เบาหวานกับผู้สูงวัย
สังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแบบเต็มตัวและปัจจุบันคนไทยมีอายุยืนยาวมากขึ้น แต่ไม่ว่าจะอายุยืนยาวแค่ไหนคงไม่สำคัญเท่าการมีสุขภาพที่แข็งแรงและมีความสุขในทุกวันของชีวิต
ความเสื่อมกับเบาหวาน
เมื่ออายุมากขึ้นความเสื่อมในระบบต่าง ๆ ของร่างกายย่อมตามมา ไม่ว่าจะเป็นโรคซึมเศร้า โรคสมองเสื่อม กายภาพกล้ามเนื้อและมวลกระดูกลดลง การเผาผลาญลดลง ส่งผลให้ผู้สูงวัยมีโอกาสเป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น มีโอกาสเกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมองอุดตันได้มากกว่าคนอายุน้อยที่เป็นโรคเบาหวาน
ในทางกลับกันโรคเบาหวานที่คุมไม่ดีในผู้สูงวัยก็ส่งผลให้ร่างกายเสื่อมถอยมากกว่าผู้สูงวัยที่ไม่เป็นโรคเบาหวาน และส่งผลให้การได้ยินลดลง เกิดโรคต้อหิน ต้อกระจก และจอประสาทตาเสื่อม รวมถึงส่งผลต่อสมอง ทำให้การรับรู้ ความเข้าใจ และความจำลดลง
การรักษาเบาหวานในผู้สูงวัย
ปัจจุบันการรักษาโรคเบาหวานมีการพัฒนาทั้งตัวยารักษาและการนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้ในการรักษา ทำให้ผู้สูงวัยสามารถดูแลรักษาโรคเบาหวานได้ดีขึ้น ส่งผลให้ลดการเสื่อมถอยและลดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานได้ดี
การรักษาควรเริ่มต้นจากการร่วมวางแผนการรักษาด้วยกัน ทั้งผู้สูงวัยที่เป็นโรคเบาหวาน ลูกหลาน และคนดูแล รวมถึงแพทย์เฉพาะทางและทีมสหสาขาวิชาชีพมีการกำหนดเป้าหมายในการคุมเบาหวานว่าต้องเข้มงวดมากแค่ไหน ควรมีค่าน้ำตาลสะสมเท่าไร (HbA1c) อาหารที่เหมาะสมในการรับประทานควรเป็นอย่างไร ตลอดจนการทำแบบประเมินการรับรู้เข้าใจของสมองและภาวะจิตใจ การประเมินการเคลื่อนไหวเพื่อป้องกันการหกล้ม ซึ่งผู้สูงวัยแต่ละคนแต่ละครอบครัวมีสุขภาพร่างกายและรูปแบบการใช้ชีวิตแตกต่างกันจึงควรวางแผนเฉพาะการรักษาเฉพาะบุคคลเพื่อประสิทธิภาพในการรักษา
สิ่งที่ต้องระวังเมื่อรักษาเบาหวานในผู้สูงวัย
การดูแลรักษาเบาหวานในผู้สูงวัย สิ่งที่ต้องระวังมากเป็นพิเศษคือ
- ป้องกันไม่ให้เกิดภาวะน้ำตาลต่ำ เพราะภาวะน้ำตาลต่ำมีผลกระทบทันทีต่อการรับรู้ของสมองและหัวใจ แต่ในกรณีที่เกิดขึ้นแล้วควรดูแลแก้ไขให้ทันท่วงที โดยรีบรับประทานแป้งหรือน้ำตาลแล้วหลังจากนั้นปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อปรับการรักษาให้เหมาะสม
- เลือกใช้ยาที่มีโอกาสเกิดภาวะน้ำตาลต่ำน้อยเป็นอันดับแรก หากคุมไม่ได้ค่อยเลือกยาที่ลดน้ำตาลได้มากหรือฉีดยาอินซูลิน
- ควบคุมรักษาโรคร่วมอื่น ๆ ให้ดี การดูแลรักษาเบาหวานในผู้สูงวัย นอกจากควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ต้องควบคุมรักษาโรคร่วมอื่น ๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง ไขมันสูง โรคฟันผุ รวมถึงการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันปอดอักเสบติดเชื้อด้วย
การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานที่เป็นผู้สูงวัยมีความแตกต่างกับผู้ป่วยโรคเบาหวานอายุน้อย โดยจำเป็นจะต้องพิจารณาการดูแลรักษาผู้ป่วยเบาหวานเฉพาะบุคคลกับทีมแพทย์ที่มีความชำนาญ ร่วมกับคนในครอบครัวและคนที่ดูแลอย่างใกล้ชิด ควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ทั้งการเลี่ยงอาหารรสหวาน เลือกอาหารกากใยสูง ไขมันต่ำ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ งดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาพบแพทย์ตามนัดหมายทุกครั้ง ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ย่อมช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในระยะยาว
ขอบคุณข้อมูลจากศูนย์เบาหวาน ไทรอยด์ และต่อมไร้ท่อ โรงพยาบาลกรุงเทพ https://www.bangkokhospital.com/content/diabetes-and-the-elderly