ภาวะฉุกเฉินในเด็ก

วัยเด็กเป็นวัยที่เปราะบาง และต้องอยู่ในความดูแลของผู้ใหญ่ โดยผู้ใหญ่จะต้องเป็นผู้ที่คอยสังเกตความผิดปกติ โดยหากมีอาการดังต่ไปนี้ ถือว่าเป็นภาวะฉุกเฉินและควรนำบุตรหลานส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดอย่างเร่งด่วน

  1. เมื่อเกิดอุบัติเหตุร้ายแรง เช่น กินสารพิษ กินยาเกินขนาด หรือเลือดออกไม่หยุด หลังจากที่พยายามห้ามเลือดแล้ว เช่น การกด ฯลฯ
  2. หมดสติ เรียกไม่รู้สึกตัว
  3. ถูกงูกัด สัตว์มีพิษหรือแมลงต่อยแล้วเกิดอันตรายรุนแรงใน 30 นาที เช่น มีไข้ ปวดข้อ ปวดศีรษะ ลมพิษขึ้นทั้งตัว แน่นในคอ บวมมาก หมดสติ
  4. หายใจไม่ออก หายใจลําบาก กระวนกระวายหรือหน้าเขียว
  5. เด็กอาจชักเมื่อไข้สูงหรือลมบ้าหมู ให้เด็กนอนเอียงหน้า เอาเศษอาหาร ในปากหรือจมูกออก ห้ามเอาของแข็งหรือช้อนงัดปาก ถ้ามีไข้เช็ดตัวด้วย น้ำธรรมดา แล้วรีบพาเด็กไปห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด อย่าพยายามกรอกยาขณะเด็กชัก
  6. ปวดท้องรุนแรง งดอาหารและเครื่องดื่ม ห้ามกินยาถ่าย ถ้ามีไข้และ อาเจียนด้วย อาจเป็นไส้ติ่งอักเสบหรือโรคอื่นๆ
  7. อาเจียนหรือถ่ายเป็นเลือด หรือเป็นสีดําจํานวนมาก อาจเป็นเพราะมีเลือดออกในกระเพาะหรือลําไส้
  8. ท้องเสียในเด็กอ่อน เด็กเล็กๆ ถ่ายเพียง 3 - 4 ครั้ง ก็เสียน้ำได้มากๆ ถ้าเด็กมีอาการกระวนกระวาย ตัวร้อน ผิวแห้ง ปัสสาวะน้อยแสดงว่าขาดน้ำมาก

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่คลินิกกุมารเวช ฌรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี 039-319888

บทความที่เกี่ยวข้อง

ท้องเสียจากโนโรไวรัส

ท้องเสียจากโนโรไวรัส

ไข้เลือดออก...ติดซ้ำร้ายแรงกว่าเดิม

ไข้เลือดออก...ติดซ้ำร้ายแรงกว่าเดิม

ไข้เลือดออก...ติดซ้ำร้ายแรงกว่าเดิม โรคไข้เลือดออกเด็งกี่ เป็นโรคติดเชื้อไวรัสเดงกีที่มียุงลายเป็นแมลงนำโรค โรคนี้ได้กลายเป็นปัญหาสาธารณสุขในหลายประเทศทั่วโลก เนื่องจากโรคได้แพร่กระจายอย่างกว้างขวางและจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมากใน 30 ปีที่ผ่านมา มากกว่า 100 ประเทศที่โรคนี้กลายเป็นโรคประจำถิ่น และโรคนี้ยังคุกคามต่อสุขภาพของประชากรโลกมากกว่าร้อยละ 40 หรือกว่า 2,500 ล้านคน สถิติในประเทศไทยพบผู้ป่วยไข้เลือดออกเป็นอันดับที่ 2 รองจากประเทศฟิลิปปินส์ โดยกลุ่มอายุที่เป็นไข้เลือดออกมากที่สุด คืออายุ 10-14 ปี รองลงมาคือ 5-9 ปี, 15-24 ปี และ 25-34 ปีตามลำดับ ความรุนแรงสูงสุดของโรคไข้เลือดออกคือ ทำให้เสียชีวิตได้ โดยเฉลี่ย ถ้าหากมีผู้ป่วย 1,000 ราย จะเสียชีวิต 1 ราย โดยสองสาเหตุหลักของการเสียชีวิตก็คือภาวะเลือดออกมาก และสารน้ำรั่วจากเส้นเลือดจนเกิดภาวะช็อกและเสียชีวิต การแพร่ระบาด กระบวนการแพร่เชื้อไวรัสของโรคนี้นั้น เกิดจากยุงลายตัวเมียกัดและดูดเลือดของผู้ที่เป็นโรคไข้เลือดออกก่อน หลังจากนั้น เมื่อยุงลายตัวเดิมกัดคนที่อยู่ในระยะทางไม่เกิน 400 เมตร เชื้อดังกล่าวก็จะแพร่เข้าสู่คนที่สองนั้นทันที ซึ่งยุงชนิดนี้สามารถกัดคนได้ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน มักพบได้ในบริเวณที่มีการเพาะพันธุ์ตามแหล่งน้ำนิ่งในบริเวณบ้าน สาเหตุไข้เลือดออก ไข้เลือดออกมีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ ได้แก่ DENV-1, DENV-2, DENV-3 และ DENV-4 ซึ่งในประเทศไทยพบมีการระบาดของทั้งสี่สายพันธุ์ในแต่ละพื้นที่ จึงมีโอกาสที่จะเป็นโรคไข้เลือดออกซ้ำ จากเชื้อคนละตัวได้ อาการไข้เลือดออก ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อเด็งกี่ ส่วนใหญ่จะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูกและมีจุดแดงที่ผิวหนัง ซึ่งอาการสำคัญแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะคือ ระยะไข้ผู้ป่วยจะมีไข้สูงกว่า 38.5 องศาเซลเซียส อย่างเฉียบพลัน เป็นเวลา 2-7 วัน บางรายอาจมีอาการชักเกิดขึ้น ผู้ป่วยมักจะมีหน้าแดง ไม่มีน้ำมูกหรือไอ เบื่ออาหาร อาเจียน ตับโต กดเจ็บ มีผื่นตามตัว มีจุดเลือดออกเล็กๆ กระจายตามผิวหนัง ลำตัว แขน ขา รักแร้ เนื่องจากเส้นเลือดเปราะหรือการทำ Tourniquet test จะพบจุดเลือดออก อาจมีเลือดกำเดาหรือเลือดออกตามไรฟัน หรือถ่ายเป็นสีดำ ระยะวิกฤต/ช็อก อาการจะเลวลงเมื่อไข้ลดลงกะทันหัน ผู้ป่วยจะมีอาการกระสับกระส่าย มือเท้าเย็น รอบๆ ปากเขียว บางรายอาจมีอาการปวดท้องมาก่อนจะมีอาการช็อก ชีพจรเบาเร็ว ความดันโลหิตต่ำ ถ้าให้การรักษาไม่ทัน ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตใน 12-24 ชั่วโมง แต่ถ้าได้รับการรักษาถูกต้องและทันเวลา ผู้ป่วยจะหายได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว ในรายที่มีอาการไม่รุนแรง เมื่อไข้ลดลงอาการต่างๆ จะดีขึ้น ส่วนใหญ่ไข้จะลดลงอย่างรวดเร็ว อาจมีเหงื่อออกมากและมือเท้าเย็น ชีพจรเบาเร็ว แต่จะเป็นเพียงช่วงสั้นๆ จะกลับเป็นปกติ เริ่มรู้สึกอยากอาหาร