ภาวะแขนบวมหลังการรักษามะเร็งเต้านม

ภาวะแขนบวมหลังการรักษามะเร็งเต้านม (Lymphedema and Breast Cancer)

ภาวะแขนบวมหลังการรักษามะเร็งเต้านมสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ซึ่งไม่สามารถบอกได้เลยว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้น และจะเกิดขึ้นในตอนไหน ดังนั้นการรู้เท่าทันจะช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมไม่ตื่นตระหนกและรับมือได้อย่างถูกวิธี

รู้จักภาวะแขนบวมหลังรักษามะเร็งเต้านม

ภาวะแขนบวมหลังการรักษามะเร็งเต้านม (Lymphedema and Breast Cancer) เป็นอาการแขนบวมที่เกิดขึ้นหลังจากการรักษาโรคมะเร็งเต้านม ไม่ว่าจะเป็นด้วยการผ่าตัดหรือรังสีรักษา อาจเกิดขึ้นทันทีหรือหลังการรักษาไปแล้วหลายปี ซึ่งจะเกิดขึ้นกับแขนข้างเดียวกับที่เป็นมะเร็งเต้านม เกิดได้ตั้งแต่ปลายนิ้วมือไปจนถึงต้นแขน อาจเกิดขึ้นในบางบริเวณอย่างมือหรืออาจจะเกิดขึ้นทั้งแขนได้ หากบวมน้อยจะยังใช้งานแขนได้ปกติ แต่หากบวมมากอาจใช้งานแขนไม่ได้ ถ้ารีบรักษาทันทีจะช่วยให้อาการดีขึ้นและไม่บวมจนทำให้ใช้แขนไม่สะดวกได้

สาเหตุของโรค

สาเหตุของภาวะแขนบวมหลังรักษามะเร็งเต้านม (Lymphedema and Breast Cancer) ได้แก่

  1. ผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ออกเพื่อรักษามะเร็งเต้านม การผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองออกยิ่งมาก แขนยิ่งมีโอกาสบวมเพิ่มขึ้น และหากเนื้อเยื่อบริเวณที่ผ่าตัดเกิดพังผืดอาจส่งผลให้ท่อน้ำเหลืองเกิดพังผืด ทำให้ทางเดินน้ำเหลืองอุดตันส่งผลให้แขนบวมได้
  2. การฉายรังสีรักษาบริเวณรักแร้หรือเต้านม อาจทำให้เกิดพังผืดต่อมน้ำเหลืองและท่อน้ำเหลืองหลังผ่าตัด ส่งผลให้ทางเดินน้ำเหลืองที่แขนอุดตัน แขนจึงบวมได้เช่นกัน ถ้าผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองรักแร้และฉายรังสีด้วย โอกาสแขนบวมจะยิ่งมากขึ้น
  3. แขนติดเชื้อ จากการรักษาโรคมะเร็งเต้านมด้วยการผ่าตัดและรังสีรักษา อาจทำให้เกิดการคั่งของน้ำเหลือง ส่งผลให้แขนติดเชื้อได้ง่ายยิ่งขึ้น เมื่อติดเชื้อและรักษาหายพังผืดในเนื้อเยื่อแขนจะเพิ่มขึ้น ทางเดินน้ำเหลืองจะอุดตันเพิ่มขึ้น
    ส่งผลให้แขนบวมมากขึ้น เมื่อติดเชื้อง่ายขึ้น ก็จะเป็น ๆ หาย ๆ แบบนี้ไปเรื่อย ๆ
  4. โรคมะเร็งกลับมาเป็นซ้ำ ทำให้เซลล์มะเร็งแพร่กระจายมาต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้หรือเหนือไหปลาร้า ทำให้อุดตันทางเดินน้ำเหลืองของแขน ส่งผลให้แขนบวมได้เช่นกัน

อาการบอกโรค

อาการภาวะแขนบวมหลังการรักษามะเร็งเต้านม (Lymphedema After Breast Cancer Treatment) ได้แก่

  • แขนบวม
  • ปวด ชา อ่อนแรง
  • แขนติด เคลื่อนไหวไม่เป็นปกติ
  • ผิวหนังหนา ไม่เรียบ
  • ใส่เสื้อผ้าหรือเครื่องประดับแล้วรู้สึกคับ

การตรวจวินิจฉัย

การตรวจวินิจฉัยภาวะแขนบวมหลังการรักษามะเร็งเต้านม (Lymphedema After Breast Cancer Treatment) ส่วนใหญ่แพทย์เฉพาะทางจะประเมินหลังจากผ่าตัดมะเร็งเต้านมประมาณ 6 เดือน เพราะผู้ป่วยส่วนมากมักมีอาการในช่วงนี้ ซึ่งจะประเมินจากภาพถ่าย การวัดเส้นรอบวงแขนเหนือศอก การวัดปริมาตรแขน (Perometer) รวมถึงการตรวจอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น Lymphangiogram, Ultrasound, ICG lymphography, Lymphoscintigraphy, MRI, CT Scan เป็นต้น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

วิธีการรักษา

การรักษาภาวะแขนบวมหลังการรักษามะเร็งเต้านม (Lymphedema and Breast Cancer )ได้แก่

  1. ลดการบวม ด้วยการปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันและไม่ให้อาการเป็นมากขึ้น อาทิ
    • ระวังอย่าให้แผลที่แขนติดเชื้อ ถ้าแผลเล็กต้องเช็ดด้วยแอลกอฮอล์ทุกครั้งก่อนทายา ถ้าแผลใหญ่หรือแผลลึกต้องรีบพบแพทย์ทันที นอกจากนี้ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนต่อผิว บำรุงผิวให้ชุ่มชื้น ไม่ให้เป็นแผลหรือติดเชื้อง่าย
    • อย่าให้มือและแขนบาดเจ็บ ไม่เจาะเลือด ฉีดยา ฉีดวัคซีนแขนด้านที่ผ่าตัด ใส่ถุงมือยางเมื่อทำงานบ้าน
    • ไม่ควรบีบรัดแขนแน่น ไม่ใส่เสื้อคับหรือเครื่องประดับที่รัดแขนข้างที่ผ่าตัด
    • ป้องกันการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ ไม่ยกของหนัก ไม่ออกกำลังที่ต้องใช้กำลังแขนหรือใช้แขนตลอดเวลา
    • ระวังการอาบน้ำร้อนเกินไปหรืออบตัวด้วยความร้อนมากเกินไป เพราะอาจทำให้น้ำเหลืองคั่งมากขึ้น
    • หากนั่งนิ่งเป็นเวลานานควรยกแขนสูงกว่าระดับหัวใจ
    • ควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วน เพราะเป็นต้นเหตุให้แขนบวม
    • ใส่ปลอกแขนรัดไล่น้ำเหลือง
    • นวดแขนไล่น้ำเหลือง
    • ใช้เลเซอร์กระตุ้นการหมุนเวียนของเลือดและน้ำเหลือง
    • หมั่นสังเกตแขนด้านที่ผ่าตัด หากบวมหรือผิดปกติต้องรีบพบแพทย์ทันที
  2. การผ่าตัด เพื่อรักษาภาวะแขนบวมหลังการรักษามะเร็งเต้านม ทำได้โดย
    • ผ่าตัดเชื่อมท่อน้ำเหลืองกับเส้นเลือดดำ เพื่อให้น้ำเหลืองสามารถกลับได้ทางเส้นเลือดดำแทน
    • ผ่าตัดปลูกถ่ายต่อมน้ำเหลือง เพื่อกระตุ้นให้มีการสร้างทางเดินน้ำเหลืองขึ้นมาใหม่
    • ผ่าตัดเนื้อส่วนเกินหรือดูดไขมัน ในคนไข้ที่มีภาวะแขนบวมจนทำให้เกิดการสะสมของไขมันใต้ชั้นผิวหนังเพิ่มเติม

ภาวะแขนบวมหลังการรักษามะเร็งเต้านมสามารถเกิดได้สิ่งสำคัญคือการป้องกันไม่ให้แขนบวมโดยหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะแขนบวมได้และหากคนไข้มีอาการที่สงสัยว่าเกิดภาวะแขนบวมควรมาตรวจพบแพทย์ตั้งแต่เริ่มมีอาการเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและเริ่มการรักษาตั้งแต่มีอาการน้อยเพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุดนอกจากนั้นคนไข้ควรป้องกันไม่ให้แขนบวมมากขึ้นและไม่ให้เกิดการติดเชื้อของแขนหากแขนบวมแดงร้อนปวดและมีไข้ต้องรีบพบแพทย์

ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ โดย ผศ.พญ.ศศิธร สุจริตธนะการ

บทความที่เกี่ยวข้อง

มะเร็งลำไส้ใหญ่

มะเร็งลำไส้ใหญ่

มะเร็งลำไส้ใหญ่

“มะเร็งผิวหนัง”

“มะเร็งผิวหนัง”

