นอนหลับดีเสริมการทำงานของสมอง
การทำงานของสมองในชีวิตประจำวันต้องคิดและตอบสนองหลายอย่าง สมองจำเป็นต้องได้รับพลังงานอย่างเพียงพอ แต่ยิ่งตื่นอยู่นานแค่ไหน พลังงานของสมองจะค่อย ๆ ลดลงมากเท่านั้น แต่ในทางตรงกันข้ามจะมีการสะสมของเสียที่เกิดจากการใช้พลังงานของเซลล์ประสาทคล้ายเป็นขยะ เกะกะ กีดขวางความสามารถในการส่งกระแสประสาท และที่พบบ่อยคือ เศษของโปรตีนเทา (Tau Protein) และชิ้นส่วนของอะไมลอยด์ (Amyloid Beta) แต่เมื่อได้หลับสมองจะมีกระบวนการกำจัดเศษชิ้นส่วนเทาและอะไมลอยด์อย่างสมดุล ซึ่งต้องเป็นการหลับที่มีคุณภาพและได้ปริมาณที่เหมาะสมตามวัย
ปัญหาการนอนสร้างของเสีย
หากเป็นผู้ที่มีปัญหาการนอนหลับ เช่น ใช้เวลานานกว่าจะหลับได้ นอนไม่หลับ หรือนอนหลับแต่ละครั้งไม่มีคุณภาพ เช่น นอนกรน มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ นอนกัดฟัน นอนดิ้น นอนละเมอ หรือตารางการนอนหลับไม่สม่ำเสมอ ทั้งหมดนี้จะยิ่งทำให้ร่างกายมีกระบวนการสร้างของเสียมากขึ้น มีการสะสมของเทาโปรตีนและอะไมลอยด์มากขึ้นในสมอง แต่กำจัดได้น้อยลง การสะสมนี้จะนำไปสู่ภาวะสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์
ผู้ที่เป็นอัลไซเมอร์บางคนจะมีปัญหาหลับตื่นไม่เป็นเวลา หลับกลางวัน ตื่นกลางคืน มีพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติไป น้ำหนักตัว บางคนจะอ้วนขึ้นหรืออาจผอมลง เพราะโปรตีนเทากระจายไปรบกวนการทำงานของสมองที่ควบคุมวงจรการหลับตื่นของร่างกาย ตลอดจนสมองที่ควบคุมการสร้างฮอร์โมนควบคุมศูนย์หิวและอิ่มและฮอร์โมนอื่น ๆ ของร่างกายจึงเกิดเป็นวงจรการนอนหลับไม่มีคุณภาพ หรือหลับปริมาณน้อย หรือแม้แต่มากเกินไป เป็นปัจจัยชักนำของภาวะสมองเสื่อมที่ส่งผลให้ร่างกายระบบต่าง ๆ เสื่อมไปด้วย
หลับดีสมองทำงานดี
การนอนหลับที่มีคุณภาพช่วยให้สมองกำจัดโปรตีนเทา อะไมลอยด์ และผลิตผลขยะเพื่อสร้างความสมบูรณ์ของสมองและร่างกายอีกครั้ง ประกอบไปด้วย
- นอนหลับในปริมาณที่เหมาะสม 7 – 9 ชั่วโมงในผู้ใหญ่
- รูปแบบและตารางการนอนหลับที่สม่ำเสมอในช่วงเวลาที่เหมาะสมตามนาฬิกาโลก
- เริ่มต้นหลับได้ไม่ยาก หลับได้ต่อเนื่อง ไม่หลับ ๆ ตื่น ๆ ไม่ลุกเข้าห้องน้ำมากกว่า 1 ครั้งต่อคืน
- มีคุณภาพการนอนหลับที่ดี ได้แก่
- สมองหลับได้ทั้งระยะหลับตื้น หลับลึก และหลับฝันครบวงจรอย่างสมบูรณ์
- หายใจได้ดี ไม่หยุดหายใจ ไม่ติดขัด
- ไม่กรน ไม่กัดฟัน
- หัวใจเต้นเป็นจังหวะปกติ
- กล้ามเนื้อผ่อนคลายขณะหลับ
- ไม่ละเมอ
- ไม่มีการกระตุกของร่างกาย หลับสงบไม่ผวากรีดร้อง
ดังนั้นเพื่อเสริมสร้างการทำงานของสมอง การนอนหลับจึงเป็นปัจจัยสำคัญ ต้องหาเวลาที่เหมาะสมกับการเข้านอน ช่วงเวลาที่ร่างกายพร้อมจะหลับ ปรับเพิ่มคุณภาพการนอนหลับให้เหมาะสมกับความต้องการของสมองและร่างกายตามวัย เพื่อให้สมองได้พัก ซ่อมแซม และเสริมสร้างความคิดความจำอย่างมีประสิทธิภาพ
ขอบคุณข้อมูลจาก : ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล