่วยลดระดับไขมันในเลือด การรับประทานวิตามินอีวันละ 100-400 ยูนิตสากล เป็นเวลานานสามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ การรับประทานวันละ 400-1,200 ยูนิตสากล อาจจะลดอาการร้อนวูบวาบเหงื่อออกมาก

            ใบแป๊ะก๊วย (Ginkgo biloba) เป็นสมุนไพรที่ได้รับการยอมรับว่ามีการทำการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก สมุนไพรตัวนี้มีการใช้ในประเทศจีนมาราว 5,000 ปี ประเทศในแถบตะวันตกเพิ่งจะมีการนำมาใช้ในปี พ.ศ. 2523 พบว่ามีผลดีต่อระบบประสาทคือโดยทำให้มีเลือดมาเลี้ยงสมองเพิ่มมากขึ้น ยับยั้ง ช่วยทำให้มีความจำดีขึ้น ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดความจำเสื่อม นอกจากนี้ยังช่วยบรรเทาอาการวิตกกังวลและซึมเศร้าอีกด้วย

2.3 กิจกรรมและการออกกำลังกายในสตรีวัยหมดประจำเดือน

                กิจกรรมในชีวิตประจำวัน ได้แก่ การทำงานบ้าน เลี้ยงสัตว์ รดน้ำต้นไม้ ล้างรถ ทำครัว ฯลฯ ล้วนส่งผลดีต่อสุขภาพทั้งกายและใจ โดยทางกายจะได้ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ข้อต่อไม่ยึดติด และกระดูกไม่บางลง ส่วนทางใจจะได้ความเพลิดเพลินกับกิจกรรม ความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง ใจสบาย มีความสุข แม้ว่าการทำกิจกรรมต่างๆจะได้ประโยชน์ไม่มากเท่ากับการออกกำลังกาย แต่ก็ดีกว่าการนั่งๆนอนๆ การคงมีกิจกรรมในชีวิตประจำวันมีบทบาทสำคัญในการลดความเสี่ยงต่อการหกล้มและภาวะกระดูกหัก เพื่อการมีสุขภาพที่แข็งแรง ผู้สูงอายุควรมีการทำกิจกรรมระดับปานกลางนานอย่างน้อยวันละ 30 นาทีในเกือบทุกวัน     

            เมื่ออายุเพิ่มขึ้นจะมีการลดลงของจำนวนและความแข็งแรงกล้ามเนื้อ อาจทำให้เกิดความไม่สมดุลของกล้ามเนื้อ ทำให้มีความเสี่ยงต่อการหกล้มและกระดูกหักเพิ่มมากขึ้น

            การแนะนำท่าทางในการดำเนินชีวิตประจำวันมีหลักการคือ รักษาความโค้งเว้าตามปกติของแกนกระดูกสันหลังในทุกอิริยาบถ ไม่ว่าจะเป็นท่ายืน ท่าเดิน ท่านั่ง ท่าก้ม รวมถึงท่าทางในการยกสิ่งของหรือการเอื้อมหยิบของในที่สูง

            ท่ายืนหรือเดิน ควรอยู่ในท่าหลังตรง เก็บคาง ไม่ยืนห่อไหล่สองข้าง ท่านี้นอกจากดูดีแล้ว ยังช่วยลดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อบ่าและไหล่ ท่าที่ไม่เหมาะสมคือ การยืนในท่าโค้งมาหน้า เนื่องจากเพิ่มแรงกดทางด้านหน้าต่อกระดูกสันหลัง และเป็นเหตุให้เกิดการยุบตัวของกระดูกหลังง่ายขึ้น

            ท่านั่ง ควรนั่งในท่าหลังตรง นั่งพิงพนัก เท้าไม่ลอยจากพื้น ไม่นั่งเอนหรือโน้มตัวมาด้านหน้า ให้มีการขยับปรับเปลี่ยนอิริยาบทบ้างเป็นพักๆ แต่ยังคงรักษาแนวโค้งเว้าของหลังไว้ตลอดเวลา

