โรคหลอดเลือดสมอง เร็วก็รอด...ปลอดอัมพาต 1

บทความที่เกี่ยวข้อง

โรคหลอดเลือดสมอง

โรคหลอดเลือดสมอง

โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) Stroke หรือ โรคหลอดเลือดสมอง คือ ภาวะที่ทำให้เซลล์สมองถูกทำลาย ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลอดเลือดสมองตีบ อุดตัน หรือแตกทำให้ขัดขวางการลำเลียงเลือดซึ่งนำออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยงเซลล์สมอง ส่งผลให้สมองสูญเสียการทำหน้าที่จนเกิดอาการของอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

นอนหลับดีเสริมการทำงานของสมอง

นอนหลับดีเสริมการทำงานของสมอง

นอนหลับดีเสริมการทำงานของสมอง การทำงานของสมองในชีวิตประจำวันต้องคิดและตอบสนองหลายอย่าง สมองจำเป็นต้องได้รับพลังงานอย่างเพียงพอ แต่ยิ่งตื่นอยู่นานแค่ไหน พลังงานของสมองจะค่อย ๆ ลดลงมากเท่านั้น แต่ในทางตรงกันข้ามจะมีการสะสมของเสียที่เกิดจากการใช้พลังงานของเซลล์ประสาทคล้ายเป็นขยะ เกะกะ กีดขวางความสามารถในการส่งกระแสประสาท และที่พบบ่อยคือ เศษของโปรตีนเทา (Tau Protein) และชิ้นส่วนของอะไมลอยด์ (Amyloid Beta) แต่เมื่อได้หลับสมองจะมีกระบวนการกำจัดเศษชิ้นส่วนเทาและอะไมลอยด์อย่างสมดุล ซึ่งต้องเป็นการหลับที่มีคุณภาพและได้ปริมาณที่เหมาะสมตามวัย ปัญหาการนอนสร้างของเสีย หากเป็นผู้ที่มีปัญหาการนอนหลับ เช่น ใช้เวลานานกว่าจะหลับได้ นอนไม่หลับ หรือนอนหลับแต่ละครั้งไม่มีคุณภาพ เช่น นอนกรน มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ นอนกัดฟัน นอนดิ้น นอนละเมอ หรือตารางการนอนหลับไม่สม่ำเสมอ ทั้งหมดนี้จะยิ่งทำให้ร่างกายมีกระบวนการสร้างของเสียมากขึ้น มีการสะสมของเทาโปรตีนและอะไมลอยด์มากขึ้นในสมอง แต่กำจัดได้น้อยลง การสะสมนี้จะนำไปสู่ภาวะสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ ผู้ที่เป็นอัลไซเมอร์บางคนจะมีปัญหาหลับตื่นไม่เป็นเวลา หลับกลางวัน ตื่นกลางคืน มีพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติไป น้ำหนักตัว บางคนจะอ้วนขึ้นหรืออาจผอมลง เพราะโปรตีนเทากระจายไปรบกวนการทำงานของสมองที่ควบคุมวงจรการหลับตื่นของร่างกาย ตลอดจนสมองที่ควบคุมการสร้างฮอร์โมนควบคุมศูนย์หิวและอิ่มและฮอร์โมนอื่น ๆ ของร่างกายจึงเกิดเป็นวงจรการนอนหลับไม่มีคุณภาพ หรือหลับปริมาณน้อย หรือแม้แต่มากเกินไป เป็นปัจจัยชักนำของภาวะสมองเสื่อมที่ส่งผลให้ร่างกายระบบต่าง ๆ เสื่อมไปด้วย หลับดีสมองทำงานดี การนอนหลับที่มีคุณภาพช่วยให้สมองกำจัดโปรตีนเทา อะไมลอยด์ และผลิตผลขยะเพื่อสร้างความสมบูรณ์ของสมองและร่างกายอีกครั้ง ประกอบไปด้วย นอนหลับในปริมาณที่เหมาะสม 7 – 9 ชั่วโมงในผู้ใหญ่ รูปแบบและตารางการนอนหลับที่สม่ำเสมอในช่วงเวลาที่เหมาะสมตามนาฬิกาโลก เริ่มต้นหลับได้ไม่ยาก หลับได้ต่อเนื่อง ไม่หลับ ๆ ตื่น ๆ ไม่ลุกเข้าห้องน้ำมากกว่า 1 ครั้งต่อคืน มีคุณภาพการนอนหลับที่ดี ได้แก่ สมองหลับได้ทั้งระยะหลับตื้น หลับลึก และหลับฝันครบวงจรอย่างสมบูรณ์ หายใจได้ดี ไม่หยุดหายใจ ไม่ติดขัด ไม่กรน ไม่กัดฟัน หัวใจเต้นเป็นจังหวะปกติ กล้ามเนื้อผ่อนคลายขณะหลับ ไม่ละเมอ ไม่มีการกระตุกของร่างกาย หลับสงบไม่ผวากรีดร้อง ดังนั้นเพื่อเสริมสร้างการทำงานของสมอง การนอนหลับจึงเป็นปัจจัยสำคัญ ต้องหาเวลาที่เหมาะสมกับการเข้านอน ช่วงเวลาที่ร่างกายพร้อมจะหลับ ปรับเพิ่มคุณภาพการนอนหลับให้เหมาะสมกับความต้องการของสมองและร่างกายตามวัย เพื่อให้สมองได้พัก ซ่อมแซม และเสริมสร้างความคิดความจำอย่างมีประสิทธิภาพ ขอบคุณข้อมูลจาก : ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล

นอนหลับอย่างไรให้สมองสดใสหลังตื่น

นอนหลับอย่างไรให้สมองสดใสหลังตื่น

นอนหลับอย่างไรให้สมองสดใสหลังตื่น เพราะการนอนหลับมีความสำคัญกับชีวิตและมีความสัมพันธ์กับการสะสมพลังงาน การสร้างสมดุลให้ทุกระบบของร่างกาย ดังนั้นการนอนหลับให้ดีไม่เพียงช่วยให้สมองแข็งแรง แต่ช่วยให้สมองได้ทำความสะอาดไปในตัวด้วย ในชีวิตประจำวันระหว่างการตื่นตัวของคน สมองและร่างกายจะมีการใช้พลังงานและเกิดผลิตผลของเหลือใช้ในระบบต่าง ๆ เสมือนเป็นขยะที่ต้องกำจัดออก หากมีปริมาณมาก รุงรัง ระเกะระกะในสมองจะส่งผลให้เกิดความบกพร่องของการส่งกระแสประสาท ความรู้ความจำถดถอย อารมณ์แปรปรวน และหากเซลล์ประสาทที่เสียหายเป็นเซลล์ประสาทที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ร่วมด้วย สุดท้ายจะทำให้เกิดภาวะการทำงานล้มเหลวของหลายระบบของร่างกาย นอนหลับให้สมองสดใส การนอนหลับที่ช่วยให้สมองได้ทำความสะอาดและสดใสหลังตื่นนอน ได้แก่ นอนหลับในปริมาณที่เหมาะสม รูปแบบและตารางการนอนหลับสม่ำเสมอ เริ่มต้นหลับง่าย หลับต่อเนื่อง ไม่หลับ ๆ ตื่น ๆ ไม่ลุกเข้าห้องน้ำมากกว่า 1 ครั้งต่อคืน มีคุณภาพการนอนหลับที่ดี อาทิ สมองหลับได้ทั้งระยะหลับตื้น หลับลึก และหลับฝัน ครบวงจรอย่างสมบูรณ์ หายใจได้ดี ไม่หยุดหายใจ ไม่ติดขัด ไม่กรน ไม่กัดฟัน หัวใจเต้นเป็นจังหวะปกติ กล้ามเนื้อผ่อนคลายขณะหลับ ไม่ละเมอ ไม่มีการกระตุกของร่างกาย หลับสงบไม่ผวากรีดร้อง ประโยชน์จากคุณภาพการนอนที่ดี หากมีปริมาณ รูปแบบ และคุณภาพการนอนหลับที่ดีจะส่งผลดีต่อสมอง ไม่ว่าจะเป็น สมองกำจัดผลิตผลเหลือใช้ของเซลล์ประสาท เสริมสร้างความจำ พัฒนาทักษะต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ร่างกายทำงานได้เป็นปกติในภาพรวมด้วย อย่างไรก็ตามด้วยความแตกต่างของแต่ละบุคคล การจะมีลักษณะการนอนหลับที่ดีทั้งรูปแบบ ปริมาณ และคุณภาพที่เหมาะสมจำเป็นจะต้องได้รับการตรวจโดยแพทย์เฉพาะทางด้านการนอนหลับเพื่อสร้างสุขภาพการนอนหลับและสร้างพื้นฐานสุขภาพที่ดีให้กับร่างกาย ขอบคุณข้อมูลจาก : ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล

ปากเบี้ยว ตาตก! สัญญาณ “โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก”

ปากเบี้ยว ตาตก! สัญญาณ “โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก”

ปากเบี้ยว ตาตก! สัญญาณ “โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก” อาการป่วยที่พบมากถึง 5,000 คนต่อปี โดยมีหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่น่าห่วงคือกลุ่มของคนพักผ่อนน้อย โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก ความผิดปกติของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 “โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก” หรือ “Bell’s Palsy” เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ซึ่งเป็นเส้นประสาทที่ช่วยเลี้ยงกล้ามเนื้อของใบหน้าทั้งด้านบนและล่าง เพราะฉะนั้นเมื่อเวลามีความผิดปกติของเส้นประสาทสมองเส้นนี้ จะส่งผลให้กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงไป อย่างเช่นกรณีของคุณมดดำ ที่ส่งผลให้เกิดอาการปากเบี้ยว และตาตกไปอยู่ข้างหนึ่ง นอกจากนี้ เส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ยังเกี่ยวข้องกับการรับรสด้วย เพราะฉะนั้นผู้ป่วยอาจสูญเสียการรับรสของลิ้นด้านเดียวกันของใบหน้าที่อ่อนแรงไป หรือได้ยินเสียงดังกว่าปกติจากหูข้างนั้น อย่างไรก็ตามยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่า ทำไมถึงความผิดปกติของเส้นประสาทคู่ที่ 7 ได้ บางทีอาจจะเป็นจากอุบัติเหตุหรือจากเนื้องอก ก็เป็นไปได้ แต่สมมติบานที่น่าเชื่อถือมากที่สุดในปัจจุบัน คือ การเกิดจากการติดเชื้อไวรัส อาการของโรคปากเบี้ยวจะเกิดขึ้นแบบทันทีทันใด มักมีอาการเตือน ปวดหลังหู ก่อนที่จะเริ่มมีปากเบี้ยว และปิดตาไม่ได้ อาจพบว่ามีอาการแสบตาข้างเดียว เพราะไม่สามารถปิดตาได้สนิท หรือรับประทานอาหารแล้วน้ำลายไหลออกทางมุมปากข้างใด ข้างหนึ่ง อาการของโรคอาจจะเป็นมากขึ้นจนสามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจนเวลาผู้ป่วย พูด ยิ้ม หรือกะพริบตา บางรายอาจเป็นมากจนไม่สามารถขยับมุมปาก หลับตาหรือยักคิ้วหลิ่วตาได้เลย บางคนสังเกตว่าพูดไม่ชัด ผิวปากไม่ดัง หรือดูดน้ำไม่ได้ เนื่องจากกล้ามเนื้อใบหน้าข้างใดข้างหนึ่งทำงานไม่ได้เหมือนปกติ หลายคนบ่นว่า มีความรู้สึกเหมือนหน้าบวม ตึงและชาที่ใบหน้าครึ่งซีก ทั้งนี้เป็นเพราะเวลากล้ามเนื้อใบหน้าไม่ทำงานก็จะทำให้เลือดมาคั่งในบริเวณนั้นมากกว่าปกติ และจะมีผลกระตุ้นต่อเซลล์รับความรู้สึกบริเวณใบหน้า จึงเกิดอาการชาขึ้นได้ ทั้งๆ ที่ไม่มีการสูญเสียประสาทรับความรู้สึกที่ใบหน้าแต่อย่างใด อาการร่วมที่อาจพบได้คือ ลิ้นชาด้านเดียวกับที่ปากเบี้ยว ทานอาหารแล้วไม่รู้รส อาการของโรคนี้ จะหายไปภายใน 4-8 อาทิตย์ แต่ประมาณ 10 % มีโอกาสเกิดขึ้นอีก และอาจเกิดขึ้นที่ด้านตรงข้าม ของใบหน้าได้ มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มีอาการเหลือปรากฏให้เห็นไปเป็นเวลานาน หรือตลอดชีวิต แตกต่างจาก “อัมพฤกษ์” โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก เกิดจากความผิดปกติของตัวเส้นประสาท ไม่ได้อยู่ในเนื้อสมอง ส่งผลให้มีกล้ามเนื้อบนใบหน้าเท่านั้นที่อ่อนแรง แตกต่างจากอัมพฤกษ์ ซึ่งมีสาเหตุมากจากโรคหลอดเลือดในสมองที่เกิดจากความผิดปกติในเนื้อสมอง คนไข้นอกจากจะมีใบหน้าอ่อนแรงแล้ว อาจจะมีแขนขาอ่อนแรง มีอาการชา หรือพูดไม่ชัดอย่างอื่นร่วมด้วย คนที่มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคนี้ หญิงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะระยะสามเดือนสุดท้าย หรือหลังคลอดบุตร ผู้ที่มีประวัติว่าคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ที่เคยติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจมาก่อน เช่น โรคหวัด หรือ ไข้หวัดใหญ่ คนที่พักผ่อนไม่เพียงพอ ร่างกายอ่อนแอ ทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทานโรคต่ำลง คนที่มีภาวะเครียด คนที่เคยได้รับอุบัติเหตุ การดูแลตัวเองเมื่อมีอาการ ใช้น้ำตาเทียมเพื่อป้องกันตาแห้ง ใช้ยาขี้ผึ้งป้ายตาก่อนนอน หรือใช้ที่ครอบตาป้องกันฝุ่นเข้าตาขณะนอนหลับ สวมแว่นเวลาออกนอกบ้านเพื่อกันลมและฝุ่นละออง ห้ามขยี้ตาข้างที่ปิดไม่สนิท ทำกายภาพบำบัดโดยการออกกำลังกายกล้ามเนื้อใบหน้าเป็นประจำ หรือใช้อุปกรณ์พิเศษช่วยกระตุ้นใบหน้าข้างที่อ่อนแรง เช่น laser ฝังเข็มช่วยได้ในบางราย แต่หลักฐานทางการแพทย์ยังไม่มีข้อสนับสนุนชัดเจน มีคนเคยพูดถึงว่าการฝังเข็มสามารถช่วยได้ในคนไข้บางราย แต่ถ้าเราพิจารณาตามหลักฐานโดยรวมทางการแพทย์แล้ว ก็ยังไม่ได้มีข้อสนับสนุนชัดเจนว่ามีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์กันแน่ การป้องกันไม่ให้เกิดโรค พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที 3 -5 ครั้ง/สัปดาห์ สลายพฤติกรรมเสี่ยงทั้งหลาย เช่น ทำงานไม่มีวันพัก เครียดสะสม สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ทานอาหารซ้ำซากหนักไขมัน 1 ใน 5,000 คนต่อปี พบอาการหน้าเบี้ยว โรคนี้ที่จริงแล้วเป็นกันเยอะ ตามข้อมูลที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีเปิดเผยคือ ประมาณ 1 ใน 5,000 คนต่อปีจะเป็นโรคนี้ ส่วนในเรื่องของการป้องกันนั้น ปัญหาส่วนใหญ่มาจากไวรัส ซึ่งจะออกมาตอนที่ร่างกายอ่อนแอ ดังนั้นเราจะต้องสร้างภูมิต้านทานให้แข็งแรงอยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม โรคนี้ไม่ได้เป็นโรคร้ายแรงแต่อย่างใด และมักจะรักษาให้หายได้เกือบ 100% ภายในเวลาไม่เกิน 2 เดือน ถ้าหากผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ถูกต้องอย่างรวดเร็วและทันเวลา แต่ความไม่มีโรคคือลาภอันประเสริฐ ดังนั้นเราควรหันมาใส่ใจและดูแลสุขภาพของตัวเองกันตั้งแต่วันนี้ ขอบคุณข้อมูลจาก : ฺBDMS สถานีสุขภาพ

