ค้นหามะเร็งปอดด้วย Low-Dose CT Chest screening

Low Dose CT Chest คือ การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์บริเวณทรวงอกด้วยปริมาณรังสีที่ต่ำให้ภาพ 3 มิติที่ให้รายละเอียดได้ดีในบริเวณปอด แม้ใช้ปริมาณรังสีไม่สูงมากและไม่ต้องฉีดสารทึบแสงก็สามารถตรวจพบจุดเล็ก ๆ หรือก้อนในปอดได้ดี จากการศึกษาทางคลินิกพบว่า การตรวจคัดกรองมะเร็งปอดระยะเริ่มต้น ด้วยวิธี LDCT ประจำปี สามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอดได้สูงถึงร้อยละ 20 ในคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอด เนื่องจากการตรวจพบมะเร็งปอดในระยะเริ่มต้น ขณะที่ยังไม่แสดงอาการใด ๆ นั้น มีโอกาสรักษาหายได้มากกว่า โดยที่ผู้ป่วยได้รับปริมาณรังสีจากการตรวจน้อยกว่าการตรวจด้วยวิธีเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบมาตรฐาน (Computed Tomography (CT)–Chest) ซึ่งจากการวิจัยของ National Lung Screening Trial (NLST) ในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อตรวจคัดกรองในกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูง เช่น กลุ่มที่สูบบุหรี่จัด และมีอายุมากกว่า 50 ปี (High Risk Group) ด้วย Low Dose CT (LDCT) สามารถลดอัตราการตายจากมะเร็งปอดได้ 15 – 20% เมื่อเทียบกับการทำ Screen ด้วย X – ray ทรวงอกปกติ

ข้อดีของการทำ Low Dose CT

ได้ภาพสามมิติที่ให้รายละเอียดได้ดีกว่า Chest X – ray ซึ่งเป็นภาพ 2 มิติ

  • ตรวจพบมะเร็งระยะแรกได้ชัดเจนกว่า Chest X-ray
  • ตรวจง่าย ใช้เวลาไม่นาน ผลข้างเคียงน้อย

ข้อเสียของการทำ Low Dose CT

  • ได้รับรังสี (แต่ก็ปริมาณน้อย)
  • ราคาสูงกว่าการทำ Chest X – ray

วิธีการเตรียมตัวและการตรวจ Low Dose CT Chest

  • ไม่ต้องงดอาหาร สามารถทำได้เลย ไม่ต้องมีการเตรียมตัวพิเศษหรือเจาะเลือด
  • เปลี่ยนชุดแล้วนอนบนเตียงตรวจในเครื่อง CT
  • กลั้นหายใจระหว่างการตรวจประมาณ 15-20 วินาที
  • ใช้เวลาตรวจทั้งหมดประมาณ 5 – 10 นาที (บนเครื่อง CT Scanner)

การแปลผล

เมื่อตรวจเสร็จแล้วรังสีแพทย์จะดูว่ามีจุดหรือก้อนหรือไม่ ขนาดและรูปร่างเป็นอย่างไร เพื่อจะดูว่ามีโอกาสจะเป็นเนื้อร้ายมากน้อยแค่ไหน กรณีที่สงสัยมากอาจจะแนะนำให้ตรวจเพิ่มเติมด้วย CT หรือ PET/CT หรือเจาะตรวจชิ้นเนื้ออีกที ถ้าไม่สงสัยหรือสงสัยน้อยก็จะแนะนำให้ตรวจซ้ำปีละครั้ง

ข้อควรทราบ

  • ผลการตรวจที่ผิดปกติที่รายงาน ไม่สามารถบอกได้ว่าก้อนหรือจุดดังกล่าวในปอดเป็นมะเร็งหรือไม่ แพทย์จะเป็นคนแจ้งผลและให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับท่านต่อไป
  • ผลการตรวจที่ผิดปกติที่รายงาน ไม่ได้รับรองท่านได้ว่า ในอนาคตก้อนหรือจุดดังกล่าวจะไม่เป็นมะเร็งปอด ซึ่งตามคำแนะนำที่เหมาะสม ท่านต้องติดตามการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำ (low-dosecomputed tomography, LDCT) ต่อเนื่องอย่างน้อยทุก 1 ปี

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี 039-319888

บทความที่เกี่ยวข้อง

ไข้หรือตัวร้อน

ไข้หรือตัวร้อน

ไข้หรือตัวร้อน ไข้หรือตัวร้อน หมายถึง อุณหภูมิกายเพิ่มสูงกว่าปกติ หากเป็นอุณหภูมิที่วัดทางปากต้องสูงเกิน 37.2 c เวลาที่มีไข้ไม่จำเป็นว่าทุกส่วนของร่างกายจะต้องร้อนเท่ากันหมด อาจร้อนที่ศีรษะ ลำตัว และแขนขา แต่ฝ่ามือฝ่าเท้าเย็น ในสังคมไทยมีความเชื่อที่สืบทอดมาแต่โบราณว่า การที่ศีรษะร้อนแต่เย็นที่ฝ่ามือฝ่าเท้าหมายถึงว่า ผู้ป่วยมีอาการหนัก ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิดและก่อความทุกข์ใจให้แก่คนเชื่อมาก สาเหตุของไข้มีมากมาย และระยะเวลาที่ไข้จะปรากฏในแต่ละโรคจะยาวนานต่างกัน เช่น 1. โรคหวัด หรือ ไข้หวัด (Acute Rhinopharyngitis : Common cold)ผู้ป่วยจะมีไข้ น้ำมูกไหล ไอ จาม คัดจมูก อาการไข้จะมีอยู่ ราว 3-4 วัน ก็หายไปหากไม่มีโรคแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม หูอักเสบ 2. ไข้หวัดใหญ่ (Influenza) ผู้ป่วยจะมีไข้ ปวดเบ้าตา ปวดท้อง ปวดเมื่อยตามแขนขา ไข้อาจสูงถึง 40 c อาการไข้ปรากฏอยู่ 3-5 วัน และหายโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ 3. ไข้เลือดออก ไข้จะมีอยู่ 3-4 วัน ร่วมกับอาการซึม ใบหน้าแดง เบื่ออาหารอย่างมาก คลื่นไส้ อาเจียน ปวดใต้ชายโครงข้างขวา บางคนจะมีอาเจียนเป็นเลือดหรือถ่ายอุจาระสีดำเหมือนน้ำมันดิน และอาจช๊อคในวันที่ 4 ของไข้ 4. ปอดอักเสบหรือปอดบวม มักมีอาการของไข้หวัดนำมาก่อน 2-3 วัน ต่อมามีอาการไข้สูงขึ้น ไอมากขึ้น และหายใจเร็ว (อัตราการหายใจเพิ่มขึ้น) หายใจหอบ (รูจมูกบาน ช่องซี่โครงบุ๋ม เป็นต้น) เบื่ออาหาร กินไม่ได้ โดยปกติผู้ป่วยจำเป็นต้องอยู่รักษาในโรงพยาบาลเพื่อให้สารน้ำทางหลอดเลือด ช่วยให้ได้น้ำและอาหารทดแทน ที่ได้ทางปากไม่เพียงพอ และอาจต้องให้ออกซิเจนเพื่อแก้ไขภาวะเลือดขาดออกซิเจน จากตัวอย่างที่กล่าวมา ท่านจะเห็นว่า ไข้หรือตัวร้อนเป็นเพียงอาการของโรคอย่างหนึ่งเท่านั้น เมื่อท่านเข้าใจอย่างนี้แล้ว เมื่อบุตรของท่านมีไข้หรือตัวร้อนท่านจะได้ไม่วิตกเรื่องไข้ แต่ควรวิตกว่าโรคอะไรที่ทำให้บุตรของท่านมีไข้ หากมีสาเหตุจากไข้หวัดธรรมดา ท่านก็ไม่ควรวิตกเพราะปกติมักไม่มีโรคแทรกซ้อนใดๆ และไข้จะหายใน 3-4 วัน หากเกิดจากไข้ไทฟอยด์ ท่านก็ควรจะวิตกเพราะถ้ารักษาไม่ถูกต้อง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ มากมายและอาจถึงชีวิตได้ ยาลดไข้ ยาลดไข้เป็นเพียงยาบรรเทา ไม่ใช่ยารักษาสาเหตุที่ทำให้เกิดไข้ กล่าวคือ เมื่อกินยา 1 ครั้ง ยาจะออกฤทธิ์ ลดไข้อยู่ได้นาน 4-6 ชั่วโมง หากสาเหตุที่ทำให้เกิดไข้ยังไม่หาย เมื่อยาหมดฤทธิ์แล้วไข้ก็จะปรากฏใหม่ ท่านก็ค่อยให้ยาใหม่ หากบุตรของท่านมีไข้ไม่สูง มีเพียงศีรษะอุ่น ไม่กระวนกระวาย ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยาลดไข้ เพราะยาลดไข้เป็นเพียงยาระงับหรือบรรเทาไข้ชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น ยาลดไข้ไม่ใช่ยาที่ปราศจากโทษ ยาที่นิยมใช้ได้แก่ 1. ยาแอสไพริน หากกินมากเกินขนาด ทำให้มีไข้สูง ซึม ชักและถึงตายได้ 2. ยาพาราเซทามอล ขนาดสูง ทำให้ตับถูกทำลาย และตายจากตับล้มเหลว ฉะนั้น ท่านจึงควรให้ยาลดไข้เมื่อไข้สูงเท่านั้น และให้ในขนาดที่เหมาะสมกับน้ำหนักตัว ห้ามให้ถี่กว่า 4 ชั่วโมง หากให้ยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลด ควรให้เด็กดื่มนำมากๆ ร่วมกับการเช็ดตัวด้วยน้ำประปาจนกว่าไข้จะลด ท่านไม่จำเป็นต้องพาเด็กไปพบแพทย์ทันทีของการมีไข้ หากเด็กยังเล่นได้ ดูทีวีได้ ท่านเพียงให้ยาลดไข้ เป็นครั้งเป็นคราว แต่ถ้าภายใน 2-3 วันอาการไข้ยังไม่ทุเลาจึงพาไปพบแพทย์ เพราะไข้จะหายเองเมื่อถึงกำหนดระยะของโรค แม้ไปพบแพทย์ก็ไม่ได้ช่วยให้หายไข้เร็วขึ้น ขณะมีไข้สูง เด็กมักกินอาหารได้น้อยลง ทำให้มีกากอาหารในลำไส้น้อย มีผลทำให้ไม่ถ่ายอุจจาระ ในสังคมไทยมีความเชื่อว่า หากเด็กไม่ถ่ายอุจจาระจะทำให้ไข้ยิ่งสูง ความเชื่อนี้ต้องการการแก้ไข ท่านไม่ควรใช้วิธีการใดๆ ทำให้เด็กถ่าย เพราะการไม่ถ่ายเกิดจาก การกินอาหารน้อยลง การกินยาระบายหรือการเหน็บยาอาจมีอันตรายหากสาเหตุของไข้เกิดจาก ไข้ไทฟอยด์หรือไส้ติ่งอักเสบ เพราะทำให้ลำไส้แตกทะลุได้ อาการแทรกซ้อน อาการแทรกซ้อนของไข้ที่ต้องระวังคือ การชักจากไข้สูง ซึ่งพบในช่วงอายุ 6 เดือน ถึง 6 ปี เด็กที่เคยชักเวลามีไข้สูงหรือพ่อ แม่ พี่ๆ มีประวัติชักเมื่อไข้สูง ต้องระวังการมีไข้เป็นพิเศษ โดยเช็คตัวและให้ยาลดไข้เพื่อป้องกันไม่ให้ไข้สูง สอบถามเพิ่มเติมที่คลินิกโรคปอดและระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี 039-319888

เยื่อหุมปอดอักเสบ

เยื่อหุมปอดอักเสบ

เยื่อหุมปอดอักเสบ (Pleuritis / Pleurisy) เยื่อหุ่มปอดอักเสบ มักมีอาการไม่รุนแรงและส่วนมากจะหายได้เองใน 2-3 วัน (มักไม่เกิน 5 วัน) ซึ่งพบได้หลังจากเป็นหวัด สาเหตุ ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส ส่วนน้อยพบร่วมกับโรคของปอด เช่น ปอดอักเสบ วัณโรคปอด ปอดทะลุ ภาวะมีน้ำหรือหนองในช่องหุ้มปอด ฝีในปอด เป็นต้น อาการ มักมีอาการเจ็บแปล๊บเพียงชั่วไม่กี่วินาทีที่หน้าอกซีกใดซีกหนึ่ง เป็นครั้งคราวเฉพาะเวลาหายใจเข้าลึก ๆ เวลาไอหรือจาม มักไม่มีไข้ ตรวจร่างกายมักไม่พบความผิดปกติ ในรายที่เกิดเยื่อหุ้มปอดอักเสบที่พบร่วมกับโรคอื่น อาจมีอาการ ไข้สูง หอบ ปอดมีเสียงกรอบแกรบ การรักษา หากเจ็บหน้าอกรุนแรง มีไข้สูง หอบเหนื่อย ควรเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล สอบถามเพิ่มเติมได้ที่คลินิกโรคปอดและระบบทางเดินหายใจ

โรคหวัด หรือ ไข้หวัด

โรคหวัด หรือ ไข้หวัด

โรคหวัด หรือ ไข้หวัด โรคหวัด หรือ ไข้หวัด (Acute Rhinopharyngitis : Common cold) เป็นโรคติดเชื้อที่พบบ่อยมากที่สุดโรคหนึ่ง เกิดจากการติดเชื้อไวรัสซึ่งมีหลายสายพันธุ์ พบบ่อยในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว หรือโดยเฉพาะช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลง สามารถพบผู้ติดเชื้อได้ทุกช่วงอายุ ในเด็กเล็กสามารถเป็นได้หลายครั้งในแต่ละปี ในผู้ใหญ่จะเป็นน้อยลงตามลำดับเนื่องจากมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น โดยเฉลี่ยเด็กจะเป็นโรคหวัด 6-12 ครั้งต่อปี ผู้ใหญ่จะเป็น 2-4 ครั้งต่อปี ความรุนแรงของโรคไม่มาก และสามารถหายเองได้ภายในไม่กี่วัน เนื่องจากเกิดจากการติดเชื้อไวรัสจึงเน้นรักษาประคับประคองอาการจนอาการหาย ดีเอง ใครบ้างที่เสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ ผู้ที่เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจากไข้หวัดใหญ่ได้แก่ผู้ที่มีโรคประจำตัวได้แก่ โรคปอดเรื้อรัง หอบหืด โรคหัวใจ เบาหวาน และ ผู้สูงอายุ การวินิจฉัย จากลักษณะอาการเพียงอย่างเดียวอาจยากที่จะบอกว่าผู้ป่วยรายใดเป็นไข้หวัดใหญ่รายใดเป็นไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่จากการติดเชื้อไวรัสอื่นๆ การวินิจฉัยยืนยันทางห้องปฏิบัติ การตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อวินิจฉัยแยกโรค การแยกเชื้อไวรัสจากไม้ป้ายคอ (throat swab) ดูดน้ำจากหลังโพรงจมูก (nasopharyngeal aspirate)ซึ่งกินเวลาอย่างน้อยประมาณ 1 สัปดาห์ การตรวจหาโปรตีนแอนติเจนของไวรัสในสิ่งส่งตรวจนั้นซึ่งได้ผลเร็วในไม่กี่ชั่วโมง ไข้หวัดใหญ่แพร่เชื้ออย่างไร ไข้หวัด เป็นโรคการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ โดยเชื้อจะอยู่ในละอองฝอยในอากาศที่ออกมาจากการไอจามของผู้ป่วย เมื่อสูดหายใจเอาเชื้อเข้าไป เชื้อก็จะเข้าไปเพิ่มจำนวนอยู่ในเซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจ และทำให้เกิดอาการป่วยได้ ระยะเวลาแพร่เชื้อสามารถแพร่ได้ก่อนเกิดอาการและ 1-2 วันหลังเกิดอาการ การดูแลตนเองเมื่อเป็นไข้หวัด เนื่องจากเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ส่วนใหญ่จึงใช้วิธีการรักษาตามอาการ เช่น ยาลดน้ำมูก ยาลดไข้ จนอาการหายดีเอง การใช้ยาฆ่าเชื้อโดยไม่จำเป็นจะทำให้เชื้อแบคทีเรียเกิดการดื้อยาได้ พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากๆ (ควรเป็นน้ำอุ่น) รักษาร่างกายให้อบอุ่น รับประทานอาหารอุ่น หลีกเลี่ยงการจามหรือสั่งน้ำมูกอย่างรุนแรง เพราะจะทำให้น้ำมูกที่มีเชื้อโรคเข้าไปในไซนัสเกิดเป็นไซนัสอักเสบจากการติดเชื้อได้ เวลาไอหรือจามให้ใช้ผ้าเช็ดหน้าปิดปากและจมูก อาการที่ควรไปพบแพทย์ เมื่อน้ำมูกหรือเสมหะ เหลืองเขียว ปวดหู หูอื้อ ปวดศีรษะมาก ไข้สูง มีอาการหอบเหนื่อย ควรพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยภาวะแทรกซ้อน หากมีไข้สูง ปวดเมื่อยตามร่างกายมาก อาจเป็นไข้หวัดใหญ่ไม่ใช่โรคหวัด ภาวะแทรกซ้อน คนที่เป็นโรคหวัดบางส่วน จะมีการติดเชื้อของแบคทีเรียซ้อนร่วมด้วย ทำให้มีอาการน้ำมูกข้น สีเหลืองหรือเขียว มีเสมหะเขียว ไซนัสอักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียซ้อน เยื่อบุตาอักเสบ หลอดลมอักเสบ หรือ ปอดอักเสบ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเป็นโรคหอบหืด หรือ ถุงลมในปอดโป่งพอง เมื่อเป็นโรคหวัด จะทำให้อาการหอบเหนื่อยรุนแรงมากขึ้น การป้องกันการติดเชื้อ หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้คนที่เป็นโรคหวัด ลดการสัมผัสกับผู้ป่วย หรือใช้ของร่วมกับผู้ป่วย หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้ล้างมือหลังสัมผัส อย่าเอามือสัมผัสหรือถูจมูก หรือขยี้ตา พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ผู้ป่วยที่กำลังไอหรือจาม หลีกเลี่ยงที่มีคนแออัดในช่วงที่มีการระบาด การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ไม่สามารถป้องกันโรคหวัดได้ เนื่องจากเป็นเชื้อไวรัสคนละชนิด ข้อห้ามในการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 6 เดือน ผู้ที่แพ้ไข่อย่างรุนแรง ผู้ที่เคยฉีดวัคซีนแล้วมีอาการแพ้รุนแรง ผู้ที่มีไข้ โดยควรเลื่อนการฉีดวัคซีนไปอย่างน้อย 1 สัปดาห์ หรือจนกว่าจะหายเป็นปกติ ที่มา : ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ ในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ,BangkokHealth.com / https://www.bangkokhospital.com/th/disease-treatment/influenza-prevention

