มารู้จักหัตถการเจาะชิ้นเนื้อรกกันเถอะ คุณแม่ๆ เคยได้ยินกันไหมครับว่าอะไรคือ "เจาะชิ้นเนื้อรก" หลายคนอาจเคยได้ยินแค่ "เจาะน้ำคร่ำ" มาดูกันครับว่าต่างกันอย่างไร ?
เนื่องจากปัจจุบันมีโรงพยาบาลที่สามารถทำหัตถการนี้ได้ไม่มาก และต้องทำโดยแพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์เท่านั้น เพราะเป็นหัตถการที่ต้องอาศัยความชำนาญและความแม่นยำมากกว่าการเจาะน้ำคร่ำ คนส่วนใหญ่จึงอาจไม่ค่อยรู้จักการตรวจชนิดนี้
เจาะเนื้อรกตรวจอะไร การเจาะเนื้อรก (Chorionic villi sampling: CVS) หลักๆ คือการตรวจโครโมโซมและกลุ่มโรคทางพันธุกรรมของทารก โดยจะตรวจเพื่อการวินิจฉัยโรคโดยตรง เช่น มารดาอายุมาก หรือมีบุตรโครโมโซมผิดปกติในครรภ์ก่อน ผลตรวจคัดกรองดาวน์มีความเสี่ยงสูง ทารกในครรภ์มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคทางพันธุกรรม อัลตราซาวด์พบความผิดปกติที่สงสัยว่าสัมพันธ์กับภาวะโครโมโซมผิดปกติ เป็นต้น
โดย อายุครรภ์ที่เหมาะสมต่อการเจาะชิ้นเนื้อรกคือระหว่าง 11-14 สัปดาห์ และทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง
ข้อดีของการตรวจนี้คือการรู้ผลเร็ว ทำให้สามารถวางแผนการตั้งครรภ์และการดูแลรักษาได้เร็วขึ้น เช่น คุณแม่ที่ตรวจคัดกรองดาวน์แล้วทราบว่าความเสี่ยงสูงก็จะสามารถเลือกวิธีตรวจที่ทราบผลเร็ว หากทารกมีภาวะผิดปกติจริง การยุติการตั้งครรภ์ตั้งแต่อายุครรภ์น้อยจะปลอดภัยกว่าการรอให้ครรภ์โตมาก
การเจาะเนื้อรกทำอย่างไร การเจาะเนื้อรกจะทำโดยการใช้อุปกรณ์ผ่านเข้าไปในมดลูกของคุณแม่เพื่อเก็บเนื้อรกออกมาปริมาณเล็กน้อย โดยทั่วไปจะไม่ผ่านเข้าไปในถุงน้ำคร่ำที่ทารกอยู่โดยตรง มีสองวิธีคือ การเจาะผ่านทางหน้าท้อง และการเก็บชิ้นเนื้อรกผ่านทางช่องคลอด
การเจาะเนื้อรกไม่ต้องวางยาสลบ อาจมีการฉีดยาชาในกรณีเจาะผ่านหน้าท้อง ใช้เวลาทำไม่นาน แพทย์จะใช้อัลตราซาวด์ประกอบการเจาะเพื่อให้มั่นใจว่าเข็มอยู่ในบริเวณที่เหมาะสม
หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อที่ศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลกรุงเทพ จันทบุรี 039-319877