LONG COVID มีผลแค่ไหนกับโรคสมองและระบบประสาท

LONG COVID มีผลแค่ไหนกับโรคสมองและระบบประสาท

LONG COVID มีผลแค่ไหนกับโรคสมองและระบบประสาท โควิด-19 เป็นโรคติดเชื้อจากไวรัส SARS-CoV-2 ที่มีการระบาดกระจายเป็นวงกว้างตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งระยะเวลาที่ผ่านมาเกือบสองปี ข้อมูลด้านการแพทย์เกี่ยวกับเชื้อไวรัสนี้มีเพิ่มขึ้นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นวิธีการแพร่กระจายของเชื้อ พยาธิสรีรวิทยาของการเกิดโรค อาการและอาการแสดงของโรค การป้องกันการติดเชื้อ การรักษา และความรู้เกี่ยวกับวัคซีนที่ช่วยป้องกันไวรัสนี้ โดยหลังจากที่ผู้ป่วยบางรายหายจากโควิด-19 แล้ว พบว่ายังมีกลุ่มอาการเรื้อรังที่เกิดขึ้นในระบบต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ อาการทางสมองและระบบประสาท รู้จัก LONG COVID อาการและอาการแสดงของโรคโควิด-19 คล้ายคลึงกับการติดเชื้อไวรัสทางเดินหายใจอื่น ๆ เช่น ไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ ปวดศีรษะ มึนศีรษะ หอบเหนื่อย หายใจเร็ว และอาจมีบางอาการที่มีความจำเพาะต่อเชื้อไวรัสตัวนี้ เช่น การไม่ได้กลิ่นหรือการไม่ได้รส อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อสามารถมีอาการที่เกิดขึ้นภายหลังจากการรักษาหายจากโรคแล้วได้ด้วย ซึ่งกลุ่มอาการเหล่านั้นเรียกว่า ภาวะโพสต์โควิด (Post – COVID 19 Condition) หรือ ลองโควิด (Long COVID) Long COVID กลุ่มอาการหรือภาวะโพสต์โควิด (Post – COVID 19 Condition) หรือ ลองโควิด (Long COVID) นั้นมีชื่อเรียกต่าง ๆ กันไป เช่น COVID Long Hauler, Post – acute COVID syndrome, ภาวะหลังการติดเชื้อโควิด เป็นต้น อุบัติการณ์ของกลุ่มอาการนี้แตกต่างกันไปตามการศึกษาและงานวิจัยของแต่ละประเทศ ซึ่งขึ้นกับอุบัติการณ์ของการติดเชื้อ COVID-19 ทำให้มีรายงานอุบัติการณ์ของภาวะนี้ตั้งแต่ 32% จนถึง 96% ที่ 90 วันหลังการติดเชื้อ โดยข้อมูลล่าสุดของการทบทวนหลักฐานจากข้อมูลทางสถิติ (Meta – Analysis) ที่มีผู้ป่วย COVID-19 ประมาณ 10,000 คน พบว่า หลังจากติดเชื้อ 60 วัน มีผู้ป่วยถึง 73% ที่ยังคงมีอาการแม้ว่าจะรักษาโรคจนหายแล้ว (โดยการตรวจไม่พบสารพันธุกรรมไวรัส) อาการ LONG COVID นิยามของกลุ่มอาการโพสต์โควิด (Post – COVID 19 Condition) หรือ ลองโควิด (Long COVID) คือ กลุ่มอาการที่เกิดขึ้นภายหลังจากการติดเชื้อโควิดตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งเกิดขึ้นได้กับหลายระบบในร่างกาย โดยมีอาการและอาการแสดงในแต่ละระบบที่แตกต่างกันไปดังนี้ ระบบทางเดินหายใจ – อาการเหนื่อย หายใจไม่อิ่ม หายใจไม่สะดวก ระบบหัวใจและหลอดเลือด – อาการใจสั่น แน่นหน้าอก หัวใจเต้นเร็ว ระบบทางเดินอาหาร – ปวดท้อง ท้องเสีย