โรคที่มักมาในช่วงฤดูฝน

โรคที่มักมาในช่วงฤดูฝน

โรคที่มักมาในช่วงฤดูฝน ไข้หวัดใหญ่-จากเชื้อไวรัส ไข้หวัดธรรมดา-จากไวรัสและเเบคทีเรียในอากาศ โรคต่อมทอนซิล-จากไวรัสและแบคทีเรีย อุจจาระร่วงเฉียบพลัน-จากอาหารปนเปื้อน เยื่อบุตาอักเสบ-จากเชื้อไวรัส โรคไข้เลือดออก-จากยุงลาย โรคฉี่หนู-จากการสัมผัสแหล่งมีน้ำขังที่ปนเปื้อนสิ่งคัดหลั่งหรือเนื้อเยื่อของสัตว์ที่ติดเชื้อฉี่หนู คำอธิบาย ฤดูฝน มักมีอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย มีอากาศที่ร้อนและชื้นมาก ซึ่งเอื้อกับการเจริญเติบโตของเชื้อโรคบางชนิดที่สามารถก่อโรคในคนได้ ซึ่งโรคที่มักพบอุบัติการณ์ได้บ่อยในช่วงฤดูฝน ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดธรรมดา โรคต่อมทอนซิล อุจจาระร่วง เยื่อบุตาอักเสบ โรคไข้เลือดออก และ โรคฉี่หนู

