รวมเรื่องอาหารของผู้ป่วย “มะเร็ง” ฉายแสง-เคมีบำบัดแล้วกินอะไรได้บ้าง
การรักษามะเร็ง มีทั้งการผ่าตัด การฉายแสง หรือการใช้ยา ส่งผลให้มักมีอาการอักเสบ หรือการสูญเสียเนื้อเยื่อ ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วนและเพียงพอเพื่อซ่อมแซมร่างกาย เพราะถ้าได้รับสารอาหารไม่เพียงพอแล้วล่ะก็ อาจทำให้ร่างกายฟื้นตัวช้า และการรักษาอาจไม่ได้ประสิทธิผลดีเท่าที่ควร อาหารจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษามะเร็งจนครบได้
อาหารที่ควรกิน
ผู้ป่วยมะเร็งจำเป็นต้องได้รับพลังงานจากอาหารต่อวันมากขึ้นกว่าคนทั่วไป เพื่อให้ผู้ป่วยแข็งแรงพอที่จะรับการรักษาตามกระบวนการทางการแพทย์ โดยผู้ป่วยควรได้รับพลังงานประมาณ 1,600 -2,000 กิโลแคลอรี่ต่อวัน จากอาหารที่มีลักษณะ ดังนี้
- สุก สะอาด มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ (โปรตีน คาร์โบไฮเดรต เกลือแร่ วิตามิน ไขมัน) โดยให้เน้นโปรตีนจากพืชและสัตว์เป็นส่วนใหญ่ เพื่อช่วยฟื้นฟูร่างกาย
- ผัก ผลไม้ ที่ปลอกและล้างสะอาด
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ ประมาณวันละ 8-10 แก้ว หรือประมาณ 2-2.5 ลิตร
อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง
- อาหารหมักดอง
- อาหารไม่สด
- อาหารไม่สะอาด
- อาหารทิ้งไว้ข้ามคืน
- อาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอก อาหารรมควัน แฮม ของปิ้งย่าง
- งดกินผักสด ผลไม้เปลือกบาง หรือผลไม้ที่กินทั้งเปลือกได้ เช่น องุ่น ชมพู่
- ห้ามดื่มแอลกอฮอล์
- ห้ามสูบบุหรี่
ทำอย่างไรเมื่อเจอผลข้างเคียงการรักษาที่ทำให้กินไม่ลง
- เบื่ออาหาร เลือกกินอาหารที่พอกินได้ กลิ่นและรสไม่จัด โดยอาจแบ่งออกเป็นมื้อย่อยๆ 4-6 มื้อต่อวัน หรือกินขนมเสริมที่กินได้ง่ายๆ เช่น ไอศกรีม ขนมต่างๆ อาหารทางการแพทย์ หรือ นม
- คลื่นไส้อาเจียน ให้กินอาหารก่อนให้ยาเคมีบำบัด หลีกเลี่ยงอาหาร หวานมัน มีกลิ่นฉุน หรือรสเผ็ดร้อน และเลือกกินอาหารที่มีลักษณะแห้งกรอบ เช่น ขนมปังกรอบ ทองม้วน เพื่อลดอาหารคลื่นไส้อาเจียน นอกจากนี้ควรจิบน้ำสะอาดๆ หรือเครื่องดื่มรสไม่จัดบ่อยๆ หลังอาเจียน เช่น น้ำหวาน น้ำผลไม้
- การรับรสเปลี่ยน กลั้วปากน้ำสะอาด ก่อนกินอาหาร และให้ใช้ช้อนส้อมและอุปกรณ์ที่เป็นแก้วพลาสติก ปรุงอาหารด้วยเครื่องเทศเล็กน้อย หรือเครื่องปรุงรสเปรี้ยว โดยอาจใช้น้ำตาลปรุงอาหารเล็กน้อย เพื่อช่วยกลบการรับรสที่ผิดเพี้ยนไปได้ นอกจากนี้ยังสามารถอบลูกอมรสเปรี้ยวหรือมินต์ไว้ช่วยกระตุ้นการรับรสก็ได้
- ปากแห้ง มีแผลในช่องปาก กินอาหารอ่อนนิ่ม รสไม่จัด เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ก๋วยเตี๋ยว หรือบะหมี่เกี๊ยว กินอาหารเย็น ไม่ร้อนจัดจนเกินไป และจิบน้ำเปล่าให้บ่อยขึ้น หลีกเลี่ยงการกินผลไม้ที่มีกรด เช่น มะนาว น้ำผลไม้กล่องที่มีสีเข้ม นอกจากนี้ควรบ้วนปากด้วยน้ำสะอาดทุกครั้งก่อนและหลังกินอาหาร
- ท้องเสีย ดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่ หรือดื่มน้ำเปล่าบ่อย ๆ เพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำ ลดอาหารรสจัด อาหารไขมันสูง งดผลิตภัณฑ์จากนมจนกว่าอาการจะดีขึ้น และงดอาหารที่ทำให้เกิดแก๊ส เช่น เนย ถั่ว ผักดิบ
- เม็ดเลือดขาวต่ำ การฉายแสงเคมีบำบัด และจากตัวโรคที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ ทำให้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย ควรระวังเรื่องวันหมดอายุของอาหาร เลือกกินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ และระวังผักผลไม้ที่ต้องกินทั้งเปลือก มีรอยช้ำ มีเชื้อรา รวมถึงควรงดเครื่องปรุงรสที่เป็นอาหารแห้งทั้งหมด เช่น พริกไทย พริกป่น ถั่วลิสงป่น และควรล้างมือให้สะอาดเสมอเพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ต่างๆ
- น้ำหนักลด กินอาหารให้พลังงานสูง แต่เลี่ยงไขมันอิ่มตัว และไขมันทรานซ์ กินอาหารหลาย ๆ มื้อ กระจายตลอดทั้งวัน เติมนมผงหรืออาหารทางการแพทย์ใส่เครื่องดื่ม หากน้ำหนักลดลงมาก อาจต้องพบนักกำหนดอาหาร เพื่อจัดการการรับประทานอาหารที่เหมาะสม
- ท้องผูก แนะนำให้กินอาหารที่่มีกากใยมากขึ้น เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช ถั่วเม็ดแห้ง ถั่งเขียว ถั่วแดง และดื่มน้ำสะอาด 8 -10 แก้วต่อวัน
กินเนื้อสัตว์ได้หรือไม่
มีหลายคนเชื่อว่าการกินเนื้อสัตว์ ทำให้มะเร็งโตเร็วขึ้น ขอยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่เป็นความจริง เพราะมะเร็งไม่สามารถเลือกได้ว่าจะใช้พลังงานจากอาหารประเภทใดโดยเฉพาะ
ที่จริงแล้วควรกินเนื้อสัตว์ด้วยซ้ำ เพราะเป็นอาหารที่มีโปรตีนสูงและครบถ้วน ซึ่งเป็นสารอาหารที่สำคัญมากสำหรับผู้ป่วย เนื่องจากจะช่วยในการซ่อมแซมร่างกายระหว่างการรักษา และบำรุงเม็ดเลือดขาวได้
ผู้ป่วยมะเร็งจึงควรเลือกกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อผ่านทางอาหารเพิ่มเติม ไม่กินเนื้อติดมัน และกินให้หลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหมู เนื้อไก่ หรืออาหารทะเล
แต่สำหรับผู้ป่วยที่อยากกินมังสวิรัติ แนะนำว่า ควรกินโปรตีนจากไข่ หรือ นมเพิ่มเติม
จริงไหมกินเต้าหู้ น้ำมะพร้าว ทำให้มะเร็งเต้านมโตเร็ว
การกินน้ำเต้าหู้ และน้ำมะพร้าว มีสาร Phytoestrogen ในปริมาณน้อย จึงไม่สามารถกระตุ้นให้เกิดมะเร็งเต้านมได้
สุดท้ายนี้หากปรับเปลี่ยนวิธีการกินอาหารแล้ว อย่าลืมเช็กน้ำหนักตัวกันด้วย เพราะน้ำหนักตัวที่คงที่เป็นสัญญาณบ่งบอกว่า เรามาได้ถูกทางแล้ว! หากร่างกายได้รับพลังงานและโปรตีนไม่เพียงพอ น้ำหนักตัวของผู้ป่วยจะลดลง ซึ่งมีผลการศึกษาพบว่าจะส่งผลเสียต่อการรักษาได้ ดังนั้นจึงควรกินอาหารอย่างเพียงพอ หรือกินอาหารทางการแพทย์เพิ่มเติมเพื่อทดแทนหรือเสริมจากอาหารมื้อหลัก
ขอบคุณข้อมูลจาก : BDMS สถานีสุขภาพ