ซึ่งจะเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าผู้ป่วยพ้นระยะอันตราย ระยะฟื้นตัว อาการโดยทั่วไปดีขึ้นอย่างชัดเจน ความดันโลหิตและชีพจรปกติ ตับที่โตจะลดขนาดลงภายใน 1-2 สัปดาห์ มักจะมีผื่นแดงที่ขา ปลายมือปลายเท้าและมีอาการคัน ป่วยซ้ำได้ คนหนึ่งคนสามารถเป็นไข้เลือดออกได้มากกว่าหนึ่งครั้งและในครั้งถัดมาของการติดเชื้อ อาการของโรคมักจะหนักมากกว่าครั้งก่อน มีความรุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ ที่เป็นเช่นนี้ เพราะในการได้รับเชื้อไข้เลือดออกในครั้งแรกร่างกายของเราจะมีระบบภูมิคุ้มกันโดยการสร้างภูมิต้านทานออกมาต่อสู้กับการเชื้อไวรัส แต่ภูมิต้านทานไม่ได้อยู่ถาวรหรือป้องกันชนิดอื่นๆ สามารถป้องกันได้เพียงสายพันธุ์ที่เคยติดมาแล้ว เมื่อได้รับเชื้อไข้เลือดออกซ้ำในครั้งที่สองแต่คนละสายพันธุ์ภูมิต้านของเราในร่างกายเราจึงเกิดอาการสับสน และทำงานได้ไม่ดีพอ ไม่สามารถสู้กับเชื้อไวรัสได้อย่างทันเวลา หรือบางรายภูมิต้านทานที่เคยเป็นเกราะป้องอาจกลับผันตัวเองไปเป็นตัวช่วยให้เชื้อไวรัสนั้นแข็งแรงขึ้น กระจายตัวได้มากขึ้น จึงเป็นสาเหตุทำให้การติดเชื้อครั้งที่สองหรือครั้งต่อมายิ่งรุนแรงขึ้นนั้นเอง การดูแลรักษาผู้ป่วยไข้เลือดออก ในปัจจุบันยังไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัสเดงกี่ จึงให้การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ คือ เช็ดตัวลดไข้ เพื่อป้องกันไม่ให้มีอาการชัก ให้ยาลดไข้จำพวกพาราเซตามอล “ห้ามใช้ยาจำพวกแอสไพริน” เพราะจะทำให้ระคายเคืองกระเพาะอาหารและทำให้เลือดออกง่าย ให้ผู้ป่วยได้รับสารน้ำชดเชย เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่มีไข้สูง เบื่ออาหาร อาเจียนและอ่อนเพลีย ควรให้ดื่มน้ำผลไม้ น้ำเกลือแร่ โดยดื่มทีละน้อยๆ แต่ดื่มบ่อยๆ ให้รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย เมื่อสงสัยว่าคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก โดยมีไข้สูงลอย เกิน 38.5 องศาเซลเซียส นานเกิน 2 วัน หรือหน้าแดง คอแดง ปวดศีรษะ หรือปวดกระบอกตา ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว จะทำให้ลดการเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกได้ การป้องกัน ป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยนอนกางมุ้งหรือมีมุ้งครอบ แม้ตอนกลางวัน กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย โดยกำจัดลูกน้ำในภาชนะต่างๆ ที่มีน้ำขัง ด้วยการใส่เกลือหรือน้ำส้มสายชู เช่น ใส่ลงในขารองตู้กับข้าว ปิดฝาภาชนะสำหรับเก็บน้ำให้มิดชิด เช่น โอ่ง ถังเก็บน้ำ หมั่นเปลี่ยนหรือทิ้งน้ำในภาชนะบรรจุน้ำและภาชนะที่มีน้ำขัง เพื่อป้องกันยุงมาวางไข่ เช่น แจกัน จานรองกระถางต้นไม้ เก็บทำลายเศษวัสดุ เช่น ขวด กระป๋อง เพื่อไม่ให้รองรับน้ำได้ ปล่อยปลากินลูกน้ำในภาชนะที่ไม่มีฝาปิดหรือแหล่งน้ำใกล้บ้าน ตัดต้นไม้ที่รกครึ้ม เพื่อให้มีแสงสว่างและอากาศถ่ายเทได้ดี ป้องกันตัวเองไม่ให้ยุงลายกัด ด้วยการดูแลหน้าต่าง ประตู ช่องลม ไม่ให้ยุงเข้า จัดข้าวของในบ้านไม่ให้กองสุมกัน รวมถึงเลือกใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดยุง และทากันยุงให้ถูกต้อง ฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ฺBDMS สถานีสุขภาพ