ถุงลมโป่งพอง

ถุงลมโป่งพอง

ถุงลมโป่งพอง (Emphysema / Chronic obstructive pulmonary disease / COPD) ถุงลมโป่งพอง เป็นภาวะที่ถุงลมในปอดเกิดความพิการอย่างถาวร ซึ่งปอดมีถุงลมเป็นล้านถุง เมื่อส่วนนึงเกิดการพิการ ส่วนที่เหลือจะยังคงทำหน้าที่ได้ แต่ด้วยจำนวนถุงลมที่สามารถทำงานได้ลดลง การแลกเปลี่ยนก๊าซจึงลดลง เมื่อออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆไม่เพียงพอ ผู้ป่วยจะมีอาการหอบเหนื่อยเกิดขึ้น ถุงลมโป่งพองมักพบในเพศชายอายุ 45-65 ปี ส่วนใหญ่มีประวัติสูบบุหรี่จัดมานาน 10 ปีขึ้นปี หรือผู้ที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีมลพิษทางอากาศต่อเนื่องเป็นเวลานาน สาเหตุถุงลมโป่งพอง สูบบุหรี่เป็นประจำต่อเนื่องเป็นเวลานาน อยู่ในสิ่งแวดล้มที่มีมลพิษทางอากาศ เช่น อากาศเสียจากโรงงาน เหมืองแร่ที่หายใจเอาสารละคายเคืองหลอดลมเข้าไปเป็นประจำ เป็นต้น สอบถามเพิ่มเติมได้ที่คลินิกโรคปอดและระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี โทร 039-319888

ปอดอักเสบ/ปอดบวม (Pneumonia)

ปอดอักเสบ/ปอดบวม (Pneumonia)

ปอดอักเสบ / ปอดบวม (Pneumonia) ปอดอักเสบ หรือปอดบวม คือภาวะที่ปอดมีการอักเสบ โดยเกิดจากการติดเชื้อหรือมีสารเคมีเข้าไปทำให้มีการอักเสบของปอด ที่สำคัญ ได้แก่ เชื้อแบคทีเรีย ที่พบบ่อยคือเชื้อนิวโมคอคคัส เชื้อไวรัส เช่น หัด ไข้หวัดใหญ่ อีสุกอีใส เชื้อไมโคพลาสมา เป็นเชื้อที่ทำให้เกิดปอดอักเสบแต่มักไม่มีอาการหอบอย่างชัดเจน เชื้อรา พบได้ค่อนข้างน้อย แต่รุนแรง สารเคมี เช่น น้ำมันก๊าด การติดโรค ถูกผู้ป่วยไอ จาม หายใจรดใส่ สำลักอาหารหรือสารเคมีเข้าปอด การแพร่กระจายไปตามกระแสเลือด เช่น การอักเสบในอวัยวะส่วนอื่น เป็นต้น อาการ ไข้สูง หนาวสั่น หายใจหอบ ไอแห้งในระยะแรก ต่อมาจะไอมีเสมหะมีเลือดปน อาจมีอาการเจ็บแปล๊บที่หน้าอกเวลาหายใจเข้าหรือไอแรง ๆ ในเด็กอาจมีอาการปวดท้อง ท้องอืด ท้องเดิน อาเจียน กระสับกระส่ายหรือชัก ภาวะแทรกซ้อน ฝีในปอด (Lung abscess) มีหนองในช่องหุ้มปอด ปอดแฟบ (Atelectasis) หลอดลมพอง เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเฉียบพลัน โลหิตเป็นพิษ ติดเชื้อในกระแสเลือด ขาดออกซิเจน และภาวะขาดน้ำ ซึ่งมีอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะหากเกิดในเด็กหรือผู้สูงอายุ การรักษา ยังไม่มีอาการหอบ ให้ดื่มน้ำเยอะ ๆ เช็ดตัวลดไข้ รับประทานยาลดไข้และยาปฏิชีวนะตามแผนการรักษาของแพทย์อย่างเคร่งครัด หากมีอาการหอบ หรือสงสัยมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ จะต้องรีบดูแลประคับประคองอาการ และนำตัวสส่งโรงพยาบาลโดยด่วน ป้องกันปอดอักเสบ ดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ(จะต้องพบแพทย์เพื่อตรวจพิจารณาก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันปอดอักเสบ) สอบถามเพิ่มเติมได้ที่คลินิกอายุรกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี 039 319 888