ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด
ภาวะตัวเหลือง (Jaundice) เกิดจากการที่ร่างกายมีสารสีเหลืองที่เรียกว่า บิลิรูบิน (Bilirubin) ในกระแสเลือดมากกว่าปกติ บิลิรูบินเกิดจากการสลายตัวของเม็ดเลือดแดง โดยมีตับเป็นอวัยวะสําคัญที่จะเปลี่ยนแปลงสารสีเหลืองนี้เพื่อขับออกทางท่อน้ำดี โดยออกมากับอุจจาระ และขับออกมาทางปัสสาวะด้วย
สาเหตุ
- ภาวะปกติที่ไม่ใช่โรค (physiological jaundice) พบเป็นส่วนใหญ่ในทารกหลังคลอด เนื่องจากขณะอยู่ในครรภ์มารดา ทารกมีจํานวนเม็ดเลือดแดงมากกว่าทารกหลังคลอด เม็ดเลือดแดงส่วนเกินนี้จะถูกทําลาย สารฮีมภายในถูกเปลี่ยนเป็นบิลิรูบิน แม้ทารกที่มีสุขภาพแข็งแรงดีประมาณ 50-60% ก็อาจมีตัวเหลืองได้ตั้งแต่อายุ 2-3 วัน และมักจะหายเหลืองเมื่อมีอายุ 5-7 วัน
- ภาวะตัวเหลืองที่เกิดจากการแตกทําลายของเม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้น เช่น
- หมู่เลือดของมารดาและทารกไม่เข้ากัน มักพบในมารดาหมู่เลือดโอ และทารกหมู่เลือด เอ หรือ บี และอาจพบตัวเหลืองมาก ๆ ได้ ในมารดาที่มีหมู่เลือด Rh ลบ โดยที่ทารกมี Rh บวก ฯลฯ
- ทารกที่มีความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง หรือขาดเอนไซม์บางอย่างในเม็ดเลือดแดง เช่น G6PD ทําให้เม็ดเลือดแดงแตก ทําลายง่าย
- ทารกมีเม็ดเลือดแดงจํานวนมาก โดยเฉพาะทารกที่คลอดจากมารดาที่เป็นเบาหวาน
- ทารกมีเลือดออกหรือเลือดคั่งเฉพาะส่วน เช่น บวมโนที่ศีรษะจากการคลอด ทารกหน้าคล้ำหลังคลอด เป็นต้น
- การติดเชื้อในทารกแรกเกิด ซึ่งมักมีอาการซึม ไม่ดูดนม อาจท้องอืด อาเจียน มีไข้ หรือไม่มีก็ได้
- สาเหตุอื่นๆ
- นมแม่ดีที่สุดสําหรับทารก แต่เด็กทารกที่ดูดนมแม่อาจพบมีภาวะตัวเหลืองในปลายอาทิตย์แรก และอาจเหลืองนานเกิน 7-10 วันได้
- โรคบางอย่างทําให้ทารกมีภาวะตัวเหลืองนาน เช่น ภาวะพร่องฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ ทารกที่มีการทํางานของตับไม่ดี เช่น ตับอักเสบ
- โรคอื่นๆ ที่พบน้อยมาก เช่น มีการอุดตันในทางเดินอาหาร ในกระเพาะอาหาร ลําไส้ หรือท่อน้ำดี สารสีเหลืองจึงขับออกมาไม่ได้
- ทารกคลอดก่อนกําหนด เนื่องจากตับทํางานได้ไม่ดีเท่าทารกที่คลอดครบกําหนด จึงอาจพบภาวะตัวเหลืองได้สูงกว่าปกติ
สารสีเหลืองนี้จะอยู่ในกระแสเลือด และไปจับตามเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ที่ผิวหนัง(ผิวทารกจึงเป็นสีเหลือง) ที่ตา(เห็นตาขาวเป็นสีเหลือง) และที่อันตราย คือ บิลิรูบินที่สูงเกินสําหรับทารกนั้นไปจับกับเซลล์สมองอาจทําให้มีอาการผิดปกติ เช่น ซึม ไม่ดูดนม ร้องเสียงแหลม ชักเกร็ง หลังแอ่น ทารกมีปัญญาอ่อน พิการหูหนวกตามมาได้
วิธีสังเกตว่าลูกตัวเหลืองหรือไม่
ทารกบางคนเห็นได้ชัดเจนว่ามีตาและตัวเหลือง กรณีที่ไม่แน่ใจในห้องที่มีแสงสว่างพอให้ใช้นิ้วมือกดลงบนผิวหนังเด็ก เมื่อปล่อยมือควรจะเห็นสีขาวซีดกลับเห็นเป็นสีเหลือง ถ้าเห็นชัดเจนที่บริเวณใบหน้าลงมาจนถึงท้อง ควรพามาพบแพทย์ ความเชื่อเก่า ๆ เกี่ยวกับตัวเหลืองที่ไม่ถูกต้อง เช่น ให้ทารกดื่มน้ำมาก ๆ มีผลเสียที่ทําให้ทารกดูดนมน้อยเพราะอิ่มน้ำ การนําทารกไปผึ่งแดด แต่ปัจจุบันไม่แนะนํา
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่คลินิกกุมารเวช โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี 039-319888