“มะเร็งผิวหนัง” “มะเร็งผิวหนัง” พบได้น้อยในคนไทยแต่มีแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้นสาเหตุที่สำคัญยังไม่ทราบแน่ชัด แต่แสงแดดที่แรงมากในระดับอันตรายมากก็เป็นปัจจัยเสี่ยง และเนื่องในเดือนพฤษภาคมของทุกปี เป็นเดือนแห่งการรณรงค์ต้านภัยมะเร็งผิวหนัง จึงขอเชิญชวนชาวไทยทำความรู้จักกับมะเร็งชนิดนี้ เพื่อให้รู้ทันโรคและหาแนวทางการดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า มะเร็งผิวหนัง เป็นมะเร็งที่พบได้น้อยในคนไทย โดยพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายเล็กน้อย จากสถิติข้อมูลมะเร็งประเทศไทยระหว่างปี พ.ศ. 2559-2561 (Cancer in Thailand Vol.X 2016-2018) รวบรวมโดย สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ซึ่งในแต่ละปีพบผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังรายใหม่เฉลี่ย 4,374 คนต่อปี หรือวันละ 12 คน มะเร็งผิวหนังมักพบที่บริเวณใบหน้า แขน ขา ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และลำตัว ส่วนใหญ่เริ่มจากมีการเปลี่ยนแปลงของไฝ ปาน หรือเริ่มต้นเป็นแผลเล็ก ๆ แล้วจึงค่อย ๆ ขยายใหญ่ขึ้น มีลักษณะผิวขรุขระ ขอบเขตไม่ชัดเจน สีไม่สม่ำเสมอ สาเหตุที่สำคัญในการเกิดมะเร็งผิวหนังนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดมะเร็งผิวหนัง ได้แก่ แสงแดด มีบุคคลในครอบครัวเป็นมะเร็งผิวหนัง โรคทางพันธุกรรมบางโรค คนผิวขาว หรือ ผิวเผือก สารเคมีบางชนิด เช่น สารหนู แผลเรื้อรัง ภาวะภูมิต้านทานต่ำ การได้รังสีรักษา สำหรับการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งผิวหนัง ทำได้โดยการตัดชิ้นเนื้อรอยโรคที่สงสัยเพื่อตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา และหลังจากได้รับการวินิจฉัยแล้ว แพทย์จะทำการประเมินระยะของโรคเพื่อวางแผนการรักษาต่อไป การรักษามะเร็งผิวหนัง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะพิจารณาการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วย โดยขึ้นอยู่กับชนิด ขนาด ตำแหน่งของมะเร็ง ทั้งนี้ ด้วยวิธีการรักษาทางมาตรฐานมักจะต้องทำการผ่าตัดทั้งรอยโรคและในส่วนบริเวณผิวหนังที่ปกติโดยรอบออก อาจจำเป็นต้องตัด ต่อมน้ำเหลืองในส่วนที่มะเร็งจะกระจายไป ซึ่งบางกรณีอาจต้องให้ยาเคมีบำบัด หรือ การให้รังสีรักษา ร่วมด้วย วิธีการป้องกันมะเร็งผิวหนัง หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดนานๆ ควรใช้อุปกรณ์ป้องกันเพื่อลดการสัมผัสแสงแดดโดยตรง เช่น ใส่แว่นกันแดด, ใช้ร่ม, สวมหมวก, สวมเสื้อแขนยาว ควรหมั่นสังเกตบนร่างกายตนเองเป็นประจำว่ามีสิ่งผิดปกติหรือไม่ หรือหากมีแผลเรื้อรังควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป หากตรวจพบการเกิดมะเร็งผิวหนังได้ในระยะเริ่มต้น จะทำให้การรักษาโรคมะเร็งนั้นง่ายขึ้น เมื่อสงสัยว่าผิวหนังหรือไฝบนร่างกายของตนเองเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงและพบว่ามีความผิดปกติ ท่านควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและทำการรักษาที่ถูกต้อง ท่านสามารถติดตามข่าวสารความรู้เรื่องโรคมะเร็งจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติเพิ่มเติมได้ที่ ขอบคุณข้อมูลจาก : BDMS สถานีสุขภาพ

