โรคหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน
หลอดลมอักเสบแบ่งเป็นชนิดเฉียบพลัน กับชนิดเรื้อรัง ในที่นี้จะกล่าวถึงชนิดเฉียบพลันก่อน หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน เป็นโรคที่พบได้บ่อยในทุกคนทุกเพศทุกวัย ซึ่งมักพบหลังเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ส่วนมากเกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งจะมีอาการไอ มีเสมหะขาว บางครั้งอาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งจะไอมีเสมหะสีเหลืองหรือเขียว นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากการถูกสารระคายเคือง เช่น ควันบุหรี่ ไอเสียรถยนต์ ฝุ่นละออง เป็นต้น ซึ่งอาจทําให้มีอาการเรื้อรังได้
อาการ
มีอาการไอ ซึ่งมักมีอาการมากตอนกลางคืน ระยะแรกจะไอแห้งๆ อาจมีเสียงแหบ และเจ็บหน้าอกเพราะไอมาก 4 - 5 วัน ต่อมาจะมีเสมหะเหนียวเป็นสีขาว(เชื้อไวรัส) หรือขุ่นข้นเป็นสีเหลืองหรือสีเขียว(เชื้อแบคทีเรีย) ในเด็กอาจไอจนอาเจียน อาจมีไข้ต่ำๆ หรือไม่มีก็ได้ บางคนอาจมีอาการหอบหืดร่วมด้วย เรียกว่า หืดจากหลอดลมอักเสบ (Asthmatic bronchitis)
อาการแทรกซ้อน
โรคนี้มักหายได้ภายใน 1-3 สัปดาห์ แต่บางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน ที่พบได้บ่อย ได้แก่ หลอดลมอักเสบเรื้อรัง หลอดลมพอง ถุงลมพอง
การรักษา
- แนะนําให้ผู้ป่วยพักผ่อนให้มากขึ้น ควรดื่มน้ำอุ่นมากๆ เพื่อช่วยให้เสมหะออกได้ง่ายขึ้น ไม่ควรดื่มน้ำเย็นหรือน้ำแข็ง อาจทําให้ไอมากขึ้น ไม่ควรอยู่ในที่ ๆ มีอากาศเสียหรือฝุ่นละอองมาก
- ให้ยาขับเสมหะ ไม่ควรให้ยาแก้ไอชนิดกดการไอ เช่น ยาแก้ไอน้ำดํา ยาแก้ไอน้ำเชื่อม หรือยาโคเดอีน เพราะจะทําให้เสมหะเหนียว ขากออกยาก และอาจอุดกั้นหลอดลมเล็กๆทําให้ปอดบางส่วนแฟบได้
- ถ้าไอนานเกิน 3 สัปดาห์ หรือมีไข้นานเกิน 1 สัปดาห์ หรือน้ำหนักลดควรส่งโรงพยาบาล อาจต้องเอกซเรย์ ตรวจเสมหะ หาสาเหตุและรักษาตามสาเหตุ
ข้อแนะนำ
โรคนี้มักเป็นหลังจากเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่และอาจไออยู่นาน 2 - 3 สัปดาห์ โดยที่สุขภาพทั่วไปแข็งแรงดี แต่ถ้าพบว่ามีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด หรือมีไข้เรื้อรัง อาจเป็นจากสาเหตุอื่น เช่น วัณโรค หากสงสัยควรส่งโรงพยาบาล ถ้าไอมีเสมหะ ควรดื่มน้ำอุ่นมากๆ และไม่ควรซื้อยาแก้ไอรับประทานเอง เพราะยาแก้ไอบางชนิดกดการไอ ทำให้เสมหะค้่งภายในไม่ถูกขับออกมาได้
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่คลินิกกุมารเวช โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี 039-319888