            ท่านอน ควรนอนในท่านอนหงาย มีหมอนรองใต้ข้อเข่าเพื่อให้ข้อเข่าและข้อสะโพกงอเล็กน้อย หรือนอนตะแคงมือกอดหมอนข้าง งอข้อเข่าและข้อสะโพกเล็กน้อย ท่านอนทั้งสองท่านี้จะช่วยรักษาแนวกระดูกสันหลังได้ดี นอกจากนี้ควรเลือกที่นอนที่แน่น ไม่ยวบ ไม่ทำให้ตัวจมลง ที่นอนที่นิ่มเกินไปจะทำให้แนวกระดูกหลังโค้งงอ ทำให้ปวดหลัง

            การก้มยกของที่มีน้ำหนัก ควรอยู่ในท่าย่อเข่าและหลังตรง การยกในท่าที่ถูกต้องจะเป็นการใช้กล้ามเนื้อขาช่วยยกและรักษากระดูกหลังไว้ อีกทั้งลดความเสี่ยงที่จะเกิดหมอนรองกระดูกเคลื่อน

            การหิ้วของ ควรแบ่งน้ำหนักสองข้างพอๆกัน มิฉะนั้นแนวกระดูกหลังจะเอียงไปข้างใดข้างหนึ่งมากเกินไป และกล้ามเนื้อเสียสมดุล ทำให้เกิดอาการปวดได้ง่าย

            การเอื้อมหยิบของจากที่สูง ควรมีม้าเตี้ยรองเพื่อลดการแอ่นของหลังที่มากไป

            การออกกำลังกาย ประโยชน์ของการออกกำลังกายต่อระบบกล้ามเนื้อและกระดูก ได้แก่ เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เพิ่มความยืดหยุ่นของข้อต่อ และเสริมสร้างมวลกระดูก การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่อายุน้อยส่งผลดีมากกว่าเริ่มออกกำลังเมื่ออายุมาก อย่างไรก็ดีการออกกำลังกายในสตรีวัยหมดประจำเดือนก็ยังสามารถเพิ่มความคล่องตัวโดยรวม และลดการสลายกระดูก

            นอกจากประโยชน์โดยตรงต่อระบบกล้ามเนื้อและกระดูกแล้ว การออกกำลังกายยังมีผลดีต่อการทำงานของหัวใจและปอด กระบวนการเมตาบอลิซึมของร่างกาย และสมดุลของสารสื่อประสาทต่างๆในสมอง ส่งผลให้ปัญหาสุขภาพหลายประการของสตรีวัยหมดประจำเดือนมีความเสี่ยงหรือความรุนแรงที่ลดลง ได้แก่ ภาวะกระดูกหักที่สัมพันธ์กับความเปราะบางของกระดูก โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง และอาการร้อนวูบวาบในวัยหมดประจำเดือน

การออกกำลังกายมีอยู่หลายประเภท ประเภทที่เหมาะกับสตรีวัยหมดประจำเดือนมีดังนี้

            1.การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของข้อต่อ เอ็น และกล้ามเนื้อ เป็นการบริหารเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นทำให้พิสัยการเคลื่อนไหวข้อทุกข้อสามารถกระทำได้ในทุกทิศทาง เป็นสิ่งสำคัญในการคงท่าทางที่เหมาะสมและทำให้เกิดความกระฉับกระเฉงและคล่องตัวในกิจวัตรประจำวัน การออกกำลังประเภทนี้เช่นการเล่นโยคะและรำมวยจีน

            2.การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ โดยสตรีวัยหมดประจำเดือนเน้นที่กล้ามเนื้อขาและกล้ามเนื้อหลัง ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อที่สำคัญต่อการทรงตัว กล้ามเนื้อขามีส่วนสำคัญในการยืนหรือเดิน กล้ามเนื้อขาที่อ่อนแรงทำให้การยืนหรือเดินไม่มีประสิทธิภาพและยังเป็นสาเหตุของการหกล้ม ส่วนกล้ามเนื้อหลังมีความสำคัญเนื่องจากกระดูกสันหลังเป็นกระดูกที่มีภาวะกระดูกพรุนและกระดูกหักได้บ่อย การบริหารกล้ามเนื้อหลังสามารถลดการเกิดกระดูกสันหลังส่วนนอกยุบและลดอัตราหลังค่อมในผู้ที่มีกระดูกพรุนหรือในผู้สูงอายุ การออกกำลังกายประเภทนี้เป็นการออกกำลังกายที่ใช้น้ำหนักเป็นแรงต้าน โดยใช้น้ำหนักของตัวเองหรือน้ำหนักตัวเองร่วมกับแรงต้านภายนอก เช่น การสควอท หรือการใช้เครื่องเล่นเวทต่างๆ

            3.การออกกำลังกายที่มีการลงน้ำหนัก สามารถกระตุ้นการสร้างเนื้อกระดูก ตัวอย่างการออกกำลังกายประเภทนี้ได้แก่ การเดิน การวิ่ง การปั่นจักรยาน เป็นต้น แนะนำให้มีระยะเวลาและความถี่เช่นเดียวกับการออกกำลังกายแบบแอโรบิคทั่วไป
การออกกำลังกายประเภทนี้นอกจากจะได้ประโยชน์ต่อกระดูกแล้วยังช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรง เพิ่มสมรรถภาพการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด ทำให้ระบบต่างๆภายในร่างกายทำงานได้ดีขึ้น เกิดความสบายและคลายเครียดได้

การป้องกันการหกล้ม

            เนื่องจากการหกล้มในวัยหมดประจำเดือน มีความเสี่ยงต่อการกระดูกหัก พบว่าบางรายไม่สามารถกลับมาเดินได้อีก สูญเสียความสามารถในการดูแลตัวเอง ต้องมีคนดูแลตลอดเวลา การป้องการหกล้มได้แก่ การปรับสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัย, การดูแลสายตา, การออกกำลังกายเพื่อสร้างสมดุลร่างกาย การปรับยาที่ส่งผลต่อการทรงตัว เช่น ยานอนหลับ

 

3. การรักษา

            ในปัจจุบันไม่แนะนำการใช้ฮอร์โมนบำบัดในสตรีวัยหมดประจำเดือนที่ไม่มีอาการ หรือให้เพื่อป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจหรือภาวะสมองเสื่อม

            การใช้ฮอร์โมนในวัยหมดประจำเดือน ควรได้รับการพิจารณาจากแพทย์โดยจะพิจารณาตามความเหมาะสมสำหรับสตรีแต่ละบุคคล จากอาการที่พบ อายุ ระยะเวลาหลังหมดประจำเดือน โรคประจำตัว ข้อบ่งชี้และข้อบ่งห้ามของฮอร์โมนบำบัด เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดและเกิดโทษน้อยที่สุด

ข้อบ่งชี้ในการให้ฮอร์โมนบำบัด

  1. เพื่อรักษาอาการร้อนวูบวาบ ที่มีอาการระดับปานกลางขึ้นไป
  2. เพื่อรักษากลุ่มอาการทางระบบทางเดินปัสสาวะและอวัยวะสืบพันธุ์ของสตรีวัยหมดประจำเดือน
  3. เพื่อรักษาโรคกระดูกพรุนในสตรีวัยหมดประจำเดือนที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักระดับสูงขึ้นไป
  4. เพื่อรักษาผู้ป่วยที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำก่อนกำหนด ได้แก่ ภาวะพร่องฮอร์โมนเพศ, รังไข่หยุดทำงานก่อนกำหนด หรือถูกตัดรังไข่สองข้างก่อนวัยหมดประจำเดือนตามธรรมชาติ

ข้อบ่งห้ามในการให้ฮอร์โมนบำบัด

  1. เลือดออกจากช่องคลอดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  2. มีประวัติเป็นมะเร็งเต้านมที่ให้ผลบวกต่อตัวรับเอสโตรเจนหรือมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
  3. มีประวัติเสี่ยงต่อการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด หรือกำลังเป็นภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด
  4. โรคตับเรื้อรัง
  5. โรคเบาหวาน และ/หรือความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ดี

บทสรุป

การหมดประจำเดือนเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของร่างกายไม่ใช่ “โรค” ไม่มีความจำเป็นต้องมีการรักษาในสตรีวัยหมดประจำเดือนทุกราย การยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นและปรับตัวในการเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิตและสร้างเสริมสุขภาพให้เหมาะสม จะช่วยป้องกันหรือชะลอปัญหาด้านสุขภาพ ทำให้มีอายุขัยยืนยาว และ มีคุณภาพชีวิตที่ดี

 

ข้อมูลโดย 

แพทย์หญิงน้ำมณี มณีนิล