ทำไมแก่แล้วลุกจากเก้าอี้ยากขึ้น

ไขข้อสงสัย “การยืนขึ้นจากเก้าอี้” ทำไมถึงยาก เมื่ออายุมากขึ้น แล้วปัญหานี้จะหลีกเลี่ยงได้หรือไม่ หรือมีวิธีการชะลอการเสื่อมสภาพอย่างไร เช็กที่นี่!

น่าเสียดายที่ความยืดหยุ่นของเราจะน้อยลงเมื่ออายุมากขึ้น โดยแพทย์ได้วัดความสามารถในการลุกขึ้นยืนจากเก้าอี้ ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในการตรวจร่างกายและคัดกรองผู้สูงอายุที่เสี่ยงต่อการหกล้ม

ผลปรากฏว่า มีเหตุผลมากมายที่ทำให้การลุกขึ้นยืนจากเก้าอี้ยากขึ้นเมื่อเราอายุมากขึ้น อาจเป็นเพราะเส้นเอ็นของเราจะตึงขึ้นรอบๆ ข้อต่อ และกระดูกอ่อนระหว่างข้อต่อของเราเสื่อมลง หรือการเสื่อมสภาพโดยทั่วไปของเอ็นและการลดลงของของเหลวภายในข้อต่อ (น้ำไขข้อ) พร้อมกับการตึงตัวของกล้ามเนื้อรอบ ๆ ข้อ รวมถึงมวลกล้ามเนื้อของเราลดลง เมื่อเราอายุมากขึ้น โดยเฉพาะกล้ามเนื้อบริเวณด้านหน้าของต้นขาที่เรียกว่า “quadriceps” ซึ่งจำเป็นต่อการยืนขึ้นจากเก้าอี้

 

ออกกำลังกาย” ชะลอปัญหาลุกนั่งยาก

ใช่! ปัญหานี้เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้เกิดขึ้นได้ แต่สามารถชะลอให้เกิดช้าลงได้ ด้วย การออกกำลังกาย” เป็นประจำ เพราะการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยลดความเสื่อมสภาพของความยืดหยุ่นของเรา พร้อมกับให้ประโยชน์อื่นๆ ที่มีต่อความหนาแน่นของกระดูก สุขภาพหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงสุขภาพจิตของเรา

โดยบริการสุขภาพแห่งชาติของสหราชอาณาจักร (NHS) ได้แนะนำหลักเกณฑ์ในการออกกำลังกายเอาไว้ว่า ผู้สูงอายุควรทำกิจกรรมที่ช่วยเพิ่มความแข็งแรง ความสมดุล และความยืดหยุ่น อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง รวมทั้งทำกิจกรรมที่มีความหนักปานกลางอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือออกกำลังกายอย่างหนัก 75 นาที

อย่างไรก็ตามแม้ว่าคุณจะออกกำลังกายเป็นประจำ สิ่งสำคัญคือต้องยืดกล้ามเนื้ออย่างเหมาะสมด้วย โดยโยคะถือเป็นตัวเลือกที่ยอดเยี่ยมมากหากคุณทำได้ แต่การยืดกล้ามเนื้อง่ายๆ ก็ช่วยให้มีความยืดหยุ่นได้เช่นกัน และสามารถทำได้ที่หน้าทีวีหรือขณะที่คุณเล่นโทรศัพท์! 

นอกจากนี้ถ้าคุณกำลังคิดจะปรึกษาเทรนเนอร์ให้ช่วยเรื่องนี้แล้วล่ะก็ บอกเลยว่ามันคุ้มค่าที่จะให้ใครซักคนมาฝึกให้คุณ สามารถยืดกล้ามเนื้ออย่างถูกต้องได้

 

อาหารชิ้นส่วนสำคัญกล้ามเนื้อ-กระดูกให้แข็งแรง

 

อาหารของเรา ก็มีความสำคัญ เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นเรื่องของสารอาหาร เช่น โปรตีน ซึ่งมีส่วนช่วยสร้างกล้ามเนื้อ และแคลเซียม-วิตามินดี ซึ่งช่วยเรื่องความหนาแน่นของกระดูก

อาหารที่อุดมด้วยโปรตีน ได้แก่

  • เนื้อสัตว์ เช่น เนื้อวัว เนื้อไก่ และเนื้อปลา
  • ไข่
  • นมและผลิตภัณฑ์จากนม
  • ถั่วเหลือง

 

อาหารที่มีแคลเซียม-วิตามินดีสูง ได้แก่

  • ปลาทะเล ปลาเล็กปลาน้อย กุ้งแห้ง
  • กลุ่มนม และโยเกิร์ต
  • กลุ่มผลไม้ กีวี กล้วย และมะละกอ
  • กลุ่มถั่วเมล็ดแข็ง พืชตระกูลถั่ว งาดำ และเต้าหู้อ่อน
  • กลุ่มผักตระกูลกะหล่ำ

 

แม้เราจะต้องเผชิญกับความยืดหยุ่นที่น้อยลงตามอายุและพบว่าลุกขึ้นยืนขึ้นได้ยากขึ้น แต่การออกกำลังกายและการรับประทานอาหารที่อุดมด้วยโปรตีน แคลเซียม และวิตามินดี เหล่านี้อย่างสม่ำเสมอ จะช่วยชะลอความเสื่อมของร่างกายได้ ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเริ่มดูแลตัวเองกัน!

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : BDMS สถานีสุขภาพ