อาหารหมักดองตัวการร้าย สร้างมะเร็งหลังโพรงจมูก

อาหารหมักดองตัวการร้าย สร้างมะเร็งหลังโพรงจมูก

อาหารหมักดองตัวการร้าย สร้างมะเร็งหลังโพรงจมูก ของหมัก ของดอง เมื่อได้กินแล้วชื่นใจ แต่รู้หรือไม่สิ่งเหล่านี้คือตัวกระตุ้นให้เกิดโรคมะเร็งหลังโพรงจมูก เชื่อหรือไม่ว่าโรคนี้สามารถพบได้ตั้งแต่ช่วงคนที่อายุน้อยและกลุ่มวัยรุ่นและพบได้บ่อยในชาวเอเชีย รู้จักมะเร็งหลังโพรงจมูก มะเร็งหลังโพรงจมูก คือ มะเร็งที่เกิดในบริเวณด้านหลังโพรงจมูก มะเร็งชนิดนี้พบบ่อยในแถบเอเชีย เช่น ประเทศไทย จีน เกาหลี เป็นต้น แต่พบไม่บ่อยในประเทศแถบยุโรปและอเมริกา ซึ่งมะเร็งหลังโพรงจมูกที่เกิดในแถบเอเชียนี้มักจะพบได้ในกลุ่มคนที่อายุน้อย กลุ่มวัยรุ่น และพบได้ในเพศชาย ส่วนแถบยุโรปและอเมริกานั้นมักจะพบในคนอายุมาก ในชาวเอเชียพบมะเร็งหลังโพรงจมูกค่อนข้างเยอะ ตัวการมะเร็งหลังโพรงจมูก มีการติดเชื้อไวรัส EBV (Ebstein Barr Virus) และเชื่อกันว่ามีปัจจัยอื่น ๆ หรือพฤติกรรมด้านอาหาร ร่วมด้วย เช่น อาหารหมักเกลือ อาหารหมักดอง สมุนไพรจีนบางชนิด การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวกระตุ้นให้ไวรัสชนิดนี้ทำงานจนมีการอักเสบเรื้อรัง (Viral Reactivation) แต่ในแถบโซนยุโรปและอเมริกานั้นส่วนใหญ่จะเป็นในเรื่องของการสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์ที่จะเป็นปัจจัยเสี่ยงหลัก ๆ ที่เกิดขึ้น ส่วนปัจจัยเสี่ยงอื่นก็พบได้เช่นกันคือ มีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นมะเร็ง อาการมะเร็งหลังโพรงจมูก มีเลือดกำเดาไหลบ่อย ๆ หูอื้อข้างเดียว ติดเชื้อในหูชั้นกลางซ้ำ ๆ มีก้อนบริเวณคอ ปวดศีรษะเรื้อรัง ตาพร่า ใบหน้าชา หากเป็นมากอาจมีอาการมะเร็งกระจายไปอวัยวะอื่น เช่น ปวดหลัง ไอ ทานไม่ได้ น้ำหนักลด ควรที่จะมาพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยต่อไป รักษามะเร็งหลังโพรงจมูก รักษาโดยใช้การฉายแสง (Radiation) ร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) การดำเนินโรคของมะเร็งหลังโพรงจมูก หากเป็นระยะแรกจะค่อนข้างดี โอกาสหายขาดสูงมาก เช่น ในระยะที่ 1 และ 2 หากรักษาถูกต้องตามขั้นตอน โอกาสหายสูงถึง 80 – 90% หากเป็นระยะที่ 3 หรือ 4 โอกาสหายลดลงเหลือ 50 – 60% มะเร็งหลังโพรงจมูก (Nasopharyngeal Cancer) พบได้บ่อยในชาวเอเชีย ปัจจัยเสี่ยงคือการติดเชื้อ EBV ที่ทำให้มีการอักเสบเรื้อรัง มะเร็งนี้มักพบในเพศชาย อายุน้อย หากเจอในระยะแรก รักษาถูกต้อง โอกาสหายจะค่อนข้างสูงมาก ดังนั้นหากมีอาการที่สงสัยควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจให้แน่ใจทันที ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ บทความโดย พญ.พจนา จิตตวัฒนรัตน์

รังสีร่วมรักษา Interventional-Radiology

รังสีร่วมรักษา Interventional-Radiology

รังสีร่วมรักษา Interventional-Radiology “วิทยาการสมัยใหม่สามารถนำมาใช้ร่วมในการรักษาผู้ป่วยโดยตรงทั้งการเจาะตรวจชิ้นเนื้อและการสวนหลอดเลือดอย่างปลอดภัย เพื่อร่วมในการดูแลผู้ป่วยอย่างรอบด้าน” โดยแพทย์ผู้ชำนาญการ สาขา รังสีวิทยาทั่วไป สาขา รังสีวินิจฉัย อนุสาขา รังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษา อนุสาขา รังสีร่วมรักษาของลำตัว การรักษาโรคมะเร็งโดยไม่ต้องผ่าตัด แต่ให้ผลใกล้เคียงกับการผ่าตัด เชี่ยวชาญ แม่นยำ แผลเล็ก ไม่ต้องผ่าตัด ฟื้นตัวไว #รังสีร่วมรักษา #โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี Call Center: 039-319-888 ฉุกเฉินโทร: 1719

มะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านม

ภูมิคุ้มกันบำบัด เพื่อรักษาผู้ป่วยมะเร็ง

ภูมิคุ้มกันบำบัด เพื่อรักษาผู้ป่วยมะเร็ง

ภูมิคุ้มกันบำบัด เพื่อรักษาผู้ป่วยมะเร็ง ปัจจุบันการรักษาโรคมะเร็งพัฒนาไปมากเพื่อคืนคุณภาพชีวิตที่ดีให้ผู้ป่วยมะเร็ง หนึ่งในนั้นคือการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) ซึ่งเป็นการรักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยเอง ช่วยกำจัดและควบคุมเซลล์มะเร็งที่มีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำไมถึงเป็นมะเร็ง โดยทั่วไปแล้วคนเราทุกคนสามารถมีเซลล์ที่ผิดปกติเกิดขึ้นในร่างกายได้ แต่ภูมิคุ้มกันของร่างกายสามารถตรวจพบและกำจัดเซลล์ดังกล่าวได้ก่อนที่จะกลายเป็นมะเร็ง แต่ในบางครั้งหากร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอหรือเซลล์ที่ผิดปกติบางชนิดมีความสามารถที่จะหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันก็ส่งผลให้เกิดเป็นมะเร็งขึ้นได้ ภูมิคุ้มกันบำบัดรักษามะเร็ง ภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) คือ การใช้ภูมิคุ้มกันต่อสู้กับเซลล์มะเร็งผ่านกระบวนการหรือยาที่เข้าไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้กำจัดเซลล์มะเร็งได้ ซึ่งมีโอกาสตอบสนองต่อการรักษามะเร็งในระยะยาวและผลข้างเคียงน้อยกว่ายาเคมีบำบัด การพัฒนาการรักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดมีหลายวิธี เช่น ภูมิคุ้มกันบำบัดรักษาโดยใช้ที – เซลล์บำบัด (T Cell Therapy) การใช้วัคซีนโรคมะเร็ง แต่หนึ่งในวิธีที่มีการใช้อย่างแพร่หลายคือ การกระตุ้นให้ภูมิของร่างกายสามารถตรวจจับและทำลายเซลล์มะเร็ง ซึ่งเรียกยาในกลุ่มนี้ว่า Immune Check Point Inhibitor จุดเด่น Immune Check Point Inhibitor การรักษาด้วย Immune Check Point Inhibitor พบว่ามีจุดเด่นคือ ในบางระยะสามารถทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสหายขาดมากขึ้น หรือในผู้ป่วยระยะกระจายสามารถควบคุมให้โรคสงบได้นานมาก นอกจากนี้หากพิจารณาในส่วนของผลข้างเคียงพบว่าการรักษาด้วย Immune Check Point Inhibitor มีผลข้างเคียงที่น้อยกว่าการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ข้อจำกัด Immune Check Point Inhibitor แม้การรักษาด้วย Immune Check Point Inhibitor จะเป็นความหวังของผู้ป่วยมะเร็ง แต่มีข้อจำกัดคือ ไม่สามารถใช้รักษามะเร็งทุกชนิดได้ ในมะเร็งบางชนิดจำเป็นต้องมีการตรวจทางชีวภาพของเซลล์เนื้อเยื่อมะเร็งก่อนเพื่อดูว่ามีโอกาสตอบสนองต่อการรักษาแบบนี้หรือไม่ ผลข้างเคียงเมื่อรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด อย่างไรก็ตามการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดมีโอกาสที่จะมีอาการไม่พึงประสงค์ เช่น ผื่นคัน ท้องเสีย การทำงานของต่อมไร้ท่อ เช่น ไทรอยด์ผิดปกติ ต่อมหมวกไตผิดปกติ เป็นต้น แม้ภูมิคุ้มกันบำบัดจะเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ช่วยรักษาผู้ป่วยมะเร็งและเพิ่มโอกาสในการหายขาด แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์เฉพาะทางอย่างเคร่งครัดเพื่อให้ผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจ ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