ภาวะชักจากไข้สูง

ภาวะชักจากไข้สูง

เมื่อเด็กมีไข้และชักควรปฏิบัติอย่างไร ภาวะชักจากไข้มีพยากรณ์โรคที่ดีไม่ทําให้สติปัญญาถดถอยหรือมีการทําลายของเนื้อสมองอย่างถาวร ดังนั้นไม่ต้องตกใจควรปฏิบัติดังต่อไปนี้ ป้องกันการอุดตันของเสมหะโดยจับเด็กนอนหงายหันศีรษะไปข้างใดข้างหนึ่ง หรือนอนตะแคงศีรษะต่ำเล็กน้อย ดูดเสมหะเพื่อให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวก ห้ามใช้สิ่งของเพื่องัดฟัน เช่น ด้ามช้อนหรือนิ้ว จะทําให้เกิดอันตรายต่อเด็กและยังจะทําให้ผู้พยาบาลเด็กได้รับบาดเจ็บไปด้วย คลายเสื้อผ้าออกเพื่อสะดวกต่อการปฐมพยาบาล เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำก๊อกเพื่อคลายความร้อน ไม่พยายามเขย่าหรือตีเด็ก ถ้าชักเกิน 10 นาทีหรือชักซ้ำ ขณะที่ยังไม่ฟื้นเป็นปกติ ต้องรีบนําเด็กส่งโรงพยาบาลพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุและการรักษาที่ถูกต้อง ข้อปฏิบัติเพื่อป้องกันชักเมื่อเด็กมีไข้ ให้ยาลดไข้ เมื่อเริ่มมีไข้ทุก 4-6 ชั่วโมง เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่น หรือน้ำธรรมดา การให้ยากันชักมีข้อบ่งชี้คือ คนไข้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการกลายเป็นโรคลมชัก มีประวัติชักโดยไม่มีไข้ในครอบครัว และมีการพัฒนาที่ผิดปกติก่อนชัก หรือชักเฉพาะที่ เด็กที่ชักจากไข้ไม่ต้องให้ยาป้องกันชัก ในบางกรณีที่ผู้ปกครองกังวลมากอาจเลือกใช้ยาป้องกันอาการชักเฉพาะ เมื่อเด็กมีไข้เท่านั้น แต่ยาดังกล่าวจะมีผลข้างเคียงทําให้เด็กง่วงซึมและมีความเสี่ยงต่อการบดบังอาการของการติดเชื้อขึ้นไปบนสมองได้ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่แผนกกุมารเวช โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี 039-319888

การดูแลเด็กสมาธิสั้นสำหรับพ่อแม่

การดูแลเด็กสมาธิสั้นสำหรับพ่อแม่

การดูแลเด็กสมาธิสั้นสำหรับพ่อแม่ มีการจัดทําตารางเวลาให้ชัดเจนว่า กิจกรรมในแต่ละวันที่เด็กต้องทํามีอะไรบ้าง ตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน หาสถานที่ที่เด็กสามารถใช้ทํางาน ทําการบ้าน อ่านหนังสือ โดยไม่มีใครมารบกวน และไม่มีสิ่งที่จะมาทําให้เด็กเสียสมาธิ เช่น การมีโทรทัศน์ วีดีโอเกม อยู่ใกล้ๆ ถ้าเด็กวอกแวกง่ายมากหรือหมดสมาธิง่าย อาจจําเป็นที่เด็กต้องมีผู้ใหญ่ นั่งประกบอยู่ด้วยระหว่างทํางาน หรือทําการบ้าน เพื่อให้งานเสร็จเรียบร้อย พ่อ แม่ และบุคคลในบ้าน ต้องพยายามคุมอารมณ์ อย่าตวาดหรือตําหนิเด็ก หรือลงโทษทางกายอย่างรุนแรงเมื่อเด็กกระทําผิด ควรมีการตั้งกฎเกณฑ์ไว้ล่วงหน้าว่า เมื่อเด็กทําผิดจะมีการลงโทษอย่างไรบ้าง การลงโทษควรใช้วิธีจํากัดสิทธิต่างๆ เช่น งดดูทีวี งดเที่ยวนอกบ้าน งดขี่จักรยาน ลดค่าขนม เป็นต้น ควรให้คําชม รางวัลเล็กๆน้อยๆ เวลาที่เด็กทําพฤติกรรมที่พึงประสงค์เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้เด็กทําดีต่อไป ทําตัวเองให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่เด็ก เช่น ความมีระเบียบ รู้ จักรอคอย รู้จักกาลเทศะ หลีกเลี่ยงการใช้คํารุนแรงต่างๆ เป็นต้น สอบถามเพิ่มเสติมได้ที่คลินิกกุมารเวช โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี 039-319888

โรค G6PD

โรค G6PD

โรค G6PD G-6-PD หรือ Glucose-6-Phosphate Dehydrogenase เป็นเอ็นไซม์ชนิดหนึ่งที่อยู่ในเซลล์ ซึ่งเป็นโรคขาดเอ็นไซม์ G-6-PD เป็นโรคทางพันธุกรรมเกิดจากความผิดปกติของยีนที่สร้างเอ็นไซม์ดังกล่าว ทําให้สร้างเอ็นไซม์นี้ไม่ได้ ความสําคัญก็คือเอ็นไซม์นี้มีความสําคัญในการสร้างสาร Glutathione ซึ่งมีหน้าที่ทําลาย oxidizing agents ต่าง ๆที่เกิดขึ้นจากยา หรือภาวการณ์ติดเชื้อต่าง ๆ ให้หมดฤทธิ์ไป ความสําคัญของเอ็นไซม์นี้อยู่ที่เม็ดเลือดแดง ถ้าผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ได้รับ oxidizing agents เช่นยาบางชนิดหรือการติดเชื้อในร่างกาย จะทําให้เม็ดเลือดแดงไม่สามารถทนทานได้ และเกิดเม็ดเลือดแดงแตกเฉียบพลัน เกิดซีดเฉียบพลันปัสสาวะดํา และอาจเกิดไตวายได้ สารหรือยาที่ทําให้เกิดเม็ดเลือดแดงแตกได้บ่อย ได้แก่ ยารักษามาเลเรียบางชนิด ยาซัลฟา ยาปฏิชีวนะบางชนิดและถั่วปากอ้า เป็นต้น นอกจากนี้การติดเชื้อต่าง ๆ เช่น เป็น ไข้หวัด หลอดลมอักเสบ ก็ทําให้เกิดเม็ดเลือดแดงแตกได้ จึงจําเป็นต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ และรักษา รวมทั้งเลี่ยงยาที่อาจทําให้เกิดอาการได้ โรคนี้ถ่ายทอดทางพันธุกรรมทางโครโมโซมเพศผู้ชายจะเป็นโรค โดยได้รับยีนมาจากมารดาที่เป็นพาหะ พ่อที่เป็นโรคจะถ่ายทอดพาหะให้ลูกสาวทุกคน อาการที่เกิดขึ้นเมื่อได้ยาพวกนี้ ผู้ป่วยจะซีดลงทันทีเนื่องจากเม็ดเลือดแดงแตกในหลอดเลือด จะสังเกตเห็นปัสสาวะเป็นสีดําหรือสีโคล่า เนื่องจากฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงถูกกรองออกมากับไต ซึ่งจําเป็นต้องนําส่ง รพ.เพื่อให้การรักษาประคับประคองทันที อันตรายที่เกิดขึ้นเมื่อมีเม็ดเลือดแดงแตกเฉียบพลัน (Hemolytic crisis) เช่นนี้ คือ ภาวะไตวาย เนื่องจากไตขาดเลือดเฉียบพลันเพราะขาดเม็ดเลือดแดงที่นําออกซิเจนมาหล่อเลี้ยง(เม็ดเลือดแดงแตกหมด) และยังได้รับฮีโมโกลบินปริมาณมาก ซึ่งเป็นพิษต่อไตโดยตรง การรักษา การรักษาเป็นการรักษาประคับประคอง เช่น การให้เลือด การให้น้ำที่เพียงพอเพื่อป้องกันไตวาย ส่วนการแตกของเม็ดเลือดแดงจะหยุดได้เอง การปฏิบัติตัว แจ้งให้แพทย์ทราบเสมอว่าเป็นโรคนี้ เมื่อเกิดอาการไม่สบาย ควรปรึกษาแพทย์ ไม่ซื้อยากินเอง เมื่อเกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตก ควรเข้าโรงพยาบาลเพื่อให้การรักษาทันที หลีกเลี่ยงยาหรือสารที่อาจทําให้เกิดอาการ เมื่อจะมีบุตร ควรได้รับคําแนะนําจาแพทย์ เรื่องการถ่ายทอดไปยังลูกเพื่อประโยชน์ในการตัดสินใจวางแผนครอบครัว สอบถามเพิ่มเติมได้ที่คลินิกกุมารเวช โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี 039-319888

การเช็ดตัวลดไข้

การเช็ดตัวลดไข้

การเช็ดตัวลดไข้ เช็ดตัวด้วยผ้าขนหนูนิ่ม ๆ บิดน้ำอุ่นหมาดๆ โดยเริ่มจากใบหน้า ลําคอ แขน ลําตัว ขา โดยเช็ดไปในทิศทางเข้าสู่หัวใจ เน้นบริเวณข้อพับต่าง ๆ น้ำอุ่นจะทําให้เส้นเลือดขยายตัว ความร้อนในร่างกายของลูกจะถูกถ่ายเทผ่านน้ำที่ระเหยจากผิวหนัง ให้ลูกอยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเท ไม่ควรสวมเสื้อผ้าหนา ๆ หรือผ้าห่มหลายชั้นเกินไป เพราะจะทําให้ความร้อนไม่ถ่ายเท ไข้ไม่ลดได้ หลังเช็ดตัวควรจะวัดอุณหภูมิซ้ำทุก ๆ 20 นาที หรือจนแน่ใจว่าไข้ลดแล้ว หากไข้ลดแล้วเหงื่อออกมาก ควรจะให้ลูกดื่มน้ำหรือน้ำเกลือแร่ชดเชยการเสียเหงื่อ รวมทั้งเปลี่ยนชุดใหม่ที่แห้งและสะอาดให้ลูกจะได้หลับอย่างสบายตัว ถ้าเช็ดตัวแล้วไข้ไม่ลดหรือมีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส ควรจะให้ยาลดไข้ สิ่งสําคัญที่ไม่ควรลืมก็คือ ให้ใช้น้ำอุณหภูมิปกติหรือน้ำอุ่นเช็ดตัวลูก คุณพ่อคุณแม่หลายคนหวังดีอยากให้ลูกไข้ลดเร็วๆ เลยใช้น้ำเย็นเช็ดตัว ผลปรากฏว่าไข้ของลูกยิ่งสูงขึ้น เพราะน้ำเย็นทําให้รูขุมขนหดตัวเล็กลง การระบายความร้อนออกจากร่างกายก็เลยยิ่งไม่สะดวก และน้ำที่เย็นจัดๆ ก็ทําให้ไข้เพิ่มสูงขึ้นได้ค่ะ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่คลินิกกุมารเวช โรงพยาบาลกรุงเทพจันทบุรี 039-319888

Hospital Logo

ติดต่อสอบถามเจ้าหน้าที่

บริการให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง