เตือนผู้ปกครอง ระวังบุตรหลาน! ไวรัส hMPV (Human metapneumovirus) เริ่มระบาดสูงขึ้นช่วงปลายฝนต้นหนาวอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ยังไม่มีวัคซีนรักษา บางรายอาจเสี่ยงปอดอักเสบร่วม!
Human metapneumovirus (hMPV) หรือเชื้อไวรัสฮิวแมนเมตะนิวโม เป็นไวรัสชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการติดเชื้อในทางเดินหายใจ มีไข้ ไอ น้ำมูก คล้ายกับไข้หวัดใหญ่ แต่ไม่ได้เป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่แต่อย่างใด ฤดูกาลที่พบการติดเชื้อมาก จะมี 2 ช่วง คือ ช่วงฤดูฝน และฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงที่เด็กๆมักมีอาการหวัด ติดเชื้อทางเดินหายใจได้บ่อย ซึ่งการตรวจหาเชื้อนั้นทำได้โดยมีทีการเดียวกับไข้หวัดใหญ่และ RSVโดยวิธีการ swab โดยมักพบอาการในกลุ่มเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ปี และผู้สูงอายุ
อาการผู้ที่ติดเชื้อไวรัส hMPV
ผู้ป่วยมักมีอาการของระบบทางเดินหายใจ คล้ายกับไข้หวัดใหญ่ คือ มีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ ซึ่งพบมากในเด็กเล็กแต่ในผู้ใหญ่และเด็กโต ที่มีภูมิต้านทานดีหากติดเชื้อนี้ อาจจะมีอาการเหมือนแค่เป็นหวัดธรรมดา หรือไม่มีอาการก็ได้ อย่างไรก็ตามไวรัส hMPVเป็นกลุ่มโรคเดียวกันกับเชื้อไวรัส RSV เป็นสาเหตุหนึ่งของปอดอักเสบในเด็กเล็กและผู้สูงอายุด้วย
การป้องกันโรคไวรัส hMPV
เนื่องจาก ยังไม่มีวัคซีน หรือยาต้านไวรัสที่ใช้รักษาเชื้อนี้โดยตรงจึงเป็นการรักษาแบบประคับประคองเหมือนไข้หวัดใหญ่และ RSV ทั่วไป ขณะที่การป้องกันโรค จึงใช้หลักการเดียวกับการป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจอื่นๆ คือล้างมือให้สะอาด ไม่เอามือไปแคะจมูกหรือเอามือเข้าปาก ไม่คลุกคลีกับคนที่ป่วย ใส่หน้ากากอนามัยเมื่อไปในที่ชุมชนคนเยอะๆเพื่อลดโอกาสการติดเชื้อทางเดินหายใจ
รู้จักโรคปอดบวมจากไวรัส
โรคปอดบวม มีชื่อเรียกทางการแพทย์ว่า โรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อ หรือโรคนิวโมเนีย (pneumonia) เป็นโรคติดเชื้อที่ปอด ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย นอกจากนี้ยังเกิดจากการติดเชื้อโรคชนิดอื่นๆ ได้ เช่น เชื้อไมโคพลาสมา (mycloplasma) และเชื้อรา ซึ่งทำให้เกิดอาการไอ หายใจลำบาก และหอบเหนื่อย
อาการโรคปอดบวมที่ควรสังเกต
- อาการปอดบวมอาจสังเกตได้จากการมีไข้ ไอ
- หายใจเร็ว หอบเหนื่อย หายใจลำบาก หายใจแรงจนรูจมูกบาน
- หายใจแรงมากจนหน้าอกบุ๋ม
- เกิดหลอดลมภายในปอดตีบก็อาจได้เกิดเสียงหายใจวี๊ด (wheeze)
- รายที่มีอาการรุนแรงมากอาจทำให้ภาวะหัวใจล้มเหลว และถ้าหายใจลำบากอยู่นาน จะทำให้ขาดออกซิเจน ผู้ป่วยอาจซึมลง หรือหมดสติในที่สุด
การรักษาโรคปอดบวมโดยทั่วไปจะรักษาด้วยวิธีใด?
- แนะนำให้ดื่มน้ำมากๆ ในรายที่หอบมากจนรับประทานอาหารไม่ได้ ควรให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ และงดรับประทานอาหารทางปากเพื่อป้องกันการสำลัก
- ให้ออกซิเจน เพื่อให้ร่างกายได้รับปริมาณออกซิเจนที่เพียงพอ
- ให้ยาขยายหลอดลมสำหรับรายที่หลอดลมตีบจนเกิดเสียงหายใจวี๊ด
พิจารณาให้ยาขับเสมหะ หรือยาละลายเสมหะในกรณีที่ให้สารน้ำเต็มที่แล้วแต่เสมหะยังเหนียวอยู่ ไม่ควรให้ยาที่ออกฤทธิ์กดการไอ โดยเฉพาะในเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี เพราะยาที่กดการไอจะทำให้มีเสมหะคั่งค้างอยู่ภายในถุงลมปอดมากขึ้น ควรให้ผู้ป่วยไออย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้เสมหะออกมามากที่สุด
การรักษาอาการปอดบวมตามชนิดของเชื้อโรค
ถ้าเกิดจากการติดเชื้อไวรัส โดยทั่วไปไม่มียารักษาที่เฉพาะ การรักษาส่วนใหญ่จึงเป็นการรักษาตามอาการ รวมถึงการบำบัดรักษาทางระบบหายใจที่เหมาะสม เช่น การเคาะปอด การดูดเสมหะ ในกรณีที่ตรวจพบว่าเกิดจากเชื้อไวรัสที่มียารักษาเฉพาะ เช่น เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ แพทย์อาจพิจารณาให้ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ร่วมด้วยถ้าเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ควรรักษาด้วยยาปฏิชีวนะให้เร็วที่สุด และเลือกยาปฏิชีวนะที่เหมาะกับเชื้อแบคทีเรียแต่ละชนิด โดยใช้ข้อมูลทางระบาดวิทยาคลินิกในการตัดสินใจเลือกยาปฏิชีวนะนั้น
ขอบคุณข้อมูลจาก : BDMS สถานีสุขภาพ