ลดความอยากอาหาร อาการอื่น ๆ ที่ไม่จำเพาะเจาะจงต่อระบบใด ๆ– ปวดเมื่อยตามตัว ปวดตามข้อ ไม่มีแรง อ่อนเพลีย ความผิดปกติที่พบได้จากการตรวจเลือดโดยไม่มีอาการ – เช่น ค่าเอนไซม์ตับสูงขึ้นผิดปกติ ค่าการกรองและการทำงานของไตลดลง ค่าการทำงานของฮอร์โมนไทรอยด์ผิดปกติ ความสามารถในการควบคุมระดับน้ำตาลลดลงในผู้ป่วยเบาหวาน และค่าระบบการแข็งตัวของเลือดที่ผิดปกติ เป็นต้น LONG COVID กับอาการทางระบบประสาท อีกหนึ่งในกลุ่มอาการของโพสต์โควิด (Post – COVID 19 Condition) หรือ ลองโควิด (Long COVID) ที่พบได้บ่อย คือ อาการในส่วนของระบบประสาทและจิตเวชศาสตร์ ได้แก่ อาการปวดศีรษะ มึนศีรษะ นอนไม่หลับ ภาวะสมองล้า (Brain Fog) ภาวะสับสน (Delirium) ความผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติ (Autonomic Dysfunction) ภาวะเครียดภายหลังภยันตรายหรือพีทีเอสดี (Post Traumatic Stress Disorder: PTSD) อาการซึมเศร้า กลุ่มอาการย้ำคิดย้ำทำ และภาวะวิตกกังวล (Anxiety) เป็นต้น ภาวะสมองล้า (Brain fog) คือ ภาวะที่สมองมีการทำงานลดลง โดยส่งผลให้การคิดและตัดสินใจช้าลง การวางแผนและแก้ปัญหาลดลง รวมถึงการลดลงของสมาธิ (Attention) บางคนอาจเป็นมากจนส่งผลให้ลืมความจำระยะสั้น หรือทำให้ไม่สามารถทำงานที่เคยทำเป็นประจำได้ ความผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติ มี 2 ภาวะที่มักพบ ได้แก่ กลุ่มอาการหัวใจเต้นเร็วระหว่างเปลี่ยนท่า (Postural Orthostatic Tachycardia Syndrome: POTS) ซึ่งลักษณะของกลุ่มอาการนี้คือ หัวใจเต้นเร็วมากกว่าปกติเวลาเปลี่ยนท่า เช่น ลุกขึ้นยืนหรือนั่ง ซึ่งทำให้เกิดอาการใจสั่น แน่นหน้าอก หายใจลำบาก ปวดศีรษะ มึนศีรษะ ไปจนถึงหน้ามืดและหมดสติได้ ภาวะเหนื่อยล้าเรื้อรัง (Myalgia Encephalitis/Chronic Fatigue Syndrome, ME/CFS) ซึ่งอาการของภาวะนี้คือ อ่อนเพลียอย่างรุนแรง ปวดตามข้อและกล้ามเนื้อ เจ็บคอ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ สมองล้าคิดได้ช้าลง ขาดสมาธิ และมีปัญหาเรื่องการนอน LONG COVID ที่พบไม่บ่อยแต่อาการรุนแรง มีกลุ่มอาการหนึ่งที่พบได้ไม่บ่อยในกลุ่มเด็กที่อายุน้อยกว่า 21 ปี โดยเป็นภาวะที่พบได้หลังจากการติดเชื้อโควิด-19 เป็นเวลา 2 – 8 สัปดาห์ เรียกว่า กลุ่มอาการอักเสบหลายระบบในเด็ก (Multisystem Inflammatory Syndrome in Children, MIS-C, โรคมิสซี) ซึ่งจะมีการอักเสบในหลายระบบและมีอาการต่าง ๆ คล้ายกับภาวะ Long COVID ได้ เมื่อกลางเดือนกันยายน 2564 มีการรวบรวมข้อมูลและตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์โดยระบุว่า พบภาวะนี้ในผู้ใหญ่เช่นกัน เรียกว่า Multisystem Inflammatory Syndrome in Adult (MIS-A) ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการอักเสบทั่วร่างกายในหลาย ๆ ระบบ ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น ท้องเสีย ปวดท้อง คลื่นไส้ ไม่อยากอาหาร ใจสั่น แน่นอก หอบเหนื่อย หัวใจเต้นผิดจังหวะ ปวดศีรษะ รวมถึงความผิดปกติจากการตรวจเลือด เช่น เกล็ดเลือดต่ำ ค่าการอักเสบสูงขึ้น ค่าการบาดเจ็บของหัวใจสูงขึ้น เป็นต้น สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง LONG COVID สาเหตุของโพสต์โควิด (Post – COVID 19 Condition) หรือ ลองโควิด (Long COVID) นั้นยังไม่เป็นที่รู้แน่ชัด แต่จากหลักฐานข้อมูลที่มีอยู่ ณ ปัจจุบันคาดการณ์ว่า ภาวะนี้น่าจะเกิดจาก 3 สาเหตุที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ เชื้อไวรัสไปทำลายสมดุลระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ทำให้เกิดความผิดปกติขึ้น ติดเชื้อไวรัสแล้วร่างกายถูกกระตุ้นให้สร้างภูมิคุ้มกันและสารอักเสบมากขึ้นจนไปทำลายการทำงานของระบบอวัยวะต่าง ๆ ผลกระทบหลังการเจ็บป่วยรุนแรง (Post – Critical Illness) ซึ่งผู้ป่วยที่มีการเจ็บป่วยรุนแรงจะมีการทำลายของระบบไหลเวียนขนาดเล็ก (Microvascular Injury) รวมถึงมีความผิดปกติของสมดุลเกลือแร่และสารน้ำในร่างกาย จึงทำให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายมีการทำงานที่ผิดปกติหลังจากผ่านพ้นการเจ็บป่วยดังกล่าว ในแง่ของปัจจัยเสี่ยงของการเกิด Long COVID มีรายงานเบื้องต้นว่า เพศหญิง การมีโรคประจำตัวหอบหืด และช่วงอายุ 35 – 49 ปี เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการ Long COVID มากกว่ากลุ่มอื่น ส่วนปัจจัยเสี่ยงเกี่ยวกับตัวโรคพบว่า ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือมีอาการหลายระบบในช่วงที่มีการติดเชื้อโควิด-19 จะมีความเสี่ยงต่อการเป็น Long COVID มากกว่า อย่างไรก็ตามปัจจัยเสี่ยงในการเกิด Long COVID ดังกล่าวข้างต้นเป็นข้อมูลจากผุ้ป่วยจำนวนไม่มาก หากเทียบกับจำนวนผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อโควิด-19 ที่มีเป็นหลักล้านคน ดังนั้นอาจจะต้องรอการศึกษาในอนาคตที่มีการเก็บรวมรวมคนไข้ได้มากกว่านี้ ถึงจะสรุปได้แน่ชัดว่าปัจจัยเสี่ยงของภาวะดังกล่าวมีอะไรบ้าง LONG COVID กับโรคทางระบบประสาทและสมอง จากข้อมูลปัจจุบันพบว่า การมีโรคประจำตัวทางสมอง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคลมชัก โรคสมองเสื่อม หรือโรคพาร์กินสัน ไม่ถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะโพสต์โควิด (Post – COVID 19 Condition) หรือ ลองโควิด (Long COVID) แต่ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวดังกล่าว หากมีการติดเชื้อโควิด-19 มีความเสี่ยงที่จะกระตุ้นให้โรคกำเริบและทำให้อาการของตัวโรคแย่ลงเร็วกว่าคนที่ไม่มีการติดเชื้อ ยิ่งไปกว่านั้น มีข้อมูลพบว่าการติดเชื้อโควิด-19 จะทำให้มีโอกาสเป็นโรคแทรกซ้อนทางสมอง หรือทำให้อาการโรคเดิมแย่ลงได้มากกว่าการติดเชื้อทางเดินหายใจชนิดอื่น โดยพบว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 นั้นมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง (สมองขาดเลือดและเลือดออกในสมอง) โรคสมองเสื่อม และโรคทางจิตเวช (เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล) มากกว่าคนที่ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่หรือเชื้อไวรัสทางเดินหายใจชนิดอื่นอย่างมีนัยสำคัญ และยังพบว่าคนไข้จะมีความเสี่ยงต่อโรคดังกล่าวมากขึ้น หากมีประวัติการติดเชื้อโควิด-19 ที่ต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล หรือได้รับการรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤติ (Intensive Care Unit, ICU) หรือมีภาวะสับสน (Delirium) ขณะรักษาในโรงพยาบาล ดังนั้นไม่ว่าจะมีโรคประจำตัวทางระบบประสาทมาก่อนหรือไม่ การติดเชื้อโควิด-19 สามารถส่งผลกระทบต่อร่างกายได้ทั้งหมด หากไม่มีโรคประจำตัวจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคต่าง ๆ หลังการติดเชื้อ แต่หากมีโรคประจำตัวมาก่อน การติดเชื้อจะทำให้การดำเนินโรคนั้นแย่ลงเร็วขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้มีอาการต่าง ๆ ในภาวะ Long COVID ตามมาด้วยเช่นกัน และถึงแม้ว่าการมีโรคประจำตัวทางระบบประสาทจะไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็น Long COVID มากกว่าประชากรโดยทั่วไป แต่การที่โรคประจำตัวแย่ลงเร็วกว่าที่ควรจะเป็นย่อมส่งผลอย่างมากต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย รักษา LONG COVID ส่วนใหญ่การรักษาโพสต์โควิด (Post – COVID 19 Condition) หรือ ลองโควิด (Long COVID) จะเป็นการรักษาตามอาการเป็นหลัก ยังไม่มีการรักษาจำเพาะต่อภาวะนี้ อย่างไรก็ตามมีการศึกษาวิจัยจำนวนมากเพื่อค้นหาการรักษา รวมถึงแนวทางในการป้องกันภาวะนี้ ซึ่งคงต้องรอติดตามผลการศึกษาดังกล่าวต่อไป สิ่งที่สามารถทำได้ดีที่สุดในตอนนี้เพื่อป้องกันภาวะโพสต์โควิด (Post – COVID 19 Condition) หรือ ลองโควิด (Long COVID) คือการป้องกันตัวเองให้ไม่เป็นโควิด-19 ดูแลสุขภาพร่างกาย ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และหากมีอาการผิดปกติควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม นำไปสู่การรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงที ขอบคุณข้อมูลจาก : ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล

โรคหลอดเลือดสมอง เร็วก็รอด...ปลอดอัมพาต 2

โรคหลอดเลือดสมอง เร็วก็รอด...ปลอดอัมพาต 2

Hospital Logo

ติดต่อสอบถามเจ้าหน้าที่

บริการให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง