ปากเบี้ยว ตาตก! สัญญาณ “โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก” อาการป่วยที่พบมากถึง 5,000 คนต่อปี โดยมีหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่น่าห่วงคือกลุ่มของคนพักผ่อนน้อย

โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก ความผิดปกติของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7

“โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก” หรือ “Bell’s Palsy” เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ซึ่งเป็นเส้นประสาทที่ช่วยเลี้ยงกล้ามเนื้อของใบหน้าทั้งด้านบนและล่าง เพราะฉะนั้นเมื่อเวลามีความผิดปกติของเส้นประสาทสมองเส้นนี้ จะส่งผลให้กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงไป อย่างเช่นกรณีของคุณมดดำ ที่ส่งผลให้เกิดอาการปากเบี้ยว และตาตกไปอยู่ข้างหนึ่ง

นอกจากนี้ เส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ยังเกี่ยวข้องกับการรับรสด้วย เพราะฉะนั้นผู้ป่วยอาจสูญเสียการรับรสของลิ้นด้านเดียวกันของใบหน้าที่อ่อนแรงไป หรือได้ยินเสียงดังกว่าปกติจากหูข้างนั้น 

อย่างไรก็ตามยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่า ทำไมถึงความผิดปกติของเส้นประสาทคู่ที่ 7 ได้ บางทีอาจจะเป็นจากอุบัติเหตุหรือจากเนื้องอก ก็เป็นไปได้ แต่สมมติบานที่น่าเชื่อถือมากที่สุดในปัจจุบัน คือ การเกิดจากการติดเชื้อไวรัส

อาการของโรคปากเบี้ยวจะเกิดขึ้นแบบทันทีทันใด มักมีอาการเตือน ปวดหลังหู ก่อนที่จะเริ่มมีปากเบี้ยว และปิดตาไม่ได้ อาจพบว่ามีอาการแสบตาข้างเดียว เพราะไม่สามารถปิดตาได้สนิท หรือรับประทานอาหารแล้วน้ำลายไหลออกทางมุมปากข้างใด ข้างหนึ่ง

อาการของโรคอาจจะเป็นมากขึ้นจนสามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจนเวลาผู้ป่วย พูด ยิ้ม หรือกะพริบตา บางรายอาจเป็นมากจนไม่สามารถขยับมุมปาก หลับตาหรือยักคิ้วหลิ่วตาได้เลย บางคนสังเกตว่าพูดไม่ชัด ผิวปากไม่ดัง หรือดูดน้ำไม่ได้ เนื่องจากกล้ามเนื้อใบหน้าข้างใดข้างหนึ่งทำงานไม่ได้เหมือนปกติ

หลายคนบ่นว่า มีความรู้สึกเหมือนหน้าบวม ตึงและชาที่ใบหน้าครึ่งซีก ทั้งนี้เป็นเพราะเวลากล้ามเนื้อใบหน้าไม่ทำงานก็จะทำให้เลือดมาคั่งในบริเวณนั้นมากกว่าปกติ และจะมีผลกระตุ้นต่อเซลล์รับความรู้สึกบริเวณใบหน้า จึงเกิดอาการชาขึ้นได้ ทั้งๆ ที่ไม่มีการสูญเสียประสาทรับความรู้สึกที่ใบหน้าแต่อย่างใด อาการร่วมที่อาจพบได้คือ ลิ้นชาด้านเดียวกับที่ปากเบี้ยว ทานอาหารแล้วไม่รู้รส

อาการของโรคนี้ จะหายไปภายใน 4-8 อาทิตย์ แต่ประมาณ 10 % มีโอกาสเกิดขึ้นอีก และอาจเกิดขึ้นที่ด้านตรงข้าม ของใบหน้าได้ มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มีอาการเหลือปรากฏให้เห็นไปเป็นเวลานาน หรือตลอดชีวิต

 

แตกต่างจาก “อัมพฤกษ์”

โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก เกิดจากความผิดปกติของตัวเส้นประสาท ไม่ได้อยู่ในเนื้อสมอง ส่งผลให้มีกล้ามเนื้อบนใบหน้าเท่านั้นที่อ่อนแรง แตกต่างจากอัมพฤกษ์ ซึ่งมีสาเหตุมากจากโรคหลอดเลือดในสมองที่เกิดจากความผิดปกติในเนื้อสมอง คนไข้นอกจากจะมีใบหน้าอ่อนแรงแล้ว อาจจะมีแขนขาอ่อนแรง มีอาการชา หรือพูดไม่ชัดอย่างอื่นร่วมด้วย

คนที่มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคนี้

  • หญิงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะระยะสามเดือนสุดท้าย หรือหลังคลอดบุตร
  • ผู้ที่มีประวัติว่าคนในครอบครัวเป็นโรคนี้
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
  • ผู้ที่เคยติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจมาก่อน เช่น โรคหวัด หรือ ไข้หวัดใหญ่
  • คนที่พักผ่อนไม่เพียงพอ ร่างกายอ่อนแอ ทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทานโรคต่ำลง
  • คนที่มีภาวะเครียด
  • คนที่เคยได้รับอุบัติเหตุ

 

การดูแลตัวเองเมื่อมีอาการ

  • ใช้น้ำตาเทียมเพื่อป้องกันตาแห้ง
  • ใช้ยาขี้ผึ้งป้ายตาก่อนนอน หรือใช้ที่ครอบตาป้องกันฝุ่นเข้าตาขณะนอนหลับ
  • สวมแว่นเวลาออกนอกบ้านเพื่อกันลมและฝุ่นละออง
  • ห้ามขยี้ตาข้างที่ปิดไม่สนิท
  • ทำกายภาพบำบัดโดยการออกกำลังกายกล้ามเนื้อใบหน้าเป็นประจำ หรือใช้อุปกรณ์พิเศษช่วยกระตุ้นใบหน้าข้างที่อ่อนแรง เช่น laser

 

ฝังเข็มช่วยได้ในบางราย แต่หลักฐานทางการแพทย์ยังไม่มีข้อสนับสนุนชัดเจน

มีคนเคยพูดถึงว่าการฝังเข็มสามารถช่วยได้ในคนไข้บางราย แต่ถ้าเราพิจารณาตามหลักฐานโดยรวมทางการแพทย์แล้ว ก็ยังไม่ได้มีข้อสนับสนุนชัดเจนว่ามีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์กันแน่

 

การป้องกันไม่ให้เกิดโรค

  • พักผ่อนให้เพียงพอ               
  • ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที  3 -5 ครั้ง/สัปดาห์
  • สลายพฤติกรรมเสี่ยงทั้งหลาย เช่น ทำงานไม่มีวันพัก เครียดสะสม สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ทานอาหารซ้ำซากหนักไขมัน

 

ใน 5,000 คนต่อปี พบอาการหน้าเบี้ยว

โรคนี้ที่จริงแล้วเป็นกันเยอะ ตามข้อมูลที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีเปิดเผยคือ ประมาณ 1 ใน 5,000 คนต่อปีจะเป็นโรคนี้ ส่วนในเรื่องของการป้องกันนั้น ปัญหาส่วนใหญ่มาจากไวรัส ซึ่งจะออกมาตอนที่ร่างกายอ่อนแอ ดังนั้นเราจะต้องสร้างภูมิต้านทานให้แข็งแรงอยู่เสมอ

อย่างไรก็ตาม โรคนี้ไม่ได้เป็นโรคร้ายแรงแต่อย่างใด และมักจะรักษาให้หายได้เกือบ 100% ภายในเวลาไม่เกิน 2 เดือน ถ้าหากผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ถูกต้องอย่างรวดเร็วและทันเวลา แต่ความไม่มีโรคคือลาภอันประเสริฐ ดังนั้นเราควรหันมาใส่ใจและดูแลสุขภาพของตัวเองกันตั้งแต่วันนี้

 

ขอบคุณข้อมูลจาก :  ฺBDMS สถานีสุขภาพ